“เคยได้ยินข้อความว่า ความมั่นคงทางอาหารไหมคะ?” ข้อความนี้แปลผิวเผินอาจเข้าใจว่ากล่าวถึงเรื่องปริมาณอาหารที่เพียงพอกับความต้องการบริโภค หากแต่เชิงลึกแล้ว ความมั่นคงทางอาหารให้ความหมายหยั่งลึกไปถึงความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งทางกายภาพและเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีในปลายทาง

เมื่อเห็นความหมายเชิงลึกแล้วก็ชวนสงสัยว่า “ทุกวันนี้ เราเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารกันจริง ๆ หรือเปล่า?”

ในปัจจุบันอาหารสุขภาพเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ แต่การเข้าถึงอาหารสุขภาพอาจยังมีข้อจำกัดทั้งในแง่การหาแหล่งซื้อขาย หรือแม้กระทั้งราคาที่อาจสูงกว่าอาหารปกติ คุณชินานาฏ กางอิ่ม หรือคุณจอย หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งตลาดแห่งนี้ เท้าความถึงความเป็นมาของการก่อตั้งตลาดสีเขียวเพื่อสุขภาพ เมื่อครั้งที่กลับมาอยู่ ณ จังหวัดตรัง เธอพิชิตโจทย์เรื่องการเข้าถึงอาหารสุขภาพที่มีไม่มากนักในขณะนั้น จากฐานะผู้บริโภคที่ตั้งเป้าความต้องการอาหารสดใหม่และปลอดภัย ต่อยอดความสนใจจนเกิดความคิดอยากให้เมืองตรังมีแหล่งอาหารสุขภาพ และพยายามสืบเสาะหาเครือข่าย จนกระทั่งผันตัวจากผู้บริโภคเป็นผู้ริเริ่มตลาดนัดเพื่อสุขภาพชื่อ “ตลาดสีเขียวกรีนชินตา ณ เมืองตรัง หรือ Cinta Green Market at Trang” จุดนัดพบของคนรักสุขภาพในทุกเช้าวันเสาร์

ตลาดสีเขียวจากความร่วมมือของคนรักสุขภาพ
ตลาดสีเขียวกรีนชินตา ณ เมืองตรัง หรือ Cinta Green Market at Trang เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเกษตรกรผู้ผลิตอาหารสุขภาพ แม่บ้านผู้ทำอาหาร สมาชิกองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ด้านสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค ซึ่งแต่เดิมกระจายตัวอยู่ในแวดวงของอาหารสุขภาพและเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดตรังเป็นทุน การเกี่ยวก้อยเข้ามาร่วมเปิดตลาดสีเขียวในเริ่มต้นตั้งโจทย์สำคัญไว้หลัก ๆ คือ สินค้าที่จำหน่ายมาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ได้แก่ พืชผลจากเกษตรอินทรีย์ อาหารสดใหม่ปลอดสารปรุงแต่ง ตลอดจนการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก ในปีแรกเริ่มคือ 2560 มีสมาชิกผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอาหารเพื่อสุขภาพประมาณ 40 ราย

4 เป้าหมายสู่ชีวิตดี ๆ และยั่งยืน
คุณแอน-ณัชยา นามกร คุณปุ่น-ธงฉัตร คึกคัก และคุณทิน-ทินตร เสนีย์ คณะผู้ก่อตั้งตลาดเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งตลาดว่าประกอบด้วย 4 เป้าหมาย คือ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และตามมาด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ที่นี่เป็นพื้นที่กลาง เป็นจุดนัดพบของผู้ผลิตรายย่อยที่ปลูกผักอินทรีย์ซึ่งมีพื้นที่ขายจำกัดกับลูกค้าผู้รักสุขภาพที่เข้าใจกระบวนการผลิต สินค้าตัวเดียวกันอาจจะมีเรื่องราวการผลิตที่แตกต่างไป เช่น ไข่ไก่ร้านป้าวรรณเลี้ยงแบบปล่อยกินอาหารธรรมชาติ ราคาฟองละ 4-5 บาท ในขณะที่ไข่ไก่ร้านน้องแบงค์ขายฟองละ 6-7 บาทเพราะเลี้ยงด้วยอาหารออร์แกนิกต้นทุนสูงกว่า จุดนัดพบแห่งนี้อยู่บนพื้นฐานของความจริงใจและความซื่อสัตย์ที่ทุกฝ่ายมีให้กัน

ว่าแล้วขอขยายความตั้งใจของเหล่าผู้ก่อตั้งตลาดให้เข้าใจกันเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยว่าพวกเขาวางเป้าหมายของตลาดไว้อย่างไรบ้าง

เป้าหมายเรื่องสุขภาพ ตลาดมีข้อกำหนดในการเลือกและจำหน่ายสินค้า มีการตรวจเช็คต้นทางการผลิตว่า ต้องนำพืชผัก วัตถุดิบ อาหาร ที่ปลอดสาร ปลอดภัย เน้นปลูกเองขายเองจากผู้ผลิตจริง ๆ เพื่อให้ได้อาหารสดใหม่

เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทางเลือกอื่น ๆ แล้ว ตลาดยังกำหนดให้ผู้ค้าใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติอย่างใบตองและถุงกระดาษ และประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้านำกระเป๋าหิ้วมาเองเนื่องจากตลาดไม่มีถุงหิ้วพลาสติกเลย 100%

เป้าหมายด้านสังคม มีกิจกรรมการเรียนรู้ตลอด เช่น การสอนเพาะถั่วงอก การเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง พาแม่ค้าและลูกค้าไปร่วมปลูกข้าวดำนา ปลูกผัก กิจกรรมเหล่านี้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อผู้ขายและเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้ผ่านวิกฤตโควิดมาได้โดยไม่ต้องปิดตลาด

เป้าหมายด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากสมาชิกทุกคนผ่านการหล่อหลอมความเป็นกลุ่มผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตลาดมีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์ นำเงินกองกลางไปลงทุนซื้อสินค้าสุขภาพมาขายแล้วนำผลกำไรมาบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พาสมาชิกไปดูงานได้โดยไม่ต้องใช้งบของภาครัฐ และยังกำหนดให้ผู้ค้าทุกคนสะสมเงินออมทุกสัปดาห์ขั้นต่ำ 50 บาทซึ่งเงินนี้ถูกนำมาช่วยเหลือตัวสมาชิกเองในช่วงโควิดด้วย

ชี้เป้าของอร่อยเมืองตรัง
พอทราบถึงจุดเริ่มต้นและแนวคิดในการรวมตัวของตลาดก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งแล้วว่า หากมาจับจ่ายที่นี่เราจะได้อาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ลำดับต่อไปก็คงต้องสำรวจมองหาเมนูยกนิ้วประจำตลาดสีเขียวกรีนชินตาฯ แห่งนี้ ที่ทางตลาดรับรองมาว่า อร่อย อิ่ม และประหยัดเงินในกระเป๋า

เมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่ตลาด จะเห็นด้านหน้าเป็นโซนอาหารพร้อมกิน หลายร้านยกหม้อ ยกเตามาปรุงกันสด ๆ ร้านแรกที่สะดุดตา คือ ร้านรักยิ้ม ของพี่ปุ้ย ปานจิต กาญจนานิจ ร้านนี้มีเมนูเด็ดเป็นก๋วยเตี๋ยวรถไฟที่ปรับสูตรเองให้เข้ากับลิ้นคนตรัง มีขนมกล้วยนึ่ง มันม่วงนึ่งสีสันน่ากินตัดกับสีของกระทงใบตอง พี่ปุ้ยเล่าว่า การมาขายของที่นี่เหมือนได้ย้อนอดีต ได้ทำในสิ่งที่เคยทำเคยเล่นสมัยยังเด็ก ๆ เช่น กระทงใบตอง อาหารที่คัดสรรมาก็เลือกใช้วัตถุดิบพื้นฐานไม่ปรุงแต่งซับซ้อน กลายเป็นรสชาติง่าย ๆ แต่ละมุนลิ้น

ถัดมาอีกไม่กี่ก้าว จะเจอกับ ร้านข้าวไร่ อำเภอวังวิเศษ ของคุณป้าปุ๋ย พรรณี คงเอียด ซึ่งขณะนั้นกำลังง่วนกับการตักส่วนผสมของขนมจาก กลิ่นหอม ๆ ของขนมจากมะพร้าวอ่อนและข้าวเหนียวไร่บดบนเตาช่วยดึงดูดความสนใจของคนที่เดินผ่านไปมาโดยไม่ต้องใช้เสียง

ในตลาดมีร้านขายข้าวสารอีกร้านจากอำเภอนาโยง ของป้าวรรณ ประดับ ช่วยพันธ์ ที่นี่มีข้าวนาพันธุ์พื้นเมืองได้แก่ เบายอดม่วง สังข์หยด เล็บนก คุณป้าวรรณเป็นตัวแทนของสมาชิกวิสาหกิจชุมชนนำผลิตภัณฑ์ข้าวของชุมชนซึ่งปกติมีลูกค้ารายใหญ่เหมาซื้อจนหมดมาแบ่งปันให้ผู้บริโภคระดับครัวเรือนได้เข้าถึงอาหารสุขภาพ

ในโซนของพร้อมกินยังมีร้านขนมจีนเส้นสด น้ำยาสารพัดที่ปลอดผงชูรส และผักสดปลอดสารของพี่อ้อย เจ้าหน้าที่ อบจ. ตรัง ที่ใช้เวลาว่างทุกวันเสาร์มาขายขนมจีนด้วยใจรัก รับรองว่าใครที่ชอบกินผักสด ๆ น้ำยาเข้มข้นต้องสมใจกับร้านนี้แน่นอน กินขนมจีนอิ่มแล้วแนะนำร้านขนมไทยเจ้าดังของตลาด พี่หนึ่งเจ้าของร้านนำสารพัดเมนูของหวานยอดนิยมจากต้นตำรับเพชรบุรีมาให้เลือกแบบจุใจ อ้อ…ของหายากอีกอย่างที่ห้ามพลาดคือ ร้านขนมจากสาคูต้น ของป้าพรรณี สันติสกุลวงศ์ ปกติเราจะคุ้นเคยกับขนมสาคูน้ำกะทิ แต่ที่ร้านนี้มีขนมลืมกลืนและลอดช่องที่ทำมาจากแป้งสาคูให้ลองทดสอบความอร่อยระดับสิบเต็มสิบกันด้วย นอกจากของเคี้ยวอร่อยในตลาดยังมีร้านเครื่องดื่มหลากหลาย ทั้งน้ำเต้าหู้สุขภาพ น้ำผลไม้ น้ำธัญพืช ไปจนถึงเมนูกาแฟร้อนเย็น ทั้งดริปและโมกาพอต ที่เติมสีสันให้คอกาแฟมีโอกาสเลือกเมล็ดตามชอบด้วย

ด้านโซนของสด แน่นอนว่ามีร้านขายผักผลไม้สดหลากหลาย แม่ค้าหลายคนยกตัวอย่างเช่น ป้าบูรณ์ ป้าสมบูรณ์ เอี้ยวตระกูล เคยเป็นลูกค้าสินค้าสุขภาพ เมื่อเกษียณราชการก็ปลูกผักในครัวเรือนไว้กินเอง และนำผักอีกส่วนที่กินไม่หมดมาขายในตลาด ผักรั้ว ผักไร่ ที่ได้เป็นผลผลิตจากความรักในสุขภาพและความชอบที่จะแบ่งปันสิ่งที่ดีให้ลูกค้าที่เปรียบเหมือนเพื่อน ราคาขายจึงย่อมเยาตามความพอใจและอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งปัน คุณจอยเล่าว่าในโซนของสดแต่เดิมเคยมีหมูหลุม แต่เนื่องจากสภาวะวิกฤตโควิดและต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ปัจจุบันเนื้อสัตว์ในตลาดจะเหลือเพียงอาหารทะเลจากชาวประมงที่ทำประมงแบบพื้นบ้าน ไว้ให้เลือกสรรกลับไปปรุงเป็นอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกินกันได้ที่บ้าน

ทิ้งท้ายไว้นิดสำหรับนักช้อป ว่าไม่ใช่แค่เรื่องอาหารการกินที่จะพบเจอได้ใน ”ตลาดสีเขียวกรีนชินตาฯ” ยังมีสินค้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งต้นไม้ ของตกแต่งบ้านจากธรรมชาติ เสื้อผ้า งานจักสานและผลิตภัณฑ์อุปโภคในครัวเรือนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรียกว่ามาที่เดียว ครบสำรับสุขภาพ

ท้ายที่สุดของเรื่อง คงย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ถ้าคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” คือ ความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งทางกายภาพและเศรษฐกิจ “ตลาดสีเขียวกรีนชินตา ณ เมืองตรัง” แห่งนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้จริงและเป็นความมั่นคงทางอาหารของชาวตรังแบบไร้ข้อสงสัย

ตลาดสีเขียวกรีนชินตา ณ เมืองตรัง Cinta Green Market at Trang เปิดทุกวันเสาร์ เวลา 09.00 น.-14.00 น. ตลาดตั้งอยู่หลังร้าน Mr.DIY ตรงข้ามโรงเรียนดรุโนทัย จ.ตรัง ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดได้ที่ เพจเฟสบุ๊ก : ตลาดกรีนชินตา ณ เมืองตรัง Cinta Green Market at Trang

ภาพ : Bearhug