“ไข่เจียวของแม่อร่อยที่สุดในโลก”

แม้เราจะไม่มีทางรู้หรอกว่า ไข่เจียวของแม่เราอร่อยที่สุดในโลกจริงหรือเปล่า แต่ในจักรวาลของเรา อาหารเดิมๆ จากรสมือแม่ คือรสอร่อยที่แสนอบอุ่นใจ เพราะอาหารของแม่เป็นทั้งความคุ้นเคย ความแน่นอน หรือกระทั่งความเบื่อหน่าย (แต่ถึงจะเบื่อยังไง พอไม่ได้กินขึ้นมาก็จะคิดถึงอยู่ดี)

ในความผูกพันที่ยึดโยงกันผ่านอาหาร มีเรื่องน่ารักซ่อนอยู่มากมาย Greenery จึงชวนเหล่าคุณแม่มาคุยเรื่องรอบครัวที่แม้จะไม่มีคำว่ารัก แต่เรารู้เลยว่า อาหารทุกจานที่แม่ปรุง มีเคล็ดลับเป็นความรักนี่แหละ

แม่จ๋า-นิรัญชา ปูรณโชติ
กับอาหารดี 5 หมู่ที่เตรียมไว้ให้ลูกน้อยเลือกหยิบเอง

จากหญิงสาวที่ไม่ได้ทำอาหารเป็นประจำ สู่บทบาทคุณแม่ลูกอ่อนที่ต้องเข้าครัวทำอาหารให้ ‘น้องพู่กัน’ ลูกน้อยวัย 10 เดือน ทุกมื้อและทุกวัน วิธีการสอนลูกให้เลือกเอง แบบไม่บังคับ ไม่ยัดเยียด สะท้อนผ่านการสอนลูกกินอาหารด้วยวิธีการที่เรียกว่า Baby-Led Weaning (BLW) หรือการให้ลูกน้อยเลือกหยิบอาหารกินด้วยมือคู่น้อยๆ ของเขาเอง

ลูกน้อยงอแงเรื่องกิน แต่คุณแม่งอแงไม่ได้

“เริ่มจากพู่กันงอแง ไม่ยอมกินอาหารบดเลย ถ้าเราป้อนหรือพยายามใส่ช้อนเข้าปาก เขาก็จะกรี๊ด แต่พอเราลองเอาอาหารอย่างเดียวกันที่ไม่ได้ถูกบดมาให้เขาถือ อย่างเช่นแครอท เขากลับยอมกิน คุณหมอก็เลยแนะนำวิธี BLW ให้เราลองไปศึกษาดู ตอนแรกก็ชั่งใจนานเพราะวิธีนี้มันใหม่มาก ด้วยความเป็นแม่ เรารู้สึกสิ่งที่เราตักไว้ในช้อนป้อนให้ลูก มันคือสิ่งที่เราเลือกไว้แล้วว่าเขาควรจะกินอะไรบ้าง แต่การปล่อยให้เขาหยิบเอง ถือเอง เขาเลือกจะปาอะไรทิ้งก็ได้เลย”

เรียนรู้ที่จะ ‘เชื่อ’ ในสัญชาตญาณลูก

“เราเป็นคนไม่ชอบถูกบังคับ เราก็ไม่อยากให้ลูกเราถูกบังคับเหมือนกัน ดังนั้น การกินข้าวของเขาก็ไม่ควรจะต้องถูกบังคับ เขาควรจะสนุกกับมัน เราทนเห็นลูกถูกเราบังคับกินไม่ได้ ช่วงที่ศึกษา BLW พอดีไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่แปลจากภาษาอังกฤษ เราอ่านคืนเดียวจนจบเลย เจอแนวคิดเรื่องการเชื่อในสัญชาตญาณของเด็กทารก เราก็เลยลองทำวิธีนี้ดู ปรากฏว่ามันเหมาะกับเขาจริงๆ”

ให้ลูกเป็นคนเลือก ส่วนแม่เป็นคนเตรียม

“วิธีนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่เราต้องลงรายละเอียดเยอะมากๆ เพราะเด็กยังเล็ก ยังไม่มีฟันด้วยซ้ำ เราก็ต้องเตรียมสิ่งที่จะให้เขาเลือกหยิบอย่างพิถีพิถันมากๆ ตั้งแต่การเลือก ทุกมื้อเราต้องเสนออาหารให้ครบ 5 หมู่ ต้องคิดล่วงหน้า ต้องเตรียมซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ดีเพราะเราอยากใช้วัตถุดิบออร์แกนิก ต่อมาก็เรื่องการหั่น ถ้าหั่นชิ้นเล็กไปเขาก็อาจไม่หยิบกิน ใหญ่ไปก็อาจจะติดคอ และเรื่องการทำให้นิ่มขึ้นด้วยการเอาไปนึ่ง อบ ต้ม ทอด เราชอบทำสิ่งที่หลากหลาย เลยต้องเตรียมเยอะมาก และทำใหม่ทุกมื้อ จากที่ไม่เคยทำอาหารก็ต้องทำ และต้องทำให้เร็วด้วย เพราะทารกหิวก็คือหิว ต้องทำเลย ทำทิ้งไว้นานก็ไม่อร่อย ทำยังไงให้อร่อยก็ต้องช่างสังเกต จดจำว่าลูกเราชอบกินแบบไหน”

บรอกโคลี่ชิ้นแรก

“สิ่งแรกที่เขาหยิบคือบรอกโคลี่ ตอนนั้นก็ดีใจมาก ตอนแรกกังวลว่าลูกจะกินอะไร พอทำซ้ำๆ เขาก็กินได้ ทุกวันนี้ก็ไม่งอแงตอนกินข้าวแล้ว มีบ้างเป็นบางมื้อ แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน คือเราบังคับอะไรไม่ได้จริงๆ บางอย่างที่เขาไม่กินก็ไม่กินเลย เราก็กดดันตัวเองนิดหน่อยเหมือนกันเพราะอยากให้เขากินให้ครบ แต่ท้ายที่สุด เราก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเช่นกัน คือต้องเชื่อว่าเขามีความสามารถมากพอที่จะเลือกเอง ทุกวันนี้ลูกก็ยังชอบกินผักและผลไม้มากกว่าเนื้อ กินมะเขือเทศได้ 1 ส่วน 4 ของลูก กินผลไม้ได้ 5 ชิ้นต่อมื้อ ซึ่งดีนะ เพราะเราไม่ต้องบังคับเขากินผักเลย”

ได้เลือก ได้กินเอง ได้สนุก ได้กินพร้อมกัน

“ข้อดีคือ ทารกเขามีสัญชาตญาณที่จะเลือกอะไรที่เหมาะกับเขาได้ด้วยตัวเอง สองคือรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ สามคือสนุก เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่สนุกกับการกินข้าวเลย ถ้าป้อนคือกรี๊ด เราก็จะดราม่าว่าทำไมลูกเราเกลียดการกินข้าว สี่คือมันทำให้เราได้นั่งกินพร้อมๆ กัน เขาก็กินของเขา เราก็กินของเรา เขาดูเรากิน แล้วเขาก็เลียนแบบการกินของเรา มันเป็นธรรมชาติมากกว่า”

ลูกกินดี แม่ก็กินดี

“พอลูกกินแบบนี้ ตัวเราเองก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะสิ่งที่ลูกกิน เราก็ต้องกินด้วย ถ้าเขาเห็นเรากินอะไรแล้วเขาอยากกินบ้าง เขาก็ต้องกินได้ อาหารของเราต้องแชร์กันได้ นั่นทำให้เราก็ได้กินของดี ปลอดภัย และสดใหม่ไปด้วยเช่นกัน เมื่อก่อนเราเองไม่ได้กินผักทุกมื้อ ทุกวันนี้ก็กินทุกมื้อเหมือนกันกับลูกเลย”

ถ้าลูกไม่กินข้าว เขาจะอยู่ได้ไหม

“การทำอาหารให้ลูกมันเป็นเรื่องใหญ่นะ เพราะทุกคนกินข้าวเพื่อการอยู่รอด แต่เด็กเขาช่วยตัวเองยังไม่ได้ แล้วถ้าเขาไม่กินข้าว เขาจะอยู่ได้ไหม เราอยากทำอาหารให้อร่อย น่ากิน และดี เพราะอาหารของเราคือสิ่งที่เราเลือกแล้วว่าสะอาด ปลอดภัย ไม่ปรุงแต่ง จนการทำอาหารให้ลูกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราไปแล้ว เวลาคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นคุณแม่ลูกเล็กเหมือนกัน แค่ถามกันแค่ว่าลูกเธอกินข้าวเยอะไหม แล้วถ้าคำตอบคือกินได้ กินเยอะ เราก็มีความสุข มันอยู่แค่ตรงนี้เลย”

แม่โอ-นันทพร ลีลายนกุล
กับอาหารที่สอนให้ลูกเรียนรู้รสชาติและความอร่อย

คุณแม่ของหนูอิ่มวัยหกขวบ และแม่ครัวเจ้าของร้านอาหารในบ้าน The Dish Whisperer ผู้สนุกกับการปรุงอาหารอร่อยให้ลูกแทบทุกมื้อ ไปพร้อมๆ กับการสอนให้ลูกรู้จักอาหารทั้งในมุมของวัตถุดิบ รสชาติ และการเล่นแร่แปรธาตุเมนูต่างๆ ให้รวมกันเป็นความอร่อย

อาหารซ้ำๆ ที่แม่ทำและจำขึ้นใจ

“โอเพิ่งมารู้ตอนหลังว่าแม่ไม่ชอบทำกับข้าว แต่แม่ทำข้าวเย็นทุกวันทั้งๆ ที่ทำงานนอกบ้าน และมีกับข้าวหลายอย่างด้วย ปลาทอด ผัดผัก แกงจืด ขยันกว่าโอตอนนี้อีก เขาบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของแม่ที่ต้องทำ แต่ก็ค่อนข้างจะทำซ้ำๆ วนๆ อยู่ไม่กี่อย่าง แล้วเราก็มารู้ตัวว่า ไอ้ความซ้ำที่เมื่อก่อนเราเคยเบื่อ มันคือความแน่นอน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเหนื่อย ต้องการความแน่นอน เราจะนึกถึงอาหารซ้ำๆ ที่แม่ทำให้เรากิน (ยิ้ม)

“พอโอมีลูก โอก็พยายามที่จะทำอาหารซ้ำๆ ให้เขา คือโออาจจะรู้สึกไปเองก็ได้ว่า เด็กๆ สมัยนี้มีสิ่งที่เข้ามาเยอะมากจนเขาอาจจะไม่ได้โฟกัสกับอะไรสักเท่าไหร่ โอเลยอยากให้ลูกได้รับอะไรที่ซ้ำๆ เป็นสิ่งที่เราตั้งใจใส่ให้ลูก แต่ก็มีการเปลี่ยนรสชาติบ้าง ก็เป็นอาหารที่เราเคยเบื่อตอนเด็ก อย่างจับฉ่าย หรือไข่เจียวหมูสับที่แม่โอทำไม่เหมือนที่อื่นเลย เพราะแม่ใส่หมูเยอะกว่าไข่ ต้องเป็นไข่หนาๆ ทอดจนเป็นสีน้ำตาลเกรียมนิดๆ แต่แม่ใช้กระทะกันแบน พอมันหนาก็จะกลับยาก แม่ก็จะหั่นไข่เป็นครึ่งดวงจันทร์ก่อนค่อยกลับด้าน พอโอเอามาทำให้ลูกกิน โอใช้กระทะจีนที่กลับไข่ได้เลย แม่เลยบอกว่าไม่ทำเองแล้ว ให้เราทำให้กินหน่อย” (หัวเราะ)

ความสบายใจจากการเลือกและปรุง

“วัตถุดิบเป็นเรื่องสำคัญ เราพยายามหาวัตถุดิบที่สดใหม่ ผักต่างๆ เราก็เลือกหาแหล่งที่เราเชื่อใจได้ เนื้อสัตว์ก็เลือกที่สดสะอาด หรือถ้าเลี่ยงยากอย่างวัตถุดิบทั่วไปในตลาด ก็เลือกกินที่ไม่ซ้ำกัน อะไรทำเองได้ก็ทำ โอเพิ่งไปเรียนทำลูกชิ้นหมูแล้วกลับมาลองทำที่บ้าน อิ่มก็ชอบมาก กินลูกชิ้นที่เราทำเองสะใจไปเลย (หัวเราะ) ทำเองมันสบายใจกว่า เราเห็นตั้งแต่มันเป็นเนื้อหมู เห็นว่าเราใส่อะไรลงไปบ้าง ปรุงรสยังไง มันสดแน่นอน ไม่มีสารกันบูดแน่ๆ แต่ตอนนี้ก็เหนื่อยหน่อย เพราะพอทำเองได้ เราก็ไม่อยากกินลูกชิ้นเจ้าอื่นละ”

เมื่อคุณแม่สอนลูกให้กินเป็น

“ตอนโอเด็กๆ แม่จะไม่ค่อยถามว่าโออยากกินอะไร แต่ให้กินเพราะอันนี้มันดี มันมีประโยชน์ แต่กับลูก นอกจากจะมีประโยชน์แล้ว โอจะเอาใจมากกว่าหน่อยด้วยการทำให้มันอร่อยขึ้นด้วย แต่ก่อนลูกก็อาจจะกินยากบ้าง มีร้องไห้ น้ำตาไหล ซึ่งถ้าขนาดนั้นก็ไม่เป็นไร ไม่บังคับ แม่ก็แค่จะกินให้อร่อย ไม่แบ่งด้วยนะ จนเขาอยากกินเอง

“อิ่มจะกินเผ็ดเก่ง เผ็ดพริกได้นิดหน่อย เผ็ดพริกไทยได้ เพราะเราไม่อยากจำกัดเขาอยู่แค่อาหารรสอ่อนๆ อยากให้ลูกกินได้หลากหลาย เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับตัวเขาเอง ไม่ใช่อันนั้นฉันไม่กิน อันนี้ฉันกินไม่เป็น มันลำบาก วันหลังจะไปทำอะไรก็ยากถ้ามัวแต่มีปัญหากับเรื่องกิน เวลาทำอาหารให้เขากิน แล้วเขาเห็นว่าหน้าตามันไม่น่าจะอร่อย เราก็แค่ขอให้เขาลองก่อน ลองแล้วไม่ชอบก็ได้ ไม่ต้องกินต่อ แต่ไว้วันหลังเราก็ทำใหม่ วันนี้แม่ลองเปลี่ยนสูตรนะ แม่ทำอร่อยขึ้น ลองชิมดูสิ เพราะอาหารบางจานมันก็ต้องใช้เวลาให้ลูกได้เรียนรู้ด้วย”

เมื่อคุณแม่สอนลูกให้กินอร่อย

“โอเป็นคนแปลกที่ชอบกินหลายๆ อย่างในคำเดียวกัน อย่างกินน้ำพริกลงเรือ ในช้อนต้องมีข้าว มีหมูหวาน มะม่วง และหอมซอยในคำเดียวกัน และต้องจัดสรรอย่างนี้จนหมดจาน ก็เราอยากอร่อยทุกคำนี่ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็เริ่มสอนลูกให้กินอย่างนี้ นอกจากอาหารแต่ละจานจะอร่อยแล้ว พอเอามารวมกันมันก็อร่อยขึ้นไปอีกนะ นึกถึงตอนเด็กๆ เวลาไม่สบาย ต้องกินข้าวต้มแหยะๆ กับหมูหยองโปะลงไปแฉะๆ ที่ไม่ชอบเลย แต่ถ้ากินด้วยกันกับไข่เจียว แล้วพอตักเข้าปากปุ๊บแล้วรีบคีบยำผักกาดดองตามเข้าไปด้วย มันอร่อยมาก คืออาหารแต่ละจานมันก็อร่อย แต่เราสามารถทำให้มันอร่อยมากขึ้นได้ อยากให้ลูกรู้สึกว่าเขาสามารถดีไอวายความอร่อยได้ด้วยตัวเอง

“แต่ก่อนโอจะคอยถามเขา เหมือนเล่นเกมว่า ทายสิ จานนี้มีอะไรอยู่บ้าง ตอนเด็กๆ เขาจะตอบได้ว่าซุปผักนี่ใส่เซเลอรี่ ใส่แครอท แต่พอโตก็จะเริ่มซับซ้อนขึ้น เขาก็จะค่อยๆ เคี้ยวแล้วหลับตา บอกว่า กำลังพยายามจะมองรสชาติในปาก แยกรสได้ เริ่มจับได้ว่าอาหารจานเดิม แต่เราทำไม่เหมือนเดิม การกินอาหารจึงอร่อยดี สนุกด้วย คือเราอยากให้เขาสนุกไปด้วยกันกับเรา”

แม่ลูกผูกพัน (กันด้วยอาหาร)

“แม่เป็นต้นทางอาหารแรกของลูกเลย เพราะแม่คือคนที่ให้นมลูก เรารู้ว่าร่างกายเราสามารถทำอะไรที่มหัศจรรย์ได้ สร้างน้ำนมให้ลูกได้ ของที่เรากินเข้าไป ไม่ได้กินเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่กินเพื่อลูกด้วย จนเมื่อลูกเริ่มกิน เราก็ยังมีความรู้สึกนั้นอยู่ แม้จะไม่ได้ผลิตน้ำนม แต่เราก็เป็นคนทำอาหารให้ลูกกิน มันผูกพันกัน

“ตอนลูกกินก็ลุ้นนะ ถ้ากินแล้วชอบ ยกนิ้วโป้งขึ้นแม่ก็จะดีใจมาก (เน้นเสียง) แต่บางทีเขาก็เอานิ้วโป้งชี้ลงนะ อันนี้ไม่เวิร์ก (หัวเราะ) เราเปิดร้านอาหาร มีคนชอบอาหารของเรา แต่ไม่ได้ทำให้เรามีความมั่นใจหรอกค่ะ เพราะบางจานที่ใครๆ ก็ชอบ แต่อิ่มไม่ให้ผ่านก็มี มันก็สอนเราด้วยนะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบอะไรเหมือนกัน และมันทำให้เราปล่อยวางได้มากขึ้น แต่เรามั่นใจว่าเราใส่ของที่ดีให้ รสชาติอาจจะยังไม่ถูกใจ แต่อย่างน้อยมีประโยชน์กับร่างกายเขาแน่ๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่เรามั่นใจได้ และเป็นสิ่งที่เรายึดในการทำอาหารของเรา อันนี้ใครก็มาทำให้สั่นคลอนไม่ได้”

แม่ตุ๊ก อัญชลี เกิดศิริ
กับอาหารที่ทั้งถูกปากและปลอดภัย

คุณแม่ของลูกสาววัยเริ่มทำงานจากเชียงใหม่ ที่มักเตรียมอาหารจานโปรดรสชาติคุ้นเคย ไปจนถึงอาหารเหนือที่หาทานได้ยากในกรุงเทพฯ ไว้ด้วยตัวเองในยามที่ลูกสาวกลับบ้านอยู่เสมอ เพราะอาหาร comfort food สำหรับลูกๆ ไม่ใช่แค่มีรสชาติถูกปาก แต่ยังต้องมาพร้อมความปลอดภัย เธอจึงให้ความสนใจกับการทำอาหารตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบไปจนถึงเครื่องปรุงในจาน

ทำไมอาหารปลอดภัยถึงสำคัญ

“เราสนใจที่จะรับรู้รับฟังข่าวสาร ได้เห็นข้อมูลเรื่องการปนเปื้อนของสารอะไรพวกนี้มันก็ทำให้เรากลัวเพราะมันส่งผลต่อสุขภาพ เมื่อก่อนตอนลูกเล็กๆ ข้อมูลข่าวสารมันก็ไม่ได้แพร่หลายขนาดนี้ เราซื้อผักมาก็ล้างให้สะอาดอยู่แล้ว แต่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำไปสามารถกำจัดสารปนเปื้อน สารเคมีได้ดีขนาดไหน จนกระทั่งมันส่งผลต่อสุขภาพ ลูกสาวเราเป็นภูมิแพ้ เขาจะไวต่อสารเคมีพวกนี้มาก มันส่งผลให้เห็นเลย เพื่อนสั่งส้มตำตามหน้าออฟฟิศมากิน เขาลองบ้างก็เรียบร้อยเลย ผื่นแพ้ ลมพิษขึ้นตัว ต้องหิ้วไปโรงพยาบาล ฉะนั้นเราต้องทำอาหารเองด้วยเหตุผลอะไรพวกนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการที่เราจะไปเจอะเจอการปนเปื้อนแล้วส่งผลต่อสุขภาพ”

ต้องเลือกแหล่งวัตถุดิบที่ไว้ใจ

“เราอยู่เชียงใหม่ก็จะถนัดซื้อในซูเปอร์มาเก็ตที่เราไว้ใจ ปกติเราก็จะเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีการการันตี มีการบรรจุหีบห่อที่ดี มีการบอกประเภทเราว่าปลอดภัยในระดับไหน ระบุเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว ซึ่งแม่ก็จะเลือกหยิบที่มันเป็นสีเขียว ที่เป็นออร์แกนิก เพราะได้รับการรับรองมาตรฐาน รับรองคุณภาพอยู่ ราคาอาจสูงกว่าในท้องตลาด แต่แม่คิดว่าเราซื้อพวกนี้ด้วยราคาที่แพงกว่าก็จริง แต่ก็ยังดีกว่าที่ท้ายที่สุดแล้ว เราจะต้องเสียเงินเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว”

การทำอาหารเองคือคำตอบ

“ทำอาหารเองเราสามารถคัดสรรวัตถุดิบได้ตั้งแต่ต้น ที่ปลอดภัย ที่เรามั่นใจ เวลาเราทำอาหารเอง การปรุงแต่งเราน้อยมาก เราไม่ใส่ผงชูรส เราจะไม่เติมสารปรุงแต่งอะไรมากมาย ที่บ้านเราต้องทานมื้อเช้า เรามองว่ามันสำคัญ เราจึงต้องตื่นมาทำเองให้ลูกๆ ทานที่บ้านหรือให้เขาพกอาหารไปทานที่โรงเรียน ที่มหาวิทยาลัย จนไปทำงาน เขาก็ติดเป็นนิสัยตื่นมาหาอะไรทานเอง”

เพราะครัวคือพื้นที่แห่งความสุข

“แม่ไม่ได้เป็นแม่บ้านจ๋า หรือเก่งในการเข้าครัวตั้งแต่เล็กแต่น้อย แต่พอมีลูกเราก็ต้องฝึกทำมาเรื่อยๆ แม่เองก็ต้องพยายามศึกษาหาความรู้ตั้งแต่ลูกเขาเด็กๆ ก็ต้องนึกถึงตามหลักโภชนาการ อะไรที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เสริมสร้างสุขภาพ มีอนามัยที่ดี พอเราทำทุกวันเราก็รู้สึกมีความสุขด้วยในการเข้าครัว ตื่นเช้ามาอันดับแรกต้องเข้าครัวก่อน เตรียมอาหารให้ทุกคนในบ้าน เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่แห่งความสุข ได้ทำอาหารให้คนที่เรารัก ถึงแม้ว่าวันนั้นจะป่วยก็ยังลุกขึ้นมาทำ มันก็เป็นเหมือนกลไกอัตโนมัติไปแล้ว”

แม่ติ๋ม- มาริสา ชื่นกำเหนิด
กับการเข้าครัวเพราะอยากให้ครอบครัวได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา

คุณแม่วัยเกษียณของลูกสาวที่ชอบเข้าครัวและรับมรดกเรื่องมากด้านการกินจากคุณแม่มาเต็มๆ ซึ่งนอกจากจะได้แลกเปลี่ยน (หรือถกเถียง) เรื่องอาหารการกินกันอยู่เสมอ แม่ลูกคู่นี้ยังมีอาหารทำเองเป็นเหมือนนัดหมายสำคัญ ที่ไม่ว่างานจะยุ่ง ธุระจะเยอะแค่ไหน เมื่อไหร่ที่แม่ทำกับข้าว ทุกคนจะกลับมาล้อมวงกินอาหารด้วยกัน

ทายาทของความเรื่องมาก (เรื่องกิน)

“ลูกไม่ได้กินยาก คนที่ยากคือแม่เองนั่นแหละ แม่เรื่องมาก ต้องเลือกอาหารดีๆ ให้เขากิน ดูให้สะอาด ให้ปลอดภัย ไม่ให้กินสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างตอนเด็กๆ แม่ไม่ค่อยให้เขากินขนมห่อๆ ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนแม่จะเตรียมผลไม้ไว้ให้ทุกวัน ถ้าวันไหนว่างก็จะแกะสลักสวยๆ ให้เขาสนใจ เขาอยากกินอะไรก็จะทำให้กินเอง แฮมเบอร์เกอร์ก็ยังทำให้เองเลยนะ จนโตมา ลูกก็เร่ิมจะเรื่องมากเหมือนแม่ จะกินอะไรก็ต้องเลือกกินของอร่อย ของที่แม่ทำ วันไหนที่แม่ไม่ทำกับข้าวให้กินก็จะออกอาการผิดหวัง” (ยิ้ม)

สงครามย่อมๆ ในครัว

“แม่ทำอาหารเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ที่บ้านแม่เขาไม่สอนกัน เด็กๆ ก็อาศัยจำที่ผู้ใหญ่ทำแล้วก็ลองทำเองเลย อยากกินอะไร ชอบรสไหนก็ลองทำเอง ไม่เคยเปิดตำรา พอมีลูก เขาสนใจเรื่องทำอาหารตั้งแต่เด็กๆ อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าครัว แต่แม่ก็ไม่ยอมให้เขาเข้า กลัวโดนมีดบาด (หัวเราะ) จริงๆ คือแม่ไม่รู้จะสอนเขายังไง เพราะเราก็ไม่เคยถูกสอนมา

“ก็กลายเป็นว่า เขาหัดเข้าครัวเอง เปิดตำราเอง ไปเรียนที่นั่นที่นี่ของเขา บางทีเราก็เข้าครัวด้วยกันบ้าง แต่ก็เหมือนคนละตำรากัน ลูกสาวเขาจะเป๊ะ ต้องทำตามตำรา ตามสูตรที่รู้มา บางทีก็เถียงกัน เพราะแม่ก็จะบอกเขาว่า ไม่ต้องพิถีพิถันขนาดนั้นหรอก ใช้ของดี ยังไงก็อร่อย”

สงบศึกด้วยอาหาร

“ลูกสาวเขาจะเป็นพวกชอบสรรหาวัตถุดิบแปลกๆ มา บางทีก็เป็นผักพื้นบ้านที่แม่ไม่เคยกินเพราะแม่ก็จะกินเป็นเฉพาะของภาคกลาง บางทีก็เป็นพวกของฝรั่งแปลกๆ เขาลองทำให้กินก็อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง (หัวเราะ) ก็มันไม่คุ้นลิ้นน่ะนะ บางอย่างเราไม่เคยกินมันก็จะแปลกๆ หน่อย แต่อันไหนอร่อยเราก็ขอให้เขาสอนเราบ้าง นี่เพิ่งให้เขาสอนทำหัวปลาแซลมอนต้มซีอิ๊วแบบญี่ปุ่นไป ส่วนเขาก็มาขอให้เราสอนตำน้ำพริกให้ เขาบอกว่าน้ำพริกแม่อร่อยที่สุด

“น้ำพริกเป็นเหมือนเมนูประจำบ้าน แม่ทำให้เขากินตั้งแต่เด็กๆ เพราะปลาทูเป็นอาหารโปรตีนที่ราคาถูกมาก อร่อยด้วย และเขาก็ได้กินผักอร่อยขึ้น ก็สลับไปเรื่อย มีน้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทูตำ น้ำพริกมะดัน น้ำพริกตะลิงปลิง น้ำพริกเนื้อปู แล้วแต่ว่าไปตลาดแล้วเจออะไรน่ากิน”

วัฒนธรรมกินพร้อมกัน

“อาจจะเพราะบ้านเราคนน้อย เมื่อก่อนอยู่กันแค่สามคนพ่อแม่ลูก เราเลยกินข้าวพร้อมกันตลอด ใครกลับช้าก็ต้องรอกัน เพราะแม่จะเตรียมอาหารเอาไว้ พอกลับมาพร้อมหน้าก็ค่อยลงเตา จะได้กินร้อนๆ อร่อยๆ ออกไปทำงานกลับบ้านมาเหนื่อยๆ เราก็อยากให้เขาได้กินของดีๆ เป็นอันรู้กันว่า ถ้าแม่ทำกับข้าว ทุกคนต้องกลับมากินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน”

ภาพประกอบ: paperis