ในยุคที่เราตามหาอาหารการกินดีๆ ที่ดีทั้งรสชาติ และดีเพราะกินแล้วสบายใจ บ้านสีขาวในหมู่บ้านศรีนครเปิดประตูต้อนรับพร้อมสำรับอาหารที่เห็นแล้วน้ำลายสอ ท่ามกลางบรรยากาศโปร่งโล่งที่ออกแบบให้คนอยู่ได้ใกล้ชิดลมธรรมชาติขึ้นอีกนิด

โอ-นันทพร ลีลายนกุล คือเจ้าของบ้านและแม่ครัวที่เพิ่งเปิดร้านต้อนรับลูกค้าเต็มตัวเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาหารที่เธอนำมาเสิร์ฟน่ากินไม่ต่างจากที่เราเคยเห็นในภาพที่เธอโพสต์ลงเพจ The Dish Whisperer เพจสอนทำอาหารที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ถ้ามาที่นี่ เราจะได้กินข้าวอินทรีย์นุ่มหนึบจากที่นาจังหวัดยโสธรของ เชฟอาร์ต-ธีรยุทธ คงดี ผู้เป็นสามีของโอ (ที่มาลงครัวช่วยทำอาหารด้วย) ได้เคี้ยวตะไคร้เนื้อกรอบจากแปลงผักสวนครัวที่สอดแทรกตัวอยู่ในไข่เจียวฟูๆ ได้หม่ำไข่เค็มดาวมันๆ รสเค็มกำลังดีที่โอหมักเอง หรือได้จิบน้ำคอมบูฉะหมักเองที่ช่วยย่อยอาหารได้ดีนัก

ในทุกๆ เมนู เราเห็นโอคัดสรรวัตถุดิบดีๆ เห็นกระบวนการลงมือทำเองอย่างให้ความสำคัญรายละเอียด เห็นเธอตั้งอกตั้งใจจัดอาหารลงจานสวยๆ ที่ผลัดกันหมุนเวียนมาขึ้นโต๊ะ แค่อาหารมาวางเสิร์ฟตรงหน้า แม้ยังไม่ทันได้ตักเข้าปาก เราก็หลงเสน่ห์ส่วนผสมชื่อ ‘ความใส่ใจ’ ที่เธอหยอดไว้ในทุกจานเสียแล้ว

แม่ครัวเจ้าของรอยยิ้มใจดีเปิดเรื่องด้วยการเล่าว่า อาหารแทบทุกจานของเธอเริ่มต้นจาก ‘ความคิดถึง’

เพราะคิดถึง จึงลงมือทำ

ชีวิตวัยเด็กของโอไม่ได้คลุกคลีกับห้องครัวอย่างที่เรามีภาพจำกับพ่อครัวแม่ครัวฝีมือฉมัง อาหารที่บ้านเธอไม่ได้ซับซ้อน ทว่าทุกเมนูที่ทำล้วนเป็นของที่ใครคนนั้น ‘อยากกิน’ จริงๆ อย่างคุณพ่อผู้ลงมือปรุงอาหารเมนูที่กินที่อื่นแล้วไม่ได้ดังใจ โดยจะทำเมนูซ้ำๆ เดิมๆ เช่น ข้าวต้มปลาที่ชอบกิน หรือปลานึ่งสไตล์คนจีน

โอไม่ได้สนใจเรื่องอาหารอะไรเป็นพิเศษ ตอนใกล้จบปริญญาตรีก็ยังทำเป็นแค่น้ำปลาพริก จนกระทั่งไปออกค่ายสร้างสะพานของเด็กวิศวะฯ แล้วอยากกินบางเมนูมากถึงขนาดเขียนจดหมายส่งถึงที่บ้าน หวังว่าแม่จะเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ให้ แต่พอกลับมาถึงบ้านจริงๆ แม่กลับบอกแค่ว่า “ลองทำเองบ้างก็ได้นี่”

ด้วยคำพูดนี้ เธอค่อยๆ ลองผิดลองถูก พัฒนาฝีมือจากการไปออกค่ายจนกลายเป็นระดับ ‘ซูส์เชฟ’ หรือคนทำอาหารมือหลัก เรียนจบก็เข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขณะลาไปเรียนต่อที่อเมริกา ความอยากกินก็ทำให้เธอขวนขวายจนทำแกงเผ็ดเป็นครั้งแรก เมนูเด็ดของเธอคือต้มจับฉ่ายที่เพื่อนรุ่นน้องต้องมาขอให้ทำให้กินแบบยกหม้อ และในวันที่ต้องไกลบ้านไปอยู่ญี่ปุ่นเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาเอก สกิลการทำอาหารก็ยังติดตัวเธอไปและได้ใช้ตลอดเวลา 2 ปีที่อยู่ที่นั่น

การลงแรงลงทำอาหารเพื่อให้ได้ลิ้มรสอร่อยที่โหยหาและมีความสุขในทุกคำ คือผลลัพธ์ที่เรียบง่ายแต่คุ้มค่าพอ ถ้าเปรียบเป็นเรื่องรัก โอกับอาหารก็เริ่มต้นอย่างเรียบง่ายที่สุด แต่รู้ตัวอีกทีก็ขาดไปไม่ได้เสียแล้ว

“บางคนที่มาลงมือทำอาหารตอนนี้เป็นเพราะความรื่นรมย์ แต่เราเริ่มทำจากความอยากกินล้วนๆ” เธอหัวเราะร่วน “เราไม่เคยคิดหรอกว่าตัวเองชอบทำอะไร ทำอะไรได้ดีและทำได้เรื่อยๆ ก็ทำ เป็นคนเฉยๆ แบบนี้ จนกระทั่งตอนคบแฟนซึ่งเป็นคนต่างชาติ ตอนนั้นเราเริ่มคิดว่าถ้าต้องแต่งงานไปอยู่ต่างประเทศ เราจะต้องประกอบอาชีพอะไร เริ่มมองหาว่าจริงๆ แล้วตัวเองสิ่งที่ทำแล้วทำได้ดี มีความสุขไปเรื่อยๆ คืออะไร”

แน่นอน คำตอบคือการทำอาหาร

คิดถึง (ร่างกาย) ตัวเองเข้าไว้

การตัดสินใจเบนเข็มชีวิตครั้งนั้น นำไปสู่การเรียนทำอาหารอย่างจริงจังที่ เลอ เกอร์ดอง เบลอ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้หลักการทำอาหารมากมาย แต่เส้นทางความรักที่จบลงก็พาให้โอกลับมาประเทศไทย พบรักกับสามีซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงอาหารเหมือนกัน แต่งงาน มีลูกสาว 1 คน ก่อนจะเปลี่ยนอาชีพมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว

ทุกวันดำเนินไปตามปกติ จนวันที่บ้านหลังนี้กำลังก่อร่าง โอเป็นแผลอักเสบจากการทำครัวและมีไข้ พอไปหาหมอถึงรู้ว่าความดันพุ่งสูงในระดับน่ากลัว

“ผู้รับเหมาทำบ้านเจ้าแรกทำให้เราเกิดความเครียดสูงมาก เลยต้องกลับมาดูว่าจริงๆ แล้วเรื่องของคนอื่นเราคุมไม่ได้ เขาคงจะทำอะไรให้เราปวดหัวอีก แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คืออาหาร ก็เลยเริ่มปรับจากอาหารก่อนเป็นอย่างแรก ก่อนหน้านั้นเราจะกินอย่างที่อยากกิน รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงปกติ แต่พอความดันขึ้นเท่านั้นแหละ เราเป็นคนที่พอป่วยปุ๊บจะตระหนักขึ้นมาทันทีว่า ฉันจะต้องกินอะไรดี ไม่รู้เป็นเพราะอะไรเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าทุกอย่างร่างกายแก้ไขได้ด้วยอาหารที่เรากิน”

โอแชร์ว่าสมัยไปเรียนที่ญี่ปุ่นเกิดเป็นโรคริดสีดวงและท้องผูกหนักมาก พอได้ยินว่าอีก 2 สัปดาห์ต้องเข้าผ่าตัดเลยยอมกินแต่ผักทุกมื้อ ผลปรากฏว่าหายสนิท ทว่าครั้งนี้เธอจะไม่หักดิบบังคับตัวเองให้กินผักเยอะๆ เฉยๆ แต่เริ่มภารกิจสนุกด้วยการสร้างสรรค์สลัดผักมื้อเย็นให้เป็นมื้อที่กินทุกวันได้โดยไม่เบื่อจนตบะแตกไปกินอย่างอื่น

และแน่นอน เธอมีความอยากกินเป็นที่ตั้ง

สลัดผักของโอจะถูกจับคู่กับสิ่งที่อยากกินแบบทำให้น้ำลายสอ เช่น สลัดผักกับน้ำพริก ใช้วัตถุดิบที่ไม่มันอย่างปลาต่างๆ โอคิดหาเมนูแปลกๆ ใหม่ๆ ให้ตัวเอง แต่ปรับวัตถุดิบให้เป็นมิตรกับร่างกายมากขึ้น สลัดแขกกินกับไก่กอและ สลัดไก่ย่างสมุนไพร สลัดส้มตำ กินผักเยอะได้แต่ต้องทำให้ผักมีรสชาติหลากหลาย ผสมผสานทั้งผักต้ม ผักย่าง ผักสด ทำให้ทั้งตัวเองและกระเพาะมีความสุขไปพร้อมกัน เธอถ่ายรูปอาหารและเล่าเรื่องราวนี้บนเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ พอเพื่อนบ้านร่วมคอนโดเห็นก็อยากกินบ้าง กิจการขายอาหารเล็กๆ ของโอจึงเริ่มขึ้นในที่สุด

“เรายืดหยุ่นมาก แค่บาลานซ์จุดที่คิดว่าน่าจะมีพลังขับเคลื่อนในแต่ละวันได้ มันเป็นกฎเบสิกง่ายๆ เลย เช่น ทานผักเยอะๆ ย่อมจะดี แต่การที่อดอะไรไปเลยนี่ไม่ดีแล้ว การกินแต่เนื้อสัตว์ ผักต้ม ไก่ต้ม นี่รู้สึกว่า extreme มาก เพราะยากที่เราจะรู้สึกเอ็นจอยได้ทุกมื้อ ในแง่ร่างกายเราก็พูดตอบไม่ได้อีกว่ามันโอเคไหม แต่ลิ้นเรานี่ไม่โอเคแล้วนะ เบื่อแล้ว กินแต่ไก่จนจะบินได้แล้ว” เธอหัวเราะร่วนก่อนเสริมต่อ “ที่จริงร่างกายเรา เราต้องรู้ดีที่สุด ใช้ตัววัดผลง่ายๆ เช่นคุณนอนหลับสบายดีไหม อาหารหนักๆ กินแล้วบางทีตื่นมาจะมึนตึ้บๆ เหมือนแฮงค์เพลีย เราต้องสังเกตว่าวันนี้เรารู้สึกยังไง แต่ถ้าคุณยุ่งมากจนลืมตัวเอง ใครก็มาสังเกตตัวคุณให้ไม่ได้”

หลังปรับวิธีกินไม่นาน ความดันก็เข้าสู่ภาวะปกติ แถมยังน้ำหนักลดและผิวพรรณดีขึ้น และหลักการทำอาหารนี้ก็ผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตประจำวันได้แบบไม่ยากเย็น ตั้งแต่เหตุการณ์นั้น โอปรุงอาหารในรสชาติละมุนละไมมากขึ้นอีกนิด แต่ชดเชยด้วยสีสันต่างๆ ที่เพิ่มเข้าไป เช่นผักสมุนไพรหรือผักที่มีรสสัมผัสอร่อยให้กินได้เพลินๆ แบบลืมติดเค็ม และจัดวางสวยๆ บนจานงามๆ โดยใส่ความอยากกินของตัวเองลงไป แค่นี้ก็น่ากินน้ำลายหก

โอทำให้เราเห็นว่าการลงมือทำอาหารกินเอง ก็เหมือนการมีชุดกระเป๋าคุณหมอส่วนตัวไว้ดูแลสุขภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพายา หาหมอ หรือทำตามตำราใด แค่ ‘คิดถึง’ ตัวเองให้มากขึ้น แล้วเลือกว่าวันนี้จะกินอะไร ‘ดี’ ก็พอแล้ว

แบ่งปันความคิดถึง

หลังจากนั้นไม่นาน โอเปิดเพจ The Dish Whisperer ขึ้นมาเพื่อแชร์สูตรอาหารให้เพื่อนพ้องคนรู้จักที่ทักมาถามไถ่ โดยนำรูปอาหารที่ถ่ายเก็บไว้ (ด้วยเซ้นส์แห่งความอยากกิน) มาเนิ่นนานมาโพสต์ เขียนแคปชั่นบอกสูตรอาหารที่เขียนอย่างเป็นมิตรจนสัมผัสได้

“เราอยากให้คนเริ่มทำอาหารเองเป็น ตอนเขียนก็อธิบายละเอียดเพราะเราเคยเป็นครูและเคยทำอาหารไม่เป็นมาก่อน เราเข้าใจว่ามันจะไม่เข้าใจหรืองงตรงไหน ต้องคิดถึงใจคนที่ไม่เคยทำแล้วกลัวจะทำไม่อร่อยด้วย ขณะเดียวกันมันก็เป็นสูตรที่ค่อนข้างกระชับถ้าเทียบกับที่ทำเอง มีใจความสำคัญที่ทำให้อาหารอร่อยอยู่ในนั้นแน่นอน แต่เราจะเก็บบางจุดไว้ไม่ให้เขารู้สึกยุ่งยาก”

“อย่างเช่นเราใช้หอมมาผัดให้น้ำเกรวี่หวาน ไม่ใช้น้ำตาล ถ้ามีคนมาทานข้าวรู้สึกชอบแล้วถาม เราก็จะค่อยๆ บอกแต่ไม่ยัดเยียด เพราะมันจะกลายเป็นว่าอาหารนี่เรื่องเยอะ อาหารเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัว เราไม่ควรจะต้องกลัวผิดจนกระทั่งคิดว่าไม่เอาแล้ว ซื้อเขากินดีกว่า ผิดก็ผิดสิ พรุ่งนี้ทำใหม่ก็ไม่ผิดแล้ว” อดีตนักเรียนอาหารผู้ทำอาหารไหม้มานักต่อนักเล่า “เราไม่ใช่คนที่ sentimental กับอาหารมาก จนถึงนาทีนี้ก็เหมือนกัน เรารู้สึกว่าอาหารคือเรื่องปกติ มันคือชีวิต มันกินสามเวลาสามมื้อ แต่ถ้ามีเวลาคิด เราก็จะนั่งมองว่าอาหารที่ทำอยู่นี่ เราจะทำให้อาหารจานนี้มันดีขึ้นได้ยังไงบ้าง” โอเล่ายิ้มๆ

“การทำอาหารให้ที่บ้านกินเป็นงานหนัก แต่ถ้ามันมีผลดีกับร่างกายเราในระยะยาว ก็เป็นเรื่องน่าทำ แค่เจียวไข่กินเองก็สุขภาพดีได้แล้ว ด้วยการเจียวให้ไม่อมน้ำมัน เจียวด้วยน้ำมันที่ดี”

สูตรอาหารที่เธอทำขาย ก็คือสูตรอาหารเดียวกับบนเพจ สูตรเดียวกับอาหารที่ทำในชีวิตประจำวันโดยคิดถึงทั้งความอร่อยและสุขภาพ เพราะฉะนั้นถ้าลองลงมือทำ การมีอาหารหน้าตาน่ากินที่กินแล้วสบายใจมาวางตรงหน้าก็ไม่ใช่เรื่องเกินฝันแต่อย่างใด

เช่นเดิม, เคล็ดลับคือ จงมีความอยากกินเป็นที่ตั้ง

“การทำอาหารเองเริ่มที่การกิน กินแล้วสังเกตสิ่งที่เรากิน กินอย่างมีสติ รู้ว่ากำลังกินอะไร ประมวลผลเล็กน้อยว่าตรงนี้ชอบหรือไม่ชอบ พอนานๆ เข้า ภาพก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นว่าเราชอบกินแบบไหน ลงไปถึงว่าของที่เราชอบนี่ดีต่อสุขภาพไหม ซึ่งไม่ต้องไปเปิดหนังสือ ดูด้วยตาก็รู้ เช่นของทอดชุบแป้งหนาเตอะคงไม่ดี ขอให้เราระบุให้ได้ว่าอยากกินอะไร เดี๋ยววิธีการมันตามมาเอง”

เธอปิดท้ายด้วยการแนะตามประสาครูใจดีว่า การเรียนรู้เรื่องอาหารต้องอาศัยประสบการณ์เป็นที่ตั้ง พอเราค่อยๆ กินและจดจำ เราก็จะมีลิ้นชักความทรงจำให้หยิบออกมาใช้สร้างสรรค์เต็มไปหมด การทำอาหารให้อร่อยสำหรับเธอไม่ใช่การวางแผน แต่เป็นการใช้ความรู้สึกนำทาง ทั้งความรู้สึกรักตัวเองและคนในครอบครัว หรือความรู้สึกเมื่อคิดถึงใครบางคนแล้วอยากลงมือทำอาหารเมนูที่ผูกพัน

‘คิดถึง’ รสชาติแบบไหน ให้ลองเปิดลิ้นชัก แล้วสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง

ภาพถ่ายโดย มณีนุช บุญเรือง