ในเมื่อเรายังต้องกินต้องใช้ แต่ผลิตเองไม่ได้ เราจึงเป็นได้แค่ผู้บริโภคที่รออุดหนุนอยู่ปลายทาง ใครผลิตอะไรมาแบบไหน ขนส่งมาอย่างไร วางขายที่ไหน เราก็ทำได้แค่จ่ายเงินไปเพื่อแลกมา

ในอดีต เราอาจจะคุ้นเคยกับเส้นทางนี้ และคิดว่าผู้บริโภคอย่างเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ยิ่งกับปัญหายิ่งใหญ่อย่างภาวะโลกเดือด ก๊าซเรือนกระจก แรงงานไม่เป็นธรรม มันยิ่งฟังดูไกลตัว แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่งกลับไม่ยอมจำนนว่าฉันเป็นแค่คนปลายทาง ออกแรงขับเคลื่อนทีละเล็ก ทีละน้อย จนกลายเป็นเทรนด์ที่ชัดเจนขึ้น และเชื่อว่าผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ นี่แหละ ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้!

ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับการเป็นผู้บริโภคที่มีหัวใจ หรือที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกกันว่า ‘Conscious Consumer’ กัน

Conscious Consumer เทรนด์การกินยุคใหม่ที่เอาใจเขา มาใส่จานเรา
Conscious Consumer มีความหมายตรงตัวถึงผู้บริโภคที่ใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยพวกเขาเชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยของตนจะไม่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คนรอบตัว หรืออย่างน้อยก็สร้างผลกระทบน้อยที่สุด นอกจากนี้ผู้บริโภคที่มีหัวใจยังอาจใช้วิธีการลด ละ และเลิกสนับสนุนแบรนด์ที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรได้ด้วย เหมือนกับที่รองศาสตราจารย์ด้านการตลาด Ela Veresiu จาก York University Schulich School of Business ประเทศแคนาดา เรียกการบริโภคนี้ว่า “ใช้เงินเพื่อโหวต” หรือ “vote with their dollars” ที่บอกว่าการเลือกซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าหรือแบรนด์ไหน คือการโหวตเพื่อสนับสนุนแนวคิดที่เรายึดถือ

Conscious Consumer เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วย ที่ประเทศอังกฤษ ผู้บริโภคจากการสำรวจ 75% หันมาใส่ใจการเลือกซื้อสินค้าของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหมวดของใช้ในชีวิตประจำวันหรืออาหารการกิน ในอีกการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกายอมที่จะจ่ายเงินมากกว่าเดิม หากสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้นได้มาตรฐานการผลิตที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเลือกซื้ออาหาร ที่เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคไม่ได้ใส่ใจแค่ที่มาที่ไปของวัตถุดิบเท่านั้น แต่ยังสนใจไปถึงหีบห่อ การก่อมลพิษ และการลดขยะตลอดกระบวนการก่อนจะมาถึงมือพวกเขาด้วย

เทรนด์ที่กำลังค่อย ๆ เติบโตนี้เองทำให้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเรื่องการผลิตสินค้าของพวกเขาเช่นกัน จะมาทำ CSR ถ่ายรูปพร้อมสโลแกนสวยหรูว่าบริษัทของฉันเป็นมิตรแบบนั้น ใส่ใจคนอื่นแบบนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ศึกษาข้อมูลและจริงจังมากขึ้นกับการจับจ่ายของตัวเอง ดังนั้นอย่าคิดว่าแค่เปลี่ยนวิถีชีวิตนิด ๆ หน่อย ๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้สักแค่ไหนกันเชียว ในเมื่อเรายังเป็นคนหนึ่งที่ต้องจับจ่ายใช้สอย และบริษัทต่าง ๆ ก็ยังต้องพึ่งการจับจ่ายของเราอยู่ การเลือกให้เงินของเราไปอยู่ในที่ที่เราคิดว่าดี จึงถือเป็นการส่งเสียงดัง ๆ ไปหาผู้ผลิตว่าเรากำลังสนับสนุนพวกเขาอยู่ ส่วนการไม่สนับสนุนอะไรก็ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกคุณควรเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว

การเลือกให้เงินของเราไปอยู่ในที่ที่เราคิดว่าดี จึงถือเป็นการส่งเสียงดัง ๆ ไปหาผู้ผลิตว่าเรากำลังสนับสนุนพวกเขาอยู่ ส่วนการไม่สนับสนุนอะไรก็ยังเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกคุณควรเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว

บอกว่าเป็นคนมีหัวใจ แล้วต้องใส่ใจอะไรบ้าง
พอได้ยินคำว่า Conscious หลายคนก็อาจจะคิดว่ามีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วยังมีปัจจัยอีกมากมายที่เราสามารถเลือกใส่ใจได้ จะโฟกัสหลายเรื่องพร้อมกันก็สามารถทำได้ หรือใครที่เป็นมือใหม่ จะเลือกใส่ใจแค่เรื่องที่ตนเองสนใจหรือคิดว่าสำคัญที่สุดก่อนก็ไม่ผิดนะ

ถึงจะบอกว่าสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ประเด็นเดียวที่ทุกคนสามารถใส่ใจได้ แต่เราก็อยากชวนทุกคนย้อนไปดูปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการผลิตอาหารกันอีกสักที เพราะวัตถุดิบหลายอย่างในชีวิตประจำวันนั้นมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบน่าเศร้าต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่ใช้อวนยักษ์กวาดสัตว์ทะเลไปมากมายไม่พอ ยังทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลให้พังเรียบ การทำเกษตรกรรมแบบเข้มข้นเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก มีการใช้เคมีเกษตรสูง และอาจเกี่ยวเนื่องกับการทำลายป่า รวมถึงการเผาตอซัง เช่น ข้าวโพดอาหารสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง สวนผลไม้เชิงเดี่ยว กาแฟ และแปลงผักที่ปลูกด้วยเคมี ส่วนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการทำปศุสัตว์นั้นสร้างก๊าซมีเทนให้โลกเป็นลำดับต้น ๆ

นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราจะใส่ใจได้อีกก็คือเรื่องแรงงาน หลายบริษัทมีการให้ค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรและพนักงานตัวเล็กตัวน้อยในสายการผลิตต้องทำงานอย่างหนัก เสียตั้งแต่สุขภาพกายใจยาวไปถึงคุณภาพชีวิต แถมพวกเขายังไม่ได้รับเงินอย่างเหมาะสมด้วย ปัญหาแรงงานนี้ยังรวมไปถึงการค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงานข้ามชาติ เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และลิดรอนสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งตัวอย่างก็มีให้เห็นจากการใช้แรงงานประมงในบ้านเรานี่แหละ ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนไกลเลย

อีกประเด็นที่สามารถใส่ใจได้และทำได้ง่ายสุด ๆ ก็คือการใส่ใจตัวเอง เพราะการใส่ใจตัวเองจะทำให้เราเลือกซื้อสินค้าที่ดีกับตัวเองมากขึ้น เช่น หากเราเป็นคนรักสุขภาพ ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจ ซึ่งการผลิตนั้นแน่นอนว่าไม่ได้จะดีแค่กับตัวเราในฐานะผู้บริโภคเท่านั้น แต่ความใส่ใจนี้ยังสามารถส่งผลดีไปถึงสิ่งแวดล้อม และแรงงานที่ผลิตวัตถุดิบเหล่านั้นมาให้เราด้วย เพราะนี่อาจหมายถึงการไม่ใส่สารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้ปลูก มีการเลือกใช้หีบห่อที่เป็นมิตรต่อโลก สะอาด และปลอดภัย ผลิตแบบใส่ใจในชุมชน ไม่มีการกดขี่ค่าแรง และในมุมอื่น ๆ การใส่ใจตัวเองยังรวมไปถึงการเลือกซื้อสินค้าที่เราคิดว่าเสียเงินไปแล้วจะมีคุณค่ากับตัวเราหรือมีคุณค่ากับผู้ผลิต ถือเป็นกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พวกเขาได้อีกทางหนึ่งด้วย

อีกประเด็นที่สามารถใส่ใจได้และทำได้ง่ายสุด ๆ ก็คือการใส่ใจตัวเอง เพราะการใส่ใจตัวเองจะทำให้เราเลือกซื้อสินค้าที่ดีกับตัวเองมากขึ้น เช่น หากเราเป็นคนรักสุขภาพ ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจ ซึ่งการผลิตนั้นแน่นอนว่าไม่ได้จะดีแค่กับตัวเราในฐานะผู้บริโภคเท่านั้น แต่ความใส่ใจนี้ยังสามารถส่งผลดีไปถึงสิ่งแวดล้อม และแรงงานที่ผลิตวัตถุดิบเหล่านั้นมาให้เราด้วย

อยากเป็นผู้บริโภคที่มีหัวใจ ไม่ยาก! เริ่มช้า ๆ แต่ทำได้ทั้งวงจร
พูดเป็นภาพใหญ่ก็อาจจะยังเห็นภาพไม่ชัด ว่าที่บอกว่าให้ทำได้ตามสะดวกเราจะทำแบบไหนได้บ้าง หรือถ้าอยากใส่ใจบางประเด็นเป็นพิเศษเราควรเริ่มจากตรงไหนดี

ใครที่อยากผันตัวมาเป็น Conscious Consumer ลองดูตามขั้นตอนนี้ และขอย้ำอีกครั้ง ใครยังไม่เทิร์นโปร จะเลือกทำเป็นส่วน ๆ ไปตามที่ตัวเองถนัดก็ได้ผิด เพราะ Conscious Consumer สามารถเป็นได้ตั้งแต่วินาทีที่เราออกจากบ้านไปเลือกซื้อสินค้าจนกลับมาถึงบ้านเลย

Step 1 เริ่มต้นให้ดี อุดหนุนแบรนด์และร้านที่เป็นมิตรกับโลก
สำหรับมือใหม่หัดใส่ใจ เราอาจจะยังไม่มีแหล่งข้อมูลมากนักว่าควรสนับสนุน หรือลดละเลิกแบรนด์ไหนดี ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกนิดเกี่ยวกับสินค้าที่เราสนใจก่อนเลือกซื้อให้มากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้สามารถค้นหาได้ด้วยคีย์เวิร์ดที่เราสนใจบนอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียทั้งหลายนี่แหละ บางทีเราอาจพบว่าสินค้าจากแบรนด์เจ้าประจำที่เราซื้อ อาจมีกรรมวิธีผลิตที่ใจร้ายกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม จริง ๆ ข้อมูลเหล่านี้หาได้ไม่ยาก อาจจะเริ่มจากสินค้าที่เราซื้อประจำและใช้บ่อยๆ เพราะการเลือดอุดหนุนหรือเลือกแบนของเรา ก็จะมีนัยสำคัญมากขึ้นตามปริมาณที่เราซื้อ

การหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ เราอาจได้เจอว่าเดี๋ยวนี้หลายแบรนด์ที่ทำกันเล็ก ๆ ในชุมชนก็สามารถหาซื้อได้ไม่ยากตามห้างสรรพสินค้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผักออร์แกนิก อาหารทะเลจากกระประมงเรือเล็ก ไข่ไก่อารมณ์ดี พืชผักท้องถิ่นตามฤดูกาล ฯลฯ หรือใครแวะไปเจอหน้าเพจของแบรนด์สินค้าเหล่านี้แล้วสะดวกติดต่อซื้อกับผู้ผลิตโดยตรงก็สามารถทำได้เช่นกัน

และก่อนออกเดินทางไปซื้อ ก็วางแผนการซื้อให้ดีอีกสักที ลองทำเช็กลิสต์ดูว่าเราจำเป็นต้องซื้ออะไรเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้วัตถุดิบที่ซื้อมากลายเป็นขยะเพราะกินไม่ทัน คราวนี้เสียทั้งของเสียทั้งเงินเลย

Step 2 เลือกซื้ออย่างใส่ใจ ดูตั้งแต่คุณภาพยันแพคเกจจิ้ง
เมื่อถึงเวลาช้อป ก็อย่าเพิ่งหน้ามืดตามัวหยิบไม่เลือก ลองตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณ และราคาให้ดีอีกครั้งว่าคุ้มค่าที่จะสนับสนุนหรือไม่ เพราะแน่นอนว่าแต่ละคนมีงบในกระเป๋าไม่เท่ากัน ดังนั้นเลือกซื้อเลือกสนับสนุนตามกำลังที่ตนเองไหวก็พอ ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็อย่าลืมใส่ใจไปถึงเรื่องหีบห่อว่าสินค้าที่เรากำลังจะซื้อบรรจุมาแบบไหน ใช้พลาสติกเยอะเกินไปหรือเปล่า ถ้าเลี่ยงได้เราพอจะเลี่ยงไปซื้อสิ่งอื่นที่เป็นขยะน้อยกว่าได้ไหม หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้เราจะกำจัดขยะอย่างไรให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

หรือใครที่อยากจะลองท้าทายตัวเองให้มากขึ้น อาจลองคิดโจทย์การช้อปให้ตัวเองดูก็ได้ เช่น คราวนี้จะเลือกซื้อสินค้าแบบลดการสนับสนุนปศุสัตว์อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ หันมากินอาหารแบบ Flexitarian เพื่อลดเนื้อสัตว์เท่าที่ไหว ก็ได้ใส่ใจทั้งสุขภาพไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนรอบตัวเลย

Step 3 เก็บให้ดี กินให้คุ้มค่า
เมื่อถึงบ้านแล้ว อย่าลืมจัดเก็บวัตถุดิบแต่ละอย่างให้ดี วางแผนว่าอะไรหมดอายุก่อน-หลัง จะได้เลือกกินเลือกเก็บตามนั้น ศึกษาวิธีเก็บผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ให้อยู่ได้นานพร้อมคงไว้ด้วยประโยขน์ (เทคนิคล้ำ ๆ มีมากมายในอินเทอร์เน็ต เลือกดูกันได้ตามสะดวก) เพื่อให้วัตถุดิบทุกอย่างที่ซื้อมาถูกกำจัดครบถ้วนไม่เหลือถึง

Step 4 กำจัดให้ถูกวิธี
แม้แต่กระบวนการสุดท้าย เราเองก็ใส่ใจได้ด้วยการแยกทิ้งขยะที่เหลือให้ไปสู่ปลายทางที่ถูกต้อง ทั้งการแยกขยะอาหารที่เหลือจากการกินและการประกอบอาหารจากขยะแห้งอื่น ๆ ส่วนขยะจากหีบห่อและขยะอื่น ๆ จากการประกอบอาหาร ก็ล้างและแยกทิ้งให้ถูกต้อง เพราะพวกมันก็ล้วนมีปลายทางที่ดีได้เหมือนกัน

และง่ายสุด ๆ สำหรับใครที่ไม่สะดวกกำจัดขยะด้วยตัวเอง แค่ล้างขยะให้สะอาด แยกทิ้งเป็นถุง ๆ พร้อมระบุหน้าถุงไว้ว่าถุงไหนเป็นขยะอะไรเวลาทิ้งขยะที่หน้าบ้านเท่านี้ก็เป็นประโยชน์มากแล้ว เพราะพี่ ๆ คนเก็บขยะจะได้จัดการขยะเราได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเอาไปฝังกลบรวมกันยังไงล่ะ

แม้การเป็น Conscious Consumer จะฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ที่แตะประเด็นสังคมหลากหลาย แต่จริง ๆ แล้วการจะเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจก็ทำได้ไม่ยากอยากที่คิด ค่อย ๆ เริ่มทำไปตามถนัด ใส่ใจไปทีละเรื่อง แค่นี้เราเป็นเรียกตัวเองว่าผู้บริโภคที้มีหัวใจได้แล้วล่ะ

ที่มาข้อมูล:
– https://builtin.com/marketing/conscious-consumerism
– https://info.angelfishfieldwork.com/market-research-fieldwork-blog/conscious-consumer-market-research
– www.forbes.com/sites/garydrenik/2022/09/13/eco-conscious-buyers-are-shifting-consumer-trends-heres-how-retailers-are-responding/?sh=79b2117c7449