เมื่อพูดถึงการบริโภค เราต่างคุ้นเคยกับรูปแบบการบริโภคแบบ cradle to grave หรือการ ทึ้ง-ทำ-ทิ้ง (ทึ้งเอาทรัพยากรออกมา ทำเป็นสินค้าให้ได้บริโภค แล้วทิ้งให้กลายเป็นขยะ) เป็นการบริโภคแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy โดยสิ่งของทุกอย่าง ในที่สุดก็จะไปสิ้นสุดที่กลายเป็นขยะ หลุมขยะจึงเปรียบเสมือนหลุมฝังศพของข้าวของที่มนุษย์บนโลกนั้นเลิกใช้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วข้าวของของเราไม่ได้จบลงที่หลุมขยะ แต่คือระบบนิเวศทั้งหมด และวนกลับมาสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชีวิตบนโลกของเรา

พวกเราคงจะเคยได้ยินคำว่า Circular Economy บ่อยครั้งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือความหมายตรงกันข้ามกับรูปแบบการบริโภคที่เพิ่งพูดถึงไปนั่นเอง มันมาจากคำถามที่ว่าทำอย่างไรเราจะสามารถยืดเวลาการลงหลุมของข้าวของให้ยาวนานขึ้น ? (แน่นอนว่ารวมถึงสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่อาจต้องกลับบ้านเก่าเร็วขึ้นเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม) นำมาสู่แนวคิดของการหมุนเวียนการบริโภค ซึ่งก็สอดคล้องกับคำว่า Cradle to Cradle หรือ C2C ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมยังคงยั่งยืนอยู่ไปถึงคนรุ่นต่อไปนั่นเอง

ขอย้อนไปพูดถึงโมเดล 3R หรือ Reduce, Reuse, Recycle ที่เราคุ้นเคยในอดีต แม้หลายคนจะถือปฏิบัติเอาอย่างจริงจัง แต่ก็ยังเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรแบบ Downcycling อยู่ หรือกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้นำมาหมุนเวียนได้ตั้งแต่แรก เมื่อนำมาผลิตใหม่หรือใช้ซ้ำ วัสดุหรือผลิตภัณฑ์จะยิ่งคุณภาพต่ำลง ล้าสมัย เป็นพิษ รวมถึงมีต้นทุนที่สูงในการจัดการ

ดังนั้นในปี 1990 Prof. Dr. Michael Braungart, William McDonough และหน่วยงานชื่อ EPEA แห่งเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี จึงได้เสนอแนวคิดในการออกแบบที่เรียกว่า Cradle to Cradle® โดยโมเดล C2C นี้ เป็นเหมือนการอัพเกรดโมเดล 3R ให้สมบูรณ์ขึ้น และสอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์มากขึ้น อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่คงทนในระยะยาว สามารถซ่อมแซมได้ง่าย รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหรือรสนิยมในอนาคต ไปจนถึงสามารถแปรเปลี่ยนสภาพได้โดยไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนสูง หรือสิ้นเปลืองทรัพยากรในการจัดการ (upcycle) ซึ่งก็อาจมองได้ว่าตรงข้ามกับหลักการทำกำไรของธุรกิจและการผลิตโดยทั่วไปไม่น้อยทีเดียว

แนวคิด Cradle to Cradle นี้ได้ยกระดับมาเป็นมาตรฐานรับรองการออกแบบสินค้า หรือ C2C Certification โดยสถาบัน The Cradle to Cradle Products Innovation Institute มีการให้การรับรองใน 5 ระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับแพลทินัม ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยมีผลิตภัณฑ์มากมายในปัจจุบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน C2C นี้ และมีเกณฑ์สำคัญๆ ในการพิจารณา ได้แก่

  • มีการผลิตขึ้นจากวัสดุที่เป็นมิตร
  • สามารถนำวัสดุมารีไซเคิล หรือแปลงสภาพใหม่ได้ด้วยกระบวนการที่เหมาะสม
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนและมีการควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอน
  • มีกระบวนการการใช้และจัดการน้ำในการผลิตอย่างเหมาะสม
  • คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคม

ปัจจุบัน เริ่มมีแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรอง Cradle-to-cradle ที่น่าสนใจ เช่น

  • ผลิตภัณฑ์กางเกงยีนส์ จากแบรนด์ G-Star Raw ได้รับการรับรองระดับ Gold
  • มาสคาร่าปัดขนตา รุ่น Green Edition จากแบรนด์ Maybelline New York ได้รับการรับรองระดับ Gold
  • ลำโพงบลูทูท รุ่น Beosound Level จากแบรนด์ Bang & Olufsen ได้รับการรับรองระดับ Bronze

ถือเป็นแนวโน้มที่ดี ที่เราเริ่มได้เห็นการปรับตัวของผู้ผลิตสินค้าที่หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมาตรฐานการผลิตเหล่านี้ จะไม่สามารถกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ที่แพร่หลายทั่วไปได้ หากขาด demand จากฝั่งผู้บริโภค ขอยืนยันว่าเราในฐานะผู้ซื้อ มีอิทธิพลมากพอที่จะเรียกร้องให้แบรนด์ผลิตสินค้าที่ยั่งยืนออกสู่ตลาดเพื่อเราทุกคน

เอกสารอ้างอิง:
– en.wikipedia.org/wiki/Cradle-to-cradle_design
– epea.com/en/about-us/cradle-to-cradle
– www.c2ccertified.org
– www.bang-olufsen.com/en/dk/story/cradle-to-cradle-certification

ภาพประกอบ : missingkk