“ตอนนี้นอกจากยาสีฟันแล้ว ของใช้ประจำวันทุกอย่างเราก็ทำเองหมดเลยค่ะ” 

ปูเป้-สุพัตรา อุสาหะ พูดพลางชักชวนให้เรารู้จักสารพัดไอเท็มทำเองที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางขนาดใหญ่ในบ้านของเธอ

ดูจากภายนอกเราแทบนึกไม่ถึงว่าบ้านสีขาวสองชั้น ณ หมู่บ้านจัดสรรย่านรามคำแหงนี้ จะเป็นแหล่งปฏิบัติการที่ปูเป้ใช้สร้างผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหมักธรรมชาติ ซอสมะเขือเทศออร์แกนิก ผงปรุงอาหาร ยาแก้ไอ สบู่เหลวธรรมชาติ ฯลฯ ที่เธอทำใช้เองและจำหน่ายให้คนที่สนใจทาง ‘ปูเป้ทำเอง Poopae Tam Ayng’ แฟนเพจที่รวบรวมไลฟ์สไตล์ แบ่งปันวิธีการทำอาหาร และของใช้ปลอดสารเคมีแบบทำเองในเมืองกรุง

เธอบอกเราว่าสารพัดผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีที่เธอนำมาจำหน่ายในเพจ ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อขายหรือหารายได้มาตั้งแต่ต้น แต่คือผลิตภัณฑ์ที่งอกเงยมาจากชีวิตที่อยากเลือกเอง

จุดเริ่มต้นของชีวิตที่อยากเลือกเอง

ย้อนไปในวัยเด็ก ปูเป้เติบโตมาด้วยทักษะการใช้ชีวิตที่หลากหลาย เธอมักจะเป็นลูกมือเข้าครัวทำอาหาร ช่วยปู่ย่าตายายปลูกผักในสวนหลังบ้าน และใช้เวลาว่างทำงานฝีมือไม่ว่าจะเป็นเย็บผ้า ร้อยพวงมาลัย และของตกแต่ง DIY ตั้งแต่จำความได้

“เราเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย คนที่บ้านให้ทำอะไรเราก็ทำ นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เราซึมซับวิธีการทำของกินของใช้ติดตัวมาตลอด แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เราก็ไม่ได้ทำอาหารหรือปลูกผักแล้ว ใช้ชีวิตเป็นเด็กหอพักคนหนึ่ง แต่เรายังชอบจะทำนู่นทำนี่ ทำของแฮนด์เมดเอามาขายหารายได้ให้ตนเองตลอด”

ความชื่นชอบในงานฝีมือบวกกับความรักในการขาย ทำให้ปูเป้เก็บเล็กผสมน้อยจนเปิดธุรกิจร้านอาหารของตนเองได้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เธอเริ่มทำงานกลางคืน ไปเรียนหนังสือตอนกลางวัน จนธุรกิจขยายสาขาเติบโต แต่วันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจถอยออกมาจากธุรกิจที่สร้าง แล้วมาใช้ชีวิตแบบที่ใจต้องการ

“ตอนที่หยุดทำร้านอาหาร เราแค่คิดว่าจะทำงานกลางคืนนอนกลางวันไปเรื่อยๆ คงไม่ไหว ไม่ได้คิดว่าจะทำงานอะไรต่อ แต่เรารู้ตัวว่าเราทำอะไรเป็นเยอะมาก ยังไงก็ไม่อดตาย”

“จึงเริ่มทำงานใหม่จากสิ่งที่เราถนัดก่อนคือการเย็บปักถักร้อย โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนั้นเพื่อนๆ ญาติ คนที่เขารู้จักเราอยู่แล้วเขารู้ว่าเราเย็บผ้าเก่ง ก็เลยสั่งกระเป๋า สั่งให้ร้อยต่างหู ร้อยกำไล ตอนนั้นเราเริ่มรู้สึกว่า การทำอะไรด้วยตัวเองเป็นงานที่มีความสุขจริงๆ คือระยะเริ่มต้นของการทำงานอยู่ที่บ้าน”

แม้จะได้ทำงานที่สร้างความสุข ได้ใช้ชีวิตแบบที่ตั้งใจ แต่ปูเป้ก็รู้ข้อจำกัดของการใช้ชีวิตแบบเลือกได้คือรายได้ที่ไม่แน่นอน เธอจึงตัดสินใจไปเรียนสักคิ้ว เริ่มทำงานด้านความสวยความงามเพื่อเพิ่มแหล่งรายได้ ให้เธอสามารถใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายในระยะยาว

#สวนครัวมินิ ชุมชนคนรักอินทรีย์ขนาดมินิในโลกออนไลน์

“เรามีเพื่อนสนิทที่สนใจเรื่องอินทรีย์อยู่แล้ว เพราะพ่อแม่เขาทำนาอินทรีย์ วันหนึ่งเพื่อนก็มาบอกว่าเขาจะแต่งงานนะ ชวนเราให้ไปเป็นแม่งาน ดูแลตั้งแต่ของชำร่วย แต่งหน้าเจ้าสาว จัดการอาหารทั้งหมด ตอนนั้นเราไม่ได้สนใจเรื่องอินทรีย์ แต่เพื่อนเราเขาอยู่ในวงการนี้มานาน เขาก็แนะนำแหล่งวัตถุดิบอินทรีย์ให้เรานำมาทำอาหาร ทำของชำร่วยได้ เราจึงรู้จักแหล่งซื้ออาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น”

แม้ปูเป้จะไม่ได้สนใจวิถีชีวิตแบบอินทรีย์มาตั้งแต่แรก แต่ด้วยชีวิตประจำวันที่ทำอาหารกินเอง ทำให้เธอเริ่มคำนึงถึงความปลอดภัย และเลือกใช้วัตถุดิบอินทรีย์เท่าที่จะสามารถทำได้

“ช่วงแรกๆ ก็เลือกซื้อวัตถุดิบตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ยังไม่ได้ปลูกผักกินเอง เพราะที่พักเราไม่ได้เอื้อ ปลูกได้แค่ต้นไม้ประดับห้อง จนเราย้ายบ้านแล้วมาอยู่ลาดพร้าว ซึ่งเป็นบ้านลักษณะเหมือนทาวน์โฮม 3 ชั้นที่มีระเบียงดาดฟ้าพอจะปลูกผักได้ ประจวบเหมาะกับได้กล้าผักอินทรีย์จากงานแต่งเพื่อนมาพอดี เลยเริ่มลองปลูกผักเอาไว้กินเอง”

แทนที่จะปลูกผักกินเองเฉยๆ เธอยังคอยอัพเดตสิ่งที่ลองปลูกในเฟซบุ๊กตลอด ในช่วงนั้นเองที่เครือข่ายอินทรีย์ในสังคมออนไลน์ของเธอเริ่มขยับขยาย มีเพื่อนของเพื่อนที่ประทับใจการจัดงานแต่งสไตล์อินทรีย์ที่แอดเฟรนด์มาติดตามมากมาย หนึ่งในนั้นคือครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านผู้ก่อตั้ง ‘สวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน’ บุคคลสำคัญที่พลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งกว่า 600 ไร่ ของอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ครบวงจรซึ่งทำให้ปูเป้เป็นที่รู้จักในแวดวงอินทรีย์

“ครูบาเขาใช้เฟซบุ๊กได้คล่องแคล่ว โพสต์ทุกวัน คนติดตามเยอะ แต่ตอนแรกไม่รู้ว่าใคร แต่เพื่อนบอกว่าเขาเป็นปราชญ์แผ่นดิน ดังมาก แล้วมีพี่คนหนึ่งในเฟซบุ๊กเขาแชร์ข้อความที่ท่านเขียนถึงเราในงานแต่ง ก็รู้สึกภูมิใจว่ามีคนเห็นสิ่งที่เราทำเห็นความตั้งใจของเรา จากนั้นมาเราก็เริ่มมีเพื่อนในวงการเกษตรอินทรีย์แอดมาเยอะมาก”

“เฟซบุ๊กจึงกลายเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ที่เราเริ่มเรียนรู้ว่าคนนั้นทำอะไร คนนี้ทำอะไร เขาปลูก เขาขายอะไร ใช้หาวัตถุดิบอินทรีย์ดีๆ ได้ เราอยากกินอะไรก็สั่งเลย”

นอกจากสร้างเครือข่ายในสังคมออนไลน์ ปูเป้ได้เริ่มไปพบปะกับผู้คนที่อยู่วงการเกษตรอินทรีย์ ทั้งจากตลาดสีเขียวของคนเมืองและการช่วยงานครูบาสุทธินันท์ เป็นครั้งคราว ซึ่งนั้นทำให้เธอเริ่มจริงจังกับการปลูกผัก การปรุงอาหาร และการเลือกสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้น

“จริงๆ แล้วเราเป็นคนกินง่ายมาก เด็ดผักสดๆ ต้มไข่ 1 ฟอง น้ำพริก 1 ถ้วยก็กินได้แล้ว ไม่ต้องพิธีรีตองอะไร แต่พอเรามีเพื่อนที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัยในเฟซบุ๊กมากขึ้น เราก็อยากแบ่งปันสูตรอาหาร เริ่มถ่ายรูปอาหารที่ทำ ผักที่เราปลูก สมมุติว่าเราจะแกงสักหม้อ เราจะถ่ายรูปแล้วว่าใส่อะไรบ้าง แล้วก็ไปเด็ดผักจากระเบียง เพราะเราปลูกผักสวนครัวกินเอง จึงกลายเป็น #สวนครัวมินิ ที่เราสร้างขึ้นมา ”

เปลี่ยนผักอินทรีย์ปลูกเอง ให้เป็นเครื่องปรุงรสปลอดภัยที่ทำเองได้

แม้ว่าแปลงปลูกผักของปูเป้จะมีไซส์มินิเพียง 4×4 เมตร แต่ก็อัดเน้นไปด้วยสารพัดพืชผักสวนครัวที่กินได้จริง ตั้งแต่กะเพรา โหระพา พริกชี้ฟ้า ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟักทอง มะเขือเทศ ไปถึงมะละกอ 

“ถึงจะปลูกผักในกระถาง ปลูกผักบนดาดฟ้า แต่เราบำรุงดินดี เพราะเราจัดการขยะเศษอาหารในบ้านนำมาหมักปุ๋ยอินทรีย์ มีไส้เดือนคอยพรวนดินให้ ผักทั้งหลายก็เจริญเติบโตได้ดี จนเรากินไม่หมด เอาไปให้คนข้างบ้านช่วยกินแล้วก็ยังกินไม่ทัน นอกจากนี้เรายังมีวัตถุดิบบางอย่างที่คุณแม่ก็ช่วยปลูกที่ต่างจังหวัดแล้วก็ส่งมาให้ด้วย ซึ่งผักพวกนี้ถ้าไม่กินแป๊บเดียวก็เน่า จึงเริ่มคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง ลองศึกษาจากเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊ก เห็นเขาเอามาหมัก เอามาทำซอส ก็ลองทำบ้าง เกิดเป็นซอสต่างๆ อย่างเช่น ซอสมะเขือเทศที่ทำให้หลายๆ คนรู้จัก ก็เกิดมาจากมะเขือเทศที่เราปลูกเอง”

นอกจากซอสมะเขือเทศแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่เป็นการถนอมอาหารด้วยวิธีการที่ปูเป้เชื่อว่าสามารถทำได้ เช่น ซอสปรุงรส ผงโรยข้าว น้ำยาแก้ไอ ผักดอง หรือน้ำสมุนไพร 

“เราเชื่อว่าผักทุกชนิดถ้ากินดิบได้ ก็ต้องนำมาแปรรูปได้ ยิ่งเป็นคนทำอาหารกินเอง แม้เราจะเลือกวัตถุดิบดี วัตถุดิบอินทรีย์ แต่เรายังใช้ซอสตลาด ซอสสำเร็จรูปก็คงไม่ดีใช่ไหม เราเลยเริ่มมาให้ความสำคัญกับเครื่องปรุงรสต่างๆ”

“พอเราทำซอสเองเป็น จะรู้ทันทีว่าสิ่งที่เราเคยกินเคยใช้มาตลอดชีวิตมันไม่ปลอดภัย และเริ่มเห็นความน่ากลัวของมัน”

“เราจึงอยากแชร์ความรู้ของเราให้คนในเฟซบุ๊กบ้าง เหมือนเป็นไอเดียว่าเราทำอะไร มันดีกว่าอย่างไร ซึ่งจะบอกสัดส่วน ส่วนผสม และขั้นตอนทุกอย่าง เพราะเราไม่ได้คิดว่าต้องการทำสิ่งนี้เป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว”

นอกจากจะแบ่งปันวิธีปลูกผัก ทำซอส และเครื่องปรุงต่างๆ ในเฟซบุ๊กของตนเองเป็นประจำ ปูเป้ยังได้รับคำเชิญจากตลาดสีเขียวในเมืองหลายๆ แห่ง ให้ไปบูทขายอาหารออร์แกนิกที่ปรุงรสโดยซอสทำเอง ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สามารถใช้ชีวิตแบบปลอดภัยที่สร้างเองได้แม้อยู่ในเมืองกรุง เสียงตอบรับที่ดีต่อซอสปรุงรสทำเองทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์นี้ ทำให้เธอตัดสินใจผลิตซอสขายภายใต้แบรนด์ ‘ซอสเติมเต็ม’

“ช่วงแรกๆ เราขายในเฟซบุ๊กตัวเองพอเราทำเยอะคนก็มาตามฟอลโล่ แอดเพื่อนจนเพื่อนเยอะเกิน เราจึงเลิกรับเพื่อน แล้วไปเปิดเพจ ‘ปูเป้ทำเอง’ ที่ทั้งขายและแชร์สิ่งที่เราทำ ให้คนสนใจรู้ว่าเราทำอย่างไร วัตถุดิบแต่ละอย่างมีที่มาที่ไปอย่างไร เผื่อเขาจะสนใจ นำไปทำเองได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อกับเราเท่านั้น”

แบ่งปันสูตรและแรงบันดาลใจ ให้สังคมรอบข้าง

นอกจากจะคอยแบ่งปันสูตร จำหน่ายสินค้าทำเองในช่องทางออนไลน์แล้ว ปูเป้ยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับวิทยาลัยการอาชีพ สอนทักษะการทำงานฝีมือที่เพิ่มรายได้ให้นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา

“เราช่วยรุ่นพี่ที่ทำออร์แกไนซ์คิดกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้กับนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพ การได้ทำงานตรงนี้ เราได้เห็นวิถีชีวิตของหลายๆ คน ที่ต้องทั้งเรียน ทำงาน แล้วก็ทำโอทีด้วย จนไม่มีเวลาได้หลับได้นอน เราจึงคิดว่าอยากทำอะไรที่ทำให้เขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ให้เขาสามารถสร้างรายได้เสริม เขาจะได้ไม่ต้องทำโอที”

“เราจึงคิดกิจกรรมสอนทำสบู่ สอนทำอาหารญี่ปุ่นขึ้นมา ให้เด็กลงทะเบียนมาเรียนเป็นหลักสูตรเทียบโอน แม้เราไม่มีความรู้ชั้นครู แต่เราสอนให้คนมีพื้นฐาน โดยยึดหลักการจากสิ่งที่เราการทำจริง เพื่อให้เขาเรียนเสร็จแล้ว สามารถทำขายได้เลย หรือจะนำไปพัฒนาต่อได้เป็นไอเดียอื่นๆ ก็ได้”

ปูเป้บอกเราว่าการได้ทำผลิตภัณฑ์อันหลากหลายภายใต้แบรนด์ปูเป้ทำเองนอกจากจะช่วยให้เธอได้กินอาหารปลอดภัย สามารถสร้างรายได้ให้ตนเอง สร้างรายได้เสริมให้ผู้อื่น ยังเป็นการสร้างความสุขให้กับการใช้ชีวิตในทุกๆ วันของเธอ 

“รายได้จากปูเป้ทำเองถือว่าเป็นกำไรหมดเลย เพราะทุกอย่างเกิดมาจากความสุขที่เราได้ทำ แต่ก็ต้องบอกว่าเราโชคดีที่ไม่ได้ทำงานประจำ เลือกออกมาทำสิ่งที่ชอบตั้งแต่ต้นได้ เวลาเราไปพูดคุยกับพนักงานออฟฟิศในวัยใกล้ๆ กัน จึงมักเจอคำถามว่าแล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนมาใช้ชีวิตเหมือนเรา”

“เราบอกทุกคนว่าอย่าเพิ่งมองภาพใหญ่ อย่าคิดว่าเราต้องปลูกผักกินเอง ต้องทำอาหารกินเอง ต้องทำซอสกินเองเหมือนที่ปูเป้ทำ ทำเองทั้งชีวิตมันยากไป แล้วจะท้อกันได้ง่ายๆ แต่ให้ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด ถ้าคุณไม่เคยทำอาหารเลย อย่างน้อยก็เริ่มหาที่มาของอาหารที่เรากินวันละมื้อ ทดลองทำอาหารที่ตัวเองชอบ ปลูกผักที่ตัวเองกิน ทำสินค้าที่ตัวเองใช้ หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตบ้าง”

“ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตมันสำคัญนะ ทุกวันนี้หลายคนนั่งทำงานหลังขดหลังแข็ง ถ้าเราหาความสุข หาสิ่งที่อยากทำให้ได้สัก 1 อย่าง อย่างน้อยๆ เราก็จะมีแรงผลักดันว่าฉันอยากทำงานออฟฟิศให้เสร็จเพื่อจะได้กลับไปทำสิ่งนี้”

สำหรับปูเป้แล้วสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิตแบบทำเอง นอกจากจะทำให้เธอมั่นใจว่าสิ่งที่กินที่ใช้ปลอดสารเคมีไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ยังส่งผลดีต่อจิตใจของเธอในระยะยาว

“เรามักโดนถามว่าคนที่ดูแลตัวเองเยอะๆ สุดท้ายก็ป่วยตาย จะดูแลตัวเองทำไม เรามองว่าในวันที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ เราก็รีบทำ รีบดูแลตัวเอง เพราะเราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้เราสะสมอะไรมา ถ้าเราดูแลตัวเองขนาดนี้แล้วมาวันหนึ่งตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง เราก็ยินดี เพราะเราจะไม่มาเสียใจแล้ว”

การมีอยู่ของเพจปูเป้ทำเองไม่เพียงแค่ช่วยแบ่งปันความรู้และไอเดียการใช้ชีวิตให้คนเมืองที่สนใจวิถีชีวิตแบบปลอดสารเคมี แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน เชื่อว่า แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองก็มีวิถีอินทรีย์ได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องฝืนตัวเอง 

“เราเคยเจอแฟนเพจบอกว่าพอได้ติดตามเราทำให้เขาเริ่มอยากทำอะไรที่สามารถหาความสุขได้ นอกเหนือไปจากการใช้ชีวิตที่ใช้จำเจของตนเอง มีคนมาเรียนทำซีอิ๊วแล้วบอกเราว่าช่วงนี้ไปทำงานแล้วอยากกลับบ้านทุกวันเลย เพราะอยากรู้ว่าซีอิ้วที่เราหมักเป็นอย่างไรบ้าง คำพูดพวกนี้ทำให้เรามีพลังนะ นอกจากจะโชคดีที่ได้ทำสิ่งที่เราชอบ มีความสุขกับสิ่งที่ทำแล้ว เรายังภูมิใจมากขึ้นไปอีกที่การใช้ชีวิตของเราไปโดนใจใครหลายๆ คน ช่วยให้เขาอยากปรับเปลี่ยนชีวิต เริ่มใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้ เหมือนกับที่เราทำ”

ภาพถ่าย:  มณีนุช บุญเรือง