“ที่นี่ไม่มีปัญหาขยะ เพราะพอมีขยะชาวบ้านก็เอาไปเผาในท้องนาได้เลย”
คือคำตอบที่เราได้รับจากการไปสัมภาษณ์หน่วยงานราชการหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ และเป็นประโยคที่ทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่า เขียนเรื่องจัดการขยะทั้งไทยและนิวยอร์กมาตั้งเยอะ เราพูดกันเรื่องลดการใช้ เรื่องรีไซเคิลมาก็มาก แต่ไม่เคยนึกถึงประเด็นนี้มาก่อนเลย
ขอย้อนกลับไปสักนิด หลังจากที่เราได้ไปเข้าห้องเรียนหน่วยปราบขยะ กับเด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านตะเคียนราม จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคุณครูได้แรงบันดาลใจมาจาก #greenerychallenge มาส่งต่อหัวใจสีเขียวให้กับเด็กๆประถมสาม คุณครูเล่าให้เราฟังว่า ได้สอนเด็กๆ ให้เข้าใจระบบการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางไปสู่ปลายทาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ที่ในตำบลไม่มีการจัดการปลายทางให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ของจริง คือไม่มีรถเก็บขยะหรือระบบการจัดเก็บขยะตามบ้าน และสถานที่ต่างๆ การจัดการที่ปลายทาง คือการแยกขวดพลาสติกไว้ขายกับร้านรับซื้อในหมู่บ้าน ขยะเศษอาหารนำไปเลี้ยงสัตว์หรือทิ้งในนาในสวนเป็นปุ๋ย ส่วนขยะอื่นๆ ก็เผา
สารภาพตามตรงว่าเราเองเป็นเด็กที่โตมาในเมือง เรื่องเผาขยะจึงเป็นเรื่องไกลตัว และไม่เคยนึกถึงในระบบการจัดการขยะเลย หรือรับรู้เพียงเรื่องการเผาซากพืชจากการเกษตร ที่มีข้อถกเถียงว่าเป็นสาเหตุของหมอกควัน และ PM 2.5 พอเจอว่าเทศบาลไม่มีระบบการจัดการขยะเพราะชาวบ้านเผาขยะหมดแล้ว ก็เลยเกิดคำถามมากมายในใจ บริบทที่แตกต่างกันย่อมต้องการแนวทางการแก้ปัญหาที่ต่างกัน และเราเองก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะมาชี้แนะใดๆ ได้ เลยลองมาค้นข้อมูลเรื่องการเผาขยะ และแนวทางที่อื่นๆ ใช้แทนการเผาขยะมาแชร์กัน ซึ่งการเผาขยะในเนื้อหาต่อจากนี้ หมายถึงการเผาขยะในครัวเรือนเศษกระดาษ เศษพลาสติก บรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ
การเผาขยะในที่โล่ง และการเผาแบบระบบปิด
การเผาขยะในที่โล่ง (backyard burning หรือ open burning) มักเป็นการเผาขยะที่เกิดในครัวเรือน ทั้งที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ การเผาเป็นสิ่งที่ทำกันในหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก จากงานวิจัย* และข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2016 พบว่า ในประเทศไทยเรานั้นมีการสร้างขยะ 26.7 ล้านตันต่อปี โดยจำนวน 1 ใน 3 ของขยะนั้นไม่ได้รับการจัดเก็บเข้าระบบกำจัดที่ถูกต้อง และ 53.7% ของขยะกลุ่มนี้ถูกกำจัดด้วยการเผาในที่โล่ง คิดเป็น 3.4 ล้านตันต่อปีหรือ 13% ของขยะในครัวเรือนทั้งหมด
สาเหตุของการเผานั้นมีหลายอย่าง อาทิ สะดวก ต้นทุนต่ำ ในพื้นที่ไม่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ พื้นที่มีครัวเรือนน้อย ทำให้ไม่มีงบประมาณสำหรับจัดซื้อรถเก็บขยะและระบบในการแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่มีพื้นที่ฝังกลบ ขาดการสื่อสารความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน ไปจนถึงการทำที่สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นโบราณจนกลายเป็นวัฒนธรรม และเชื่อว่าวิธีนี้ถูกต้อง โดยไม่ทันระวังถึงอันตรายและสารพิษจากการเผา
แต่การเผาก็สามารถเป็นทางออกสำหรับการจัดการขยะได้เช่นกัน หากเผาแบบควบคุมในระบบปิด
การเผาขยะในเตาเผา (incineration) คือการใช้ความร้อนสูง 850-1200 องศาเซลเซียส เพื่อเผาไหม้ส่วนที่เป็นสารออนินทรีย์ในขยะ ในระบบปิดหรือเตาเผา มีระบบการควบคุมไม่ให้เกิดกลิ่นและควัน สิ่งที่ได้จากการเผาแบบนี้ คือความร้อน ขี้เถ้าอนินทรีย์ และแก๊สปล่องไฟ (Flue gas) โดยแก๊สปล่องไฟจะต้องถูกทำให้สะอาดก่อนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนความร้อนที่ได้จากเตาเผาสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าต่อได้ หรือที่เราอาจเคยได้ยินว่า ‘เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน’ (waste to energy) ซึ่งคือการนำขยะมาผ่านกระบวนการเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงเผาขยะ หรือเชื้อเพลิงขยะ (refuse derived fuel: RDF) นั่นเอง การเผาขยะแบบควบคุมนี้ เหมาะที่สุดกับการกำจัดขยะอันตราย ของเสียที่มาจากโรงพยาบาลและของเสียที่มีพิษ เนื่องจากของเสียกลุ่มนี้ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีอื่นได้
ในยุโรปมีกฎหมายจำกัดการสร้างพื้นที่ฝังกลบขยะ และเลือกใช้การเผาขยะในเตาเผาเพื่อสร้างพลังงานทดแทน ซึ่งมีอัตราการกำจัดขยะด้วยการเผาในเตาสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อเมริกามีอยู่ 12.5 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตและขยายมาสู่เอเชีย โดยจีนกำลังลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเผาขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานนั้นมีค่าใช้จ่ายลงทุนสูง ต้องการเทคโนโลยีที่รัดกุม แม้มีการนำไปใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แต่ก็ยังมีที่วิพากษ์วิจารณ์และต่อต้าน ถึงผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่โรงเผาขยะนั้นไปตั้ง โดยเฉพาะในทวีปกำลังพัฒนาที่ไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดรัดกุม
อันตรายแค่ไหนกัน กับการเผาขยะในที่โล่ง
การเผาขยะ 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กที่มีอันตรายต่อสุขภาพ 19 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสารพิษที่พบได้แก่ เบนซิน ไดออกซิน ซึ่งสารทั้งสองนี้เป็นสารก่อมะเร็ง สารพิษไดออกซิน เป็นสารที่มีพิษสูง อันตรายต่อชั้นบรรยากาศ โดยปกติในวัสดุจะไม่มีสารนี้อยู่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อขยะถูกเผา
ไดออกซินเป็นสารที่ลอยตัวระดับไม่สูง ทำให้สามารถสูดดมเข้าสู่ร่างกายโดยตรงได้ง่าย นอกจากนั้นยังสามารถตกค้างบนพืช ในน้ำ ในดิน และวนกลับเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารของเรา
ซึ่งการเผาในที่โล่ง จะเกิดปริมาณของสารทั้งสองชนิดนี้สูงกว่าการเผาในเตาเผาที่ได้รับการควบคุมหลายเท่า เพราะการเผาในที่โล่งได้รับออกซิเจนจำกัดและอุณหภูมิต่ำ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นการเผาในที่โล่งยังสร้างมลพิษอื่นๆ ด้วย เช่นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และสารอินทรีย์ระเหย
เลิกเผา แล้วยังไงต่อดี
• แยกขยะ
หัวใจสำคัญในการทำให้ขยะมีมูลค่าเพิ่มและลดปริมาณขยะ คือการแยกขยะ โดยคัดแยกเป็นขยะ โดยการคัดแยกที่ง่ายที่สุดคือ แยกอินทรีย์–อนินทรีย์ จากนั้นแยกอนินทรีย์เป็นขายได้–ขายไม่ได้ เพื่อให้สามารถนำขยะไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยสามารถแยกได้เองตั้งแต่ที่บ้าน หรือจัดตั้งศูนย์แยกขยะในชุมชน โดยอาจจะเจรจากับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งศูนย์แยกขยะและระบบจัดเก็บขยะ
• จัดตั้งธนาคารขยะ
เป็นอีกวิธีที่หลายพื้นที่นำมาช่วยจัดการปัญหา โดยการตั้งศูนย์รับซื้อขยะ หรือแลกขยะเป็นของใช้ แลกไข่ เพื่อส่งเสริมห้คนเเยกขยะ ลดการเผา และหน่วยงานก็สามารถนำขยะไปกำจัดต่ออย่างถูกวิธีได้
• ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง
สุดท้าย ปัญหาขยะจะไม่มีทางแก้ได้ ถ้าเรายังสร้างขยะใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน วิธีที่ดีที่สุดคือการลดขยะที่ตัวเราเอง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่นบริโภคเท่าที่จำเป็น และถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ใช้ซ้ำได้ พกภาชนะของตนเอง พกขวด พกแก้ว ลดการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่หรือการบริโภคที่สร้างขยะ
• ไม่ใช่แค่ไม่ควรเผาในที่โล่ง
การไม่เผาในที่โล่ง อาจยังไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด เพราะการเผาในระบบปิดเอง ก็มีหลายเสียงจากนักวิชาการออกมาแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และมีการเสนอแนวทางและเทคโนโลยีแทนการเผาเพื่อพลังงาน
• แปรขยะให้เป็นแก๊ส
กระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊ส (Gasification) เป็นกระบวนการละลายพลาสติกด้วยความร้อนสูงซึ่งทำให้เกิดแก๊สปล่องไฟ ไปหมุนใบพัดเพื่อปั่นไฟฟ้าได้เหมือนการเผา และใช้ออกซิเจนน้อยกว่าจนไม่ทำให้เกิดสารพิษไดออกซิน แต่กระบวนการนี้ยังใช้ต้นทุนสูง ซึ่งสูงกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเสียด้วยซ้ำ ทำให้ยังไม่เป็นที่นิยม
• เปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน
ไพโลไลซิส (Pyrolysis) หรือกระบวนการเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมัน เป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาในเวลานี้ กระบวนการคือการสับและหลอมละลายพลาสติกด้วยอุณหภูมิที่น้อยกว่า Gasification และใช้ออกซิเจนน้อยกว่าหรือไร้ออกซิเจน ความร้อนจะช่วยหลอมพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันหรือหลอมกับไปเป็นพลาสติกชนิดใหม่เทคโนโลยีนี้เริ่มมีใช้ในสหรัฐอเมริกา และกำลังขยายไปสู่ยุโรป จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ที่มาข้อมูล
*งานวิจัย ‘Assessment of Air Pollution from Household Solid Waste Open Burning in Thailand’ ของ Jirataya Pansuk, Agapol Junpen และ Saitri Garivait
www.mdpi.com
www.seub.or.th
www.archive.epa.gov
www.nationalgeographic.com
ภาพถ่าย: Parppim Pim, 123rf