เมื่อนึกถึงเมืองท่องเที่ยวลำดับต้น ๆ ของไทย แน่นอนว่า “ภูเก็ต” คือหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ไม่เคยร้างราผู้คน ปริมาณขยะของเมืองภูเก็ตจึงมหาศาลด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ระบบบริหารจัดการขยะของภูเก็ตเป็นเรื่องน่าจับตามอง และเป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวภูเก็ตให้ความสำคัญเรื่อยมา

หนึ่งในความเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานผ่านการบริหารจัดการขยะของเมืองภูเก็ต สะท้อนผ่านโครงการศึกษาเรื่องการจัดการขยะในเขตเมืองภูเก็ตที่ชื่อ “BABA Waste” (บาบ๋า เวสต์) โดยทีมบริษัทที่ปรึกษาด้านการออกแบบอย่าง RDM Strategist ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจำนวน 1 ล้านบาท จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้คิดค้นเครื่องมือช่วยแยกขยะสำหรับชาวภูเก็ต กระทั่งเกิดผลลัพธ์เป็น “ถุงขยะ 4 สี” ที่มีความพิเศษมากกว่าแค่เรื่องดีไซน์แปลกใหม่ ด้วยถุงขยะ “BABA Bag” นั้นช่วยให้ชาวภูเก็ตแยกขยะง่ายขึ้น จากการใช้สีและข้อความสื่อสารบนถุงที่เข้าใจง่าย

โดยสีและข้อความเหล่านั้น จะแบ่งออกเป็น
ถุงขยะสีแดง สกรีนข้อความ #เขาบอกว่าหนูอันตราย ใช้แยกขยะอันตรายเพื่อนำไปกำจัดที่โรงงานฉพาะทาง
ถุงขยะสีเหลือง สกรีนข้อความ #โตไปเป็นเงินเป็นทอง ใช้แยกขยะที่ขายได้ เช่น เศษโลหะ กระป๋องอะลูมิเนียม
ถุงขยะสีฟ้า สกรีนข้อความ #โตไปเป็นพลังงาน ใช้แยกขยะแห้งทั่วไป เพื่อนำเข้าเตาเผาไฟฟ้า
ถุงขยะสีเขียว สกรีนข้อความ #โตขึ้นอยู่จะไปเป็นปุ๋ย ใช้แยกขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร

ทั้งการแยกขยะแห้งและขยะเปียกอย่างมีระบบ ยังช่วยลดการใช้พลังงานของเตาเผาขยะไฟฟ้าด้วยอีกทาง

นอกจาก BABA Bag จะทำให้ชาวภูเก็ตแยกขยะง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เทศบาลบริหารจัดการขยะง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสีของถุงขยะที่สร้างความโดดเด่น ทำให้ยากที่ถุงขยะแต่ละประเภทจะไปอยูู่ผิดที่ผิดทาง ทั้งการแยกขยะแห้งและขยะเปียกอย่างมีระบบ ยังช่วยลดการใช้พลังงานของเตาเผาขยะไฟฟ้าด้วยอีกทาง เนื่องจากโดยปกติต้องใช้พลังงานในการเผาสูงมากหากขยะที่ส่งเข้าเตาเผานั้นมีความชื้นสูง

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นนำร่องเมื่อปี 2021 ผ่านการแจกถุงขยะ BABA Bag ให้กับชาวภูเก็ตฟรี โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือกับชาวภูเก็ตจำนวน 7,000 ครัวเรือน และหลังจากเปิดตัวโครงการได้ไม่นาน BABA Bag ก็ได้รับการต้อนรับจากชาวภูเก็ตเป็นอย่างดี ด้วยมีครัวเรือนที่รับถุงขยะหลากสีไปใช้และกลับมารับถุงขยะต่อเนื่องถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์

มากไปกว่านั้น BABA Waste ยังสร้างความเคลื่อนไหวในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเมืองภูเก็ตอย่างคึกคัก และเกิดการคิดต่อยอดเพื่อร่วมพัฒนาระบบการจัดการขยะในเมืองภูเก็ตคนละไม้ละมือ

หนึ่งในนั้นคือไอเดียการสร้างแอปพลิเคชั่นซื้อ-ขายขยะ ของกลุ่มนักเรียนมัธยมชาวภูเก็ตนาม “Taoyaa Bajaangs” (ต้าวหยะ บ๊ะจ่าง) ซึ่งที่มาของชื่อนี้มาจากคำว่า “ปุ้นต้าว” ที่แปลว่าที่โกยขยะในภาษาถิ่นของภูเก็ต และคำว่า “ต้าว” ก็เป็นศัพท์วัยรุ่นที่ใช้เรียกสิ่งของน่ารัก จึงให้ความหมายถึง “หยะ” หรือขยะที่ไม่ได้น่ารังเกียจแต่สร้างประโยชน์ได้

น้องๆ กลุ่มต้าวหยะ บ๊ะจ่าง คิดค้นแอปพลิเคชั่น “Tao Yaa” แพล็ตฟอร์มกลางในการจำแนกประเภทขยะ ประเมินราคาขยะ และเรียกให้คนกลางมาเก็บหรือรับซื้อขยะได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก โดยปัจจุบันแอพพลิเคชั่นต้าวหยะกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและระดมทุน เพื่อปล่อยใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้

เรียกได้ว่าการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบจัดการขยะของเมืองใหญ่อย่างภูเก็ตนั้น ทำให้เราเห็นโอกาสในการพัฒนาระบบการจัดการขยะในเมืองใหญ่อีกหลายแห่งของไทย ที่ย่อมเป็นไปได้ด้วยความร่วมมือจากทั้งรัฐ นักพัฒนาเอกชน และผู้คนในเมืองใหญ่ทุกคน ที่หันมาใส่ใจกับเรื่องใกล้ตัวอย่างการแยกขยะอย่างจริงจัง

ขอบคุณภาพถ่าย: BABA Waste
ขอบคุณข้อมูล:
– www.facebook.com/BABAWASTE.PHUKET
– www.facebook.com/profile.php?id=100082888480398