อาจไม่ใช่ทุกคนไปถึงความฝันที่ตั้งใจไว้ได้ แต่ประโยคนั้นอาจต้องเว้นให้กับ คุณเฟื่องฟุ้ง ประสาทศิลป์ อดีตแม่บ้านลูกสอง ที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สถิติ ก่อนจะค้นพบรักแท้ในอาชีพจากห้องครัวและเตาอบ และปักธงแห่งฝันโดยมีหมุดหมายสำคัญคือ “ฉันอยากทำขนมเบเกอรีที่หวานน้อย ไขมันน้อย ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภค” และเธอก็ทำมันได้สำเร็จ

เราจะพาคุณก้าวสู่โลกของละอองแป้งข้าวพื้นบ้านออร์แกนิก กลิ่นหอมของเนยแท้และนมสดอินทรีย์ โพรงอากาศในขนมปังสวย ๆ ด้วยพรายฟองของยีสต์ธรรมชาติหมักจากผลไม้พื้นบ้าน เพื่อเติมเต็มแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของร้านขนมเพื่อสุขภาพ ที่ผ่านหลากหลายเรื่องราว กว่าจะก้าวมาเป็น “เฟื่องฟุ้งเบเกอรี” ร้านเบอเกอรีขวัญใจมหาชนคนรักสุขภาพในวันนี้

ทาวน์เฮาส์ขนาดย่อม ซ่อนตัวอยู่ในซอยแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น มองผาด ๆ เราคงไม่รู้ว่า นี้คือสตูดิโอเวิร์กช็อปสอนทำขนมเบอเกอรีเพื่อสุขภาพและขนมปังจากแป้งข้าวพื้นบ้านออร์แกนิก ของคุณเฟื่องฟุ้ง ประสาทศิลป์ หรือ คุณเฟื่อง เจ้าของร้านขนมเพื่อสุขภาพ “เฟื่องฟุ้ง เบเกอรี” ที่แฟน ๆ ในตลาดสีเขียวขอนแก่น และผู้ที่ชื่นชอบการทำเบอเกอรีเพื่อสุขภาพในไทยต่างรู้จักกันดี ยังไม่ทันที่เจ้าของสตูดิโอจะออกมาเปิดประตูกล่าวคำทักทาย ก็มีกลิ่นหอมของขนมปังซาวโดว์ในเตาอบโชยกลิ่นหอมกรุ่นทะลุผ้าม่านบาง ๆ ออกมาต้อนรับเราก่อนแล้ว

“ขอโทษทีนะคะ วันนี้จะวุ่น ๆ นิดหนึ่ง เพราะผู้ช่วยหยุดงาน เฟื่องต้องเร่งอบขนมให้ทันนำไปขายที่ตลาดเขียวขอนแก่นวันนี้ค่ะ”

คุณเฟื่องพูดจบเธอก็กลับมาที่ไอซ์แลนด์กลางห้อง และหยิบเอาโดแป้งข้าวพื้นบ้านสีม่วงสวย ที่กำลังขึ้นฟูพองได้ที่ มากดไล่อากาศด้วยกำปั้น ก่อนจะนำมาตัดแบ่ง ชั่งน้ำหนัก และ ปั้นขนมปังแป้งข้าวเหล่านี้ลงถาด เพื่อนำไปพัก และเตรียมเข้าอบต่อไป ระหว่างรอขนมขึ้นฟูนี้เองที่คุณเฟืองได้เข้ามานั่งลงบนเก้าอี้หวายอีกตัว และเผยถึงเรื่องราวของเฟื่องฟุ้งเบเกอรี ที่มีเส้นทางคล้ายดังการหมักบ่มขนมปัง ซึ่งต้องผ่านตั้งแต่การ ค้นหา คัดสรร นวดคลึง หมักบ่ม และเข้าอบจนฟูพอง ให้เราฟัง

ค้นหาและคัดสรร : เรียนจบ ทำงาน เป็นแม่บ้าน เริ่มต้นเหมือนคนทั่วไป แต่ในใจหมั่นตั้งคำถาม
“เฟื่องเรียนจบจากที่ คณะวิทยาศาสตร์ เอกสถิติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอเรียนจบแล้วก็มาทำงานที่กรุงเทพฯ 1 ปี ที่บริษัทตกแต่งภายในของพี่ที่รู้จักกัน คือยังไม่ได้ตรงกับสายงาน แล้วก็กลับมามีครอบครัว แล้วก็เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเลย ก็ไม่ได้ทำงานประจำ จนมีน้องคนที่สอง ก็ใช้เวลาเป็นแม่บ้านเต็มตัวอยู่ประมาณ 6 ปี

“เพราะรู้ดีว่าไม่ได้ชอบในสิ่งที่ตัวเองเรียนมาหรอก แต่จริง ๆ เราสนใจเรื่องของการทำอาหารแล้วก็การทำขนม ความชอบนี้อาจจะอยู่ในตัวเราโดยที่เราไม่เคยรู้ พอเราได้ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน ได้ทำกับข้าวให้ครอบครัวกิน เรารู้สึกว่ามันสนุก และมันได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็เลยลองไปลงเรียนเบสิกเบอเกอรีที่กรุงเทพ ฯ อยู่ 2 วัน แล้วก็กลับมาทำหน้าที่แม่บ้านต่อ

“ทีนี้พอลูกไปโรงเรียน เรามีเวลาว่างระหว่างวันก็เลยฝึกทำขนม ซื้อตำรามาฝึกทำ จนกระทั่งรู้สึกว่า ลองทำขายดูดีกว่า ช่วงแรกก็ยังไม่ได้ขายเป็นจริงเป็นจังและยังขายไม่ดี เป็นแบบแม่บ้านที่ใช้เวลาว่างทำขนมขาย หลังจากนั้นก็มีเหตุให้เราจะต้องมาทำงานประจำอีกรอบหนึ่ง ก็คือ มาเป็นผู้จัดการโรงเรียนสอนภาษาจีน ของญาติ ๆ กัน ที่ขอนแก่น ทำอยู่ 9 ปี แล้วเริ่มรู้สึกอิ่มตัว เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากทำงานแล้ว เพราะเราเป็นคนทำงานแบบทุ่มเต็มที่ แล้วมันรู้สึกเหนื่อยและอิ่มตัว

“ช่วงระหว่างก่อนที่จะออกจากงาน ก็มานั่งคิดวิเคราะห์ว่าถ้าจะทำขนมขายอีกครั้งเราควรไปทางไหน และพบว่าในช่วงนั้นพวกคาเฟ่ เค้ก ขนม ต่าง ๆ กำลังเป็นที่นิยม แต่พอเราลองทำตามสูตรที่เรียนมา กลับรู้สึกว่าองค์ประกอบมันเยอะไปหมด ก็เลยเริ่มค้นคว้าเรื่องการทำเบเกอรีทางเลือก แล้วก็ตัดสินใจออกจากงานประจำ มาทำแบรนด์ขนม “เฟื่องฟุ้ง” เลย

“จุดเปลี่ยนสำคัญในการทำขนมคือ พอเราเริ่มชั่งตวงวัดส่วนผสมขนมตามที่เรียนมา พอมองเห็นแล้วรู้สึกตกใจว่า โอ้โห…ทำไมน้ำตาล 100 กรัม มันเยอะขนาดนี้ ทำไมเนย 50-60 กรัม มันดูเยอะจัง แล้วพอทำขนมออกมาแล้วมันเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่มันเข้าไปอยู่ในท้องเรา จากจุดนั้นเราคิดทันทีว่าน่าจะหาอะไรที่มันทดแทนวัตถุดิบพวกนั้นได้ คิดเสมอว่าทางเลือกของวัตถุดิบมันไม่ควรจะมีอยู่แค่นี้ นี้แหละคือตัวพี่ พี่ชอบคิดอะไรนอกกรอบไม่เหมือนคนอื่น

“ชื่อแบรนด์เรา ก็ไม่รู้จะตั้งว่าอะไร เลยตั้งแบบคนสมัยก่อนที่เอาชื่อเจ้าของกิจการมาตั้งเลย แต่จริง ๆ ก็มีคนแนะนำว่า ควรจะตั้งแบบใหม่ให้มันสื่อว่าเป็นขนมหน่อย แต่เราก็นึกย้อนไปวัยเด็ก ชื่อเราก็เป็นชื่อเดียวในโรงเรียน ครูก็จำได้ พอนำมาตั้งเป็นแบรนด์ ลูกค้าก็จำได้เรียกเราว่า “เฟื่องฟุ้ง” เราก็เลยรู้สึกว่า โอเค ชื่อนี้แหละ”

และนั่นก็ทำให้แบรนด์ขนมของแม่บ้านคนหนึ่ง ผู้มีเจตนาดี ว่าอยากทำขนมที่ลดหวาน ลดมันลง หาวัตถุดิบดี ๆ มาทดแทนผสมลงไป นาม “เฟื่องฟุ้งเบเกอรี” ถือกำเนิดขึ้น

ผสมและนวดคลึงความฝัน ด้วยความคิดต่าง ลงมือทำ ที่สำคัญ ขนมของฉันต้องไม่หวาน!
“ช่วงแรกที่ทำขนมขาย พี่ไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจเลย คิดไม่เป็น (หัวเราะ) ก็คิดแค่ว่า ขอแค่ให้ขนมขายหมดก็ดีใจแล้ว ซึ่งตอนนั้นลูกค้าของเราก็เป็นเพื่อน เป็นพี่ คนที่เรารู้จักแวดล้อม ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ไกลตัวเรา เพราะฉะนั้นความฝันเริ่มต้นก็ไม่ได้คิดว่าจะสร้างแบรนด์ยิ่งใหญ่ ขอแค่เป็นขนมที่มีชื่อแปะถุงแล้วมีคนซื้อและขายหมดก็จบแล้ว คิดเพียงแค่นี้

‘ฉันต้องทำขนมที่ไม่หวาน น้ำตาลต้องไม่เยอะ ไขมันต้องเหมาะสมคนป่วยต้องกินได้’

“ทีนี้ช่วง 8 ปีก่อนหน้านี้ เราเริ่มคิดได้ว่าในขอนแก่นยังไม่มีใครทำ เบเกอรีเจ เบเกอรีมังสวิรัติ เราก็เลยคิดและตั้งใจแบบสุดโต่งไปเลยว่า ‘ฉันต้องทำขนมที่ไม่หวาน น้ำตาลต้องไม่เยอะ ไขมันต้องเหมาะสมคนป่วยต้องกินได้’ อย่างนี้ เพื่อตอบโจทย์คนที่ไม่ชอบกินหวานอย่างเรา เพราะเราไม่ชอบกินหวาน ที่สำคัญเราไม่อยากทำเหมือนขนมทั่วไปที่มีขายอยู่

“แรก ๆ คนก็จะรับรสชาติไม่ค่อยได้ เพราะว่ามันไม่ค่อยอร่อย แต่เรารู้สึกลึก ๆ ในใจว่า วัตถุดิบมันดี จึงเชื่อมั่นว่า ในเมื่อเราตั้งใจทำสิ่งที่ดี มันก็น่าจะมีคนที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ คือความเชื่อมันในตัวเองมีเยอะตลอดเวลาว่า ‘มันจะต้องขายได้นะ มันจะต้องมีคนกินนะ เราอาจจะยังหาคนกินแบบนี้ไม่เจอ เราอาจจะต้องทำอะไรที่ช่วยดึงความสนใจให้คนที่เขากินขนมเขาหันมาอยากกินขนมในรูปแบบของเรา’

พี่บอกกับตัวเองเสมอว่า ฉันทำสิ่งที่ดี ฉันทำสิ่งที่ดี ฉันทำสิ่งที่ดี

“พี่บอกกับตัวเองเสมอว่า ฉันทำสิ่งที่ดี ฉันทำสิ่งที่ดี ฉันทำสิ่งที่ดี เราคิดแบบนี้ ก็ถ้าทำสิ่งที่มันดี มันก็โอเค มันจะมีความมั่นใจลึก ๆ เลย เพียงแค่ยังไม่เติบโต มันอาจจะยังไม่ถึงเวลา เราแค่เรายังหาที่ทางของเราไม่เจอเฉย ๆ ก็แค่กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราจะต้องทำแบบไหนต่อ

“ก่อนที่พี่จะเข้ามาขายในตลาดเขียว พวกร้านอาหารสุขภาพในขอนแก่นเขาจะรู้จักเฟื่องฟุ้งกันอยู่แล้ว พอเห็นเรา เขาก็จะบอกว่า ‘เห็นเฟื่องฟุ้ง ก็รู้ว่ามาแล้ว ขนมปังงาดำที่แสนจะแข็ง และจะมาส่งทีละ 5 ถุง 10 ถุง’ อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) แต่พวกเขาก็ให้กำลังใจเรา ดีที่เราเองไม่เคยท้อ อาจเพราะไม่มีความกดดันเรื่องรายได้ เพราะทางบ้านช่วยซัพพอร์ท ที่สำคัญก็คือ เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่ดี เราจึงโชคดี ที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ รายได้จากการขายขนมตอนนั้นยังไม่สามารถหล่อเลี้ยงเราได้นะ เพราะมันเป็นขนมปังทางเลือก แต่ว่าถ้าถามถึงรายได้ตอนนี้ หล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้แล้วนะคะ” คุณเฟื่องกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ถ้าสูตรไม่เวิร์กก็ต้องปรับ ไม่ใช่แค่ขนม แต่การดำเนินชีวิตก็ด้วย
การรู้จักสังเกต ตั้งคำถามกับตัวเอง ทำให้คุณเฟื่องได้พบว่า แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา นั่นทำให้เธอเลือกที่จะปรับแผนอยู่เสมอ เพื่อก้าวไปใกล้ความฝันของตัวเองมากขึ้น

“พอทำขนมขายจากที่บ้านได้ประมาณ 2 ปี ก็อยากจะมีหน้าร้านกับเขาบ้าง จึงไปเปิดขายที่คอมเพล็กซ์เซ็นเตอร์ ใน มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ 2 ปี วันหนึ่งขณะที่เราทำขนมปังโฮลวีท ก็ฉุกคิดขึ้นว่า แป้งโฮลวีทเป็นแป้งจากธัญพืชที่ไม่ขัดขาว ดีต่อสุขภาพ แต่มันเป็นของฝรั่ง ก็คิดต่อไปอีกว่า แล้วถ้าเราไม่อยากใช้แป้งของฝรั่ง จะมีอะไรไทย ๆ ที่มาทดแทนได้ไหม ทีนี้เลยมานึกถึงว่าตัวพี่เองกินข้าวกล้องเป็นหลัก ตอนนั้นกินข้าวไรซ์เบอร์รีอยู่ ข้าวกล้องมันก็คือข้าวไทยที่ไม่ขัดขาว ก็เลยนำข้าวกล้องที่หุงสุกแล้วใส่ลงในเครื่องตีขนมปังพร้อมกับส่วนผสมของขนมปังจากแป้งโฮลวีท นำไปอบ มันก็กลายเป็นขนมปังที่มีสีชมพูอ่อน ๆ มีเท็กเจอร์เฉพาะตัวจากเปลือกหุ้มผิวของเมล็ดข้าว แค่นี้เราก็รู้สึกดีแล้วว่า เอ้อ…อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่ใช้ของฝรั่งทั้งหมด

“ระหว่างสองปีนั้น เราเริ่มเห็นวงจรของลูกค้าและวงจรของรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นว่า โอเค เราเช่าเดือนหนึ่งตั้งหกพันบาท ควรต้องมีรายได้เสริมเข้ามาอีก ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้แน่ ๆ ยอมรับว่าตอนนั้นเรายังอ่อนหัด คือ ทำขนมขายแบบศิลปิน ทำคนเดียว ไม่มีลูกน้อง เราทำแค่นี้ ขายหมด ก็หมดเลย ไม่มีการตลาด ขาดการวางแผนการผลิตว่า สินค้าควรมีจำนวนเท่าไรจึงจะเปลี่ยนเป็นรายได้ที่เพียงพอ แต่ถ้าถามเรื่องผลตอบรับ บอกเลยว่าดี คือยังมีกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพสนใจเรา

“พอคิดได้จึงมองหาพื้นที่ขายที่มีกลุ่มลูกค้าตัวจริงของเรา ปรากฏว่าช่วงนั้นตลาดเขียวขอนแก่นเพิ่งเปิดมาได้ประมาณ 1 ปี ก็เลย inbox เข้าไปถามว่า เรามีขนมปังแบบนี้ ๆ นะ อยากจะเอาไปขาย พอจะนำไปขายได้ไหม ปรากฏว่าแอดมินบอกว่า ‘ได้ค่ะ วันศุกร์นี้ก็ออกมาได้เลย’ ตรงนั้นแหละก็คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้ออกมาสู่โลกภายนอก ออกมาจากบ้าน ออกมาจากร้าน แล้วก็มาเจอคนที่อยู่จริง ๆ ข้างนอก ที่ไม่ใช่แค่ใน มหาวิทยาลัย จำได้เลยว่า พี่ก็ถือโต๊ะตัวหนึ่งกับขนมปังมาประมาณ 15 ถุง และพอได้เห็นหน้าตาลูกค้า เห็นบรรยากาศแล้ว คือรู้ ณ ตอนนั้นเลยว่า ลูกค้าที่แท้จริงของเราอยู่ที่นี่ ก็เลยตัดสินใจปรับแผน ปิดร้านที่คอมเพล็กซ์ กลับมาทำที่บ้าน และขายที่ตลาดเขียวทุกวันศุกร์

เวลามันทำให้เราตกตะกอน

“นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ใหม่อีกแล้ว คือ เวลามันทำให้เราตกตะกอน ตอนที่เปิดร้านในมหาวิทยาลัยตอนนั้นอาจจะเร็วไป แต่มันก็ดี เพราะเป็นจุดผลักดันให้เราได้เจอกับตลาดสีเขียว ทุกอย่างกิดขึ้นตรงนั้น มันทำให้เราเจอทางออกที่ดี

การเริ่มต้นมาขายที่ตลาดเขียววันศุกร์แค่วันเดียว เหมือนเข้าโรงเรียนใหม่ที่ทำให้เราตระหนักแล้วว่า เราต้องหาเป้าหมายที่แท้จริงให้กับชีวิต ว่าเราจะต้องเรียนรู้จริงจัง ฝึกสังเกต คิดของใหม่ที่จะมาขาย เพื่อที่จะเพิ่มยอดเงินให้ได้ อย่างนี้ค่ะ

“ช่วงแรก ๆ ก็เหมือนจะขายดีนะ เพราะเป็นของใหม่ พอหลัง ๆ มา มีฟี้ดแบ็กกลับมาว่า ‘โอ้ย…ขนมปังแข็งจัง กินยากจัง’ ตรงนั้นทำให้เราได้เรียนรู้และเก็บข้อมูล และปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ คิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ทุกครั้งเมื่อได้รับฟี้ดแบ็กจากลูกค้า คือทุกวันนี้อยู่ได้เพราะฟีดแบ็กของลูกค้าจริง ๆ เพราะแต่ก่อนเวลาที่เรามีอะไรอยู่ในหัว ไม่มีใครมาบอกเราว่าจะต้องทำอะไรบ้าง คือมีไอเดียเป็นร้อยเป็นพัน แต่พอมีลูกค้าเดินมาบอกว่า ‘ทำแบบนี้สิ ทำแบบนั้นได้ไหม แบบนี้ได้ไหม พี่กินแบบนี้ไม่ได้’ ข้อมูลลูกค้าทั้งหมดหล่อหล่อมให้มันเป็นขนมปังเฟื่องฟุ้งในทุกวันนี้

ก้าวสู่โลกของแป้งข้าว เรื่องราวการค้นพบเส้นทางที่ต้องใช้เวลา เหมือนขนมปังดีที่ต้องหมักบ่ม
แป้งโดขนมปังยังต้องใช้เวลาหมักบ่ม เพื่อให้ยีสต์กินน้ำตาลในแป้งและสร้างโพรงอากาศเพื่อทำให้ขนมปังพองฟู เช่นเดียวกันกับคุณเฟื่อง ที่ต้องใช้เวลาเพาะบ่มตัวเอง เจอได้เจอเส้นทางที่ชัดเจน หลังจากยืนหยัดทำขนมผสมข้าวกล้องในรูปแบบของตนเองมานาน นั่นทำให้เธอได้มีโอกาสเปิดประตูก้าวสู่โลกของแป้งข้าว และกลายเป็นกูรูเบเกอรีเพื่อสุขภาพจากแป้งข้าวพื้นบ้านในวันนี้

“ถ้าถามว่าพี่เข้าสู่โลกของการทำขนมด้วยแป้งข้าวได้อย่างไร อย่างนั้นขอเล่าย้อนกลับไปนิดนึง จากที่พี่ทำขนมปังข้าวไรซ์เบอร์รีขายที่ตลาดเขียว ปรากฏว่า พี่เล็ก ที่ทำงานอยู่ในมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน แกมาทำวิจัยเรื่องพันธุกรรมที่บึงแก่นนคร แล้วเดินผ่านร้านพี่เห็นว่ามีขนมปังข้าวไรซ์เบอร์รี ก็เลยได้พูดคุยกัน แล้วก็ซื้อกลับไปกิน ปรากฏว่าเขาชอบ เพราะรู้ว่าแบรนด์เราเอาข้าวมาทำขนมปัง ประกอบกับที่มูลนิธิฯ เขาทำเรื่องแป้งข้าวอยู่พอดี ก็เลยชวนพี่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้ประกอบการ นั่นเป็นการได้ไปเวิร์กช็อปครั้งแรกเรื่องแป้งข้าวพื้นบ้านของพี่ จำได้ว่าจัดขึ้นที่สวนละอองฟ้า จังหวัดนครนายก

“จากตรงนั้นทำให้พี่เปิดโลก คือพี่ไปในฐานะคนทำขนมเบเกอรี แล้วพี่ไปเจอชาวบ้านที่เขาทำแป้งข้าว ขนมไทย พวกนี้ค่ะ ก็เลยเป็นครั้งแรกที่ทำให้พี่ได้ออกจากเซฟโซนอย่างตลาดเขียวอีกครั้ง เพราะเราได้ไปเจอกับสิ่งใหม่ มันก็เลยทำให้พี่ได้รู้ว่า อ๋อ…แป้งข้าวนั้นมีหลากหลายมาก ทั้งแป้งข้าวภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ต่าง ๆ นานา ที่เขานำมาทำขนมกัน

“เราก็ไปสอนเกษตรกรทำขนมปังผสมแป้งข้าว 30 % ตอนนั้นยังไม่ใช่ 100 % ยังไม่ใช่กลูเต็นฟรี แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เราได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ปลูกข้าว แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของเบเกอรีจากแป้งข้าวพื้นบ้าน

“ก่อนหน้านี้พี่ทำเป็นเบเกอรีเพื่อสุขภาพก็จริง แต่หลังจากได้เข้าไปคลุกคลีกับเรื่องแป้งข้าว ก็ทำให้คนรู้จักและจดจำเฟื่องฟุ้งเบเกอรีในด้านของร้านขนมเพื่อสุขภาพที่ใช้แป้งข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ของไทย แล้วก็เป็นเหมือนการเปิดประตูนำเราก้าวเข้าสู่โลกของการทำเบเกอรีจากแป้งข้าวอย่างเต็มตัว ก็เลยทำให้มีคนได้รู้จักเรามากขึ้น เราเริ่มได้เข้าร่วมทำงานเชิงรณรงค์เรื่องของแป้งข้าวพื้นบ้าน ถูกรับเชิญไปเป็นวิทยากร มีเกษตรกรส่งแป้งข้าวของพวกเขามาให้เราช่วยคิด ช่วยทดลอง ว่านำแป้งข้าวเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรจึงจะดีที่สุด เราจึงเริ่มได้ออกสื่อ มีคนรู้จักในฐานะของร้านเบเกอรีทำขนมจากแป้งข้าวมาจนถึงทุกวันนี้”

เคล็ด (ไม่) ลับฉบับเฟื่องฟุ้ง : เทคนิคการใช้แป้งข้าวทำเบเกอรีจากกูรู
ไหน ๆ ได้เจอกูรูผู้เชี่ยวชาญการใช้แป้งข้าวพื้นบ้านทำเบเกอรีเพื่อสุขภาพทั้งที จึงไม่พลาดที่จะถามถึงเทคนิคสำคัญต่าง ๆ ในการใช้แป้งข้าวทำเบเกอรีให้ออกมาอร่อยไม่แพ้การใช้แป้งสาลี ซึ่งคุณเฟื่องก็ไม่หวงปิดแต่อย่างใด โดยเธอแนะนำว่า

“แป้งข้าวที่เราเคยเจอจะแบ่งออกเป็นสองแบบคือ 1.แป้งขาว ขัดขาวและบดละเอียดมาแล้ว ก็จะเหมือนแป้งข้าวตามท้องตลาดทั่วไป มีทั้งแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว อย่างที่สอง ก็จะเป็นแป้งที่ทำมาจากข้าวกล้อง ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ แป้งข้าวกล้อง จะเหมือนแป้งแบบโฮลวีท

“การทำขนมจากแป้งข้าวของเราจะแบ่งเป็นสามแบบ ก็คือ จะมีพวกคุกกี้ เค้ก และขนมปัง ถ้าเป็นคุกกี้ จะทำได้ทั้งแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว ขึ้นกับสายพันธุ์ของข้าว ถ้าเป็นแป้งที่ทำจากข้าวกล้องนำมาทำคุกกี้ ก็จะได้เท็กเจอร์ที่มีความร่วน มีความสาก ๆ หยาบนิดนึง เส่วนถ้าเป็นแป้งขาว ก็จะออกไปทางซอฟท์คุกกี้ มีความนุ่ม ทานง่าย

“ถ้าเป็นกลุ่มเค้ก แนะนำให้ใช้แป้งข้าวขาวไปเลย ทำได้ตั้งแต่ซอฟท์เค้ก กลุ่มเนื้อเค้กที่ฟูเบาอย่างชิฟฟ่อนเค้กก็ทำได้ หรือเค้กเนื้อหนักอย่างเช่นบราวน์นี่ก็ได้ โดยขึ้นอยู่ที่คุณภาพของเมล็ดแป้ง คือเกษตรกรบางกลุ่มมีเครื่องจักรที่ไม่ได้ดีมากนัก เมล็ดแป้งก็จะไม่ค่อยได้ละเอียด อาจต้องเลือกว่าจะใช้ทำอะไร แต่ถ้าบดมาละเอียดดีก็สามารถใช้ทำเค้กแบบชิฟฟ่อนได้เลย

“อีกตัวหนึ่งคือ ขนมปัง เริ่มต้นเฟื่องก็ทำแบบผสมลงไป 30 % ใช้ได้ทั้งแป้งจากข้าวเจ้าและข้าวเหนียว สัดส่วนนี้จะได้เนื้อขนมที่คนทั่วไปทานได้สบาย แถมได้เป็นคุณประโยชน์จากข้าวเพิ่มขึ้นมา หากขยับเป็น 50 % เนื้อขนมปังก็จะแน่นขึ้น กรณีทำขนมปังแบบกลูเต็นฟรีที่ใช้แป้งข้าว 100 % เนื้อขนมปังจะหนักขึ้น คล้ายกับไรย์เบรดของฝรั่ง แต่แป้งข้าวจะฟูเบากว่า

ฟังดูอาจรู้สึกเหมือนว่ามันยาก แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องธรรมชาติ เราจะสนุก

สิ่งที่ต้องพึงระวังในการใช้แป้งข้าว คือ เรื่องของเหลวในสูตร ซึ่งมันจะขึ้นกับสายพันธุ์ของข้าวแต่ละตัว ที่สามารถดูดซับน้ำได้ต่างกัน ตรงนี้ก็เป็นความสนุกในการที่จะได้ทดลองทำ ไม่สามารถที่จะกำหนดตายตัวได้ การใช้แป้งข้าวทำขนม แต่ละล็อต แต่ละฤดูกาลที่ได้แป้งมาจะต้องปรับสูตร ใช้น้ำไม่เท่ากัน เท็กเจอร์ที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน เพราะแป้งข้าวพื้นบ้านในปัจจุบันเป็นแป้งที่เกษตรกรรายย่อยทำเองไม่ใช่ในระบบอุตสาหกรรม ฟังดูอาจรู้สึกเหมือนว่ามันยาก แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องธรรมชาติ เราจะสนุก เราก็แค่ต้องไปโฟกัสว่าจะต้องปรับสัดส่วนเท่าไร อย่างไร ให้เหมาะสมเท่านั้นเอง ตรงนี้ขึ้นกับประสบการณ์ด้วย

“เรื่องของอุณหภูมิที่ใช้ ถ้าเป็นขนมจากแป้งข้าว เราจะใช้เวลาในการอบนานกว่าปกติเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น เค้กกล้วยน้ำว้าผสมแป้งข้าวพื้นบ้านของทางร้าน จะเพิ่มเวลาอบขนมขึ้นไป 15-20 นาที รวมเวลาอบขนมทั้งหมด 45 นาที – 1 ชั่วโมง เลย คือการอบขนมจากแป้งข้าวเราจะให้ความร้อนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยตั้งอุณหภูมิไว้เท่ากับการอบขนมทั่วไปตามสูตรมาตรฐาน เพียงแต่ต้องเพิ่มเวลาให้นานขึ้น และก่อนนำขนมเข้าเตาอบ ต้องพักส่วนผสมให้เซตตัวประมาณ 30 นาที เพื่อให้แป้งข้าวดูดซับของเหลวเก็บไว้ในเม็ดแป้งได้เต็มที่ก่อน จึงนำเข้าอบ”

แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และมิตรภาพ จากตลาดสีเขียวขอนแก่น
การตัดสินใจปิดร้านในมหาวิทยาลัย เพื่อมาเปิดหน้าร้านเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ในตลาดเขียวขอนแก่นนั้น ฟังดูอาจเหมือนลดโอกาสทางการขาย ทว่านั่นกลับทำให้คุณเฟื่องกล่าวกับเราอย่างภูมิใจว่า “เธอโคตรโชคดี” เพราะไม่ใช่แค่ได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางวัตถุดิบอาหารดี ๆ ให้คิดต่อยอดทำขนมอย่างไม่รู้เบื่อเท่านั้น แต่ยังทำให้เธอรู้สึกว่าขนมของเธอได้มีส่วนเชื่อมโยงต้นน้ำผู้ผลิตอาหารอินทรีย์เพื่อส่งต่อสุขภาพดีมายังผู้บริโภค ได้ช่วยกระจายและส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ และที่สำคัญคือมิตรภาพจากตลาดแห่งนี้ซึ่งหาที่ไหนไม่ได้

“ที่ตลาดสีเขียวขอนแก่น พวกเราอยู่ร่วมกันด้วยมิตรภาพ และถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อย่างเช่นสัปดาห์ก่อนก็มีคนในกลุ่มวิสาหกิจจากอำเภอสีชมพูเอากล้วยตากมาให้ เขาถามว่า ‘เฟื่องเรามีกล้วยตากแบบนี้จะใช้ทำขนมอะไรดี ช่วยคิดหน่อย’ บางคนที่เคยขายหัวมันได้แค่ กิโลกรัมละ 10-20 บาท เราก็เอามาทำขนมเพื่อทำให้เขาเห็นว่า เพียงเติมไอเดียลงไปก็สร้างมูลค่าเพิ่มได้ แล้วยิ่งถ้าเขาทำด้วยตัวเขาเองมันยิ่งเป็นมูลค่าที่มหาศาล เพราะสิ่งเหล่านั้นมันอยู่ในบ้านเขา

ของที่ดีต่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง

“การมาขายของในตลาดเขียว มันเหมือนเรากลับสู่สิ่งที่เราเคยทำตั้งแต่แรกเลย คือกลับมาเก็บเอาพืชผัก ธัญพืชต่าง ๆ มาใช้ทำขนม คือรู้สึกว่า แบรนด์เฟื่องฟุ้ง ก็คือขนมที่อยากเอาวัตถุดิบที่มันดีต่อสุขภาพ มาทำเป็นขนม ให้คนกินง่าย ๆ ไม่ต้องมีการปรุงแต่ง ใช้สิ่งที่มันมีในท้องถิ่น วัตถุดิบที่ดีราคาไม่สูงมาทำขนมที่ดีต่อสุขภาพที่ราคาไม่แพง ของที่ดีต่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง ก็ในเมื่อต้นทุนเราซื้อมาสิบบาท จะขายแพงไปกว่านี้ได้ยังไง ขายที่ตลาดเขียวค่าเช่าแผงก็แค่ 20 บาท ก็คืออยากทำของดีให้คนกิน ทำของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้คนกิน แล้วก็อยากให้คนที่อยากกินของดี ๆ เขามีที่ซื้อ อย่างที่พี่บอกว่า พี่อยู่นี่นะ อยู่ตลาดเขียว ถ้าอยากซื้อสักนิดนึงให้พ่อแม่ พี่ยังอยู่ ๆ และก็คิดว่าจะยังทำต่อไป

“สมัยก่อนเราทำขนมอยู่ที่บ้าน ทุกอย่างเราซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต จากร้านวัตถุดิบหมดเลย แต่ ณ วันนี้เรามานั่งอยู่ตรงกลาง ของเพื่อนพี่น้องที่เขาผลิตวัตถุดิบเองแล้วนำมาขายให้เรา คือมันเป็นอะไรที่สุดยอด มันไม่ใช่แค่เราเป็นตัวเราที่ทำขนมของฉันไปขายของของฉัน แต่ราได้มาอยู่ท่ามกลางคอมมูนนิตี้ สังคมแบบพึ่งพาอาศัยแบบเป็นพี่น้อง มันมีความสุข เรารู้ว่าวัตถุดิบนี้ของพี่คนนั้น วัตถุดิบนั้นของพี่คนนู้น แล้วเราหยิบจับมาทำขนมที่มันมีประโยชน์มีค่า พี่เลยรู้สึกว่า พี่โคตรโชคดี ที่สามารถคัดสรรวัตถุดิบมาทำขนมโดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายผู้ผลิตที่มีหัวใจสีเขียวและตั้งใจผลิตสินค้าดี ๆ ให้ถึงมือผู้บริโภคได้

“พี่ก็ไม่รู้ว่ามันจะดูโอเว่อร์ไปไหม แต่จากการที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอบขนมจากครัวหลังบ้านแบบโฮมเมด แล้วก้าวมาจนกระทั่งมาถึงที่นี่ วันนี้ มันมาไกลมากนะ และก็รู้ว่ามันไม่ได้จบแค่นี้ เรายังมองเห็นเส้นทางทอดยาวไปได้เรื่อย ๆ กับสิ่งที่เราทำ พี่คิดว่าพี่ทำแบบนี้ไปได้จนวันตาย มันไม่จบ ไปได้

เจ้าแม่ Improvise ใช้วัตถุดิบอะไรต้องรู้ที่มา เอกลักษณ์ของเฟื่องฟุ้งเบเกอรี่
เมื่อถามคุณเฟื่องว่า เอกลักษณ์ของขนมเพื่อสุขภาพร้านเฟื่องฟุ้งเบเกอรีคืออะไร คุณเฟื่องตอบกับเราว่า

“เอกลักษณ์ก็น่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบที่เอามาทำขนม เป็นวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่อยากให้คนทานขนมได้รู้สึกประหลาดใจ เป็นที่รู้กันว่าวัตถุดิบที่เฟื่องเอามาทำขนม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัตถุดิบออร์แกนิก และวัตถุดิบของสายสุขภาพ และมักจะมีวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรที่เราเอามาทำเป็นขนม

“จากการที่เราขายของอยู่ที่ตลาดเขียวมา 8 ปี และการที่เฟสบุ๊กมีระบบเตือนความทรงจำช่วยให้เรารู้ว่า อ๋อ … มันมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ทำขนมได้ตลอดทั้งปีจริง ๆ ก็เลยเป็นเอกลักษณ์ว่าถ้าเป็นขนมปังของเฟื่องฟุ้ง ก็จะมาจากวัตถุดิบอินทรีย์จากเพื่อน พี่น้อง พ่อค้าแม่ขายที่ตลาดเขียวขอนแก่น

“ขนมของเราไม่ได้เป็นแป้งข้าวทั้งหมด แต่คละเคล้ากับขนมสุขภาพชนิดอื่น ๆ และแน่นอนคือขนมที่ทำจากวัตถุดิบพิเศษตามฤดูกาล สมมติว่าพี่ต๋อยที่เป็นแม่ค้าตลาดเขียวกลับบ้านที่ภูเขียวแล้วได้ฟักทองจากบ้านมา 2 ลูก พี่ก็จะแย่งชิงมาทำขนม แล้วสัปดาห์ถัดไปลูกค้าก็จะไม่ได้กิน เพราะไม่มีฟักทองพี่ต๋อยแล้ว (หัวเราะ) อันนี้ก็เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเฟื่องฟุ้ง คือ การ improvise เพราะนอกจากเมนูที่ทำขายเป็นประจำแล้ว จะมีเมนูพิเศษแซมมาอีกเรื่อย ๆ คือถ้าเราทำแบบนี้เราไม่ตาย เราจะอยู่ได้ และอีกเอกลักษณ์ที่สำคัญก็คือ ขนมพี่ไม่หวาน ลูกค้าจะรู้ คนป่วยทานได้”

ขนมปังที่หมักได้ที่ จากสูตรที่เหมาะสม ย่อมออกมาดี ฝันที่เป็นจริงของนักอบขนมเพื่อสุขภาพนาม เฟื่องฟุ้ง
อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า เรื่องราวการเดินทางของกูรูขนมเบเกอรีจากแป้งข้าวเพื่อสุขภาพอย่างคุณเฟื่องฟุ้งนั้น ผ่านหลายเรื่องราวและอาศัยกาลเวลาเป็นตัวขับเคลื่อน อุปมาไปคล้ายกับการหมักบ่มขนมปัง ซึ่งวันนี้หากจะกล่าวว่า ขนมปังแห่งความฝันของคุณเฟื่องนั้นอบสุก ส่งกลิ่นหอม และมีเนื้อสัมผัสและรสชาติอร่อยเหลือเกิน ก็คงไม่เกินกว่าความจริงที่เป็น เพราะเธอได้ก้าวมาสู่จุดที่เธอฝันเอาไว้ได้สำเร็จ แถมเป็นมากกว่าความฝันที่คิดไว้เสียอีกด้วยซ้ำ

“คือเราอยากให้คนที่มองเข้ามาเขาได้เห็นว่า คือ ตลาดเขียวมันเป็นตลาดชาวบ้านเนาะ มันมีร้านขนมปังร้านนึง ที่ทำเป็นแบบสุขภาพ แล้วคือร้านนี้เขาทำแบบกลูเต็นฟรีก็ได้นะ ร้านนี้เขาทำยีสต์ธรรมชาติได้นะ เขามีซาวโดว์ คือพี่อยากไปให้สุดในส่วนของการทำเบเกอรี ซึ่งเราก็ทำได้สุดแล้วเพราะเราสามารถใช้แป้งข้าวของไทยเข้ามาเพิ่มประโยชน์ให้ขนม ส่งเสริมเกษตรกร ช่วยให้คนที่รักสุขภาพได้มีขนมเบเกอรีเพื่อสุขภาพกิน ตรงนี้เราทำได้ตามฝัน

“ในส่วนขนมปังพี่ก็รู้สึกว่ามันสุดแล้ว เพราะพี่สามารถทำยีสต์ธรรมชาติ เพื่อนำมาทำขนมปังสุขภาพซึ่งมันดีต่อลำไส้ พี่ไปเรียนทำขนมปังซาวโดว์เพราะพี่อยากไปให้สุดในส่วนของขนมปังที่เป็นแบบธรรมชาติจริง ๆ ซึ่งวิธีทำกระบวนการทำพวกนี้ ก็เอามาปรับใช้กับขนมปังสายนุ่มที่ทำอยู่ ออกแบบว่าในกระบวนการผลิตเราจะทำยังไงให้รสชาติมันออกมาได้ดี บางตัวเราใช้ยีสต์อุตสาหกรรมแต่เราจะใช้ยีสต์น้อยที่สุด แต่ใช้กระบวนการหมักให้นานขึ้น เพื่อให้แป้งมันโดนยีสต์กินไปสักหน่อยนึง

“ทีนี้ช่วงเวลาของการขาย ก็จะเป็นการให้ความรู้ผู้บริโภคไปด้วย เช่น ตอนนี้พี่มีลูกค้าที่เป็นแฟนขนมปังซาวโดว์ อยู่ 5-6 ท่าน ซึ่งพี่ไม่ได้วางขายแบบทั่วไป แต่เขาจะพรีออร์เดอร์ต่างหาก นี้แหละที่เติมเต็มความรู้สึกเรา ที่เราสามารถตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ มันไม่ได้หวือหวานะแต่มันมีคนที่รู้และเข้าใจสินค้าเราจริง ๆ เท่านั้นเราก็รู้สึกมีความสุขแล้ว ที่เฟื่องฟุ้งเบเกอรีไม่ได้เป็นเพียงร้านขนมปังที่วางขายในตลาด แต่ถ้าคุณกำลังมองหาขนมที่ดีต่อสุขภาพ โปรดรู้ว่าเราอยู่ตรงนี้นะ

ภาพฝันในวันข้างหน้าของกูรูเบเกอรีเพื่อสุขภาพ
เมื่อเราได้รู้ถึงเส้นทางเดินสู่ฝันในวันนี้ของคุณเฟื่องฟุ้ง ในฐานะกูรูผู้ทำขนมเพื่อสุขภาพกันแล้ว เราก็ไม่พลาดที่จะถามว่า ก้าวฝันต่อไปของคุณเฟื่องคืออะไร คุณเฟื่องกล่าวกับเราว่า

“ภาพฝันของพี่ต่อไปก็คือ พออายุมากขึ้นสัก 60 ปี พี่อาจจะปรับสถานะจาก พี่เฟื่อง เป็น ป้าเฟื่อง ย่าเฟื่อง คือยังคงอยากที่จะทำขนม แล้วก็ขายให้คนทีต้องการจะกิน นึกภาพถึงคุณป้าแก่ ๆ ที่เขายังทำขนมขายได้ คือพี่มองตัวเองแบบนั้นเลยว่า พี่จะต้องเป็นแบบนั้น มีความสุขกับการทำขนมแบบนั้น คืออยากให้เป็นแบบนั้น ยังทำอยู่ ยังมีความสุขที่ได้ทำ

“แบรนด์เฟื่องฟุ้ง เราใช้มา 7 ปี ลูกค้าจำเราได้ด้วยชื่อ และที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ของเราที่ทำออกมานั้นมีเอกลักษณ์ต้องเป็นแบบนี้ เป็นขนมปังแปลก ๆ สุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการรักษาคุณภาพของสินค้า ทั้งหมดนี้ทำให้ลูกค้าเราเขามีความเชื่อมั่น มั่นใจว่าเวลาที่เราทำอะไรออกมาแล้วเนี่ยมันต้องดี เขาพร้อมที่จะสนับสนุน พร้อมที่จะซื้อเรา

“พี่รู้สึกว่าลึก ๆ ว่า ลูกค้าเขามีความคาดหวังว่า พี่จะต้องทำอะไรแบบนี้ แล้วก็ต้องมีอะไรใหม่ ๆ เติมเข้ามาเสมอ ได้ดูได้เห็น ต่อให้เราไม่ได้ออกตัวก็ตาม แต่เขามาเห็นแล้วเขาก็จะ ‘อ๋อ…นี่หรือเฟื่องฟุ้ง’ ซึ่งตอนนี้ก็พยายามจะรักษาคุณภาพ ณ จุด ๆ นี้ให้ได้นานที่สุด เพราะว่า สุดท้ายแล้ว สินค้ามันจะต้องขายได้ด้วยตัวของมันเอง

ถึงจะไม่มีเรา แต่ว่าเราก็ภูมิใจที่ได้ส่งต่อเรื่องพวกนี้ ส่งต่อแนวความคิดของแป้งข้าวให้กระจายออกไป

“ถึงจะไม่มีเรา แต่ว่าเราก็ภูมิใจที่ได้ส่งต่อเรื่องพวกนี้ ส่งต่อแนวความคิดของแป้งข้าวให้กระจายออกไป ทุกวันนี้มีคนรู้จักขนมจากแป้งข้าวเยอะขึ้น มีคนทำแป้งข้าวออกมาขาย มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เราได้พบเวลาที่พี่ไปเวิร์กช็อป อะไรแบบนี้ เวลามีคนมาเรียน เขาก็เอาแป้งข้าวของเขามาทำ ให้เราสอนทำขนม

“จากที่ 5-6 ปีก่อน เราคิดในใจว่าเราจะต้องทำให้แป้งข้าวเป็นที่รู้จัก วันนี้เราทำได้แล้ว ก็ต้องขอบคุณความเมตตากรุณาของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน และทุกคนที่ให้โอกาสให้กับเรา ในฐานะของผู้ประกอบการเราก็ถือว่าเราทำเต็มที่มาก

“ตอนนี้ก็มีน้อง ๆ เขาทำแป้งข้าว ทำพิซซ่าแป้งข้าว ได้แนวคิดแล้วเขาก็มองดูอยู่ว่าพี่เฟื่องจะยังไงต่อ อะไรแบบนี้ค่ะ

แต่สำหรับเฟื่องแล้วมีความรู้สึกว่า พออายุขนาดนี้แล้วเรารู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องมีตัวเรา พอเราทำจบไปแล้ว แป้งข้าวถูกถ่ายทอดไปแล้ว เราให้ความรู้ให้สูตรไปแล้ว ต่อไปมันเป็นเรื่องของคนที่มารับช่วงต่อ เราก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องยึดอยู่กับแนวคิดที่ว่าจะต้องเป็นแป้งข้าวตลอดไป

1 คำขนมของเฟื่องฟุ้ง เชื่อมโยงโลกสีเขียวเอาไว้
เราปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามกับคุณเฟื่องว่า หากวันนี้มีลูกค้าเดินมาถามว่า “ทำไมขนมของทางร้านเนื้อสัมผัสจึงไม่เหมือนที่เคยกินเลย” คุณเฟื่องฟุ้งที่ก้าวข้ามหลาย ๆ สิ่งจนมายืนหยัดบนพื้นที่ความฝันของตัวเองได้สำเร็จแล้วในวันนี้จะตอบลูกค้าท่านนั้นว่าอย่างไร ? คุณเฟื่องยิ้มด้วยแววตา ก่อนตอบกลับเรามาว่า

“เฟื่องก็จะอธิบายกับลูกค้าท่านนั้นฟังว่า … อย่างนี้นะคะคุณ ขนมของเราเป็นขนมที่ไม่ได้ใช้สารเสริม เนื้อขนมจึงอาจจะแน่นกว่าสักหน่อย ต่างจากขนมทั่วไป ที่มีสารทำให้ขนมมีความฟู เก็บอากาศได้เยอะ จึงรู้สึกนุ่มเวลาที่กัดกิน และอีกส่วนคือ ขนมเรามีส่วนผสมของไขมันที่น้อย เพราะฉะนั้นความนุ่มของตัวขนมก็จะลดลงไปจากที่เราคุ้นเคย ส่วนเรื่องราคาที่อาจดูว่าสูงสักหน่อย ก็เพราะวัตถุดิบที่เราใช้แทบทั้งหมดเป็นวัตถุดิบอินทรีย์และเป็นของดี แป้งก็เป็นแป้งออร์แกนิก แล้วก็เป็นโฮลวีทร้อยเปอร์เซ็นต์ แป้งสาลีที่ใช้เราก็ใช้ไม่ขัดขาว ไขมันที่เราใช้ก็จะใช้ชนิดที่ดีเป็นเนยแท้ ราคาจึงอาจจะดูสูงสักหน่อยนะคะ ที่สำคัญ ส่วนผสมดี ๆ ในขนมอีกส่วน เช่น แป้งข้าวพื้นบ้าน วัตถุดิบทางการเกษตร ล้วนมาจากเกษตรกรที่มีความตั้งใจจริงในการผลิตพืชผลแบบอินทรีย์ หนึ่งชิ้นขนมของเฟื่องฟุ้งที่คุณได้ลองลิ้ม จึงล้วนเชื่อมโยงโลกสีเขียวไว้ทั้งใบใน 1 คำแล้วค่ะ”

ฟังจากคำตอบฉะฉานของเธอ เราก็สัมผัสได้ทันทีว่า แบรนด์ เฟื่องฟุ้ง ณ วันนี้ ได้จับเอาละอองฝันของวันแรก มาปลุกปั้นจนกลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ พร้อมส่งต่อสุขภาพดีที่อัดแน่นอยู่ในทุกอนูเนื้อของชิ้นขนม ส่งต่อให้กับผู้บริโภคทุกคนได้สัมผัส ประหนึ่งการส่งสารมายังผู้บริโภคอย่างเราว่า ในหนึ่งคำอาหารนั้นมีจักรวาลซ่อนอยู่ภายในจริง ๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของคอร์สเปิดสอนเบเกอรีเพื่อสุขภาพจากแป้งข้าว หรือ ติดต่อสั่งซื้อแป้งข้าวพื้นบ้านออร์แกนิก ได้ที่โปรไฟล์เฟสบุ๊ค : Fuang Fung

ภาพ : ณาฌารัฐ ภักดีอาสา