แล้วหน้าร้อนของสวีเดนที่เราเฝ้ารอก็เวียนมาถึง

นอกจากความสดใสของคนเดินสวนกันไปมาที่เปล่งออร่าความคึกคักเจิดจ้าท้าแดด ต้นไม้ใบหญ้าที่เขียวแจ่มสะกดจิต ชนิดที่เราลืมได้สนิทใจเลยว่ายามหนาวเคยทิ้งใบจนโกร๋นแค่ไหน ไหนจะเบอร์รี่และผลไม้ตระกูลฉ่ำน้ำอย่างพีช ลูกพลัม เมลอน แตงโม ก็ขนทัพมาเติมสีสันกันท่วมแผง อีกหนึ่งสิ่งที่เราตั้งตาไม่แพ้กันก็คือกิจกรรมกลางแจ้งนานา ตั้งแต่ปิกนิก พายเรือ เดินป่า และแคมป์ปิ้งยังไงล่ะ! 

ประจวบเหมาะกับที่เราไปเจอโปรแกรม The Edible Country ที่เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวแห่งสวีเดนเข้าพอดี เป้าหมายของโปรแกรมนี้คือความต้องการสะกิดและย้ำซ้ำว่า อาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อหรือซับซ้อนยุ่งยาก หากแต่เป็นอาหารที่อยู่ใกล้ตัว หาได้จากท้องถิ่นหรือในธรรมชาติต่างหากล่ะ จุดหมายของ The Edible Country จึงกระจายตัวไปยังป่าต่างๆ ทั่วสวีเดนประมาณ 13 แห่ง เพื่อสื่อว่านอกจากสวีเดนจะรุ่มรวยธรรมชาติแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารก็ยังเต็มเปี่ยมไม่แพ้กัน

แม้ว่าป่าในสวีเดนจะเปิดให้เดินตะลอนท่อมๆ ได้ตลอดทั้งปีตามรัฐธรรมนูญข้อหนึ่งของสวีเดนที่ว่าด้วยเรื่อง Freedom to Roam ซึ่งหมายถึงทุกคนเป็นเจ้าของป่าและมีเสรีภาพในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

ความพิเศษของ The Edible Country คือการร่วมมือกับเชฟชาวสวีเดนระดับมิชลินสตาร์ 4 คนที่สร้าง movement การเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในร้านของตัวเองแทนที่จะเป็นวัตถุดิบหายากต้องนำเข้านำเข้าจากต่างแดน เชฟทั้งสี่ได้ออกแบบเมนูปรุงง่ายจากวัตถุดิบที่หาได้ในป่าแต่ละท้องถิ่นตามแต่ฤดูกาลสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้นิยามการปรุงอาหารกลุ่มนี้ว่าเป็น fine DIY dining นิคลาส เอ็กสเตดท์ (Niklas Ekstedt) หนึ่งในทีมเชฟเล่าถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า ธรรมชาติในสวีเดนคือแหล่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่สำหรับเขาเสมอ นับหลายชั่วโมงที่ใช้เวลาอยู่ในป่าทำให้เขาตระหนักว่า

การทำกับข้าวกลางแจ้งโดยใช้วัตถุดิบจากสิ่งที่หาได้ตรงหน้านั้นคือหัวใจสำคัญของอาหารตำรับสวีเดนทุกวันนี้ 

ป่าที่เราปักหมุดเลือกเข้าร่วมครั้งนี้เป็นป่าโปร่งทางตะวันตกของสวีเดน ล้อมรอบด้วยสองทะเลสาบ ไม่ไกลจาก Gunnebo House สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ซึ่งแต่เดิมเป็นบ้านพักของพ่อค้าผู้มั่งคั่ง หลังจากบ้านหลังนี้ถูกส่งทอดกันไปหลายมือ ในที่สุดเทศบาลเมืองโมล์นดาล (Mölndal) ก็ซื้อที่ดินผืนนี้ไว้ แล้วเปิดให้สาธารณชนเข้ามาเยี่ยมชม 

แต่ก่อนที่เราจะมุ่งหน้าเข้าป่านั้น มิชชั่นแรกของเราคือต้องไปที่ครัวของ Gunnebo House เสียก่อน เพื่อรับตะกร้าและเป้ยังชีพอันประกอบด้วยวัตถุดิบที่จะใช้ปรุงอาหารอย่างเนย เกลือ ไข่ ขนมปัง ถั่ว รวมถึงอุปกรณ์แคมป์ปิ้งจำพวกเตาแก๊ส หม้อ และกระทะแบบพกพา โชคร้ายมีอยู่ว่าแม้จะเป็นหน้าร้อน แต่สภาพอากาศวันนั้นดูจะไม่เอื้ออำนวยให้ตามล่าหาสมุนไพรในป่าสักเท่าไหร่ เชฟจึงแนะนำให้เราเลือกเก็บวัตถุดิบจากสวนข้างครัวติดตัวไปด้วยเลย 

โจทย์ที่เราได้รับวันนี้คือ สลัดแครอทผสมสมุนไพร กินคู่กับไข่ต้มและโยเกิร์ตเฮเซลนัท เราจึงต้องหิ้วแครอทและดิลพ่วงลงตะกร้าไปด้วย แม้จะผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่ได้เข้าป่าเก็บสมุนไพรจากแหล่งตามที่ฝันไว้ แต่แปลงผักตระการตาทั้งสีสันและรูปทรงของ Gunnebo House ก็พอจะชุบชูใจได้บ้าง ท่ามกลางแครอทและดิลที่เรามองหา แปลงผักที่นี่ยังอุดมด้วยผักและสมุนไพรอีกเยอะประเภท แบ่งออกเป็น 2 โซนใหญ่ๆ ด้วยกัน จุดแรกคือ old kitchen garden สวนผักติดกับด้านขวาของครัวที่จะพบวัตถุดิบจำพวกผักพื้นฐาน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง รูบาร์บ กะหล่ำ มะเขือเทศ เบซิล รวมถึงดอกไม้ต่างๆ สำหรับตกแต่งจานอาหาร อีกจุดหนึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับเรือนเพาะชำ ตั้งชื่อจำง่ายว่า new kitchen garden จุดนี้เน้นปลูกผักสมุนไพร เช่น ดิล ยี่หร่า เชอร์วิล ทาร์รากอน พาร์สลีย์ ไปจนถึงผักสลัด เคล และพืชไม้เลื้อยอย่างถั่วลันเตา คุณงามความดีของสวน 2 แปลงนี้คือ เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักของร้านอาหารและคาเฟ่ในดินแดน Gunnebo House

เชฟและชาวสวนของที่นี่ยังทำงานประสานกันอย่างดีเยี่ยม ทำให้วัตถุดิบอาหารของที่นี่มีเพียงพอและสับเปลี่ยนได้ถ้วนทั่วในแต่ละฤดูกาล ยิ่งกว่านั้นยังเป็นร้านอาหารที่ได้ตราประทับจาก A Taste of West Sweden ว่าใช้วัตถุดิบที่มาจากแปลงออร์แกนิกและปลูกอย่างคำนึงถึงความยั่งยืน 

แล้วก็ถึงเวลาที่เราต้องสะพายเป้พ่วงตะกร้าเดินเข้าป่า แม้จะเคยเข้าป่ามาแล้วหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่จะได้ทำกับข้าวกลางป่าแบบเป็นจริงเป็นจัง โชคดีที่เรามีเพื่อนร่วมครัวกลางแจ้งเป็นคุณแม่คุณลูกแสนใจดีที่ช่วยสอนวิธีใช้เตาแก๊สปิกนิกและอุปกรณ์พกพาต่างๆ ไม่อย่างนั้นละก็เราคงต้องอ่านคู่มือการใช้เตาอีกนานสองนานแน่ 

หลังจัดเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างเข้าทาง พวกเราก็ลงมือต้มไข่ ผัดแครอท จี่ขนมปัง เสร็จสรรพจึงประกอบร่างทุกอย่างเข้าด้วยกัน ราดโยเกิร์ต โรยเฮเซลนัทสับและสมุนไพรที่เราเก็บมาจากในสวน ตบท้ายด้วยกาแฟและขนมปังอัลมอนด์จากคาเฟ่ของ Gunnebo House กลายเป็นมื้อกลางวันอิ่มหนำกลางป่าเขาพร้อมวิวทะเลสาบ เป็นอีกหนึ่งวันที่รู้สึกว่าตัวเองได้ปลดล็อกสกิลเอาตัวรอดขึ้นมาอีกหนึ่งสิ่ง ได้ใกล้ชิดธรรมชาติในอีกรูปแบบ และได้เรียนรู้ว่า ในแง่หนึ่งของการพึ่งพาตัวเองและการอยู่อย่างยั่งยืนคือการอิงแอบธรรมชาติ เหมือนที่เชฟผู้ริเริ่มโครงการได้บอกไว้ว่าอนาคตของอาหารคือการใช้วัตถุดิบใกล้มือ

และเหมือนที่ Gunnebo House ได้โชว์ชัดให้เราเห็นว่าการปลูกวัตถุดิบเองช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของครัวได้มากแค่ไหน วัตถุดิบที่ได้ยังแน่ใจหายห่วงว่าปลอดภัย ลดของเสียที่จะเกิดจากการขนส่ง ลูกค้าได้กินของสดใหม่ ดีต่อสุขภาพ ยิ่งกว่านั้นเรายังเชื่อว่าถ้าทุกที่เอาโมเดลการปลูกผักพึ่งพาตัวเอง หรือการหาวัตถุดิบจากธรรมชาติใกล้ตัวไปใช้ล่ะก็ สุขภาพโลกและสุขภาพเราจะดีควบคู่กันอย่างพร้อมหน้าแน่นอน 

ภาพถ่าย: ณวรา หิรัญกาญจน์