กว่าที่เราจะเริ่มคุ้นๆ กับคำว่า ‘ออร์แกนิก’ หรือสนใจจะรับวิถีอินทรีย์มาอยู่ในการใช้ชีวิตมากขึ้นอย่างในทุกวันนี้ เคยลองคิดเล่นๆ ดูไหมว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดอินทรีย์ที่มนุษย์เรารู้จักปลูก รู้จักกิน และรู้จักอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาตินั้นเริ่มต้นขึ้นที่จุดไหน

หากว่ากันตามคอมมอนเซนส์ เราคงคิดว่า ‘ออร์แกนิก’ ซึ่งเป็นวิถีที่มนุษย์ทำเกษตรกรรมตามธรรมชาติคงเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมๆ กับที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกตั้งแต่หลายพันปีก่อน เพราะในอดีตเราคงไม่มีปุ๋ยเคมีหรือเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรมพืชที่สร้างระบบเกษตรอุตสาหกรรมอย่างในยุคหลังๆ เพราะฉะนั้น ออร์แกนิกคือวิถีที่เป็นมาตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะถูกวิทยาศาสตร์เคมี ‘ดิสรัปต์’ (ถ้าใช้ศัพท์แสงทันสมัยแบบในยุคนี้)

แต่พอไปค้นประวัติกันจริงๆ จังๆ คำว่า ‘ออร์แกนิก’ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วนี่เอง และผู้ที่ได้รับเครดิตให้เป็นเจ้าของคำคำนี้ ก็คือท่านลอร์ด นอร์ธบอร์น หรือ วอลเตอร์ เจมส์ บารอนที่ 4 แห่งนอร์ธบอร์น ผู้บัญญัติคำว่า organic farming ในฐานะขั้วตรงข้ามของ chemical farming ที่กำลังเบ่งบานหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะมนุษย์ตื่นตระหนกกับความขาดแคลนช่วงสงคราม และเชื่อว่าการเพาะปลูกโดยมีตัวช่วยเป็นสารเคมีและเครื่องจักรทุ่นแรง จะรับประกันผลผลิตที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่าการพึ่งฟ้าฝนแบบเดิมๆ

ลอร์ดนอร์ธบอร์นเขียนไว้ในหนังสือ Look to the Land ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1940 ถึงแนวคิดของออร์แกนิกว่า คือการทำฟาร์มแบบองค์รวมของการสร้างสมดุลในระบบนิเวศ ตามประวัติ ท่านลอร์ดคือชนชั้นสูงชาวอังกฤษตามขนบทุกกระเบียด เข้าเรียนด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เป็นนักกีฬาพายเรือสุดเท่เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกปี 1920 แต่ด้วยความสนใจแนวคิดของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ เขาจึงทดลองทำฟาร์มตามแนวคิดไบโอไดนามิกในที่ดินประจำตระกูลในเมืองเคนท์ และเดินทางไปเรียนรู้แนวคิดนี้ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะกลับมาปรับปรุง ทดลอง และเขียนหนังสือที่บัญญัติคำคำนี้ขึ้นมา แม้ภายหลังเขาจะมีอีกหลายบทบาททั้งในฐานะนักเขียนและนักแปลในหลากหลายประเด็น แต่เจ้าคุณปู่คนนี้ ก็ได้รับตำแหน่งบิดาแห่ง organic farming ไปเรียบร้อย

และแม้จะเป็นแรงกระเพื่อมเมื่อเกือบร้อยปีก่อน แต่บทบาทของผู้หญิงในวงการออร์แกนิกก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย เพราะเลดี้ อีฟ บัลโฟร์ หญิงสาวคนแรกๆ ของอังกฤษที่ได้เข้าเรียนด้านเกษตรกรรมระดับมหาวิทยาลัย และไม่ยอมเป็นเพียงช้างเท้าหลัง ผลงานโด่งดังของคุณย่านักบุกเบิกคือ Haughley Experiment การทดลองด้วยการเปรียบเทียบกันจะจะระหว่างเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมีด้วยการลงมือปลูกเทียบกันทั้งสองวิธีและเก็บผลลัพธ์จับต้องได้แบบวิทยาศาสตร์ หลังจากทดลองอยู่ 4 ปี เลดี้บัลโฟร์ตีพิมพ์หนังสือของตัวเองในชื่อ The Living Soil ที่ว่าด้วยการทดลองแสนทุ่มเทนั้น ขณะเดียวกัน เธอก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง Soil Association ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนความเชื่อว่าวิถีออร์แกนิกจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนของมนุษย์ และสร้างมาตรฐานออร์แกนิกขึ้นในยุค 60s

หากลองนึกภาพตามด้วยสีซีเปีย ด้วยฉากย้อนยุค และด้วยเสื้อผ้าวินเทจ ในวันที่คุณปู่คุณย่านักบุกเบิกนี้เป็นหนุ่มสาวไฟแรงที่ทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยการพยายามเข้าใจธรรมชาติ มองหาทางเลือกที่ดีกว่าทางลัดอย่างสารเคมีและเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้น มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับพวกเขา แต่ก็เพราะความทุ่มเทของนักสู้ผู้บุกเบิกเหล่านี้ ลูกหลานรุ่นถัดมาอย่างเราจึงเป็นเหมือนนักวิ่งผลัดสอง ผลัดสาม ที่จะรับไม้ต่อแล้วออกวิ่งเหมือนที่ปู่ย่าเคยทำไว้ เรื่องที่เคยยากอาจง่าย แต่ก็มีความท้าทายใหม่ๆ เป็นอุปสรรคให้เราวิ่งข้ามอยู่เสมอ

ในฐานะผู้บริโภค เราอาจคิดว่าตัวเองเป็นกองเชียร์ข้างสนาม ให้นักปลูกและนักเคลื่อนไหวเร่งสปีดกันต่อไป แต่ถ้ามองให้ชัด เรานี่แหละคืออีกตำแหน่งสำคัญที่จะรับไม้ต่อมาทำให้วิถีออร์แกนิกขยายฐานกว้างออกไป เพราะหากไม่มีผู้บริโภคสนับสนุน วิถีอินทรีย์ย่อมไปมีทางไปถึงเส้นชัยแน่นอน

และโปรดติดตามตอนต่อไปของวิถีออร์แกนิกในบทที่ 2

ภาพประกอบ: Paperis