ในโลกปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องคำนึง ทำให้อาคารหลายแห่งที่สร้างขึ้นในยุคหลัง ๆ มีคอนเซ็ปต์ Green Building เป็นตัวตั้งต้นในการออกแบบ และมีมาตรฐานอาคารเขียวเป็นเกณฑ์ประเมิน ซึ่งก็ขึ้นกับว่า อาคารนั้น ๆ ใช้มาตรฐานอะไรเป็นหลักยืน เช่น มาตรฐาน LEED มาตรฐาน TREES มาตรฐาน WELL มาตรฐาน EDGE โดยแต่ละมาตรฐานก็มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด
สำหรับเมืองไทยแล้ว เราค่อนข้างคุ้นเคยกับมาตรฐาน LEED ที่ใช้กันแพร่หลายเป็นส่วนใหญ่ แต่ HARN อาคารซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เราได้รู้จักมาตรฐาน DGNB จากสภาอาคารยั่งยืนของเยอรมนี ซึ่งมีความเข้มข้นในการรับรองด้วยเกณฑ์ที่ต้องตอบโจทย์ตั้งแต่ Process Quality, Sustainable Guide, Technical Quality, Economic Quality และ Environmental Quality และอาคารหาญก็ผ่านมาตรฐานและได้รับรางวัลระดับ Gold จาก DGNB มาแล้ว
หาญวางคอนเซ็ปต์ให้อาคารเขียวหลังนี้เป็น “Beyond Eco” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมไปถึงการเป็น “Better Workplace, Better Wellbeing” เพื่อให้ผู้ใช้งานอาคารอยู่สบายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต มีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อาศัย เพราะคุณภาพชีวิตนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
เราไม่อยากจ่ายค่าพลังงานเยอะ แล้วเอาความยากหรือสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากการสร้างอาคารเขียวให้เป็นธุรกิจ
“ตอนที่เราจะย้ายออฟฟิศจาก RCA ที่อยู่มายี่สิบปีเพราะหมดสัญญาเช่า สิ่งที่เราคิดคือต้องอยู่ใกล้กับที่เดิมเพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ลำบากเดินทาง ก็คิดถึงที่ดินแปลงนี้ที่มีอยู่นานแล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และคิดว่าไหน ๆ ก็จะทำแล้ว เราไม่อยากจ่ายค่าพลังงานเยอะ แล้วเอาความยากหรือสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากการสร้างอาคารเขียวให้เป็นธุรกิจ เพราะเราเป็นบริษัทที่ให้บริการเรื่องวิศวกรรมที่ยั่งยืน”
ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการ Harn Innovation & Incubation Committee (HIIC) เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดตั้งต้นในการเกิดขึ้น ที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบงานป้องกันอัคคีภัยในอาคาร ระบบดับเพลิง ระบบทำความเย็นด้วยนวัตกรรม IoT ไปจนถึงสินค้าบริการที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยมีแกนหลักอยู่บนความยั่งยืน อาทิ ระบบการพิมพ์สามมิติชีวภาพสนับสนุนการแพทย์ ระบบการพิมพ์ดิจิทัล พรินติ้ง
เรานั่งคุยกันบริเวณชั้น 6 ของอาคารซึ่งเป็นมุมกาแฟและสันทนาการ ปราศจากแสงจากดวงไฟเพราะใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติล้วน ๆ แม้จะเป็นโซนที่ไม่มีความเย็นฉ่ำจากเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกร้อนจนไม่สบายตัว จากตรงนี้ในระยะไม่กี่สิบเมตร เรามองเห็นพัดลมเพดานตัวใหญ่ติดตั้งอยู่บริเวณโถง ที่เมื่อเอาตัวเข้าไปใกล้จุดนั้นก็สัมผัสได้ถึงความเย็นที่กระทบตัวอย่างชัดเจนด้วยการใช้ประโยชน์จากอากาศที่หมุนเวียนอยู่ภายในอาคาร
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการออกแบบที่ต้องอาศัยหลายองค์ประกอบ อาทิ การเลือกวัสดุ ทิศทางการติดตั้ง การใช้นวัตกรรม และใช้พลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ที่ยึดพื้นที่ว่างเหนืออาคารอย่างเต็มอัตรา ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนในเวลาเพียง 5-6 ปี และยังมีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มในพื้นที่ลานจอดรถทั้งหมด เพื่อกำลังการผลิตที่มากขึ้นนั้นจะทำให้อาคารนี้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอสำหรับสำนักงานได้ตลอดทั้งกลางวันในวันที่แดดดี และทำให้สามารถเปลี่ยนรถของบริษัทกว่า 40 คันที่เป็นรถสันดาปทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอีกต่อไป
นี่คือตัวอย่างของเอกชนเล็ก ๆ ที่ลงทุนทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดใช้พลังงานและเชื้อเพลิงฟอสซิล
“ผมกำลังลองทำให้ดูก่อนว่านี่คือตัวอย่างของเอกชนเล็ก ๆ ที่ลงทุนทุกอย่างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดใช้พลังงานและเชื้อเพลิงฟอสซิล”
แนวคิดที่ว่านั้นผ่านการคิดและออกแบบอย่างไร? ความคุ้มค่าที่มากกว่ารายจ่ายค่าใช้ไฟฟ้าที่ลดลงคืออะไร? เราขอชวนล้อมวงขยับเข้ามาฟังด้วยกัน
เริ่มที่คนในสำนักงานเป็นตัวตั้ง
ตั้งแต่การเลือกทำเลที่ไม่กระทบกับคนทำงานเพราะยังคงเป็นพื้นที่ไม่ไกลจากออฟฟิศเดิม การออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมในองค์กรใหม่ ให้คนทำงานได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น นอกจากจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น อาคารเขียวหลังนี้ยังมีส่วนในการปลูกฝังให้คนในองค์กรเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สิ่งแวดล้อมมันหล่อหลอมคน เมื่อเราให้คุณค่ากับอะไร เขาก็จะเป็นอย่างนั้น
“เราได้พบว่าสิ่งแวดล้อมมันหล่อหลอมคนนะ เมื่อเราให้คุณค่ากับอะไร เขาก็จะเป็นอย่างนั้น เราสร้างสำนึกเรื่องความเขียวและความยั่งยืนลงไปในการทำงาน ทำให้อะไรก็ใช้พลังงานน้อย ๆ ให้เรื่องนี้อยู่ในสายเลือด”
Collaborative เป็นหนึ่งในวิธีคิดตั้งแต่เริ่มสร้างอาคาร เพื่อสร้างสัมพันธ์ให้พนักงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
“เมื่อก่อนออฟฟิศเราเหมือนตึกแถว มีฝาทุกสี่เมตร สิ่งที่เราเรียนรู้คือที่ทำงานที่มีฝากั้นมันทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมไซโล ทำงานอยู่แค่ในไซโลของตัวเอง โยนงานข้ามไซโลไปก็ไม่สนแล้วเพราะไม่ใช่อาณาจักรฉัน กลายเป็นอาณาจักรย่อยในที่ทำงาน พอจะย้ายมาที่นี่ สิ่งแรกที่เราทำคือให้พนักงานช่วยออกแบบ ให้เขาดูรูปว่าอยากมีบรรยากาศในการทำงานแบบไหน เขาก็เลือกคล้าย ๆ ลอฟต์ คือโล่ง ๆ ซึ่งก็กลายมาเป็นจริงในปัจจุบัน
“เราเอากำแพงออกหมดเลย สามสี่ชั้นนี่ทุกคนมองเห็นกันหมด เรียกว่า collaborative หาตัวกันง่าย มองไปเห็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร นั่งอยู่ก็ไปล็อกคอคุยได้ ทำให้งานไปเร็วขึ้น เพราะเราไม่มีอาณาจักรย่อย ทุกคนอยู่ใกล้กันหมด ความปรองดอง ความเกื้อกูลต่าง ๆ ดีขึ้น เป็นบรรยากาศที่มาจากสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมกำหนดบุคลิก ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ แต่พอมาอยู่ตึกนี้ผมเชื่อแล้วว่ามันมีจริง และคิดว่าเรามาถูกทาง”
ดึงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร
แสงสว่าง อุณหภูมิ ความบริสุทธิ์ของอากาศ คือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อคุณภาพชีวิต และเราก็พบทั้งสามสิ่งในอาคารแห่งนี้ที่มาพร้อมกับการออกแบบในการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด ด้วยหลักการสามข้อของมาตรฐาน DGNB คือ คนอยู่สบาย ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และคุ้มค่ากับการลงทุนเมื่อคำนวณจาก Life Cycle Cost
“ตึกเขียวของเยอรมันทุกคนต้องอยู่สบาย จากโต๊ะควรมองเห็นสีเขียวจากภายนอก” คำบอกเล่าของ ดร.เจน นำสายตาให้เรามองไปที่สีเขียวของต้นไม้ทั้งภายในอาคารและที่ล้อมตัวอยู่ด้านนอก ซึ่งปลูกไว้เป็นระแนงอยู่บริเวณชั้น 5 ทำหน้าที่ทั้งกรองแสง กรองฝุ่น ลดอุณหภูมิ และสร้างบรรยากาศให้อยู่สบาย “ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่าเราต้องดูแลต้นไม้”
แนวคิดแบบ Biophilic Design ซึ่งเป็นการดึงเรื่องธรรมชาติเข้ามาใช้ แปรออกมาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบอาคาร โดย Bioarchitek ผู้ออกแบบอาคารหลังนี้
การออกแบบที่เก็บเกี่ยวแสงธรรมชาติเข้ามา ทำให้เราลดค่าพลังงานจากแสงสว่างได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน
“เป็นการออกแบบที่เก็บเกี่ยวแสงธรรมชาติเข้ามาภายในอาคาร โดยดึงแสงจากทิศเหนือให้สะท้อนเข้ามาภายใน ทำให้เราแทบจะไม่ต้องเปิดไฟเลย สว่างจากเช้าไปถึงเย็น แต่ไม่ร้อน เหลือการเปิดไฟเฉพาะเหนือโต๊ะทำงาน แล้วแสงธรรมชาติจะดีกว่าตรงที่ทำให้เรากระปรี้กระเปร่า ไม่แสบตา ด้วยวิธีเก็บเกี่ยวแสงธรรมชาติเข้าในอาคารแบบนี้ ทำให้เราลดค่าพลังงานจากแสงสว่างได้ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน แต่การเอาแสงธรรมชาติเข้ามาก็ต้องเข้าอย่างชาญฉลาดนะ”
เพื่อเก็บเกี่ยวเฉพาะแสงโดยไม่เอาความร้อนเข้ามา อาคารนี้จึงสร้างหลังคาเป็น Skylight ที่มีลักษณะคล้ายฟันเลื่อยหันหน้าไปทางทิศเหนือ รับเอาแสงสะท้อนเข้ามาสู่ใจกลางของอาคาร
“การเอาแสงเข้าอย่างชาญฉลาดคือ อย่าให้พระอาทิตย์ส่องเข้ามาตรง ๆ แต่ให้สะท้อนอะไรสักอย่างเข้ามา เพราะแสงที่ได้จะทิ้งความร้อนไปหมดแล้ว ในทางตรงข้าม ถ้าเอาแสงเข้าตรง ๆ โดยไม่ให้สะท้อนก่อน จะมีความร้อนเข้ามาด้วย และจะเปลืองไฟจากการปรับอากาศมาก หากจะทำแบบนี้ใช้วิธีติดหลอดไฟจะประหยัดกว่า” เขาชี้ให้เห็นผลลัพธ์ของวิธีการ ที่ถ้าอยากประหยัดพลังงานก็ต้องออกแบบตั้งแต่ต้น และออกแบบให้ถูกต้อง
“ทิศเหนือที่ไม่มีแสงเข้ามาตรง ๆ เราเปิดเต็มที่เพื่อให้แสงเข้ามา แต่ทิศตะวันตกที่แดดเลียตั้งแต่ครึ่งบ่ายเป็นต้นไป และเป็นแดดที่ร้อน เราเลยสร้างปล่องลิฟต์ ห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้องเก็บของ ไว้ฝั่งนี้ทั้งหมดเพื่อให้เป็นฉนวน ส่วนคนมาอยู่ในด้านที่สบายที่สุดคือเหนือ ใต้ และตะวันออก
ไม่ต้องใช้วัสดุที่แพงจนเกินไป ใส่เท่าที่เราจะใส่ได้ แต่ให้คุ้มค่า
“ตัวฉนวนของผนังตึกก็ต้องให้ความสำคัญ ไม่ต้องใช้วัสดุที่แพงจนเกินไป ใส่เท่าที่เราจะใส่ได้ แต่ให้คุ้มค่า ถ้าออกแบบฉนวนดี เราจะใช้พลังงานไม่เยอะ แต่ถ้าถามว่ามีฉนวนอะไรที่ต้องคิดคำนวณให้ดี คำตอบคือกระจกภายนอกอาคาร กระจกมีหลายชนิดและมีความเป็นฉนวนต่างกันตามราคา ซึ่งเมื่อกลับไปคำนวณแล้วเราเลือกกระจกแบบราคากลาง ๆ เป็นกระจกสองชั้น ไม่ได้เลือกแบบแพงสุดความเป็นฉนวนสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของราคากับความเป็นฉนวนที่ได้กับเงินที่ต้องจ่ายออกไป”
นอกจากลดความร้อนจากภายนอกด้วยการดึงเข้าเฉพาะแสงและใช้ฉนวนกันความร้อน การออกแบบระบบทำความเย็นนับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด แต่เพื่อให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น อาคารนี้จึงออกแบบระบบเครื่องทำน้ำเย็น หรือ chiller เองแล้วส่งให้ผู้ผลิตประกอบให้ โดยแทนที่จะมีเครื่องทำความเย็นอยู่เครื่องเดียวเช่นที่ใช้กันปกติในอาคารทั่วไป ก็ปรับให้เป็น 3 เครื่องย่อย จำนวน 2 ชุด รวมเป็น 6 แล้วเลือกเดินเครื่องตามกำลังความเย็นที่ต้องการ
การปรับแอร์ขึ้น 1 องศาฯ จะทำให้เราประหยัดได้ 10 เปอร์เซ็นต์
“การซอยเครื่องย่อยแบบนี้ช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้เยอะมาก เพราะ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟที่ใช้จะไปลงที่เครื่องปรับอากาศ และเราจะไม่ตั้งอุณหภูมิให้เย็นเกินไป มาตรฐานเราอยู่ที่ 25 ไม่เกิน 26 การปรับแอร์ขึ้น 1 องศาฯ จะทำให้เราประหยัดได้ 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราต้องการอุณหภูมิลดลงแค่องศาฯเดียว อาจจะใช้พัดลมยักษ์ก็ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศอีกทางหนึ่ง เพราะประหยัดไฟฟ้าไปได้มาก”
เขาชี้ให้เห็นพัดลมตรงโถงกลางที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา “แต่เรื่องนี้ก็ต้องชักเย่อกับพนักงานเหมือนกัน เขาบอกมันไม่ฉ่ำ (หัวเราะ) ก็ค่อย ๆ ปรับกันไป บางจุดเราก็มีโอเวอร์ดีไซน์นิดหน่อย พอถึงสิ้นปีเราก็ไล่ดูว่าตรงจุดไหนไม่จำเป็นต้องใช้ก็ปิด ทำให้ประหยัดลงได้อีก ซึ่งตัวเลขที่ลดลงเดือนละ 6 หมื่นบาทมันก็ฟ้อง การประหยัดได้ 30 เปอร์เซ็นต์นี่เยอะสำหรับเรามากนะ”
ความน่าสนใจคือพนักงานที่นี่มีส่วนร่วมในการกำหนดความเย็นด้วย จากแดชบอร์ดที่จะเป็นตัวบอกว่าตอนนี้อุณหภูมิอยู่ที่เท่าไร หากร้อนไปหรือเย็นไป พนักงานจะสามารถโหวตร่วมกันเพื่อปรับอุณหภูมิที่ลงตัวผ่านแอปพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานขององค์กรโดยเฉพาะ
“สิ่งสำคัญคือเราไม่มีสวิตช์ไฟ แต่ใช้ระบบ POE/IoT ทั้งตึก ซึ่งในหลอดไฟจะมีเซนเซอร์ที่ปรับความสว่างของแสงเอง ถ้าแสงภายนอกเข้ามาเพียงพอแล้วไฟจะหรี่หรือดับลงได้เอง อันนี้ต้องขอบคุณบริษัท Signify (หรือฟิลิปป์)”
ห้องประชุมห้องหนึ่งที่เป็นเสมือนโชว์รูมงานวิศวกรรม แต่เป็นห้องประชุมที่ใช้งานจริง ความพิเศษคือเป็นห้องที่เงียบสนิทด้วยระบบปรับอากาศแบบพิเศษที่ทดลองทำขึ้น โดยไม่ใช้การส่งลมเย็นไปทั่วห้องตามปกติ แต่ทำพื้นและผนังห้องเย็น เรียบแบบถ้ำที่มีเพดานและพื้นเย็น ด้วยการเดินท่อน้ำเย็นขดไปมาใต้พื้น และอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า chilled beam “เฉพาะห้องนี้ประหยัดพลังงานได้ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และเสียงก็เงียบสนิท เหมาะกับบรรยากาศการประชุม”
ส่วนเรื่องคุณภาพอากาศนั้น ดร.เจนเล่าว่า หากอยู่ภายในตึกนี้ จะรู้สึกได้ว่าอากาศดีกว่าภายนอก นั่นก็เป็นเพราะระบบระบายอากาศบนดาดฟ้า ซึ่งเป็นตัวกรองอากาศจากภายนอกให้สะอาด ทำให้แห้ง ก่อนหมุนเวียนเข้ามาภายในอาคาร
“ค่าฝุ่นภายในอาคารที่นี่ค่อนข้างต่ำ เพราะกรองเอา PM2.5 ออกหมด และทำให้เป็นอากาศแห้งอัดเข้าภายในอาคารแล้วปล่อยให้รั่วไหลออกไปทางประตูหน้าต่าง อากาศที่นี่เลยอยู่สบาย มีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ทำให้เรามีความกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน”
ลดใช้พลังงานฟอสซิล และลดคาร์บอนฟุตพรินต์
การออกแบบที่ดึงประสิทธิภาพของทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้หาญลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ เพราะสิ่งที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายร่วมกันและให้ผลมากที่สุด คือการลงทุนกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาจนเต็มพื้นที่
ถือได้ว่าเป็นอาคารชั้น zero energy building และต่ำกว่าอาคารโดยทั่วไปในกรุงเทพมหานครถึงราว 4 เท่าตัวต่อตารางเมตร
“เราออกแบบหลังคาเพื่อให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้เต็มที่ เพื่อให้ผลิตพลังงานได้เยอะที่สุดเท่าที่เราทำได้ มีพื้นที่เท่าไรเราใส่แผงหมดโดยไม่มีเงาบังแสงกัน ตอนนี้เฉพาะหลังคาสำนักงาน เราติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 133 Kw (กิโลวัตต์) ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้เราใช้ได้ 27 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานไฟฟ้าที่เราต้องการ และด้วยการออกแบบระบบต่าง ๆ นานา ทำให้เราลดค่าใช้ไฟได้เดือนละ 60,000 บาทจากค่ารวม 200,000 บาท โดยมีระยะเวลาคุ้มทุน (breakeven point) ประมาณ 6 ปี หลังจากเก็บตัวเลขมาได้เป็นเวลาสองปี เราพบว่าอาคารหลังนี้บริโภคพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 61 kWh/m2-yr (กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี) ถือได้ว่าเป็นอาคารชั้น zero energy building และต่ำกว่าอาคารโดยทั่วไปในกรุงเทพมหานครถึงราว 4 เท่าตัวต่อตารางเมตร
“เป็นการเริ่มต้นที่โอเค และเราก็ชอบมัน ตอนนี้เราตัดสินใจเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงจอดรถเป็นเฟสที่สองซึ่งมีพื้นที่มากกว่าหลังคาของอาคารในเฟสแรก ในวันที่มีแดดดีเราสามารถผลิตไฟฟ้าได้เท่า ๆ กับที่เราต้องการ นั่นหมายถึงว่าเราไม่ต้องจ่ายค่าไฟตอนกลางวัน เว้นแต่ในช่วงเวลาเช้า เย็น และกลางคืนที่เราผลิตไม่ได้ก็ยังต้องใช้ไฟจากระบบของ กฟน.ตามปกติอยู่ แผลโซลาร์เซลล์เฟสสองนี้จะช่วยลดค่าไฟลงลงได้อีกเดือนละ 70,000 บาท เหลือค่าไฟรวมต่ำกว่าเดือนละ 100,000บาท สำหรับอาคารขนาด 6,600 ตารางเมตร ค่าไฟต่ำกว่าแสนบาทถือว่าต่ำมาก”
ดร.เจนชวนเราคิดต่อด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นภาพของความคุ้มค่ามากขึ้นว่า
“ด้วยค่าไฟปัจจุบัน การติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 6 ปีด้วยอัตราค่าไฟปัจจุบันนะ ถ้าค่าไฟสูงขึ้นก็จะคุ้มทุนเร็วขึ้น การที่เราลงทุนแล้วคืนทุนใน 6 ปี ผมมีคำถามในเชิงธุรกิจว่าอยากทำมั้ย ก็มีเสียงของผู้บริหารคนหนึ่งบอกว่า 6 ปีนี่ดีกว่าธุรกิจที่เราทำอยู่อีกนะ เพราะเวลาเราลงทุนในกิจการปกติ จุดคุ้มทุนเราอยู่ที่ 10 ปี โซลาร์ให้ผลเร็วกว่าเสียอีก”
เมื่อติดตั้งเฟสสองเสร็จสมบูรณ์ ดร.เจน มีแผนที่จะเดินหน้าต่อเมื่อกำลังการผลิตเหลือใช้ในวันหยุดด้วยการเปลี่ยนรถบริษัทจากรถสันดาปเป็นรถพลังงานไฟฟ้า เป็นการคิดแบบครบวงจรที่จะทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่สูญเปล่า
“เราทำงานกันวันจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์อาทิตย์ไม่ได้ใช้ก็น่าเสียดาย ตอนแรกก็มองเพื่อนบ้านว่ามีใครอยากมาชาร์จรถไฟฟ้าบ้าง (หัวเราะ) ปีที่แล้วผมเลยซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งเพราะอยากรู้ และสิ่งที่ผมเรียนรู้คือมันประหยัดไปตั้งเยอะเมื่อเทียบกับใช้น้ำมัน จากที่เราจ่ายค่าเชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 3 บาท เหลือค่าไฟฟ้าเพียง 60 สตางค์เท่านั้นเอง
“ผมเลยมีแผนให้บริษัทค่อย ๆ เปลี่ยนรถใช้งานในกิจการของบริษัทจากรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า รถเหล่านี้กลับมาจอดที่บริษัทหลังเลิกงานในวันศุกร์เย็น เราจะชาร์จฝูงรถเหล่านี้ในวันเสาร์และอาทิตย์ เพราะฉะนั้นในวันจันทร์ตอนเช้าเราจะมีรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมใช้งานได้ 40 คัน และวิ่งได้จนถึงวันพฤหัส หากทำแบบนี้ได้ จากระยะเวลาคุ้มทุนของโซลาร์เซลล์ตามปกติที่ 6 ปี จะลดลงเหลือเพียง 3 ปี เพราะทุกวันนี้การนำรถยนต์ไปเติมเชื้อเพลิงฟอสซิลตามปั๊มนี่แพงมหาศาล บริษัทเราซื้อเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าถึงปีละ 10 ล้านบาท การปรับมาใช้รถไฟฟ้าร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์ได้จะลดค่าใช้จ่ายและคาร์บอนฟุตพรินต์ของเราลงได้ราว 50% แต่จุดที่ยังยากเล็กน้อยตอนนี้คือการจัดหารถไฟฟ้ายังต้องแข่งขันอยู่พอสมควร
“ผมคิดว่าแนวคิดนี้เหมาะมากกับองค์กรที่มีพื้นที่หลังคาเยอะ ๆ และใช้ไฟฟ้าเยอะ ๆ จากการเปิดแอร์มหาศาลระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ พร้อมกับมีรถยนต์ในองค์กรเยอะ ๆ ที่ไม่ได้ใช้งานในวันเสาร์อาทิตย์ และนี่ก็คือราชการ ถ้าเราทำแบบนี้ได้จะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานรวมกับเชื้อเพลิงลงมาก ตอนนี้ผมลองทำให้ดูก่อน แล้วค่อยเชิญภาครัฐมาดูว่านี่เป็นตัวอย่างที่เราทำได้”
ไม่เพียงแต่ความคุ้มค่าจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ เพราะอีกหนึ่งความคุ้มค่าจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้หาญสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้จาก 1,060 เหลือ 650 ตันคาร์บอนเทียบเท่า
“แต่เรายังเป็นกลางทางคาร์บอน หรือมีคาร์บอนฟุตปรินต์เป็นศูนย์ไม่ได้ เพราะเรายังจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าและเชื้อเพลิงอยู่บ้าง หลังจากจุดนี้ วิธีเดียวที่จะพาเราสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้คือต้องทำงานในภาคป่าไม้ เช่นการปลูกป่า”
ใครที่รู้จัก ดร.เจนอยู่ก่อนแล้ว จะทราบดีว่าเขาคลุกคลีอยู่กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟป่าซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 มานาน ทั้งการสื่อสารเพื่อให้ข้อเท็จจริงผ่านทางเพจ “ฝ่าฝุ่น” ที่ทำร่วมกับชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลด้วยกัน และลงพื้นที่ศึกษาถึงต้นเหตุเพื่อหาทางออกมาอย่างต่อเนื่อง
“คาร์บอนฟุตพรินต์ที่เหลืออีกประมาณ 650 ตันเทียบเท่าต่อปี ถ้าจะไปให้ถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนจะต้องปลูกป่าใหม่ประมาณ 800 ไร่ ซึ่งถ้าใครเคยปลูกป่าจะรู้ว่านี่เป็นงานที่หินมากที่จะช่วยให้ต้นกล้าใหม่เหล่านี้รอดตายมาเป็นต้นไม้ใหญ่ได้ ฉะนั้นเราก็ต้องมาคิดว่า เราจะทำงานกับป่าในรูปแบบใดที่เหมาะสม แต่อย่างน้อยเราก็เริ่มลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของบริษัทและได้ช่วยป่าไฟพร้อมกัน การที่ทำงานเกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 และไฟป่ามาหลายปี ทำให้ผมเข้าใจไฟป่าประเทศไทยมากขึ้นมากทีเดียว
ป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก มองในมุมของคาร์บอนมันมีคุณค่ามหาศาลต่อคนไทยและมนุษยชาติ
“เรามองเห็นว่าป่าไม้เป็นทรัพยากรที่มีค่ามากเลย มองในมุมของคาร์บอนมันมีคุณค่ามหาศาลต่อคนไทยและมนุษยชาติ ถ้าเราดูแลป่าให้ดี และส่งมอบป่าให้กับคนรุ่นใหม่ เขาจะมีเกราะต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ไม่ว่าฝนจะชุกจนน้ำท่วม หรือฝนแล้งจนระดับภัยแล้ง ป่าจะเป็นกันชนทั้งสองด้าน ฝนน้อยเกินไปป่าจะค่อย ๆ ปล่อยน้ำมาส่ง ฝนมากไปป่าก็ดูดเก็บไว้ก่อนแทนที่จะปล่อยให้เกิดน้ำท่วม
“ถ้าเราผูกเรื่องคาร์บอนเครดิตจากการลดไฟป่า ผสมกับการฟื้นฟูป่าไปพร้อมกัน ในความคิดของผม เราควรชวนชาวบ้านในพื้นที่ที่เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ซ้ำซากมาบริหารพื้นที่ ทำแนวกันไฟ ลดไฟป่า สร้างฝายชะลอน้ำ อาจจะใช้วิธีการบริหารด้วยเอกชน มีค่าตอบแทนให้เกิดเป็นอาชีพใหม่ที่เรียกว่า วนากร (ผู้ดูแลรักษาป่า) จากการเป็นเกษตรกรเพียงอย่างเดียว ที่จะรักษาป่าร่วมกับเราภาคเอกชน ชาวบ้านได้รายได้ บริษัทได้กระดาษมาแผ่นหนึ่งที่มีตัวเลขคาร์บอนเครดิตพันตันหมื่นตัน มันจะเป็นอะไรที่ยั่งยืน แต่ไอเดียนี้จะเกิดได้เราต้องทำงานวิจัยก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แล้วถึงจะไปคุยกับราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนามาตรฐานนี้ให้เกิดขึ้น ถ้าเราผูกเรื่องคาร์บอนเครดิตกับไฟป่าได้ จะมีคนมาช่วยลดไฟป่าเต็มเลย”
แม้จะอาศัยอยู่ในเมือง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับเมืองในมุมของ ดร.เจนเป็นเรื่องที่ไม่แยกจากกัน
“ต่อไปเราคงต้องทำงานกับความยั่งยืนมากขึ้น เราได้ช่วยฝุ่นในเมืองด้วยการลดการบริโภคไฟฟ้าและเชื้อเพลิงฟอสซิล พยายามใช้ชีวิตให้รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และด้วยความที่เราเป็นบริษัทวิศวกรรม เราพยายามทำสินค้าให้เป็นแบบนั้น เช่น ระบบประกอบอาคารที่ประหยัดพลังงาน”
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ? เราถาม ดร.เจนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่พยายามหาทางออกให้กับโลกที่สะสมปัญหาสิ่งแวดล้อมเอาไว้จนหนักอึ้ง
“ผมว่าเราทุกคนต่างมีหน้าที่ในการรักษาโลก และในฐานะที่เราเป็นบริษัทวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เราควรเป็นคนคนนั้น”
ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, บริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน)