ในบ้านอีกหลังหนึ่งที่เคยเป็นบ้านคุณปู่ของเอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ซึ่งอยู่ใกล้กันกับบ้านหลังที่เธออาศัยอยู่กับครอบครัวย่านแจ้งวัฒนะ คือขุมทรัพย์ขนาดย่อมที่เธอสะสมและสร้างสมเอาไว้ นอกจากที่นี่แล้วยังมีโกดังที่บางใหญ่อีกแห่ง ที่เป็นแหล่งเก็บข้าวของมีค่าประดามี สิ่งของเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติเลอค่าที่ราคาประมาณไม่ได้ หากแต่เป็น ‘ขยะ’ ที่รอการทรานส์ฟอร์มไปสู่สิ่งใหม่ ที่นัยซึ่งซ่อนอยู่ในการสร้างสรรค์ คือการสร้างความตระหนักต่อผู้คน และดึงความสนใจไปสู่การรับรู้เพื่อช่วยกัน ‘เปลี่ยนตัวเอง’ เพื่อสิ่งแวดล้อม

ขวดพลาสติกเก็บซ้อนกันจนดูคล้ายประติมากรรมขนาดใหญ่ที่เราพบเป็นสิ่งแรกเพราะตั้งอยู่หน้าบ้าน เอ๋บอกกับเราว่าไม่ใช่งานศิลปะ แต่เราดูก็ว่ามันใช่ เพราะมันอาร์ตเกินกว่าปกติ เธอบอกว่าเมื่อได้ขวดพลาสติกมาเธอจะจับมาเรียงซ้อนกันไว้แบบนี้ หลังบ้านคือกองของเหลือทิ้งที่ยังไม่ได้จัดหมวดหมู่ มีหน้ากากตัวการ์ตูน ของเล่น ของใช้ที่ชำรุด รอโอกาสที่เธอจะหยิบให้มาสวมบทเป็นอะไรสักอย่าง

เมื่อเดินเข้าภายในตัวบ้าน เศษพลาสติกเหลือใช้อย่างแก้วพลาสติกสีสด กล่องอาหาร ฝาขวดอะลูมิเนียม ฝาขวดน้ำพลาสติก ซองขนม ซองน้ำยา ฯลฯ ถูกจับแยกใส่ลังเป็นหมวดหมู่ บางอย่างเป็นของใหม่กริบ เพราะโรงงานผู้ผลิตติดต่อขอส่งมาให้ เมื่อเขารู้ว่ามีศิลปินหญิงคนหนึ่งต้องการวัสดุพลาสติกเหลือใช้พวกนี้มาทำงาน เนื่องจากของผิดสเปก หรือเหลือค้างสต็อก แม้บางอย่างยังไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไร แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าถูกทำลายทิ้งไปเปล่าๆ

“ขยะที่เอ๋เอามาใช้ทำงานจะมีที่มาอยู่สามอย่าง หนึ่งคือเก็บเองที่บ้าน อาจจะได้นิดหน่อย เพราะว่าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ต่อให้เราบอกว่าเราจะใช้ขยะให้น้อยลง สุดท้ายก็ยังมี เราก็คัดแยกออกมา อันไหนใช้ได้เราเอามาใช้ สองคือมีคนบริจาคมาให้ ถ้าอันไหนที่มีคนบริจาคมา เอ๋ทำงานแล้วจะเอาไปให้ชุมชน อย่างน้อยคนที่บริจาคเขาจะได้รู้สึกดีว่าเราไม่ได้เอามาเพื่อทำการค้า อย่างแปลงร่างเป็นถังขยะมอบให้ชุมชนที่วัดม่วงแค เจริญกรุง สามคือขยะที่เราซื้อมา ตอนนี้ปัญหาขยะราคาตกต่ำ แม้ตอนนี้ราคาจะเด้งสูงขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่เอ๋จะรับซื้อขยะในราคาที่สูงกว่าจากซาเล้ง จากคนเก็บขยะข้างทาง เราอยากให้คนได้เห็นคุณค่าของขยะ”

เธอเล่าพลางพาเราดูขยะที่ตอนนี้ดูไม่เป็นขยะอีกต่อไป หากมันคือวัตถุดิบของการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งตัวงานศิลปะและผลิตภัณฑ์แบรนด์ ‘Wishulada’ แบรนด์สินค้าแฟชั่นและของตกแต่งที่ใช้วัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าใหม่ จนแทบไม่เห็นเค้ามาก่อนว่า สิ่งเหล่านี้เคยถูกทอดทิ้งมา

เรานั่งคุยกันบนเสื่อสารพัดสีสันที่ทำขึ้นจากซองขนมกรุบกรอบ ใกล้กันมีโซฟาที่ตกแต่งด้วยพรมเช็ดเท้าจากเศษผ้าของโรงงาน ที่เธอร่วมออกแบบคู่สีให้กับกลุ่มชาวบ้านที่จังหวัดพะเยา มีแบ็กกราวนด์เป็นผนังถังขยะที่ทำขึ้นจากโครงเหล็กและฝาขวดพลาสติกวางซ้อนกันเป็นวอลล์เปเปอร์ ซึ่งงานชิ้นนี้จะนำไปจัดแสดงในงาน Mango Art Festival ในวันที่ 2-6 เมษายน ที่ล้ง 1919

หรือจะให้ถูกต้องที่สุดคือ… เรานั่งอยู่ท่ามกลางกองขยะ ที่วันนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ขยะอีกต่อไปแล้ว

การเดินทางของ Wishulada

ในเพจ Wishulada ของเอ๋ จำกัดความตัวตนของเธอเอาไว้ว่า Social Activist Artist เราค่อยๆ ทำความเข้าใจกับนิยามนี้ ด้วยการทำความรู้จักกับเธอ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงวิชชุลดา ก่อนจะมาเป็นหญิงสาวที่หยิบเสื้อคลุมจากขยะ ซึ่งเคยตัดเย็บให้มารีญา พูนเลิศลาภ นางแบบและนางงามผู้เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้ใช้บันทึกการสร้างขยะลงในกระเป๋าที่ติดอยู่รอบตัวเสื้อ มาสวมใส่ให้เราดูอีกครั้ง

“เวลาเห็นอะไรพวกนี้ เราจะสนุกกับการได้จินตนาการ อย่างหลอดเราไม่ได้เห็นว่าเป็นแค่หลอด แต่เรามองเห็นเป็นขาของแมลง ขาของสัตว์ หรือลูกตาที่รวมกันเยอะๆ แล้วมองมาที่เรา

“ฝาขวดเราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่ฝา เราเอาของพวกนี้มาแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เราชอบ”

สิ่งที่เอ๋ชอบในตอนเด็ก คือตัวการ์ตูนและสัตว์ประหลาด เธอเอาของที่มีอยู่ในบ้าน มาประดิษฐ์เป็นของเล่น

“บ้านเอ๋มีวัสดุพวกนี้เยอะ พ่อกับแม่จะไม่ค่อยทิ้งของ อย่างขวดน้ำหวานก็จะเอามาใส่น้ำดื่มแช่ตู้เย็น” เรียกว่าเธอได้เห็นการรีไซเคิล การรียูสข้าวของเหล่านี้มาจากพ่อแม่ที่เป็นต้นแบบ

“มันเยอะมากๆ เลยนะ” เอ๋ย้ำความเยอะที่ว่าแล้วหัวเราะ “เขาชอบสะสม เราก็บอกว่าทิ้งบ้างเถอะ แต่เขาก็ไม่ทิ้ง เราก็คิดว่าจะทำยังไง ก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาทำงานศิลปะ ด้วยความคิดแรกคือ ต้องการระบายของออกไป ชิ้นแรกที่ทำจริงๆ จังๆ คือสมัยเรียนอยู่ปี 3 ปี 4”

เอ๋เรียนจบด้านทัศนศิลป์ สาขาจิตรกรรม แต่เธอชอบทำงานสื่อผสมมากกว่า วัสดุเหลือใช้ในบ้าน ถูกเอามาทำให้เป็นงานศิลปะตั้งแต่ตอนนั้น โปรเจ็กต์ตอนเรียนจบปริญญาตรีของเธอ คือการนำขยะมาประกอบเป็นชิ้นงานจากจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลธีสิสดีเด่นของมหาวิทยาลัย และปูทางสู่อาชีพศิลปินหลังเรียนจบ

“เป็นชิ้นงานที่มีความสูงประมาณเมตรกว่าๆ แล้วมีผู้ใหญ่ใจดีมาซื้องานของเอ๋ ตอนนั้นเราตั้งราคามั่วๆ ไปเจ็ดพันกว่าบาท เขาบอกว่าเอ๋ตั้งราคาแบบนี้ได้ยังไง” สมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของแบรนด์แฟชั่น FLY NOW และเจ้าของอาณาจักรช่างชุ่ย คือผู้ใหญ่ใจดีคนนั้น นอกจากอุดหนุนงานศิลปะของเธอเป็นคนแรกในชีวิต ยังเปิดทางให้เธอใช้ความสามารถทางศิลปะในอีกหลายโอกาส ทั้งการทำแฟชั่นโชว์จากขยะ และงานตกแต่งในช่างชุ่ยในเวลาต่อมา

“เอ๋ถามคุณสมชัยว่าเชื่อมั่นในตัวเอ๋ได้ยังไงว่าเอ๋จะทำได้ เขาบอกว่า เชื่อก็แล้วกัน ดูไม่ผิดหรอก ตอนนั้นเรายังเด็กอยู่มาก เพิ่งจบใหม่ๆ ยังไม่รับปริญญาเลย พอมีผู้ใหญ่เห็นศักยภาพในตัวเรา เราเลยรู้สึกว่าจะต้องทำมันให้ได้” เธอเล่าพลางน้ำตาคลอเมื่อนึกถึงวันที่ได้รับโอกาสในชีวิต

“ยิ่งทำไปก็ทำให้เรายิ่งอยากให้มันเติบโตไปข้างหน้า คือเติบโตในแง่ที่ว่าอยากให้คนอื่นเขาเข้าใจในสิ่งที่เราคิด อยากให้ศิลปะมันเป็นรูปธรรม เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็อยากให้คนได้รู้ว่าศิลปะมันสร้างความตระหนักได้ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงๆ นะ”

เอ๋สนใจเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่คำว่า SDGs (Sustainable Development GoalsSDGs) ยังไม่อยู่ในความสนใจของคนมากเท่าทุกวันนี้ และนำสิ่งนี้ไปนำเสนอเพื่อสมัครเข้าโครงการ ‘พอแล้วดี’ ซึ่งการได้เข้าอบรมทำให้ความคิดของเธอถูกตบแต่งให้เข้าที่ จากผู้ที่มีประสบการณ์

“เราอยากทำให้คนลดขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์ พอมาเจอหลัก SDGs เราก็คิดว่าต้องเชื่อมโยงกันให้ได้ แม้ว่าเราจะเป็น artist ที่ใช้ emotional ในการทำงาน แต่มันต้องวัดผลได้จริง”

“ตอนนั้นยังไม่ได้ทำแบรนด์อะไรเลย แต่พอแล้วดีก็ทำให้ได้คิดเรื่องการทำธุรกิจ ที่ให้อะไรกับสังคมได้ และเราอยู่ได้ด้วย ทำอะไรให้คิดถึงคนอื่น ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว”

ลดขยะด้วยความคิดสร้างสรรค์

ถุงผ้าที่เคยได้รับแจกหรือเป็นของขวัญจากไอเดียลดโลกร้อนของหลายๆ แห่ง ตอนนี้แทบมองไม่เห็นเค้าเดิม เพราะมันฟูฟ่องด้วยเลเยอร์ของเศษผ้าชิ้นเล็กๆ หลากสี กลายเป็นกระเป๋าถือดีไซน์สนุกที่ไม่มีชิ้นไหนเหมือนกันเสียทีเดียว ส่วนฝาขวดพลาสติกถูกร้อยเข้ากับเส้นเอ็นใส ผูกติดกับโครงเหล็กทรงลูกบาศก์ หากใส่หลอดไฟเข้าไปก็จะกลายเป็นโคมไฟ คว่ำลงแล้วหาเบาะผ้ามาวางทับสักหน่อยก็กลายเป็นสตูล หรือจับหงายใส่ถุงซ้อนลงไปข้างใน ก็กลายเป็นถังขยะ ขึ้นอยู่กับว่าใครสะดวกจะใช้งานแบบไหน ฝาขวดกับโครงเหล็กกลายร่างสู่ชีวิตใหม่ได้ถึงสามชีวิตในร่างเดียว

“สังเกตว่ากระเป๋าแต่ละใบไซส์จะไม่เท่ากัน เพราะเราได้ถุงผ้ามาหลายแบบ คนชอบแจกถุงผ้า แล้วบางทีก็ไม่ได้มีการใช้มันจริงๆ สีไม่สวยบ้างละ ลายไม่สวยบ้างละ แล้วถุงผ้าก็กองอยู่ตรงนั้น สุดท้ายที่บอกว่าถุงผ้าลดโลกร้อน  มันกลายเป็นถุงผ้าเพิ่มขยะหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นเราเอามาทำให้มันเป็นถุงผ้าที่น่าใช้ได้ไหม เราไม่มีการใช้ทรัพยากรใหม่เลย

“หรืออย่างถังขยะที่มีขายกันมันคือพลาสติกชิ้นใหม่ แต่ถ้าเรามีพลาสติกอยู่แล้ว เราเอามาทำให้มันดูกุ๊กกิ๊กมีสีสันอย่างนี้ก็ได้ ถ้าวันหนึ่งมันเสื่อมสภาพ เราก็ถอดมันออกไปรีไซเคิลเป็นอย่างอื่นได้อีก เวลามีการรื้อถอนงานศิลปะ เอ๋เอาขยะทุกชิ้นกลับมาใช้งานต่อทุกครั้ง งานเอ๋ช่วงปี 2017-2018 เรามีพ่นสีด้วย แต่ตอนนี้เราใช้สีจากวัสดุเลย มันทำให้รีไซเคิลได้ และไม่สร้างมลพิษด้วย”

เราเห็นคำว่า ‘ศิลปะ’ ซ้อนอยู่ในความเป็นแบรนด์ เอ๋บอกว่าถ้าในแง่วิชาชีพ ตัวเธอเองอยู่ในฝั่งของศิลปินมากกว่า เพียงแต่เป็นศิลปินที่มีแบรนด์เท่านั้นเอง

“จริงๆ เอ๋ว่าศิลปินทุกคนก็มีแบรนด์นะคะ เป็น Personal Artist ไม่ต่างกัน เราก็ยังมองตัวเองว่าเป็น artist ในแง่ที่เมื่อคนถือไปใช้ งานพวกนี้ก็สื่อสารกับคนได้ เอ๋อยากให้คนมองเห็นแล้วรู้สึกว่าเราอยากจะซื้อขยะกลับไปใช้จังเลย เขารู้สึกดีกับมัน เอ๋อยากเป็นศิลปินที่อย่างน้อยเราเอาศักยภาพของ เอาความถนัดของเรา ไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ บางคนที่เป็นวิศวกรเขาอาจจะทำเครื่องย่อยสลายอินทรีย์ เราก็ใช้งานของเราทำให้คนเห็นแล้วรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจและไปต่อยอดได้  ถ้าเขาเอางานเราไปตั้งตรงไหน แล้วมันทำให้พื้นที่ตรงนั้นน่าอยู่ขึ้น ดูมีสีสันขึ้น ก็ช่วยให้คนได้รู้สึกว่าเรามีทรัพยากรอยู่แล้ว เราสร้างของขึ้นมาใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่เลย

“art goal ของเอ๋ก็คือ art มันช่วยสังคมได้ ช่วยเปลี่ยนมายด์เซ็ตได้”

“คนจะชอบโจมตี art ว่าใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง หรือ art ก็คือสร้างขยะไงล่ะ แต่เรารู้สึกว่า  art เป็นสิ่งช่วยให้มีการจรรโลงใจ ทำให้เขามีความสุขได้ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจไปต่อยอดได้ เราคิดอย่างนั้น ส่วนในแง่ธุรกิจ เอ๋อยากทำให้เป็น SE (Social Enterprise-ธุรกิจเพื่อสังคม) อยากให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น กระจายไอเดียนี้ให้คนสนใจมากขึ้น และเราอยากลดขยะได้ เราอาจจะเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่อาจลดได้เป็นแสนๆ ตัน แต่เราก็รู้ว่าเราทำมันได้”

จากที่ตั้งต้นแบรนด์ด้วยโจทย์ของความยั่งยืน เอ๋มองว่าที่ทำมานั้นได้ตอบโจทย์ในตัวมันแล้ว แต่ก็ยังอยากพัฒนาต่อให้เป็นรูปธรรม เธอจึงลงคอร์สเรียนเกี่ยวกับ SDGs Management เพื่อจะได้ตอบคำถามได้ชัดเจนขึ้น ว่างานของเธอนั้นช่วยเรื่องความยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน

“เอ๋ประมวลผลให้เห็นเลยว่าสิ่งที่เราทำมันวัดผลได้แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้แค่ไหน เพื่อคนจะได้เห็นตัวเลขจริง”

“และเราจะได้ตอบตัวเองได้ เพราะเราทำงานด้านนี้ เราก็อยากให้มันมีการวัดผลได้จริง ไม่อยากให้เป็นคำพูดที่เลื่อนลอยว่ามันลดค่ะ แล้วลดยังไง ลดเท่าไร เราควรต้องตอบได้และแปรเป็นตัวเลขให้เห็นกันเลย”

จากโลกของตัวเอง สู่โลกของชุมชน

จะว่าไป แม้ในความหวังที่จะทำให้ Wishulada เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ตอนนี้ยังไปไม่ถึง แต่สิ่งที่เอ๋ทำอยู่นั้นก็มีความหมายของคำว่า ‘เพื่อสังคม’ แฝงอยู่แล้วโดยที่เธออาจไม่ทันได้รู้ตัว อย่างโกดังที่บางใหญ่ของเธอ ที่ตอนนี้ดึงคนในชุมชนเข้ามาช่วยงานและได้เป็นค่าจ้าง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีรูปลักษณ์ที่น่าใช้ขึ้น

“ที่บางใหญ่คนในชุมชนตรงนั้นเขาเจอพิษเศรษฐกิจมาก่อนโควิดแล้ว จากที่มีการจ้างงานไปขนย้ายของทุกวันก็เหลือแค่สองสามวัน เราก็ชวนเขามาทำงานด้วยกัน สอนเขาว่าล้างขยะยังไง ทำไมต้องแยกขยะ ให้เขารู้

“เราไม่อยากเป็น artist ที่เราเข้าใจอยู่คนเดียว อยากให้คนที่มาทำด้วยเขารู้ให้หมด อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าเราต้องล้างขยะไปเพื่ออะไร”

“ส่วนเรื่องออกแบบสีพรมเช็ดเท้ากับชาวบ้าน เราได้ไปลงพื้นที่ทำงานกับ TCEB (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)) ที่จังหวัดพะเยา ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเรื่องการจัดดิสเพลย์ผ้าไหม เราก็เลยไปเจอว่าเขาไม่ได้ทำผ้าไหมอย่างเดียวนะ เขาเอาเศษผ้าจากโรงงานมาเย็บพรมเช็ดเท้า เราอยากกลับไปอีก คือพรมเขาไม่ได้ขายดีอะไรนะ แต่เรามองว่าในแง่ภูมิปัญญาเขาเก่ง จะมีสิ่งที่เขาขาดก็คือด้านการสร้างสรรค์

“การทำงานกับชุมชนเราต้องทำให้เขาเห็น ไม่อย่างนั้นเขาไม่เชื่อหรอก อย่างไปบอกเขาว่าเก็บขยะนี่ดียังไง เก็บขยะช่วยลดโลกร้อน เขาไม่เชื่อนะเพราะมันไกลตัว แต่ถ้าเราทำให้เขารู้ว่าเก็บขยะแล้วมันสร้างมูลค่าได้ เขาจะสนใจ เหมือนร้านส้มตำเราจะไปบอกเขาว่าอย่าใช้กล่องโฟม เขาไม่ได้มองว่าโลกร้อนแล้วยังไง อากาศร้อนก็เปิดพัดลมก็จบแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่ามันกระทบ”

การดึงเอาคุณค่าของขยะมาสร้างเป็นสิ่งใหม่ของวิชชุลดา ที่อยู่ในความคิดมาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย มีร่องรอยเก็บเอาไว้ใน scrap book ที่เธอเก็บเอาวัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาทดลองสร้างวัสดุใหม่ อย่างเศษหนังจากกระเป๋า ถุงขนม สร้างเท็กซ์เจอร์ใหม่ด้วยความร้อน เป่าด้วยความเย็น ทุบ ฯลฯ จนเป็นวัสดุทดแทนที่ดูน่าอัศจรรย์ แล้ววันหนึ่งความรู้เหล่านั้นก็ได้นำกลับมาใช้ในการบรรยายที่ Scrap Lab หรือ ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“มันตรงกับสิ่งที่เอ๋คิดพอสมควร เพราะเขาเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์เข้ามาหากัน และเขาบอกว่าวัสดุรอบตัวเราทุกชนิด มันสามารถแปรเปลี่ยนให้เกิดมูลค่าได้ ก็มีคนเรียนต่อคลาสเยอะเหมือนกัน เอ๋ว่าตอนนี้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เยอะ แต่คนที่ทำอย่างต่อเนื่องจริงๆ แทบนับคนได้ เพราะกระบวนการมันเยอะ ไม่ใช่ทดลองครั้งเดียวเสร็จแล้วนำไปใช้ได้เลย บางคนมองว่ามันยืดเยื้อจัง ก็ไม่ทำต่อ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี  ที่อย่างน้อยคนก็ยังคิดให้ความสำคัญตรงนี้ หรือเรื่องขยะที่คนก็รู้แล้วว่าฉันต้องแยกขยะ ถ้าแม้ว่าฉันจะไม่ได้เอามาใช้ทำอะไรเอง แต่ฉันก็พร้อมที่จะส่งขยะนี้ไปให้ที่ต่างๆ ที่เขาเอาไปทำต่อได้”

ขยะเจ้าปัญหาในสายตาศิลปิน

ในการสร้างผลงานหนึ่งชิ้น สิ่งสำคัญอันดับแรกของเอ๋คือ ต้องตอบปัญหาให้ได้ว่า ปลายทางของงานชิ้นนี้ จะไปอยู่ที่ตรงไหน วิธีคิดของเธอจึงไม่ได้สุดกู่ไปในทางศิลปิน หรือยอดขายในเชิงธุรกิจ แต่เป็นการมองด้วยสายตาของคนที่อยากจะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าสิ่งอื่น

“แต่ก่อนคือทำแล้วต้องสวย แต่พอมีคนมาทัก มาเตือนสติเราว่ามันไปไหนต่อล่ะ เออจริง เราเข้ามาทำเรื่องนี้ ก็ต้องคิดมันให้จบ คืองานต้องใช้ได้จริง สร้างความตระหนักเรื่องขยะกับคนได้ และให้เขาได้ไปคิดต่อยอดว่าจะทำหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้

“เอ๋เคยทำงานชิ้นหนึ่ง ไปเก็บขยะในองค์กรหนึ่งมาทำเป็นต้นคริสต์มาส เป็นหลอดพลาสติกกับขวดพลาสติก ถ้าเราเก็บแล้วเอามากองบอกว่านี่ 300 กิโลฯ 500 กิโลฯ คนนึกภาพไม่ออก เราเลยมาทำให้เห็นว่ามันทำเป็นต้นคริสต์มาสได้สูงหกเมตรกว่าเลยนะ คนจะเข้าใจมากขึ้นว่าถ้าเราทำให้ต้นมันสูงขนาดนี้ได้นี่ถึงเวลาที่ต้องลดแล้วนะ แล้วทุกคนช่วยกันได้ จะคัดแยกขยะ ใช้ซ้ำของที่มีอยู่ ไม่ใช้ของใหม่ คุณก็มีส่วนในการดูแลโลกแล้ว

“เอ๋ไม่ได้มองว่าขยะพลาสติกเป็นผู้ร้ายนะ แต่พลาสติกบางประเภทก็ควรลด อย่างถุงแกง หรือโฟม บางทีการใช้จานกระดาษ เรารู้ไหมว่ากว่าจะกลายมาเป็นจานมันผ่านกระบวนการอะไรบ้าง แต่การจะลดเรื่องขยะพลาสติกได้ ผู้ผลิตต้นทางควรจะใส่ใจมากกว่าต้นทุนของพลาสติกมันราคาถูก อย่าให้เขามาผลักให้ผู้บริโภคต้องเป็นคนคัดแยก แต่เราจัดการตั้งแต่ต้นทางเลยดีกว่า เอ๋อยากเห็นรัฐบาลพูดเรื่องขยะให้มากกว่านี้ ไม่ว่าเรื่องการนำเข้าขยะ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนนี้มันดูผิวๆ ไป ถ้าผู้ผลิตอยากได้ต้นทุนที่ถูกลง มันมีวัสดุอะไรที่ตอบโจทย์ในราคาที่เท่ากับพลาสติกไหม ทำอย่างไรให้ชามไบโอมันราคาถูกลง เพราะทุกวันนี้แพงจนเอื้อมไม่ได้ ชาวบ้านอยากใช้ แต่เขาสู้ราคาไม่ไหว เขาก็ไม่อยากจะลงทุน

“หรือเรื่องจัดการขยะ เอ๋ว่าดีมากเลยที่มีจุดรับขยะที่คัดแยก หรือมีโปรโมชั่นส่งฟรีที่เขาทำกับร้านสะดวกซื้อ ทำให้คนได้เอาขยะไปส่งให้ปลายทางจัดการได้ฟรี และคงจะดีมากถ้าเรามีจุดรับขยะพลาสติกอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อได้เลย เพราะคนเข้าถึงง่าย มีอยู่ทุกชุมชนอยู่แล้ว”

ภาพถ่าย: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, Wishulada