นี่ไม่ใช่ Charlie’s Angels หรือ The Bride ใน Kill Bill แต่หากเทียบถึงความอันตรายต่อร่างกายของผู้ใช้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แล้ว เจ้าสารอันตรายที่ผู้ผลิตบางเจ้าผสมลงไปในสบู่ ครีมทาผิว แชมพู ครีมนวดผม น้ำหอม  เครื่องสำอาง ตลอดจนของอุปโภคเกี่ยวกับร่างกายต่างๆ เพื่อหวังผลทางสรรพคุณบางอย่าง ก็ดูจะร้ายกาจไม่แพ้กันเลยทีเดียว เพราะในขณะที่เราหยิบมันเทลงบนผิว ลูบไล้โดยหมายใจถึงผลลัพธ์ในความกระจ่างใส สะอาด หอม เหล่าภัยเงียบที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในส่วนผสมก็พร้อมจะแผลงฤทธิ์กับผิวหนัง ตลอดจนอวัยวะที่ง่ายต่อการระคายเคืองส่วนต่างๆ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

เอาล่ะ อย่าเพิ่งตกใจไป ถึงแม้เราจะไม่สามารถห้ามผู้ผลิตบางเจ้าให้ไม่ผสมสารเหล่านี้ลงไปได้ แต่เราก็ยังมีทางเลือกในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารสวยสังหารเหล่านี้  เพราะฉะนั้นก่อนได้เวลาช้อปปิ้งครั้งต่อไป เรามาลองทำความรู้จักกับ 4 สารเคมีอันตรายที่ผู้ผลิตหลายรายมักชอบเติมลงไปในผลิตภัณฑ์กันก่อนดีกว่า เพราะเรื่องเล็กๆ ที่เราอาจไม่เคยใส่ใจเหล่านี้ บางทีก็อาจนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วย หรือโรคร้ายแรงในอนาคตได้เลยนะ

1.SLS (Sodium Lauryl Sulfate) สวยแสบใส ระคายเคืองตา

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาแปรงฟัน สระผม ใช้โฟมล้างหน้า หรือสบู่เหลวทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงมักมีฟองสีขาวฟ่อดออกมาด้วยทุกที ที่มาของฟองเหล่านั้นไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นเพราะผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการเติมสาร SLS หรือโซเดียม ลอริล ซัลเฟต ลงไปเป็นส่วนผสมด้วยนั่นเอง ด้วยคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของน้ำ ช่วยให้สิ่งสกปรก ตลอดจนคราบไขมันต่างๆ หลุดออกจากผิวได้อย่างง่ายดาย ทำให้ SLS มักถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ตั้งแต่น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอาง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิว โดยที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าอาจเลือกใช้สารที่มีความเข้มข้นและเกรดแตกต่างกันไปในแต่ละแบรนด์

แม้เจ้าสารตัวนี้จะได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้อย่างถูกกฎหมายในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยเองก็ตาม แต่ด้วยผลข้างเคียงที่มักก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตาและผิวหนัง ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตที่ใส่ใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงหลายเจ้ามักหันไปเลือกใช้สาร SLES (Sodium Lauryl Ether Sulfate) ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวที่มีความอ่อนโยน และปลอดภัยมากกว่าทดแทน


แต่ถ้าเลือกได้ การหลีกเลี่ยงโดยหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Sodium Lauryl Sulfate Free หรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก100% ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่พร้อมเสี่ยง

2. Triclosan สวยสะอาด อันตรายต่อหัวใจ
ไตรโคลซาน คือชื่อของสารเคมีตัวหนึ่งซึ่งมีคุณบัติในการยับยั้งแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งผู้ผลิตมักเติมลงไปในสบู่ น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟัน โรลออน และในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขอนามัยต่างๆ แม้คุณสมบัติของเจ้าสารตัวนี้ฟังเผินๆ เหมือนจะดูดีมีประโยชน์ แต่เมื่อหันมามองในแง่ของผลกระทบที่มีต่อสุขภาพแล้ว ต้องบอกเลยว่าอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว

มีรายงานวิจัยหลายชิ้นที่เชื่อถือได้ระบุว่าสารไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ที่เราใช้จะถูกดูดซึมผ่านผิวหนังไปสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้ ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ และที่น่ากลัวที่สุดคืออาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจได้

นอกจากนี้พบว่าการใช้สารยับยั้งแบคทีเรียโดยไม่ระมัดระวังดังกล่าวยังส่งผลทำให้เชื้อแบคทีเรียในร่างกายดื้อยา ทั้งยังมีงานวิจัยบางชิ้นถึงกับระบุว่าสารที่ถูกชำระล้างไหลลงท่อระบายน้ำ ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ยังมีแนวโน้มที่จะไปทำลายแบคทีเรียธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดผลกระทบด้านลบได้อีกด้วย แม้ไม่นานมานี้องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาจะเพิ่งออกคำสั่งห้ามใช้สารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งแล้ว แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตรวจสอบส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของใช้ให้ถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและคนในครอบครัว

3. MIT (Methylisothiazolinone) สวยไม่สร่าง อักเสบไม่หยุด
อาหารยังใส่สารกันบูด มีหรือผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์อุปโภคต่างๆ ในท้องตลาดจะพลาดจากส่วนผสมสารกันเสียไปได้ ทำให้เจ้าเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน หรือสารช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อรา ยีสต์ และแบคทีเรียต่างๆ นี้กลายเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญที่ผู้ผลิตหลายเจ้าเลือกใช้เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บเอาไว้ได้นานขึ้น ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ฟังแล้วอาจจะเกิดอาการขนลุกเล็กๆ ก็ได้คือ นอกจากใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับร่างกายแล้ว MIT ยังเป็นสารตัวเดียวกับที่ใช้เติมเพื่อกันเสียในสีทาบ้าน แตกต่างก็แค่ปริมาณความเข้มข้นในการใช้นั่นเอง

MIT เป็นสารที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้อย่างแพร่หลายในปริมาณที่เหมาะสม แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดชื่อดังที่เรารู้จักกันดีกว่าครึ่งเลือกใช้เจ้าสารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในการผลิตด้วย 

ทว่าถึงแม้จะเติมลงไปในอัตราส่วนที่น้อยเพียงใด แต่ตัวเลขรายงานผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นหลังใช้ก็ดูจะสูงขึ้นทุกปีๆ โดยเฉพาะอาการผิวหนังอักเสบ พอง เป็นผื่นแดง ที่พอจะวางใจได้บ้างก็คือ ปัจจุบันในประเทศไทย สารดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องล้างออกหลังการใช้เท่านั้น

4. Parabens สวยสยอง ศูนย์รวมอันตราย

ในรายชื่อทั้ง 4 ดูเหมือนว่า พาราเบน จะเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นหูที่สุดแล้ว ไม่ต้องแปลกใจไปเพราะด้วยความที่เจ้าสารเคมีตัวนี้มีราคาที่ค่อนข้างถูกมาก ทำให้พาราเบนถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในฐานะสารกันบูดที่ใช้เติมในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเครื่องสำอางต่างๆ แน่นอนว่าถูกและดีไม่มีในโลก แม้ว่าคุณสมบัติของพาราเบนในการยับยั้งแบคทีเรีย และเชื้อราต่างๆ จะเข้าขั้นยอดเยี่ยมกระเทียมดองแค่ไหน แต่ผลลัพธ์ข้างเคียงที่เป็นเงาตามตัวมานั้นนับว่าน่าสยองไม่น้อยเลย

มีงานวิจัยระบุว่าการใช้พาราเบนในปริมาณมากสามารถทำลายฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง นำมาซึ่งโรคภัยและภาวะอันตรายต่างๆ อาทิ ภาวะมีบุตรยาก อสุจิอ่อนแอ การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทำให้เด็กในครรภ์พิการ รวมถึงยังมีความเชื่อจากหลายแหล่งว่าพาราเบนอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้

ทว่าในประเทศไทยเองยังมีการอนุญาตให้ใช้พาราเบนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ในปริมาณที่กำหนด ถึงกระนั้นก็มีผลิตภัณฑ์หลายแบรนด์ที่เข้าใจถึงความกังวลของผู้บริโภคหันมาชูจุดขาย Parabens Free หรือกระทั่งปลอดสารกันเสีย 100% ซึ่งก็มักจะแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าท้องตลาดระดับหนึ่ง แต่เมื่อคิดคำนวณบวกลบคูณหารกับผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว อย่างไรก็คุ้มกว่ากันเห็นๆ

นอกจากสารอันตราย 4 ชนิดด้านบนแล้ว แน่นอนว่ายังคงมีสารเคมีอีกนับสิบตัวที่แอบแฝงเป็นภัยเงียบคอยคุกคามเราอยู่ตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Coal Tar, DEA  (Diethanolamine), Formaldehyde, Fragrance และอื่นๆ แน่นอนว่าด้วยผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจแล้ว เราไม่อาจห้ามผู้ผลิตหลายเจ้าให้งดเว้นการใช้สารเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงได้ สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อปกป้องสุขภาพของตัวเราเองและครอบครัวก็คือการเลิกสนับสนุนสินค้าที่มีส่วนประกอบอันตรายเหล่านี้ และหันมาพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบที่ปลอดภัย หรือสนับสนุนสินค้าที่เป็นออร์แกนิกเสียเลย เพราะสุดท้ายแล้วการเสียเวลาเพื่อเลือกสิ่งที่ไว้วางใจในความปลอดภัยได้ ย่อมดีกว่าเสียเวลาเพื่อรักษาอาการข้างเคียงจากสารเคมีในภายหลังนะ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง

ที่มา
slsfree.net
copublications.greenfacts.org/en/triclosan/index.htm#2
– www.cirs-reach.com/news-and-articles/eu-public-consultation-on-methylisothiazolinone-mi-ban-for-leave-on-cosmetic-products-launched.html
– 
www.chemicalsafetyfacts.org/parabens
– 
www.swansonvitamins.com/blog/jessica/shampoo-toxic-ingredients