การเริ่มต้นใหม่ เป็นเรื่องที่ท้าทายเสมอ แต่การเริ่มต้นจากจุดที่เต็มไปด้วยคำถาม ทั้งคำถามจากคนรอบข้าง และคำถามจากตัวเอง ว่าจะทำได้หรือไม่ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะไปได้ไกลแค่ไหน ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับจิตใจของคนเราไม่น้อย

คำถามดังกล่าวดังขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สุดท้ายแล้ว คุณหมอวีรฉัตร ก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่า เขาจะหันหลังจากวงการแพทย์ เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเต็มตัว นั่นคือเรื่องเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นคือช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่หันไปใช้ภาชนะกล่องโฟม พลาสติก ที่มีต้นทุนไม่แพง เพื่อบรรจุอาหาร แต่คุณหมอเลือกทางเดินอีกทาง ด้วยการริเริ่มผลิตสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อพืชหรือวัสดุจากธรรมชาติ โดยอยู่บนพื้นฐานแนวคิดในการลดโรคและสร้างโลกที่ดี หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันดีว่า ภาชีวะรักษ์โลก ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า เกรซ (Gracz)

แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างกับคำถามที่ว่าจะประสบความสำเร็จไหม และจะไปได้ไกลแค่ไหน?

15 ปีผ่านไป คำตอบชัดเจนว่า ไม่เพียงแต่อยู่ได้ แต่ยังมาไกลมาก เพราะวันนี้ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) กำลังจะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และได้ชื่อว่าเป็นบริษัทต้นแบบของธุรกิจที่มีแนวทางแบบ circular economy เป็นต้นแบบของธุรกิจเขียว หรือ green business ไปจนกระทั่งต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ตั้งแต่วันที่คำเหล่านี้ยังอยู่ห่างไกลจากความเข้าใจของพวกเราอยู่มาก

ความเชื่อมั่นว่าเรากำลังทำสิ่งที่คิดไกลไปจากตัวเอง ทำในสิ่งที่ดีกับสังคมและโลก คือการปักหลักที่ไม่เคยโอนเอน เป็นพันธกิจหรือมิชชั่น ที่ไม่มีทางเป็นอื่น และเป็นที่มาให้คนรอบข้างและสังคมโดยรอบพร้อมจะให้การสนับสนุนเพื่อเป็นแรงส่งให้ธุรกิจทะยานไปข้างหน้า ความเชื่อมั่นชนิดนั้นเอง ที่จะทำให้คนเราก้าวเดินต่อไปได้ในวันที่มืดมิด เช่นวันที่เกรซขาดทุนตลอดห้าปี เพราะทำในสิ่งที่ยากและท้าทายความสามารถ

และความเชื่อมั่นชนิดนั้นเอง ที่จะเป็นแสงสว่างตรงปลายทาง แม้มันจะดูเลือนรางห่างไกลในวันที่เริ่มต้น

แต่หากวันนี้ สิ่งที่เราเชื่อมั่น กลายเป็นความฝันที่จับต้องได้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน มันก็คุ้มค่าที่จะก้าวเดินต่อไป เพียงแต่เราต้องบอกตัวเองให้เลิกฟังทุกคำถามที่ไม่เชื่อในตัวเรา และลงมือทำในสิ่งที่ต้องเชื่อมั่นในตัวเอง

เพราะถ้าวันนั้นไม่แลก วันนี้ก็ไม่ได้มา

ระหว่างที่คุณหมอวีรฉัตรเล่าว่า ภาชนะทุกชิ้นของเกรซนั้น เมื่อใช้เสร็จแล้ว เราสามารถใส่ดินเพื่อปลูกต้นไม้ได้เลย และเมื่อฝังลงดินไปแล้ว อีกราวๆ 45 วัน ภาชนะเหล่านั้นจะย่อยสลายหายไป ไม่ทิ้งอะไรให้เป็นภาระกับโลก

เวลานั้น เรานึกถึงอะไรไม่ได้นอกจากคำนี้ ทุกอย่างพร้อมย่อยสลาย แต่ไม่ใช่ความฝัน…

จากจุดเริ่มต้นของแบรนด์ เกรซ’  จนถึงวันนี้ คุณหมอคิดว่าช่วงที่ท้าทายที่สุดคือช่วงไหน และผ่านมาด้วยวิธีคิดอย่างไร

จุดสำคัญเลยคือจุดเริ่มต้น เพราะเราเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เราเป็นคนแรกที่ทำ ไม่มีใครเคยทำนวัตกรรมแบบนี้ ไม่เคยมีของแบบนี้ในประเทศ พอเราเริ่มต้นทำขึ้นมาใหม่ เราต้องไปแข่งกับสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาดเช่น โฟม พลาสติก ซึ่งถึงแม้เราจะมาด้วยแนวคิดว่า สินค้าเราดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ตอนนั้นราคามันก็แพงเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว อีกอย่างตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เชี่ยวชาญ ยังไม่เก่ง เพราะเราเริ่มต้นจากการทดลองในแล็บแล้วก็มาทำการผลิตจริง สำหรับผมช่วงเริ่มต้นนี่แหละที่มีโอกาสท้อได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงนั้น เพราะผมเชื่อว่า เรากำลังจะมาเปลี่ยนพฤติกรรมคน ซึ่งมันไม่ง่ายเลย แล้วเรากำลังทำในสิ่งที่ใหม่มากๆ

จำได้ว่าวันที่เราไปขอกู้เงินจากแบงก์ ทุกคนพูดว่าสินค้ามันดี เรากำลังทำในสิ่งที่ดี แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็รู้ว่าเราเป็นหมอ การจะเข้ามาทำอุตสาหกรรมนี้จะทำได้หรือ จะไม่ขาดทุนหรือ เพราะเราไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย ดังนั้นการคิดในสิ่งที่เราจะทำ มันเลยท้าทายพอสมควร และท้าทายความเชื่อมั่นของคนอื่นด้วย แถมสินค้าก็เป็นของใหม่มากๆ ใครจะกล้าลองใช้

แต่สิ่งที่เป็นจุดยืนของเราก็คือ เราเชื่อมั่นว่ามันจะต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นใหม่บนโลกอยู่เสมอ และสิ่งดีๆ เหล่านั้นมันต้องใช้เวลา

ไม่ใช่มาปุ๊บจะเปลี่ยนทุกอย่างได้เลย ผมเลยเชื่อว่าขนาดของความสำเร็จของเรา ขึ้นอยู่กับขนาดของความเชื่อมั่นของเราด้วย เรามองเห็นแล้วว่าธุรกิจมันมีโอกาสจะเติบโต เพราะเราก็ลงลึกกับมันมากพอสมควร

และสำคัญที่สุด เราเชื่อว่ายิ่งเราใช้สินค้าตัวนี้ โลกก็จะดีขึ้น สุขภาพคนก็จะดีขึ้น สุขภาพโลกก็จะดีขึ้นด้วย เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลากับมันและทุ่มเทกับมัน ผมว่าสิ่งที่เราคิดน่าจะมีเป้าหมายที่ชัดในกระบวนการที่เราจะไป แต่สำคัญกว่านั้นคือเราจะทำมันได้มั้ย เราจะทนได้หรือเปล่า ทนต่อความกดดันทั้งหมดได้หรือเปล่า ทนต่อการพัฒนาสินค้าที่ยังไม่สามารถขายได้มั้ย ทนต่อคนที่ยังไม่ปรับพฤติกรรมได้มั้ย

เรียกว่าคำถามที่ต้องตอบตัวเองก็เรื่องหนึ่ง คำถามที่คนอื่นถามก็อีกเรื่องเลย

มันคือเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเราเองนี่แหละ แน่นอนถึงเราจะเป็นหมอที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานด้านอุตสาหกรรมมาก่อน แต่เรารู้ดีเรื่องร่างกาย เรื่องสุขภาพ ดังนั้นสินค้าเราจึงใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย ป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมมาสร้างปัญหากับสุขภาพเราและสุขภาพโลกได้ มันเลยทำให้เราเชื่อมั่นว่ามันน่าจะมีช่องทาง มีวิธีที่เราจะไปต่อได้

จริงๆ ณ วันนั้นแนวคิดเรื่องการดูแลโลกของบริษัทเป็นยังไงบ้างนะคะ

จริงๆ ในตอนเริ่มต้นเราคิดในมุมของสุขภาพเป็นหลัก ยังไม่ได้มองถึงสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่นัก เพราะตั้งแต่เราเรียนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์จนจบมาเป็นแพทย์ เรารู้อยู่แล้วว่าสารต่างๆ ที่มาจากปิโตรเลียมเบส เช่น สกัดน้ำมันมาทำโฟม ทำพลาสติก สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็งทั้งสิ้น ยิ่งใช้เยอะ ยิ่งมีความเสี่ยงเยอะที่จะเป็นมะเร็ง เหมือนสูบบุหรี่ เราไม่รู้ว่าสูบไปถึงเมื่อไหร่ แค่ไหนถึงจะเป็นมะเร็ง แต่คนที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเยอะกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่เลย ดังนั้นเรื่องแรกที่เราเน้นคือเรื่องสุขภาพเป็นหลัก

แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมมาหลังจากเราทำธุรกิจไปได้ 4-5 ปี ซึ่งเรื่องที่ทุกคนห่วงกันมากๆ คือเรื่องขยะ เราเริ่มเห็นปัญหาเลยว่าขยะในทะเลมีเยอะ ขยะตามบ่อขยะ แหล่งท่องเที่ยวมีเยอะมาก แล้วมันไม่ย่อยสลายสักที โฟมใช้เวลาเป็นพันปี พลาสติกใช้เวลา 450 ปี พอมันย่อยสลายไม่ได้ ฝนตกลงมามันก็ไหลไปใต้ดินบ้าง ในน้ำบ้าง ในทะเลบ้าง แล้วมันเริ่มเห็นว่าในทะเลมันมีขยะมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลกระทบกับสัตว์ทะเล จริงๆ เรื่องนี้เห็นมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้วนะ แต่ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็ยังไม่รุนแรงเท่า

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องโลกร้อน มีการเผาขยะ แก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไปสร้างปัญหาโลกร้อน สองเรื่องนี้มันกระตุ้นให้เราเห็นว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญนะ เราก็เลยต้องโฟกัสทั้งสองเรื่องคือสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะเรื่องพลาสติกนี่ ก่อนมันจะย่อยสลาย ระหว่างทางมันยังแตกตัวออกเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งเป็นสารที่แพลงตอนกินได้ ปลากินได้ แล้วปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก จากนั้นเราก็เอาซูชิมากิน มันก็เลยเกิดปัญหาว่าเรามีไมโครพลาสติกในร่างกายอีก

แล้วสิ่งนี้มันมีผลต่อฮอร์โมนและระบบต่างๆ ในร่างกายอีก เพราะไมโครพลาสติกมันก็เข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ทุกวันนี้มีผลทดลองแล้วว่าในคนร้อยคน มีมากกว่า 30 คนที่มีไมโครพลาสติกในอุจจาระแล้ว  นี่คือตัวเลขเฉพาะในอเมริกานะครับ

ตอนเริ่มต้นธุรกิจที่ว่าไม่เคยทำมาก่อน และไม่อยู่ในสาขาที่คุ้นเคย คุณหมอใช้วิธีคิดยังไงในการทำงาน จะได้เป็นแนวทางให้คนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจที่ท้าทายในวันนี้

ผมเชื่ออย่างนี้ว่า ถ้าเราทำอะไรที่มันไม่ใช่ดีเฉพาะตัวเอง แต่ดีต่อคนอื่น ดีต่อสังคม ดีต่อโลก กระบวนการกระเพื่อมแบบนี้มันจะสะท้อนให้เรามีแรงหรือพลังในการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งอย่างที่บอก แรกๆ มันก็จะเหนื่อย มันก็จะยากนิดนึง แต่ที่สำคัญคือ พอเราตั้งใจทำจริงๆ ได้ลงมือทำมันจริงๆ  จะมีคนอีกจำนวนเยอะเลย ที่เดินเข้ามาช่วยเรา เพราะอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง

ผมกำลังจะบอกว่า ความเป็นไปได้ที่เราเห็น มาจากความเชื่อที่เรามี และเราได้สะท้อนภาพความเชื่อไปสู่สังคม ไปสู่สิ่งแวดล้อมโดยรวม

ดังนั้นเราจึงมองว่าธุรกิจที่เราจะทำ มันไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างเดียว แต่มันตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้แรงผลักดันที่มีอยู่ มันแรงพอที่เราจะอดทนและสู้กับสิ่งที่มันต้องใช้เวลา เพราะนับจากช่วงตั้งไข่จนกว่าจะไปได้ ก็ใช้เวลาห้าปีนะครับ

ดังนั้นผมคิดว่าเวลาเรามองธุรกิจ เราต้องมองโดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เราเห็นเทรนด์ของโลกในภาคแมคโครหรือมหภาคมั้ย ถ้าเราเห็นแล้ว ก็ต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันเชื่อมโยงมั้ย ผมคิดว่าถ้าเราทำธุรกิจเพื่อธุรกิจ และทำธุรกิจเพื่อเงินตัวเดียว เราจะไปได้ไม่ไกลมาก ณ สังคมยุคปัจจุบันนี้ เพราะทุกวันนี้เราจำเป็นต้องทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งการเงินและสังคมด้วย อีกประเด็นคือ ผมเชื่อว่า กระบวนการของคนที่จะทำธุรกิจมันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อะไรที่ทำไปแป๊บเดียวแล้วหวังว่าจะมีเงินเยอะ มักจะไม่ยั่งยืน มันจะมาเร็วไปเร็ว แต่ถ้าเราใช้เวลา ทุ่มเทลงลึก ตั้งใจทำให้ยั่งยืน มันก็อยู่กับเราได้นาน

เรียกว่าคุณหมอคิดในมุมของความยั่งยืนมาตั้งแต่แรก

ไม่ใช่เฉพาะสินค้าที่เราทำนะ แต่ต้องยั่งยืนในแง่ของธุรกิจ ต่อสังคม ต่อโลกด้วย เพราะมันสอดคล้องกันไปหมดในสิ่งที่เราทำ ผมคิดว่าเราเป็นธุรกิจต้นแบบแรกๆ ของการคิดและทำเพื่อสังคม แต่ก่อนยังไม่มีคำว่าธุรกิจเพื่อสังคมด้วยนะ เหตุผลคือเพราะเราเป็นหมอ ความที่เราถูกสอนมาโดยยึดถือตามที่สมเด็จพระราชบิดา หรือบิดาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ท่านพูดเสมอว่า ในการที่เราเป็นหมอ ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง นี่คือการฝังรากฐานของการเป็นแพทย์ในประเทศไทยมาเลย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยรับมือกับโรคระบาดอย่างโควิดได้ดีมาก นี่แหละที่ผมเน้นเสมอว่า

เมื่อไหร่ที่เราคิดถึงคนอื่น มันจะมีแรงกระเพื่อม และมีแรงทำงานเสมอ

อีกเรื่องคือผมคิดว่า สิ่งที่เราทำคือนวัตกรรม และทุกวันนี้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในโลก ส่วนใหญ่จะเป็นนวัตกรรมที่เอาชนะธรรมชาติ เช่น เราร้อนเราก็ผลิตแอร์ที่ทำให้เราเย็น แต่พอเราผลิตแอร์ไปสักพัก สารที่ออกมาจากการใช้แอร์ มันก็สร้างปัญหาโลกร้อนอีกมหาศาล ดังนั้นดูได้เลยว่า อะไรที่เราจะเอาชนะธรรมชาตินี่นะ พอนานๆ ไปเราจะรู้ว่าเราเอาชนะไม่ได้ และเราอาจจะไปทำร้าย ทำลายธรรมชาติด้วย แถมสุดท้ายการทำร้ายทำลายก็กลับมาทำร้ายตัวเราอีก ดังนั้นนวัตกรรมที่เราทำ จึงควรต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ อย่างสินค้าที่เราทำอยู่ เราก็เอาเยื่อของพืชเข้ามาทำ แล้วใส่นวัตกรรมเพื่อทำให้เยื่อที่มาจากธรรมชาติ กลับไปสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง

อยากให้คุณหมอเล่าถึงกระบวนการผลิต ว่าเป็นอย่างไรบ้าง  

ถ้าเรามองทั้ง flow โดยเริ่มต้นจากเยื่อพืช ธรรมชาติ หลักคิดเราคือไม่เอาเยื่อไม้ ไม่เอาการตัดไม้ทำลายป่า เยื่อพืชคือพืชที่เราปลูกแล้วเราต้องใช้อยู่แล้วเช่น ปลูกอ้อย ก็ต้องตัดไปทำน้ำตาล ตัดฟางข้าวมาใช้ หรือปาล์มที่เขาสกัดไปทำน้ำมัน เราก็เอากากปาล์มมาใช้งาน กลไกพวกนี้คือการใช้งานเยื่อพืช เราไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า แต่เป็นของเหลือใช้จากการเกษตร ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะถ้าเราไม่เอามาใช้ ไม่ใส่นวัตกรรมให้มัน ก็จะมีการทำลายทิ้งด้วยการเผา แล้วกลายมาเป็น PM 2.5 ที่สร้างปัญหาอีกมากมาย

ดังนั้น หลักของเราคือเราเอาของที่ควรจะกลายเป็นของที่ไม่ดีมาใส่นวัตกรรม แล้วทำให้มันดี ให้มันเป็นเยื่อ แล้วเอาเยื่อมาผลิตเป็นสินค้า ซึ่งในกระบวนการผลิต เราก็พยายามใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด โดยการเอากากเหลือใช้ของวัสดุต่างๆ มาเผา เพื่อจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ลดต้นทุนการใช้ไฟได้อีกทาง แล้วตอนเราผลิต เราก็คำนึงถึงสุขอนามัยมากๆ ด้วย เพราะเราใช้ความร้อน 200 องศา เพื่อให้ฆ่าเชื้อ และฆ่าสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ก่อน พอผลิตภัณฑ์ออกมา เราก็นำไปตรวจดูอีกว่ามีสารปนเปื้อนมั้ย แล้วก็เอายูวีมาฆ่าเชื้ออีกรอบ จากนั้นเมื่อผู้บริโภคนำไปใช้งานเสร็จ  ตอนจะทิ้งก็แค่เอาดินใส่เข้าไปในแก้ว หรือในจานชามของเรา แล้วเอาต้นไม้ปลูกฝังดินไป หลังจากนั้น 45 วันผ่านไป ภาชนะเหล่านี้ก็จะหายไปเหลือแต่ดิน

ที่เราคิดครบลูปแบบนี้เพราะเราเห็นโครงสร้างโดยรวมตั้งแต่แรก เราถึงได้เป็นโมเดลของ Circular Economy  เป็นโมเดลของ  Green Economy เมื่อคิดให้ครบลูป เราก็ต้องเอาของที่เป็นพืช หรือออร์แกนิกจริงๆ มาใช้ ต้องกรีนจริงๆ และกลับไปสู่ธรรมชาติจริงๆ นั่นคือหลักแบบ clean and green ที่เราตั้งใจทำ แต่บอกก่อนว่า แรกๆ เราลำบากมากนะ เพราะทำไม่เป็น (หัวเราะ) ทำ 100 เสียไป 30 คุณภาพยังไม่ค่อยดี ความหนาของภาชนะยังไม่ได้ หรือบางทีก็มีใส่ไปแล้วน้ำรั่วบ้าง เรียกว่า 5 ปีแรกขาดทุนอย่างเดียวเลย เงินเก็บทั้งชีวิตก็หมดไปเลย รวมกับเงินที่กู้มาก็เป็นหนี้เพิ่มด้วย

ถามว่าเครียดมั้ย หัวเราะแบบทุกวันนี้ได้มั้ย ผมเชื่อแบบนี้ว่า ในกระบวนการขับเคลื่อนของชีวิต มันจะเกิดเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้อยู่ตลอดเวลา ดีบ้างไม่ดีบ้าง เหนื่อยบ้าง มีความสุขบ้าง เราไปเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะโลกมันก็หมุนของมันไปแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มันก็ต้องเกิดขึ้นของมันไป เราไปควบคุมโลกไม่ได้ แต่เราควบคุมวิธีที่เรามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นได้ เราควบคุมความคิด ควบคุมจิตใจ ที่จะมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์นั้นได้ หรือตอบสนองกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้

ดังนั้นถ้าเรามองว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมดา เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็แย่ เดี๋ยวมันก็สำเร็จ หรือถ้าล้มเหลว มันก็อาจจะมีโอกาสที่จะสำเร็จ เพราะทุกๆ ความสำเร็จมันผ่านความล้มเหลวมาก่อนทั้งนั้น

ความสำเร็จกับความล้มเหลวมันเป็นเพื่อนสนิทกัน มันเดินไปด้วยกัน ถ้าอยากเจอความสำเร็จ ความล้มเหลวมันจะมาด้วย ถามว่าแล้วผมคุมปฏิกิริยาโต้ตอบยังไงกับห้าปีที่ขาดทุนตลอด ผมว่าถ้าเราเห็นภาพใหญ่ชัด เรายังเห็นแสงที่จะนำไปสู่จุดหมายได้ เราก็ทำหน้าที่กับเรื่องตรงหน้าในแต่ละวันให้ดีที่สุด ต้องคิดว่าเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าวันนี้เราต้องจัดการอะไร เดือนนี้ต้องทำอะไร สามเดือนนี้ต้องทำอะไร พูดง่ายๆ ว่าต้องอยู่กับปัจจุบัน แต่อะไรที่เราต้องปรับตัว ต้องพัฒนา ต้องจัดการก็ทำไป โดยอยู่บนพื้นฐานของทางเดินที่ชัดในระยะยาว

แสงที่นำทางชีวิตในตอนนั้นคืออะไร

การเชื่อว่าสิ่งที่เราทำคือสิ่งที่ดีกับผู้คนแน่นอน ไม่ทำให้คนเป็นมะเร็ง ลดการเกิดโรค และยังทำให้โลกดีขึ้น ขยะก็ไม่มี นั่นคือสิ่งที่เรามุ่งไปข้างหน้า

อย่างที่เห็นว่า วันนี้ทุกคนหันมาสนใจทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ คุณหมอว่าวันนี้มีโอกาสสำหรับธุรกิจอย่างไร หรือมีความท้าทายอะไรที่น่าจับตา เพราะวันนี้คู่แข่งอาจจะเริ่มเยอะขึ้นแล้วด้วย  

ผมพูดกับน้องๆ ทีมงานเสมอว่า นวัตกรรมมันเป็นของชั่วคราว ไอโฟนออกมาแป๊บเดียว เดี๋ยวซัมซุงออกมาละ ดังนั้นนวัตกรรมมันไม่จริงหรอก มันมีแค่ชั่วคราว เราแค่คิด wording อะไรบางอย่างสำหรับสิ่งที่ทำและทำให้มันเกิดความสำเร็จ แต่จริงๆ มันคือของชั่วคราว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือนวัตกร คนที่เป็นคนคิดนวัตกรรมต่างหากที่เราต้องสร้างขึ้น และเขาก็ต้องพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง ดังนั้นถ้าเรามองว่า สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อโลกออกมาในตลาดเพิ่มขึ้น แสดงว่ากลไกทางการตลาดใดๆ ก็ตามมันเปิดกว้างให้ของพวกนี้เข้ามา คนเริ่มทำของดีๆ ขายแข่งกัน แสดงว่าโลกกำลังจะดีขึ้น สุขภาพคนก็จะดีขึ้น สุขภาพโลกหรือสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น นี่คือหลักสำคัญที่ผมคิดว่ามันก็ดีแล้วที่มีคนเข้ามาเยอะ จะได้มีคนช่วยพูด เพราะเมื่อก่อนเราพูดคนเดียวมานาน แล้วทีนี้เราต้องปรับตัวยังไง ในขณะที่คู่แข่งเข้ามา?  หน้าที่เราคือพัฒนา เราหยุดแค่นี้ไม่ได้ เราต้องทำให้ดีกว่าเดิม และมันมีโอกาสอีกเยอะแยะในโลกนี้ที่รออยู่

คุณหมอคิดว่าวิธีคิดที่สำคัญที่สุดของคนเป็นนวัตกรคืออะไร หรือว่ามีวิธีในการพัฒนานวัตกรในองค์กรอย่างไร

ผมพูดเสมอว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของนวัตกรคือ ต้องกล้าผิด คุณต้องไม่ทำสิ่งที่ถูกตลอด เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเลือกทำในสิ่งที่ถูกไว้ก่อนเสมอ คุณไม่ใช่นวัตกร เพราะมันแค่ play safe แต่นวัตกรต้องกล้าผิด และผมบอกเลยว่า สำหรับนวัตกรของบริษัทผม ต้องคิดอะไรในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่คิดว่าเป็นไปได้ มันก็จะเหมือนกับคนอื่นทันที แต่ถ้าคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นแหละจะเป็นโอกาสที่ดี เพราะเมื่อไหร่ที่เราทำผิดหรือทำพลาดไป แปลว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ท้าทาย ถ้าคิดถูกเหมือนกันหมดก็ก๊อปปี้ แต่เมื่อไหร่ที่เรากล้าทำผิด เราจะรู้ว่าเราได้ออกนอกกรอบที่คนอื่นเคยอยู่ ตอนที่เราเริ่มทำบริษัทนี้ครั้งแรก เราบอกเลยว่าจะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องใช้โฟม ตอนนั้นคนบอกว่า โอ้โห ยากนะ คนเขาใช้โฟมกันทั้งประเทศ ซึ่งพอเราเห็นคนหัวเราะใส่ เพราะคิดว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้มันน้อยมาก นั่นแหละคือจุดที่ผมคิดว่า มันน่าสนใจมากๆ เราก็เลยมุ่งมั่นทำในสิ่งที่เชื่อต่อไป

แน่นอน แม้วันนี้จะยังมีคนใช้โฟมอยู่ แต่ก็มีคนรู้จักเรามากขึ้น ผมเลยคิดว่า ในโลกนี้มันไม่มีอะไร 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มี all good ไม่มี all bad ไม่มีอะไรที่ดีทั้งหมดจนไม่มีข้อเสีย และไม่มีอะไรที่เสียทั้งหมดจนไม่มีข้อดี ผมคิดว่าโฟมและพลาสติกเขาก็มีข้อดีของเขา เขาเหมาะกับอะไรหลายอย่างเลย โฟมอยู่เป็นพันปี พลาสติกก็ 450 ปีแน่ะ เขาจึงเหมาะกับของอะไรที่ใช้แล้วใช้ซ้ำ ใช้นานๆ เหมาะกับการทำเฟอร์นิเจอร์ ทำผนัง ทำอะไรที่อยู่ได้นานๆ

พลาสติกหรือโฟมเขามีหน้าที่ของเขา เพียงแต่เราใช้เขาผิดหน้าที่ เราไปเอาเขามาใส่อาหาร อันนี้แหละที่มันทำให้เป็นปัญหา เพราะใส่แค่ไม่กี่นาทีแล้วก็ทิ้งเลย

เราจึงไม่ควรแค่เอามาใส่อาหารแล้วทิ้ง ไม่ควรใช้ single use plastic แต่เราควรใช้หลายๆ ครั้ง ใช้นานๆ ใช้ยาวๆ จะได้เหมาะกับหน้าที่เขามากที่สุด ดังนั้นผมไม่ได้บอกว่าทุกอย่างไม่ดี แต่แค่ไม่เหมาะกับการใส่อาหาร

คุณหมอมีนิสัยเกี่ยวกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง เผื่อจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่น

โดยส่วนตัวผมระวังเรื่องการใช้พลาสติกนะ เพราะผมไม่อยากสร้างขยะ แต่แม้ว่าเราจะมีเกรซเป็นภาชนะที่ดีต่อโลก แต่เราก็ไม่ได้คิดนะว่าคุณต้องใช้ตลอดเวลา เพราะถึงมันจะย่อยสลายได้ แต่มันก็สร้างขยะได้เช่นกัน ถ้ามันย่อยสลายไม่ทัน ผมว่าสิ่งสำคัญคือใช้ให้เป็นและคิดให้ครบด้าน เช่น คุณอาจจะซื้อภาชนะเราไปใส่อาหาร แล้วถ้าหากกินไม่หมด ก็เอาไปแช่เย็นได้ทั้งกล่องหรือทั้งชาม พอจะเอาออกมากินก็ใส่ไมโครเวฟได้เลย ไม่ต้องเปลี่ยนใส่จาน ก็จะทำให้เราใช้มันคุ้ม ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ต้องล้าง หรือถ้าจำเป็นต้องทิ้งเวลามันเลอะ ก็เอาเศษอาหารเปียก เหลือๆ มาใส่ชามของเกรซ แล้วก็เอาไปฝังดินกลายเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ที่โรงงานเราก็ทำแบบนี้

เราใช้ทุกอย่างคุ้ม ไม่เป็นขยะ มีที่ทิ้งบรรจุภัณฑ์พร้อมอาหาร มีถังทำก๊าซมีเทน ทำไบโอแก๊ส แล้วนำไปใช้ในห้องครัวของโรงงาน ทุกอย่างหมุนเวียนกลับมาใช้ได้หมด เพราะเราคิดหมดแล้วทั้งระบบ จนตอนนี้โรงงานของเรา กลายเป็นโรงงานที่บริษัทหลายแห่งขอเข้าไปดูงานแล้ว

วันนี้แม้จะมีการสื่อสารไปแล้วมากมายว่าควรใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ช่วงที่มีวิกฤตโควิด ก็ยังมีคนใช้พลาสติก โฟม ใส่อาหารมากมาย เช่น ช่วงที่คนสั่งอาหารเดลิเวอรี่ คุณหมอคิดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยาก

ในความเห็นของผม อาจจะเป็นเพราะคนที่ทำเดลิเวอรี่ยังไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ หรือแม้แต่ของเราเอง เช่น อาจจะกลัวว่าอาหารจะหกเลอะเทอะ ฝาปิดไม่แน่น หรืออะไรก็ตาม เขาก็เลยกังวล แล้วคนที่ทำเดลิเวอรี่ตอนนั้นก็เป็นกลุ่มใหม่ๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ ที่ต้องผันตัวมาทำอาหารขาย เขาอาจจะไม่ได้รู้เรื่องบรรจุภัณฑ์มากมาย เพราะไม่ได้อยู่ในวงการตั้งแต่แรก เลยเห็นว่าพลาสติกก็ใช้ได้นี่ โฟมก็ใช้ได้นี่

ต่อมาเรื่องสำคัญคือ ตอนนั้นพลาสติกราคาลดลงกว่าครึ่ง เพราะน้ำมันทั้งโลกราคาลดลงด้วย พลาสติกเลยเข้ามาเยอะ เพราะมันเกี่ยวกับต้นทุนที่ถูกลง และตอนนั้นทุกคนก็รายได้ลดลง เขาก็เลยประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด เลยเห็นคนใช้ภาชนะพลาสติก โฟม เยอะมากๆ ในช่วงนั้น แต่ในสถานการณ์ปกติ ต้นทุนของภาชนะของเราไม่ได้ต่างกับพลาสติกเยอะนะครับ เรียกว่าต้นทุนไม่เยอะ และต้นทุนในการทำลายก็ไม่มี นี่คือความแตกต่าง

ต้องบอกว่าโฟมและพลาสติกมีค่าใช้จ่ายในการทำลายสูงกว่าค่าผลิตอีกนะ เช่น ต้นทุนผลิต 1 บาท ต้นทุนกำจัด 6 บาท เรียกว่ามากกว่า 6 เท่า แต่ของเรามันย่อยสลาย 100 เปอร์เซ็นต์  จริงๆ แล้วในต่างประเทศนี่ ผู้ผลิตต้องจ่ายค่ากำจัดด้วยอีกต่างหากนะครับ

สุดท้ายแล้ว หลายคนพูดถึง Next Normal ที่คิดว่าจะเกิดขึ้นหลังยุคโควิด คุณหมอมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร  

ผมคิดว่า สังคมจะเน้นเรื่องการไม่ใช้ของซ้ำ เพราะเราจะคำนึงเรื่องของการแพร่เชื้อมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งเลย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสื่อสารกันเยอะๆ ว่าถ้ากินแล้วทิ้งเลย ก็อย่าไปใช้พลาสติกหรือโฟมเลย เพราะคุณกำลังสร้างปัญหาและสร้างภาระให้กับคนรุ่นหลังอีกเยอะ เพราะการที่เราทิ้งแบบนี้มันจะกลายเป็นไมโครพลาสติกไปอีก และส่งผลกระทบกับเด็กรุ่นหลังๆ ที่จะรับสิ่งที่เราทำไม่ดีกับเขาไปด้วย

ภาพถ่าย: เอกพล ภารุณ