ผ่านพ้นไปแล้วแบบเงียบๆ สำหรับวาระการประชุมครบรอบ 5 ปีของข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่มีองค์การสหประชาชาติหรือ UN เป็นเจ้าภาพร่วมกับสหราชอาณาจักรและประเทศฝรั่งเศส จัดการประชุมทางไกลเป็นเวลาหนึ่งวันภายใต้การประชุมที่มีชื่อว่า Climate Ambition Summit และมีผู้นำประเทศกว่า 70 ประเทศเข้าร่วม โดยงานประชุมใหญ่อย่างเป็นทางการจะเลื่อนไปจัดอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า เพื่อเป็นการปรับตัวไปตามสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 นั่นเอง

แม้การประชุมแบบทางไกลจะไม่ได้สร้างกระแสฮือฮา เท่ากับการจัดอีเวนต์ที่มีผู้นำทั่วโลกไปเดินกระทบไหล่กันเป็นจำนวนมาก แต่สาระสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการจัดงานเพียงเรื่องเดียว หากอยู่ที่ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจาก 5 ปีที่ผ่านมาบ้างกับข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่มีข้อตกลงร่วมกันของประเทศทั่วโลก 195 ประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบหรือแบบแผนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาด้านสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ปัจจุบันมีประเทศที่ยอมรับข้อตกลงนี้ 189 ประเทศ ซึ่งมีทั้งที่ขอถอนตัวและประเทศที่ไม่ได้ทำตามข้อตกลงเดิม

แต่ก่อนจะไปที่ประเด็นที่น่าสนใจของการประชุมที่เพิ่งผ่านพ้นไป เรามาทบทวนกันก่อนว่า หัวใจสำคัญข้อตกลงปารีส ก็คือ การรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งหลักสำคัญก็คือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศให้มากที่สุดและเร่งด่วนที่สุดนั่นเอง หรือพูดตามสูตรที่รู้จักกันดีคือ 20/20/20 ลดการปล่อยคาร์บอนฯ 20% เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นอีก 20% และเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอีก 20%

แล้วในการประชุมครั้งนี้ มีอะไรให้เราต้องเงี่ยหูฟังหรือนำไปคิดต่อบ้าง?

ก็เริ่มตั้งแต่ปาฐกถาเปิดงานของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการขององค์การสหประชาชาติ ที่ชูประเด็นว่า รัฐบาลทั่วโลกควรจะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศจนกว่าโลกของเราจะไปถึงจุดที่เหลือการปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ หรือตั้งเป้าไว้ที่ประมาณช่วงกลางของศตวรรษนี้

แน่นอนว่า ก่อนหน้านี้แม้ว่าปริมาณคาร์บอนฯในอากาศจะลดลงไปมาก จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก แต่เมื่อสถานการณ์ในบางประเทศเริ่มคลี่คลาย ทุกอย่างก็เหมือนจะวนกลับไปจุดเดิม และร้ายแรงกว่าเดิม โดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า

ขณะนี้มีหลายประเทศเทเงินจำนวนมากไปกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนฯในระดับสูงมาก เพราะต้องกระตุ้นการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงโควิด-19

เขาบอกอีกด้วยว่า ประเทศในกลุ่มมหาอำนาจหรือ G20 ก็กำลังทุ่มเงินไปเกือบ 50% ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปที่การใช้พลังงานถ่านหิน และทุ่มเงินไปกับกลุ่มเศรษฐกิจในภาคส่วนที่ปล่อยคาร์บอนฯ มากกว่าในภาคส่วนที่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ

“ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าว “เงินเป็นพันๆ ล้าน ที่เราใช้ไปกับการฟื้นตัวหลังโควิด เป็นเงินที่เรายืมมาจากลูกหลานในอนาคตทั้งสิ้น นี่เป็นการทดสอบทางศีลธรรม เราไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อไปสร้างนโยบายอะไรก็ตามที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก จนเป็นภาระกับคนในรุ่นอนาคต ที่ต้องอยู่กับภูเขาแห่งหนี้สินบนโลกที่กำลังพังพินาศ” เป็นคำพูดที่ชวนให้เห็นภาพ (ที่ไม่มีใครอยากเห็น) ได้ดีเหลือเกิน และถ้าคุณกำลังเป็นคนในรุ่นอนาคตอย่างที่ว่า คุณก็คงไม่มีวันยอมแน่ๆ

หนึ่งในคนที่ไม่ยอม และพยายามที่จะพูดเรื่องนี้ในทุกเวทีเท่าที่พลังของเธอจะเอื้ออำนวยให้ทำได้ ก็คือเกรต้า ธุนเบิร์ก ผู้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวอันโด่งดังอย่าง Friday for Future หรือการนัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อประท้วงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อนหน้าที่จะครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีสเพียงไม่กี่วัน เธอก็ได้ปล่อยคลิปวิดีโอเพื่อสื่อสารไปยังผู้นำทั่วโลกให้ตระหนักว่า ตอนนี้พวกเขาล้มเหลวในการจัดการเรื่องลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพราะตอนนี้ปริมาณคาร์บอนฯ ในอากาศกำลังสูงขึ้นมาก “5 ปีหลังจากที่เรามีข้อตกลงปารีส เป็น 5 ปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และเราได้ปล่อยคาร์บอนฯ รวมกันมากถึง 200 กิกะตัน หรือ 200 พันล้านตันไปแล้ว”

เกรต้ายังสะกิด (แบบแสบๆ คันๆ ) ตามสไตล์ของเธอว่า เรามีการวางแผนอันใหญ่โต มีการกล่าวคำพูดบนเวทีใหญ่มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พอพูดถึงแผนการที่เราจะลงมือทำได้ทันที เรากลับตกอยู่ในภาวะที่ปฏิเสธความจริงโดยสิ้นเชิง “เรากำลังเสียเวลาสร้างวงจรใหม่ๆ ของคำพูดที่ว่างเปล่า และการแต่งตัวเลขไปวันๆ”

ถึงที่สุดแล้ว เธอมองว่าทุกคนกำลัง “มุ่งหน้าไปผิดทิศผิดทาง” เธอเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกออกมาพูดความจริง ว่าเรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่พวกเราก็ยังไม่ได้ลงมือแก้ไขกันอย่างเพียงพอ เราต้องจัดลำดับความสำคัญว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องทำเดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องไปมองถึงเป้าหมายในปี 2030 หรือ 2050 หรอก เอาเป็นว่าเราควรจะมาวางแผนการใช้งบประมาณการใช้คาร์บอนฯในแต่ละปีให้ได้จะดีกว่า

พูดง่ายๆ คือ เราต้องบริหารงบประมาณการใช้คาร์บอนฯเพื่อไปถึงจุดที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยจะลดลง 2 องศาเซลเซียสนั่นเอง

แต่ครั้นเราจะมองแต่ภาพรวมที่กำลังแย่ก็กระไรอยู่ เพราะแอน ฮิดาลโก้ นายกเทศมนตรีของปารีส และเป็นประธานของกลุ่ม C40 (กลุ่มของเมืองทั่วโลกที่ร่วมมือกันผลักดันการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ เริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่ม C20 และเปลี่ยนชื่อตามปริมาณของเมืองที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มกว่า 96 เมืองทั่วโลก) ได้ออกมาพูดเนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีของข้อตกลงปารีสว่า เธอภูมิใจที่มีเมืองมากกว่า 50 เมืองทั่วโลกที่กำลังอยู่บนทิศทางที่ถูกต้องในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ และการมุ่งไปที่เป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียส

ตัวอย่างเช่น เมืองฮุสตัน ในรัฐเท็กซัส ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมด้านแก๊สและน้ำมันของสหรัฐอเมริกา วางเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างเลนจักรยานแห่งใหม่ในพื้นที่กว่า 800 กิโลเมตร รวมทั้งจะมีการก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับพลังงานสะอาดอีกกว่า 50 บริษัทให้ได้ภายในปี 2025 พร้อมกันนั้นก็จะปลูกต้นไม้อีกกว่า 4.6 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า มีการวางระบบขนาดใหญ่เพื่อป้องกันน้ำท่วมหลังจากเผชิญหน้ากับการสูญเสียมากมายจากพายุเฮอร์ริเคน ซึ่งในแผนดังกล่าวก็รวมถึงการเปลี่ยนสนามกอล์ฟให้กลายเป็นบ่อน้ำและอ่างเก็บน้ำจำนวนมากด้วย

หรือเมืองริโอ เดอ จาเนโร ในประเทศบราซิล ก็กำลังมีการเพิ่มปริมาณการปลูกต้นไม้ตามท้องถนน จัตุรัสกลางเมือง และสวนสาธารณะ จัดการหาที่อยู่ใหม่ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและได้ตั้งเป้าว่าจะปรับลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฯ ลงให้อยู่ในระดับปกติ ภายในปี 2050 นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนให้มีการใช้คอนกรีตคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างอาคารบ้านเรือนในอนาคต รวมทั้งสร้างเครือข่ายทางปั่นจักรยานที่เชื่อมให้คนพักอาศัยในพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกสบายด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ 5 ปีของข้อตกลงปารีส มีทั้งสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่เราอาจยังไม่รู้ และยังมีอีกหลายเรื่องที่รอเวลาลงมือทำอย่างเข้มข้นจริงจังในปัจจุบันและอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้

ที่สำคัญ การตระหนักรู้และไม่ปฏิเสธความจริง ว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนโดยพร้อมเพรียงกัน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นก่อนอะไรทั้งหมด

และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงอะไรในโลกนี้ก็ตาม สัญญาแล้วก็ต้องทำตามสัญญา เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ดี ล้วนเริ่มต้นที่การลงมือทำทั้งสิ้น

ที่มาข้อมูล
www.theguardian.com
www.bbc.com
www.C40.0rg
www.france24.com