‘ครูหน่อย’ หรือ ‘ป้าหน่อย’ พอทิพย์ เพชรโปรี คลุกคลีอยู่ในแวดวงออร์แกนิกมาตั้งแต่ยุคที่เรื่องนี้ยังเป็น ‘ของใหม่’ ของผู้บริโภค ถ้าจะถามว่านานแค่ไหน ก็คงจะย้อนไปไกลกว่า 20 ปี ที่เธอเริ่มต้นตั้งแต่เป็นผู้บริโภค แล้วขยับมาเป็น ‘คนกลาง’ ในการส่งต่อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกไปถึงผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่ให้ความสนใจกับการกินที่ดีกว่าเดิม

หากมองป้าหน่อยในฐานะผู้บุกเบิก ก็เรียกได้ว่าสุภาพสตรีท่านนี้บุกเบิกมาหลายต่อหลายโครงการ ตั้งแต่ร้าน Health Me ร้านอาหารสุขภาพที่มีขายตั้งแต่วัตถุดิบออร์แกนิก อาหารพร้อมปรุง ไปจนถึงถักหมักปุ๋ย โครงการตะกร้าปันผัก เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรด้วยการส่งผักในระบบสมาชิก ทำสวนเรียนรู้ที่สอนการปลูกผักในเมือง Organic Way ก่อตั้งแคตเทอริ่งที่เป็นมิตรกับคนกินและโลกอย่าง เคี้ยวเขียว และยังทำอีกหลายๆ อย่าง ทั้งเป็นวิทยากร ที่ปรึกษา ฝ่ายประสาน ที่ตอนนี้หลังจากวางมือจากหลายธุรกิจที่ก่อตั้งเพราะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแล ป้าหน่อยก็เข้ามาช่วยงานที่ City Farm Market ในฐานะผู้จัดการตลาด เพื่อกระจายผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรสู่มือผู้บริโภคอีกครั้ง

จากหลายๆ สิ่งที่ทำ ทำให้ป้าหน่อยได้คลุกคลีกับทั้งหน่วยใหญ่และหน่วยย่อยของวงการออร์แกนิกในทุกระบบ ทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้บริโภค ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาจึงนับเป็น ‘วิชา’ ที่เรามองว่าหากได้แบ่งปันไปสู่คนที่สนใจคงจะดีไม่น้อย เมื่อได้มีโอกาสสนทนากับป้าหน่อย เราจึงบันทึกข้อคิดดีๆ แล้วนำมาฝากกันบนชานบ้านแห่งนี้

ล้มบ้างก็ได้ แล้วปล่อยให้ความล้มเหลวเป็นประสบการณ์

“ป้าหน่อยอยู่ในรอยต่อหลายช่วงของระบบ จึงโชคดีมาก เพราะการจับตลาดทำให้เราได้เห็นการเติบโตและรูปแบบที่แปลกใหม่ อย่างตอนนี้ก็ใช้ออนไลน์กันเยอะมาก ขายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ก็เยอะ ระบบนี้มันช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ดีๆ กระจายไปได้อย่างไร้รูปแบบ

“เราเป็นคนที่เห็นว่าอะไรน่าทำก็ทำเถอะ ถึงมันจะมีแนวโน้มว่าจะเจ๊งก็ตาม คำว่าการตลาดจะต้องมุ่งเน้นไปที่มีเงิน มีรายได้ ต้องทำธุรกิจให้รอด แต่อีกมิติหนึ่งป้าหน่อยมักจะมองย้อนๆ แย้งๆ กับเรื่องธุรกิจคือประสบการณ์ที่เราได้”

“สมมติเราทำธุรกิจนี้ล้มเหลว ประสบการณ์ของความล้มเหลวนั้นจะทำให้เราก้าวไปอีกก้าวหนึ่งได้ ข้อหนึ่งคือคุณจะไม่ผิดเหมือนเดิม”

“สองคือถ้าอยู่ในธุรกิจนั้นสักสามปี จนคุณมีชื่อชั้นอะไรบางอย่าง เช่น คุณรู้จักเกษตรกร รู้จักผู้บริโภค แต่คุณอาจจะผิดพลาดเรื่องบริหารจัดการ หรือสินค้าไปต่อไม่ได้ อย่างน้อยเรายังสามารถเก็บสิ่งเหล่านั้นมาเป็นประสบการณ์ได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นใหม่หรือไม่เริ่ม ประสบการณ์นั้นจะเป็นอนุสาวรีย์ที่อยู่ในตัวเรา”

ตลาดสินค้าออร์แกนิก เมื่อยุคสมัยต่างกัน โจทย์ก็ต่างกัน

“ในแง่การผลิตแล้ว เมื่อก่อนผักออร์แกนิกหายากเพราะคนทำน้อย ตอนนี้หาง่าย แต่ก็ต้องดูอีกว่ามันใช่ของจริงหรือเปล่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริโภคที่ต่างกันก็คือ เมื่อก่อนนี้ผู้บริโภคไม่รู้จักคำว่าออร์แกนิก ต่างกับตอนนี้ที่ผู้บริโภครู้จักออร์แกนิกมากขึ้น แต่ผู้บริโภคก็ต้องเท่าทันออร์แกนิกเทียม ตัวอย่างง่ายๆ อย่างผักไฮโดรโปรนิกส์ที่ปลูกด้วยน้ำและให้สารอาหารทางน้ำ กับผักออร์แกนิกที่ปลูกด้วยดินก็มีความสับสนกันมาหลายปี ถึงตอนนี้ก็ยังมีคนสับสนอยู่เพราะเรายังต้องมีผู้บริโภครายใหม่ มีคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา

“หรือในบางครั้ง การโฆษณาก็มีการสื่อสารที่เข้าไปผูกปมบางอย่างกับผู้บริโภค เช่น มีการโฆษณาไข่ไก่ที่อยู่ในสายพาน แล้วมีสเปรย์พ่นน้ำ ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าต้องล้างไข่ก่อนเข้าตู้เย็น เพื่อที่ไข่จะได้สะอาด แต่ความจริงมันทำให้สารที่เคลือบผิวไข่ถูกทำลาย ดังนั้นในสายออร์แกนิกก็ต้องทำงานกันอีกแบบหนึ่ง ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้บริโภคกัน ผู้บริโภคต้องเรียนรู้จากคนขาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้บริโภคแล้วคนขายบอกอะไรมาแล้วเราจะเชื่อทั้งหมด ต้องวิเคราะห์ด้วย ค้นคว้าดูว่าผักไฮโดรโปรนิกส์ต่างจากผักอินทรีย์ยังไง ที่รากสวยๆ ไม่มีดินนั้นมันเป็นยังไง ผู้บริโภคต้องเท่าทันและทำความเข้าใจด้วย เพื่อที่จะได้ไม่หลงทาง

“อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องมอง ระบบการตรวจรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจในบริบท เพราะมาตรฐานบางอย่างก็กีดกันชุมชนหรือเกษตรกรเหมือนกัน ในการตรวจมีความซับซ้อน รายเล็กๆ ที่แม้จะไม่ได้มีการรับรองออร์แกนิก แต่เราก็รับรู้ว่าเขาปลูกกันอย่างไร อย่างน้อยเราก็รู้ที่มาว่า ไม่ได้มีเคมีเข้ามาเจือปน ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคก็ต้องเรียนรู้และเท่าทันในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ”

ออร์แกนิกไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกิน

“ป้าหน่อยเชื่อว่าออร์แกนิกไม่ใช่แค่เรื่องกิน มันมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตที่เป็นออร์แกนิก ชีวิตที่ไม่ต้องพึ่งพิงอะไรมากมาย และมีมิติที่ลึกเข้าไปกว่านั้นอีก ทั้งการพูดถึงสิ่งแวดล้อม ว่าการขนส่งมันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไง อย่างในแง่การเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือมองไปถึงเรื่อง fair trade หรือการค้าที่เป็นธรรม”

“ความเป็นออร์แกนิก คือความที่คุณเคารพธรรมชาติ”

“และไม่ใช่ว่าคุณเคารพธรรมชาติ แต่คุณลืมเคารพเพื่อนที่อยู่ในวงการเดียวกันหรือเพื่อนต่างวงการ ไม่ใช่เป็นมนุษย์ออร์แกนิกแล้วจะตั้งแง่กับมนุษย์เคมี ถ้าคุณบอกว่าคุณทำงานที่รักสิ่งแวดล้อม แต่คุณกำลังลืมไปหรือเปล่าว่ามนุษย์ก็คือสิ่งแวดล้อม เรามีหน้าที่บอกข้อเท็จจริงกับเขาว่าเราทำอะไร ป้าหน่อยว่าคนออร์แกนิกต้องมองแบบสายตาที่รู้โลก รู้เรา รู้เขา ถ้าเรามองทุกอย่างเป็นเรื่องชีวิต จะไม่มีอะไรอยู่กับที่เลย เราอยู่ ณ ปัจจุบัน แล้วเรามองไปสู่อนาคต นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง”

เคลื่อนไปกับโลก อย่ามองใครเป็นคู่แข่ง

“ตอนนี้ออร์แกนิกมีระบบการจัดการที่ดีกว่าเดิมเยอะ วิธีการปลูกก็เปลี่ยนแปลงไปหมด มีนวัตกรรมเข้ามาเยอะแยะไปหมด และมีคนเข้ามาในธุรกิจนี้กันเยอะขึ้น แต่ประเด็นคือเยอะ ไม่ได้แปลว่าจะยั่งยืน ออร์แกนิกไม่ใช่กระแสนะ แต่มันเป็นวิถี มันคือวิถีชีวิต ถ้ามองแต่ออร์แกนิกเป็นธุรกิจ แต่ไม่ได้มองกลับมาที่ชีวิตตัวเองจะเกิดรูโหว่ เพราะเดี๋ยวนี้แข่งกันในหลายมิติมาก และที่เรียกว่าความยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงทำแล้วอยู่นานๆ แต่มันคือความยั่งยืนที่อยู่ข้างในของคนคนนั้น เขาอาจจะทำในจุดนี้สามปีแล้วกระโดดไปทำอีกอย่างหนึ่งโดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์ หรือทำต่อยอดให้เขาไปได้ไกลขึ้น แบบนั้นก็เรียกว่ายั่งยืนในมุมของเรา

“โลกมันเคลื่อนไปข้างหน้า โมเดิร์นเทรดรายใหญ่เขาก็ลงมาเดลิเวอรี่แล้ว เมื่อก่อนเราเป็นคนตัวเล็กๆ พูดเรื่องออร์แกนิกด้วยน้ำเสียงกระซิบ แต่พอเจ้าใหญ่มาเล่น เขาพูดเรื่องนี้ด้วยเสียงที่ดัง มันทำให้เราพูดเรื่องนี้ง่ายขึ้นนะ ถามว่านี่คือการแข่งขันไหม อย่ามองว่าต้องไปแข่งกับเขา เพราะยังไงก็แข่งไม่ได้ ไม่ต้องไปแชร์กับเขา ให้โมเดิร์นเทรดเขาแชร์ตลาดกันเอง แต่เราก็มีเครือข่ายของเรา เราต้องซื่อสัตย์กับเครือข่ายของเรา ถ้าพรุ่งนี้เขาจะไปซื้อกับโมเดิร์นเทรดก็ไม่เป็นไรนี่ ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ ยืดหยุ่นได้ และเรารู้ว่าเรากำลังทำงานอะไรอยู่ การมีรายใหญ่มาทำตลาดด้วยไม่ได้เป็นปัญหา

“อันนี้เป็นบทพิสูจน์จากการที่ป้าหน่อยทำ Health Me มาสิบห้าปี ทุกวันนี้ลูกค้าเก่าก็ยังโทรหาป้าอยู่ พอเราบอกว่าเราทำ City Farm Market เขาบอกเขาสมัครสมาชิกเลยนะ เพราะเขารู้จักเรา แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยังเป็นสมาชิก Health Me เป็นสมาชิก Lemon Farm ด้วย ก็เป็นสิ่งดีที่ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกเยอะ

“สำหรับผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ ราคาไม่ใช่ปัจจัยแรกที่เขาตัดสินใจซื้อ เขาดูที่ความสัมพันธ์ด้วย”

“เขาระลึกถึงคนที่เรากำลังเชื่อมโยงคือเกษตรกร มันมีมิติความสัมพันธ์ระหว่างคนปลูกกับคนกิน มันคือสตอรี่ที่สำคัญในการสื่อสาร”

ทวนคำถามถึงเรื่องความสุขกับตัวเองบ้าง

“อย่างที่ป้าหน่อยบอกว่าเดี๋ยวนี้มีการแข่งขันกันในหลายมิติ แล้วคนรุ่นใหม่ก็มีความรู้เชิงธุรกิจเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ธุรกิจของตัวเองไปได้ แต่ภายใต้การใช้เครื่องมือ ป้าหน่อยว่ามันคือความคิด คือความเป็นมนุษย์นะ คนยุคนี้อาจจะปลูกผักเก่ง ขายของได้ แต่ความสำเร็จนี้ต้องดูกันนานๆ ว่ามันใช่ความสุขหรือเปล่า ความสำเร็จมันต้องได้ทั้งความสุขที่ตัวเองทำด้วย ไม่ใช่แค่มองตัวเลขในบัญชี

“ทุกวันนี้ป้าหน่อยก็มีคนรู้จักที่ยังรับออร์เดอร์ทางโทรศัพท์แล้วจด รวบรวมสินค้าจากเกษตรกรแถวบ้านแล้วขับรถส่งของเอง อาทิตย์ละสองวัน ถามว่าทำไมไม่ขยายเขาบอกพอแล้ว เขามีความสุขแค่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเขามาไม่ถูกทางนะ แต่เขาทำในสิ่งที่เป็นเขา และมีความสุขที่จะทำในวิถีนี้ เมื่อเขารู้สึกว่าพอแล้วก็คือพอ คิดให้ได้ว่าโลกธุรกิจกับโลกส่วนตัวต้องอย่าแยกกัน ชีวิตมันเป็นชีวิตนะ ถ้าก้าวเข้ามาแล้วมีแต่ปัญหาประเดประดัง มันไม่เป็นชีวิตที่ออร์แกนิกแล้ว ลองทบทวนดูว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันใช่ความสุขจริงๆ มั้ย ถ้าการมาอยู่ตรงนี้แล้วคือความสุข คือความสำเร็จ คือเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ ก็คือใช่”

ภาพประกอบ: Paperis