คำว่าอร่อยกับคำว่าอาหารสุขภาพดูไม่น่าอยู่ร่วมกันได้ในความคิดของคนมากมาย แต่สำหรับฉัน ฉันเพิ่งพบว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว
เมื่อฉันตั้งใจที่จะปลูกผักผลไม้กินเอง ทำกับข้าวกินเองเพื่อสุขภาพ ฉันก็พยายามพิถีพิถันกับการเลือกวัตถุดิบและเลือกวิธีการปรุง เครื่องปรุงที่บ้านก็จะหามาไว้แต่ของธรรมชาติเท่าที่จะทำได้ เกลือทะเลแท้ไม่ต้องเสริมไอโอดีน (ก็มันมีอยู่แล้วนี่นา) น้ำปลาแท้หมักธรรมชาติตามวิธีของคนโบราณ ไม่ต้องใส่สี ใส่อะไรแปลกๆ ที่ไม่จำเป็น ซีอิ๊วขาวจากถั่วเหลืองเกษตรอินทรีย์หมักด้วยวิธีธรรมชาติ น้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ จากสมุทรสงครามที่ไม่ใส่สารกันบูดซึ่งหายากมากมาย เพราะแค่ตัดน้ำออกจากดอกมะพร้าวเขาก็ต้องใส่สารกันบูดกันแล้วเพราะมันเสียง่าย ฉันเคยได้น้ำตาลอ้อยจากอ้อยของคุณหมอที่รักษาแนวทางเลือกปลูกเองแบบอินทรีย์และทำเป็นน้ำตาลเอง แอบบอกว่าเอามาทำโมฮิโต้ดื่มอร่อยมาก การดื่มอาจจะไม่ใช่แนวสุขภาพนัก (และผิดวัตถุประสงค์ของคุณหมอที่ทำน้ำตาลนี่แน่นอน) แต่นานๆ ทีฉันก็ดื่มสักทีมันดีต่อใจ ทำเอง ปรุงเอง ก็ยังต้องขอเป็นวัตถุดิบอินทรีย์นะ
ของพวกนี้ฉันหามาติดบ้านไว้ตลอด ไม่ว่าจะทำอะไรก็วางใจในเครื่องปรุงของเรา ส่วนวัตถุดิบก็พยายามที่จะหาของออร์แกนิกให้มากที่สุด แบบที่ซื้อมา ก็จะซื้อจากแหล่งที่ไว้วางใจ ถ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาของที่มีตรารับรอง แต่ฉันนิยมซื้อกับเกษตรกรที่รู้จักกันมากกว่าค่ะ เพราะได้ผลผลิตสดใหม่จากไร่ และยังได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากมาย ฉันสนับสนุนเรื่องให้ทำความรู้จักกับคนที่ผลิตอาหารให้เรากินอย่างมาก นอกจากเราจะได้รู้ที่มาที่ไปของอาหารที่กินอยู่ ยังได้พูดคุยและปฏิสัมพันธ์ต่อกันกับเกษตรกรด้วย เป็นการช่วยเหลือกันทั้ง 2 ฝ่าย เราจะได้อาหารสดอร่อยปลอดภัยที่เปี่ยมไปด้วยน้ำจิตน้ำใจ รับรองว่าสนุกกว่าแค่ซื้อมาขายไปกับคนกลางรายใหญ่ซึ่งขาดมิติเชื่อมโยงกับทั้งคนและผืนดินผืนน้ำที่ผลิตอาหารให้เราแน่นอน
และบางที การไปตลาดสดท้องถิ่นก็หาของกินดีๆ ปลอดภัยได้ดีกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต ฉันไปซื้อของที่ตลาดเมื่ออยากกินของแปลกๆ ตามฤดูกาล ซึ่งผักผลไม้ตามฤดูกาลที่ไม่ใช่ผักเศรษฐกิจนี่ก็ปลอดภัยค่อนข้างมาก เพราะไม่มีคนใช้ปุ๋ยใช้ยากับของพวกนี้ค่ะ ได้รสชาติแปลกๆ ได้วิตามินหลากหลายที่เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย เพราะธรรมชาติมักดีไซน์อาหารให้เรากินเพื่อสุขภาพของเราในท้องถิ่นตามสภาพอากาศตอนนั้น เพียงแต่คนสมัยนี้ไม่รู้กันแล้ว เพราะมัวแต่กินของจากโรงงานอุตสาหกรรมซ้ำๆ กันทั้งปี และแบบนี้แหละค่ะ ที่ฉันเรียกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ
ไอดอลของฉัน 2 คนบอกว่าให้กินอาหารแบบที่ปู่ย่าตายายกิน ป้าตุ๊ สิทรา พรรณสมบูรณ์ ผู้เขียนหนังสือแมคโครไบโอติกส์มาหลายเล่ม ท่านไปศึกษาเรื่องแมคโครไบโอติกส์มาจากหลายประเทศจนตกตะกอนและบอกว่าการกินดีอยู่ดีมีสุขภาพดีก็คือการกินอาหารตามแบบปู่ย่าตายายเรากิน คืออาหารจากวัตถุดิบสดใหม่ตามฤดูกาลในท้องถิ่นนั้นๆ และอาหารที่เราทำมากันตั้งแต่โบราณนั้นแฝงด้วยภูมิปัญญาที่จะทำอาหารให้อร่อยและรักษาสุขภาพของเราไปพร้อมๆ กัน ส่วนทาง Michael Pollan ไอดอลอีกคนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพได้สนุกมาก ก็บอกว่า Don’t eat anything your great grandmother wouldn’t recognize as food ซึ่งก็หมายความว่าคนสมัยนี้มีของกินมากมายซึ่งแปรรูปแล้วแปรรูปอีกโดยวิทยาศาสตร์การอาหารและโดยโรงงานจนรุ่นคุณทวดไม่รู้เลยว่านี่มันคืออาหาร และนั่นแหละคือสิ่งที่ทำลายสุขภาพของคนเรายุคนี้
นั่นแหละค่ะ นิยามของอาหารสุขภาพของฉันจึงเป็นอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบธรรมชาติในฤดูกาล เลี้ยงและเติบโตแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี ปรุงสดใหม่ด้วยขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งมันเป็นวิธีเดียวกับเชฟดีๆ ดังๆ ระดับโลกทั้งหลายทำนะคะ ถ้าลองดูเชฟระดับโลกทำอาหาร จริงๆ ก็มีหลายส่วนที่เหมือนปู่ย่าตายายเราทำกันแหละค่ะ เช่น การมีสวนครัวเพื่อไปตัดวัตถุดิบปลูกเองสดๆ มาทำอาหารทันที เลือกพืชผักอาหารที่ตรงตามฤดูกาลของมัน ซึ่งรสชาติก็อร่อยที่สุดตอนนั้นด้วย ปรุงด้วยวิธีที่เรียบง่าย ทำเองให้มากที่สุด ถ้าเรารำลึกได้ กะทิที่คั้นสดจากมะพร้าวที่เฉาะวันนั้นแล้วเอามาทำแกงหรือขนมเลย รสชาติจะอร่อยแบบผิดกันมากมายกับขนมไทยที่ทำจากกะทิกล่อง ชนิดว่ากินอิ่มแล้วยังฝันถึงต่อได้เลย
นอกจากอาหารคาวหวาน ผลไม้ก็ด้วยค่ะ ที่การปลูกแบบอินทรีย์หรือปลูกเองจะอร่อยกว่ากันมาก ถึงแม้ว่าเกษตรเคมีจะมีปุ๋ยและฮอร์โมนเร่งสีเร่งรสชาติก็ตาม ยังไงฉันก็เชียร์ให้หาโอกาสลองเด็ดกินผลไม้ที่สุกฉ่ำคาต้นดูค่ะ รสชาติของมันจะยอดเยี่ยมแบบที่เราหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้ ความสดคือความอร่อยค่ะ เอาแค่มะม่วงหรือมะละกอ ลองกินอันที่เด็ดสุกจากต้น รสชาติหวานหอมจะผิดกันลิบลับกับของที่รีบเด็ดออกมาตอนยังไม่แก่จัดเพราะต้องการให้มีอายุการขายยาวๆ ค่ะ ดังนั้นมีที่ทางแม้เพียงเล็กๆ ก็ขอให้ลองปลูกผักผลไม้ดูเท่าที่ทำได้นะคะ อย่าได้กลัว ปลูกแล้วตายก็ลองปลูกใหม่ ความสดของผักผลไม้ไร้สารเคมีที่เราปลูกกินเองนี่มันคุ้มจริงๆ ค่ะ
และฉันเป็นคนชอบกินของข้างทางด้วยค่ะ ไม่ใช่ร้านข้างทางนะคะ หมายถึงผักผลไม้ที่ขึ้นเอง มักจะอยู่ตามที่รกร้างหน่อย เช่น ตะขบ หรือกระทกรก ไม่มีใครเขาปลูกกันขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าเห็นลูกสุกฉันจะไปเก็บมากินค่ะ และที่ชอบที่สุดคือพริก อย่าให้เห็นเชียวว่ามีพริกขึ้นเองอยู่ที่ไหน ฉันจะไปเด็ดๆ มาเก็บเอาไว้ทำกับข้าวกินแน่นอน จนเพื่อนๆ รู้ว่าฉันเป็นนักเด็ดพริกที่เห็นต้นพริกขึ้นเองเป็นไม่ได้ ก็มันสด อร่อยปลอดภัยไร้สารเคมีนี่คะ