เกือบยี่สิบปีที่แล้ว ถ้ายังจำได้ ภาพยนตร์นอกกระแส “เด็กโต๋” ได้สร้างปรากฏการณ์ในสังคมไทยทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอในยุคสมัยที่ภาพยนตร์สารคดียังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก พร้อมกับความโด่งดังของหนัง ชีวิตคนทำหนังก็พลอยได้รับความสนใจไปด้วย หนึ่งนั้นเป็นคนดังอยู่แล้ว ป๊อบ-อารียา ชุมสาย อีกหนึ่งยังเป็นผู้กำกับมาจนถึงวันนี้และเรามีนัดคุยกับเธอ นก-นิสา คงศรี

นิสาเคยเป็นคนโฆษณา คนทำหนัง คนทำสารคดี แล้วมากลายเป็นคนสวน คนทำน้ำตาล คนผลิตอาหาร ถ้าเปรียบชีวิตเป็นหนังเรื่องยาว หนังของนิสาก็ช่างเต็มไปด้วยสีสันและเนื้อหาอันเข้มข้น ในวัย 54 ปีของเธอ เราได้ดูหนังชีวิตของคนกลับบ้าน บ้านที่แท้จริง โดยไม่ได้หมายความถึงเพียงอาคารหรือสถานที่ ในภาวะการณ์ที่การกลับบ้าน เชื่อมโยงไปถึงวิกฤตอาหาร ปัญญาท้องถิ่น ความอิ่มเอมทางกาย ความว้าเหว่ทางจิตใจ ไปจนถึงการแสวงหาคุณค่าความหมายในตัวเอง

รกราก รากเรา
“ชีวิตเราไปไหนไม่รอดหรอก เพราะรกรากอยู่ที่นี่” นิสาเริ่มต้นบทสนทนาอย่างนั้น ที่นี่ของเธอหมายถึงบ้านไม้ยกใต้ถุนตั้งอยู่บนที่ดินริมคลองแม่กลอง เขตตำบลนางตะเคียน ในจังหวัดสมุทรสงคราม

“รกของเราฝังอยู่ที่ตรงนี้ เราเกิดตรงนี้ เนื่องจากสมัยนั้นไปโรงพยาบาลไม่ได้ การเดินทางยังยากเนาะ แม่เขาตกสะพานแล้วเจ็บท้อง ทำยังไงได้ก็ต้องตามหมออนามัยมาทำคลอด เราเป็นรุ่นที่ใช้ไม้ไผ่ตัดสายสะดือ ชวดเป็นคนทำ ช่วยหมอทำ แล้วชวดก็เอารกไปฝังไว้ใต้ต้นพุทรา ตอนนี้ต้นพุทราไม่อยู่แล้ว แต่ก็อยู่ในบริเวณที่บ้านนี่แหละ ทุกคนยังแซวว่ารกรากตัวจริง แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเดียวกันที่อยู่ในเมืองเขาก็จะรู้สึกว่ามันขนาดนั้นเลยเหรอ คือเราเป็นบ้านสวน ชนบทมาก ไฟฟ้าก็ไม่มี ถนนไม่มี ไปไหนต้องไปทางเรือ เป็นพื้นที่ห่างไกล เกิดกับธรรมชาติจริง ๆ โตมาแบบนั้นเลย จนอยู่มาถึงยุคนี้ถือว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ สวิงริงโก้มาก

“อายุสิบแปดเข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนสาขาภาพยนตร์ เพื่อนในกรุงเทพฯ เขาดูหนังฝรั่งกันแล้ว เราดูหนังกางแปลง รู้จักแต่หนังจีนกับหนังแขก เพราะความบันเทิงในชีวิตตลอดมาคือ งานวัด หนังกลางแปลง ลิเก ลำตัด ที่ไปดูกับย่า หนังสือก็อ่านตามย่า ไม่มีพ็อกเก็ตบุ๊คอ่าน มีวิทยุเอฟเอ็มเอเอ็มฟังครั้งแรกตอน ม.5-6 เพราะมีคนเอามาจำนำกับย่า ย่าเลยซื้อไว้ เราถึงได้รู้จักรถไฟดนตรี ไนต์สปอร์ต รู้จักพี่ฉอด ผิวปากตามเพลง แล้วก็เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะฟังมาตั้งแต่เด็กกับย่า เลยอยากเป็นดีเจนักจัดรายการวิทยุ ถึงได้ไปสอบวารสารฯ ทั้งที่เรียนสายวิทย์

“เราเป็นเด็กบ้านสวน เป็นลูกชาวสวน ไม่มีสตางค์ พ่อก็เสีย ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือแน่นอน สิ่งเดียวที่ทำได้คือต้องตั้งใจเรียนเพื่อขอทุนให้ได้ เรียนด้วยทุนการศึกษามาตลอด จนกระทั่งได้ทุนธรรมศาสตร์ แต่รู้เลยว่าแค่นั้นไม่พอ ถึงมีทุนให้ไปเรียนหนังสือ แต่เราขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องอะไร ๆ ช้ากว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นจากคนที่เป็นหนึ่งในชั้นมัธยม เป็นนักพูดของโรงเรียน เป็นนักกิจกรรม เรียนดีติด 1 ใน 5 ของรุ่น พอไปที่นั่นกลายเป็นคนขาดความมั่นใจไปเลย คราวนี้เรียนแค่ในตำราไม่พอ ต้องหารอบนอก ต้องดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสือ อ่านทุกเล่ม เพื่อเพิ่มพูนตัวเองให้ทันเพื่อน เราไม่ได้รู้สึกต่ำต้อยกับความเป็นคนบ้านสวน แต่สิ่งเดียวที่คนห่างไกลไม่มีคือเรื่องของโอกาส มันส่งผลมาถึงปัจจุบันว่าทำไมถึงทำงานกับเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่ยึดถือมาตลอดเลยว่า เมื่อเราได้รับโอกาส เราต้องหยิบยื่นโอกาสให้ผู้อื่น”

การตาย และการเกิดใหม่
เด็กบ้านสวนคนนั้นไปไกลกว่าเดิมอีกหลังเรียนจบ เมื่อได้เข้าทำงานในบริษัทโฆษณาอันดับหนึ่งของเมืองไทยในสมัยนั้น

“ได้งานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของบริษัทสยามสตูดิโอ คือตายแน่ ๆ คนระดับท็อปทั้งนั้น บอกตัวเองว่าต้องเรียนรู้ ที่นั่นข้อดีคือเขาให้โอกาสเรียนรู้ เป็นบริษัทนัมเบอร์วันก็จริง แต่สามเดือนแรกให้เรียนอย่างเดียว เป็นผู้ช่วยผู้กำกับต้องรู้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น หนึ่งสัปดาห์ไปอยู่กับแคสติ้ง หนึ่งสัปดาห์ไปอยู่กับอาร์ตไดฯ ไปอยู่กับโลเคชั่น โปรดิวเซอร์ มุมกล้อง ฯลฯ เพราะผู้ช่วยผู้กำกับต้องคุมกอง คุณต้องเข้าใจงานทุกแผนก ไม่งั้นคุณก็คุมใครไม่ได้ ที่นี่จึงเป็นเหมือนสถาบันหนึ่งที่ให้ความรู้มหาศาลจนนำมาใช้ได้ตลอดในชีวิต ได้ทำงานกับผู้กำกับระดับตำนาน 3 คน ปีแรกเป็นผู้ช่วยพี่หนูเล็ก-บุรณี รัชไชยบุญ งานแบบนุ่ม ๆ หน่อย พี่หนูเล็กใจดี ถือว่าเป็นช่วงเรียนทฤษฎี ต่อมาเป็นผู้ช่วยพี่ดา-นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา พี่ดาทำงานเร็วมาก ต้องตามให้ทัน ถือว่าเป็นช่วงปฏิบัติ สุดท้ายเป็นผู้ช่วยคุณคทา สุทัศน์ ณ อยุธยา ถือว่าเป็นภาคความคิด คุณคทาประชุมหนังเป็นเดือน ๆ ก่อนถ่าย ประชุมเช้า ประชุมเย็น ดูเรฟเฟอเร้นท์เป็นตั้ง เดินรอบโต๊ะ คิดเสียงดัง แล้วแม่นที่สุด พอทำงานครบผู้กำกับสามคน เราก็ออก บอกตัวเองว่าเรียนจบแล้ว

“หลังจากนั้นก็เปลี่ยนสายไปทำละคร แต่พอทำแล้วก็ไม่เวิร์ก เพราะไม่ชอบระบบ จากนั้นก็ไปทำมิวสิกวิดีโอ ทำหนัง ฯลฯ ทำมาทุกโปรดักชั่น แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จ ที่จริงช่วงที่ทำโฆษณาได้เงินเยอะ แต่ไม่เคยคิดจะกลับไปทำอีก เพราะโฆษณาใช้อะไรจากเราเยอะมากทั้งพลังงานและจิตวิญญาณ โดนดูดจนเหมือนตายไปแล้ว กระทั่งโปรดักชั่นสุดท้ายทำแล้วเกิดความรู้สึกเกลียดตัวเอง เหมือนล้มเหลวในชีวิต มีปัญหากับคน แล้วเราบาดเจ็บจนไม่รู้จะทำอะไรอีกต่อไป เป็นยุคที่เรียกว่า ตกเหว หัวใจแข็งกระด้าง ตายด้าน ผิดหวังกับมนุษย์ และจนที่สุด นั่นคือจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย

นิสาบอกว่าการได้รู้จักกับป๊อบ (อารียา) ซึ่งชวนมาทำภาพยนตร์สารคดีเด็กโต๋ คือ การเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ สำหรับเธอ

ได้เจอครู ได้เจอเด็ก รู้สึกขึ้นมาเลยว่านี่คือชีวิตเรา เราเคยมีครูแบบนี้ เราเคยเป็นเด็กคนนี้

“วันที่ไปถึงบ้านแม่โต๋ ได้เจอครู ได้เจอเด็ก รู้สึกขึ้นมาเลยว่านี่คือชีวิตเรา เราเคยมีครูแบบนี้ เราเคยเป็นเด็กคนนี้ ต่างกันแค่เราอยู่ริมคลอง เขาอยู่บนดอย แต่เด็กก็คือเด็ก เราเคยหัวเราะแบบนี้ เราไม่เคยถูกตัดสิน แต่พอมาอยู่ในสังคม เราถูกตัดสินนะ ทำงานโฆษณาคุณต้องใส่เสื้อแบรนด์เนม ต้องมีน้ำหอม ต้องหิ้วไวน์ มันเยอะไปหมด ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ แต่เราอยู่ผิดที่เอง พอไปถึงบ้านแม่โต๋รู้เลยว่าจิตวิญญาณฉันเกิดใหม่ มีผลกับชีวิตมาก

“หนังเด็กโต๋ทำให้ได้เดินทางไปต่างประเทศมากมาย เปิดโลกไปอีก หลังจากนั้นก็ทำหนังสารคดียาว ๆ มาเลย เพราะพอไปต่างประเทศกลับทำให้รู้สึกรักประเทศไทยยิ่งขึ้น เลยทำหนังเรื่องปักษ์ใต้บ้านเรา พูดถึงเรื่องน้ำใจคนไทย จากนั้นก็เดินทางตั้งแต่เหนือจรดใต้เพื่อเอาหนังไปฉายกับเด็กในมหาวิทยาลัย ได้ไปเห็นของดีทั่วประเทศ จนกระทั่งกลายมาเป็นหนังเรื่องรากเรา และเรื่องนี้ก็เกิดโครงการรากเราตามมา เป็นการทำกิจกรรมกับเด็กนาฏศิลป์ทั่วประเทศเพื่อพูดเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ความบันเทิงเริงใจ แต่เป็นการบันทึกวิถีชีวิตของคนไทยผ่านศิลปะพื้นบ้านทั้งหลาย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งปิดโครงการไป แต่รากเราก็ยังคงอยู่ในวิถีชีวิตถึงวันนี้เลย”

นกกลับรัง คนกลับบ้าน
แม้นิสาจะคิดมาตลอดว่าวันหนึ่งอยากกลับมาอยู่บ้าน แต่โอกาสไม่เคยอำนวยสักที จนกระทั่งไปโบกโบยโผผินบินอยู่ไกลบ้านถึง 30 ปี วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาก็มีเหตุปุบปับสนับสนุนให้เธอได้กลับบ้านสมความตั้งใจ

“บ้านในวัยเด็กกับบ้านในวัยโตไม่เหมือนกัน การเติบโตในวัยเด็กกับการกลับมาจากคนที่ไปมีประสบการณ์ข้างนอกแล้วกลับมาอยู่บ้าน วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนกัน ถ้ากลับมาคนเดียวไม่เป็นไร แต่ถ้ากลับมาอยู่กับครอบครัว ข้อแรกคือคุณต้องปรับตัว สำคัญมาก ปรับให้เข้ากับเขา ไม่ใช่เปลี่ยนเขาให้เข้ากับเรา เราจากไปสามสิบปี ไปเจออะไรในชีวิตเยอะมาก เราเห็นอะไรที่เขาไม่เห็นกับเรา เราจะบอกเขายังไงว่าใส่ของในตู้เย็นต้องใส่กล่องแบบนี้ ใส่ถุงซิปรูด เขาก็ใช้ถุงก๊อบแก๊บยัดตู้เย็นมาทั้งชีวิต อันนี้ตัวอย่างเรื่องที่เล็กน้อยมากนะ เราไปตั้งกฎเกณฑ์มากเขาก็อึดอัด เราก็อึดอัด ต่างคนต่างอึดอัด ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ปรับตัวกันไป ต้องใจเย็นมาก

ตอนแรกคิดไว้เลยนะว่ากลับมาบ้านฉันจะทำนั่นทำนี่ จะทำสวน ทำสื่อ ทำช่องยูทูป แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด

“ตอนแรกคิดไว้เลยนะว่ากลับมาบ้านฉันจะทำนั่นทำนี่ จะทำสวน ทำสื่อ ทำช่องยูทูป แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด สิ่งที่ฝันกับความเป็นจริงคนละเรื่องเลย เรากลับมาตอนที่ย่าเสียไปแล้ว มาเห็นสภาพสวนของย่าที่รกร้างรู้สึกทนไม่ได้ เลยอยากมารื้อฟื้นสวนมะพร้าวทำน้ำตาลด้วยความรักที่มีต่อย่า แต่ปรากฏว่าหาคนทำไม่ได้ ไม่มีคนขึ้นตาล ความตั้งใจจะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเลยเหรอ เลยตัดสินใจว่างั้นฉันทำเองก็ได้ แล้วพอมาทำตาลมันก็เหนื่อยจนไม่สามารถไปทำอย่างอื่น ๆ

ไม่มีใครเห็นด้วยกับการปีนต้นมะพร้าว จริง ๆ ก็ไม่น่ามีใครเห็นด้วยหรอก เพราะอายุเยอะแล้ว

“ตอนเด็ก เราคุยได้เป็นตุเป็นตะเลยว่าทำน้ำตาลอย่างนั้นอย่างนี้ โม้ไปทั่วเลย เพราะเห็นพ่อขึ้นตาล เวลาโม้เราโม้แบบตาเห็น ได้แต่ดูแล้วจำเอาไปเล่า แต่พอจะทำ ทำไม่เป็นสักอย่าง ดูงวงตาลยังไง งวงแค่ไหนที่พอดี แล้วโน้มงวงตาลยังไง ปาดแค่ไหน รองกระบอกยังไง ขึ้นตาลยังไง เปะพะองยังไง เคี่ยวยังไง อู้หู ไม่เป็นเลย ก็ต้องปีนเองสิคะ แม่ก็บ่น ไม่มีใครเห็นด้วยกับการปีนต้นมะพร้าว จริง ๆ ก็ไม่น่ามีใครเห็นด้วยหรอก เพราะอายุเยอะแล้ว ไม่ได้กลับมาตอน 30-40 ปาเข้าไป 50 ไปเรียนรู้ปีนต้นมะพร้าวตอนอายุ 50 มันใช่เรื่องไหม แต่ก็ทำ แล้วก็คุ้มค่า ใช้เวลาขึ้นตาล 3 เทอม เรียกอย่างนี้แล้วกัน ไม่ได้ขึ้นทั้งปี ขึ้นปีละหน จนกระทั่งปีที่สี่ขึ้นแบบเก่งแล้ว ทำทุกอย่างได้คล่องหมดแล้ว”

อาจกล่าวได้ว่านกกลับรังอย่างนิสาเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งแม้เป็นลูกหลานชาวสวน แต่ไม่เคยทำสวนมาก่อน ไม่เคยทำน้ำตาลมาก่อน แต่ต้องทั้งขึ้นตาลและเคี่ยวตาลด้วยตัวเองเพียงคนเดียวอย่างที่ไม่มีใครเขาทำ เหนื่อยถึงขั้นจับไข้ ปวดร้าวไปทั่วสรรพางค์กาย ต้องมีวินัยและความเพียรอย่างยิ่งยวด ต้องสร้างทักษะฝีมืออย่างเคร่งครัด ต้องสังเกตสังกาเรียนรู้ดูใจธรรมชาติทุกกระดิกนิ้ว บทเรียนวิชาน้ำตาลมะพร้าวหลักสูตรเร่งรัดเคี่ยวกรำเธอจนแกร่ง ที่สุดแล้วการทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างลึกซึ้งแตกฉานก็น่าจะนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างหนึ่งของเธอเลยทีเดียว

กลายเป็นว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่การขาย ไม่ได้อยากเป็นแม่ค้า แต่อยากให้คนรู้จักของดีบ้านเรา ไม่ใช่ของดีของเรานะ เป็นของดีแม่กลอง

“ตอนที่ทำแรก ๆ แล้วไปออกร้านที่ตลาดหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม ปีแรกเราเหมือนแม่ค้า ขายของทุกอย่างเลยเพราะสนุกกับการเป็นแม่ค้า พอปีต่อมาเริ่มไม่ใช่แล้ว อยากขายเฉพาะน้ำตาลของเรา เอาอย่างอื่นออกไปให้หมด มีเฉพาะผลิตภัณฑ์ของฉัน พออีกปีไม่รู้สึกว่าอยากขาย แต่รู้สึกอยากเอาไปให้กิน จำได้ว่าปีสุดท้ายที่ไปออกร้าน กลับมาปีนตาลด้วยนะเพื่อจะมาเอาน้ำตาลสดแล้วขับรถกลับไปที่งานตอนค่ำ ไม่ใช่ใกล้นะ ไปกลับหนึ่งชั่วโมง ไม่มีความคุ้มกับการขายเลย แต่มันคืออยากเอาของดีไปให้คนได้กิน อยากให้คนได้ลิ้มลองน้ำตาลสดจากต้นในฤดูกาลที่หอมอร่อยที่สุดและไม่ได้ใช้สารกันบูด ซึ่งคนที่อื่นไม่ใช่จะหากินได้ง่าย ๆ กลายเป็นว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่การขาย ไม่ได้อยากเป็นแม่ค้า แต่อยากให้คนรู้จักของดีบ้านเรา ไม่ใช่ของดีของเรานะ เป็นของดีแม่กลอง สวนไหนก็ทำได้ ถ้าเขาขึ้นตาลเช้าและเย็น ไม่ใส่สารกันบูด ก็จะมีน้ำตาลสดที่ดีขายให้คนกินได้ทั่วบ้านทั่วเมือง วันนี้มันก็ยังดีอยู่ เพียงแต่ว่าคนส่วนมากไม่ได้ทำแบบนั้น เมื่อเรามาเป็นผู้ผลิต เราก็ภูมิใจกับสิ่งที่ทำและอยากเอาของดีไปให้คนได้กิน”

มากไปกว่าการเป็นผู้ผลิตอาหารของตนเอง นิสายังตัดสินใจเข้าร่วมก่อตั้งเดอะมนต์รักแม่กลองเพื่อสื่อสารเรื่องราวจากบ้านเกิดเมืองนอนของเธอสู่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันโครงการ “ยิ้มทั้งน้ำตาล” เพื่ออุ้มชูเตาตาลและการทำน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้ อาจเกิดขึ้นไม่ได้หรือไม่ประสบความสำเร็จหากว่าเธอไม่เคยเรียนรู้จักการทำน้ำตาลมะพร้าวมาก่อน

“การเล่าเรื่องบ้านเมืองเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอด ที่มาทำนกกลับรังก็เพราะต้องการเล่าเรื่องบ้านของฉัน แต่เราเอาตัวเองลงไปทำเรื่องน้ำตาลมันก็จะเล่าได้แค่เรื่องเดียว แต่ทำเดอะมนต์รักแม่กลอง มีทีม มีเพื่อนร่วมงานที่คิดเหมือนกัน เดินไปในร่องเดียวกัน งานก็ไปได้ไกลกว่า กว้างกว่า ลึกกว่า

ให้เรื่องราวของบ้านเราได้เข้าไปอยู่ในครัว ได้ใส่ปาก ได้กิน ได้ชิม เราหวังว่าคนจะรู้จักบ้านเมืองเราผ่านกะปิน้ำปลา น้ำตาล

“เดอะมนต์รักแม่กลองทำมา 2 ปีกว่า ก็ยังไปไม่ถึงไหน เพราะกำลังเรามีน้อย แต่จุดเด่นคือการสื่อสารวิธีใหม่ เมื่อก่อนเราอาจสื่อสารด้วยการเขียนหรือทำออกมาเป็นหนัง แต่เราเห็นพ้องต้องกันว่าการสื่อสารแบบนั้นแค่ดูแล้วก็จบ แค่อ่านแล้วก็หาย แต่อันนี้คือให้เรื่องราวของบ้านเราได้เข้าไปอยู่ในครัว ได้ใส่ปาก ได้กิน ได้ชิม เราหวังว่าคนจะรู้จักบ้านเมืองเราผ่านกะปิน้ำปลา น้ำตาล

“ถามว่าเราอยากให้บ้านเมืองนี้คงสภาพอยู่ยั้งยืนยงคงเดิมไหม มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก แต่จะทำยังไงให้คนเห็นค่าคนที่เป็นผู้ผลิตอาหาร น้ำปลาให้ค่ากับผู้ใหญ่แดง กะปิให้ค่ากับป้าช่วย น้ำตาลให้ค่ากับน้าทวีป ลุงเหลยซึ่งเขาเพียรบอกว่าฉันจะไม่มีวันใส่สารกันบูดในน้ำตาลของฉัน เขาไม่มีคนเห็นค่าเลยนะ แต่พอเราให้ค่าเขา เราได้เห็นรอยยิ้มของพวกเขา ได้รับรู้สัมผัสบางอย่างที่บอกว่าเขาขอบคุณเราอยู่ ขอบคุณที่เราเอาเรื่องของเขาออกไปเผยแพร่ เราไม่ได้ช่วยอะไรเขามากมาย ไม่ได้ช่วยให้เขาขายดีทุกเดือน แต่ทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตที่เตาตาล เราก็ช่วยให้เขาหลุดและผ่านพ้นวิกฤตไปได้ หรือการที่เราพาคนเข้าไปที่เตา คนเข้ามาชื่นชม อันนั้นเป็นน้ำทิพย์ชูใจให้เขา ลุงเหลยมีทีวีมาสัมภาษณ์ แกรู้สึกยิ้มที่ได้พูดว่า ‘ฉันไม่ฆ่าคน ฉันไม่มีวันใส่สารกันบูด’ เดอะมนต์รักแม่กลองทำหน้าที่ตรงนี้คือ หยิบเรื่องของคนเล็ก ๆ ที่เขาทำเรื่องเล็ก ๆ แต่ที่จริงยิ่งใหญ่นะ แล้วเอาผลงานของคนเหล่านั้นส่งไปให้คนชิม โดยที่เราไม่ได้โฆษณานะ ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เดอะมนต์รักแม่กลองแค่เป็นสะพานเชื่อมฝั่งคนทำกับฝั่งคนกิน เราไม่ได้บอกว่าของเราดีที่สุด แต่ของเราปลอดภัย ไม่มีสารเคมี เป็นอาหารปลอดภัยที่เราวางใจได้

“ในฐานะที่เป็นคนแม่กลองคนเล็ก ๆ คนหนึ่ง เรารู้สึกดีมากนะที่ได้ทำหน้าที่แบบนี้”

“ในฐานะที่เป็นคนแม่กลองคนเล็ก ๆ คนหนึ่ง เรารู้สึกดีมากนะที่ได้ทำหน้าที่แบบนี้”

เรียมอรุณ หวานละมุนยามเช้า
นิสาตั้งใจทำสวนมะพร้าวของเธอในแนวทางเกษตรอินทรีย์ ใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมทั้งหมด แม้แต่กระบอกรองน้ำตาลก็ยังใช้กระบอกไม้ไผ่ซึ่งไม่มีใครใช้กันแล้ว เมื่อมีผลิตภัณฑ์ของตนเอง เธอตั้งชื่อแบรนด์สินค้าว่า “เรียมอรุณ”

เรียมแปลว่าตัวฉัน อรุณคือยามเช้า เรียมอรุณก็เลยเหมือนยามเช้าของฉัน กลายเป็นชื่อแบรนด์ เพราะทุกเช้าที่เราตื่นไปขึ้นตาล มันคือยามเช้าของฉันด้วย

“เรียมคือชื่อย่า อรุณคือชื่อแม่ เป็นชื่อของผู้หญิงสองคนที่เป็นบุพการี สวนที่ทำก็เป็นสวนของย่าเรียม แม่ก็เป็นผู้ให้ความรู้เรื่องการทำน้ำตาล เรียมแปลว่าตัวฉัน อรุณคือยามเช้า เรียมอรุณก็เลยเหมือนยามเช้าของฉัน กลายเป็นชื่อแบรนด์ เพราะทุกเช้าที่เราตื่นไปขึ้นตาล มันคือยามเช้าของฉันด้วย”

ผลิตภัณฑ์น้ำตาลของเรียมอรุณเป็นของหายาก เพราะทำได้น้อย ตามกำลังการผลิตของนิสาเพียงลำพัง แต่จุดเด่นที่ถ้าใครเคยลิ้มลองจะรับรู้ได้คือ คุณภาพ อันเกิดจากการทำในปริมาณน้อย จึงควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนได้อย่างเคร่งครัด

“เรียมอรุณเริ่มต้นจากคิดว่าจะทำน้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้แบบดั้งเดิม แต่ความที่เป็นคนซน ก็เลยมีของต่อยอดออกมาเรื่อย ๆ จากน้ำตาลมะพร้าวสำหรับใช้ทำกับข้าวทำขนมก็พัฒนามาเป็นน้ำตาลเนื้อทรายเพราะรู้สึกว่าน้ำตาลมะพร้าวแบบเดิมบางทีคนกรุงก็ใช้ยาก เลยลองทำเป็นเนื้อทราย หาสูตรทำของตัวเอง ไม่ได้ใส่เครื่องอบ ใช้พายกวนจนกระทั่งแห้ง บดเป็นผงละเอียด สามารถเอาไปทำขนมทำกับข้าวก็ได้ หรือทำเครื่องดื่ม ใส่กาแฟ จะหอมไปอีกแบบหนึ่ง จากนั้นพัฒนามาเป็นน้ำหวานดอกมะพร้าว เห็นคนเขาทำกันก็เลยทำมั่ง แต่คนอื่นเคี่ยวกระทะใหญ่ ๆ เราเคี่ยวที่บ้านในครัว ทำทีละ 10-20 ลิตร วันหนึ่งได้ 10 ขวด เคี่ยวแบบกลมกล่อมตามกำลังเรา น้ำหวานใช้แทนน้ำผึ้งได้ ใช้โรยวาฟเฟิล กินกับกล้วยหอม ทำเครื่องดื่ม ที่เราทำบ่อยใครชิมก็ประทับใจคือเอาน้ำหวานมาชงผสมกับน้ำมะนาวและโซดา

“ทีนี้ถ้าไม่ได้เคี่ยวน้ำตาล เราก็จะเอาน้ำตาลสดมาใส่ตุ่มไว้ หมักไปหนึ่งปี เกิดเป็นน้ำส้มสายชูหมัก ซึ่งอันนี้เทียบเท่าแอปเปิลไซเดอร์ เป็นโพรไบโอติก คนกินกันมาตั้งแต่โบราณ สามารถผสมกับน้ำอุ่นดื่มได้เลย หรือว่าจะเอาไปปรุงราดหน้า ก๋วยเตี๋ยว หอยทอด ทำน้ำสลัดก็ได้

“ช่วงฤดูหนาว เราก็จะต้มน้ำตาลสดใส่ขวดขายเป็นเครื่องดื่ม ที่สมัยนี้เรียกกันว่าน้ำช่อดอกมะพร้าว ขอเรียกแบบบ้าน ๆ ว่าน้ำตาลสดนี่แหละ ฤดูร้อนก็ทำได้แต่น้ำตาลจะติดเปรี้ยว รสธรรมชาติจะผันแปรตามอากาศซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก

“ช่อดอกมะพร้าวถ้าไม่เอาไปทำสิ่งที่พูดมาทั้งหมด เราก็ตัดช่อดอกที่กำลังได้ที่ เอามารูดดอกออก แล้วทำเป็นชา อันนี้ก็ทดลองเอง ทำไหม้บ้างอะไรบ้าง ทีแรกทดลองเอางวงมะพร้าวใหญ่ แต่พบว่าไม่หอม ต้องใช้มะพร้าวน้ำหอมเท่านั้นถึงจะหอม แล้วงวงต้องกำลังดี ดอกยังไม่ปริ ถ้าบานแล้วจะหอมน้อยหน่อย เอามาตากและอบ จนได้ชาดอกมะพร้าว

“ตอนนี้เรียมอรุณจึงมีผลิตภัณฑ์ 4 รูปแบบคือ น้ำตาลแบบต่าง ๆ น้ำส้มสายชู น้ำตาลสด และชาดอกมะพร้าว จนกระทั่งวันหนึ่งไปเจอเพื่อน เพื่อนทำเครื่องดื่มโปรไพรโอติกให้กินโดยใช้ชาผลไม้ ผสมกับแอปเปิลไซเดอร์ แล้วใส่หญ้าหวาน เอ๊ะ เราก็มีทุกอย่างเลยนะ มีชา มีน้ำส้ม มีน้ำหวาน เลยมาทดลองทำเป็นเครื่องดื่มกินเข้าไปแล้วเกิดจุลินทรีย์ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายดี ทำให้แม่กิน เพราะแม่มีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ แม่ก็ขับถ่ายดีขึ้น ทีนี้เลยทำเอาจริงเอาจัง และก็กลายเป็นสินค้าใหม่ล่าสุดออกมาโดยไม่ได้คิดมาก่อน เรียกว่า ชาเปรี้ยว ตัวนี้ภูมิใจมากเพราะแม่อาการดีขึ้น เราเองก็กินทุกวัน”

นอกจากรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลายหลายและสร้างสรรค์แล้ว นิสายังเรียนรู้ที่จะหาวิธีบริหารจัดการเพื่อประคับประคองให้สวนและกิจการเล็ก ๆ ของเธอดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นลงตัวยิ่งขึ้น

“ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องหาคนมาช่วยที่เป็นเฉพาะทาง คนขึ้นตาลเราก็ใช้วิธีไปเอาน้ำตาลสดจากสวนที่เขาทำน้ำตาลส่งเดอะมนต์รักแม่กลองอยู่แล้ว กับอีกอย่างคือมีคนมาขึ้นตาลที่สวนของเราเอง เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าน้ำตาลปลอดภัย เราก็ตัดการขึ้นตาลเองออกไป ที่สวนก็ได้น้าองคอยช่วยดูแล ลากเก็บทางมะพร้าวลูกกระตุ้มที่หล่นทุกวัน คอยพ่นน้ำส้มควันไม้สัปดาห์ละหน มีน้าเสริฐช่วยดายหญ้า คนทำสวนกับเราไม่ใช่คนงานนะ เขาทำสวนเหมือนเป็นสวนของเขา ไม่ได้ว่าจ้างเป็นชั่วโมง แต่เขาคอยดูแลให้แบบเราไม่ต้องห่วง ถึงเวลาก็เอาตังค์ไปให้เขา ส่วนที่บ้านตอนนี้ไม่มีใครช่วยเลยเพราะแก่กันหมดทั้งแม่ทั้งป้า งานทำผลิตภัณฑ์จึงต้องทำคนเดียวทั้งหมดทุกขั้นตอน จากนั้นก็ส่งให้เดอะมนต์รักแม่กลองเป็นผู้จัดจำหน่าย”

หนังรัก ไม่โรแมนติก
หลายปีที่กลับมาอยู่บ้าน และเส้นทางชีวิตที่เลือก ได้เปลี่ยนและให้บทเรียนหลายอย่างในความเป็นนิสา

“สุดท้ายพอมาทำน้ำตาลเองเราเข้าใจแล้วว่าทำไมคนทำน้ำตาลมะพร้าวถึงจะหมดไป เพราะว่ามันเหนื่อยจริง ๆ งานละเอียดจริง ๆ ต้องใส่ใจจริง ๆ จะบอกว่าคนสมัยนี้ไม่ขยันเหมือนคนสมัยก่อน เราว่าคนขี้เกียจคนขยันมีทุกยุค คนสมัยก่อนไม่มีทางเลือก เกิดมาเจอแต่อาชีพนี้ก็ต้องทำอย่างเดียว ไม่มีสิทธิ์เลือก นี่คือคำว่าโอกาส ถามว่าเขาอยากทำจริงไหม ถ้าเลือกได้เขาอาจไม่อยากทำ พอเราเข้าใจถึงแก่นแท้เราถึงรู้ว่าไม่ควรไปบอกใครว่าทำไมเธอไม่ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ เราไม่สามารถว่าใครได้เลย เด็กเห็นพ่อแม่ขึ้นตาลมาตั้งแต่เกิดก็ไม่อยากขึ้น พ่อแม่ขึ้นตาลก็ไม่อยากให้ลูกขึ้นเพราะทั้งเหนื่อยทั้งอันตราย เพราะฉะนั้นความล่มสลายทางอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวมีสิทธิ์ไหม มีสิทธิ์มาก แล้วเป็นความผิดของใคร ไม่มีใครผิด ทุกคนก็อยากให้ชีวิตตัวเองดีทั้งนั้น เกษตรกรถึงอยากให้ลูกหลานไปเป็นอะไรก็ได้ที่ดีกว่าที่ฉันเป็น ราวกับว่าเป็นเกษตรกรมันต่ำต้อยเหลือเกิน แต่ที่จริงแล้วเขาโคตรเจ๋ง เขาเป็นผู้ผลิตอาหาร ปัญหาคือเราไม่ให้ค่าคนมากกว่า ถ้าเมื่อไหร่เราให้ค่าคนขึ้นตาล คนทำนา เอาระบบใหม่เข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการทำงานเหนื่อยน้อยลง รายได้เยอะขึ้น อาชีพเหล่านี้จะไม่สูญหายไปไหน

“แล้วเด็กสมัยนี้ประเภทที่เรียนไม่เก่ง เอาแค่จบ กลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่สุด ให้ไปทำสวนก็ทำไม่ได้ ทำนาก็ทำไม่เป็น วิชาที่บ้านไม่มี จะไปเรียนต่อก็ไม่ไหว แล้วเขาจะไปอยู่ไหน จะไปทำอะไร

ถ้าคุณรู้ว่าคุณต้องการทำอะไร แล้วคุณก็ลงมือทำอย่างเข้าใจ ใช้ชีวิตกับบ้านในแบบปัจจุบันที่เป็นได้ โลกก็จะสวย เพราะยังไงบ้านก็คือบ้าน

“การกลับบ้าน คนส่วนมากมักมองว่าดีนะ สโลว์ไลฟ์ ชิลล์ โลกสวย ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่ก็ได้ ถ้าคุณปรับตัวไม่ได้ โลกคุณไม่มีวันสวย หรือกลับมาแล้วไม่รู้จะทำอะไรกับตัวเอง กับที่บ้านของตัวเอง นั่นอาจจะเป็นนรกก็ได้ เพราะฉะนั้นการกลับบ้านก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้นสำหรับคนที่รู้ว่าที่บ้านมีขุมสมบัติ ถ้าคุณรู้ว่าคุณต้องการทำอะไร แล้วคุณก็ลงมือทำอย่างเข้าใจ ใช้ชีวิตกับบ้านในแบบปัจจุบันที่เป็นได้ โลกก็จะสวย เพราะยังไงบ้านก็คือบ้าน ต่อให้คุณไปถึงไหน ๆ คำว่าบ้านคือจบ มีบ้าน มีแม่ มีข้าวกิน เป็นความสวยงามทางความรู้สึก ไม่ใช่โลกสวยแบบผิวเผิน ซึ่งสำหรับเรามันคือชีวิตที่เงียบ นิ่ง สงบ ได้ทำงานที่เป็นการเก็บรักษาคุณค่าบางอย่างที่มีตอนเด็กเอาไว้ แม้เราจะไม่รู้หรอกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำ ได้อยู่ดูแลแม่ ได้อยู่กับคนแก่ ถ้าเราไม่กลับมา ใครจะดูแลเขา นั่งทำงานอยู่ เดี๋ยว ๆ ก็เดินไปดูแม่ เป็นอะไรหรือเปล่า แล้วก็เดินกลับมาทำงาน หรือวันนี้ไปสวน ไปเห็นฝรั่งลูกโต ๆ เห็นมะม่วงออกดอก เห็นต้นชมพู่ไม่ตาย แค่นี้ก็มีความสุข ไปนั่งคุยกับคนสวน หัวเราะหยอกล้อกัน นี่แหละคือโลกสวยของเรา”

ภาพ : วีรวุฒิ กังวานนวกุล