เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสแวะเวียนไปเทศกาลที่น่าสนใจและน่ารักมากของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

‘หมุนเวียนอย่างยั่งยืน’ คือชื่อของเทศกาลนี้

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ปกาเกอะญอ’ หรือ ‘กะเหรี่ยง’ มาบ้าง เนื้อหาภายในเทศกาลนี้จะพูดถึงภูมิปัญญาการผลิตอาหารของชนเผ่าดังกล่าวที่เรียกว่าการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ความน่าสนใจคือแม้หัวข้อฟังดูเฉพาะทางมาก แต่เทศกาลนี้เล่าทุกอย่างได้สนุกและเข้าใจง่าย ผ่านรูปแบบกิจกรรมหลากหลายซึ่งสุดท้ายจะช่วยตอบคำถามที่คนเมืองอาจสงสัยว่า เราจะเรียนรู้เรื่องวิธีทำไร่ของชาติพันธุ์หนึ่งไปเพื่ออะไร

ขออนุญาตเริ่มพาชมงาน เมื่อเราก้าวผ่านประตูทางเข้า จะพบแผนที่ประเทศไทยซึ่งเราสามารถนำสติ๊กเกอร์วงกลมหลากสีไปติดเพื่อแสดงตำแหน่งบ้านตัวเองได้

แรงบันดาลใจของแผนที่นี้คือนิทานของชาวปกาเกอะญอเรื่องหนึ่งที่เล่าว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน การติดสติ๊กเกอร์จึงเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ว่าอยู่ที่ไหน เราก็คือคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในบ้านที่ชื่อประเทศไทยเหมือนกัน โดยบอร์ดข้างๆ แผนที่รูปขวานทองยังมีไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของปกาเกอะญอซึ่งผูกพันยาวนานกับประวัติศาสตร์ไทยด้วย

ถัดจากแผนที่จะเจออีกหนึ่งโซนหลักของงาน คือโซนนิทรรศการที่ช่วยให้เราเข้าใจความหมายแท้จริงของไร่หมุนเวียน

ที่ผ่านมา คนมักเข้าใจผิดว่าชาวเขาทำ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ซึ่งหมายถึงการบุกรุกเข้าไปทำลายพื้นที่ป่าเพื่อสร้างที่ทำกิน แต่ข้อมูลในนิทรรศการค่อยๆ อธิบายให้เราฟังว่า ชาวปกาเกอะญอผู้เกิดและอยู่อาศัยในป่าใหญ่มีวิถีการอยู่กินที่ยั่งยืนและเคารพธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง การทำไร่ของพวกเขาจึงไม่ใช่การเข้าไปถางป่าทำไร่เป็นว่าเล่น แต่คือการทำกินแบบไร้สารเคมีอยู่ในอาณาเขตเดิมซึ่งสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ โดยทำไร่แบบ ‘หมุนเวียน’ คือเมื่อทำไร่บนพื้นที่แปลงแรกครบ 1 ปี จะโยกย้ายไปสู่แปลงอื่นๆ จนผ่านไป 5-10 ปีถึงกลับมาทำไร่ที่เดิมอีกครั้ง เพื่อให้ป่าได้ฟื้นฟู สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้เข้ามาอาศัย

อาจกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่แค่การหมุนเวียนเปลี่ยนพื้นที่ แต่คือการหมุนเวียนกันได้ประโยชน์ระหว่างคนและธรรมชาติบนโลกใบเดียวกัน

จากองค์ความรู้เชิงข้อมูล พื้นที่เวิร์กชอปบนชั้นสองจะพาเราสัมผัสความงดงามจากวิถีการอยู่กับป่าของชาวปกาเกอะญอผ่านปลายลิ้น ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กชอปชิมน้ำผึ้งหอมหวาน ซึ่งยิ่งป่าอุดมสมบูรณ์ น้ำผึ้งซึ่งมาจากเกสรนานาชนิดก็ยิ่งหอมหวานซับซ้อน หรือการชิมรสข้าวไร่หอมกรุ่นจากไร่หมุนเวียน เรียกว่าสนุก อร่อย และได้ความรู้ครบถ้วนในกิจกรรมเดียว

เมื่อก้าวออกนอกอาคาร จะพบลานโล่งตรงกลางที่แปลงร่างกลายเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้อให้ชาวปกาเกอะญอที่เปรียบเหมือน ‘คนต้นน้ำ’ ได้พบปะคนเมืองที่เปรียบเหมือน ‘คนปลายน้ำ’ ฝั่งซ้ายมือเป็นส่วนจัดเวิร์กชอป เช่น งานสานไม้ไผ่แสนมีเสน่ห์ ขณะที่ฝั่งขวามือเป็นตลาดสินค้าชุมชนให้คนเมืองนักช้อปได้พบผลิตภัณฑ์ทั้งของกินของใช้จากผืนป่าใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอลายสวย สมุนไพร หรือกาแฟที่เติบโตใต้ร่มเงาป่า ส่วนตรงกลางลานเป็นเวทีสำหรับการแสดงภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม เช่น การแสดงดนตรีที่ขับขานบทเพลงภาษาปกาเกอะญอคลอเสียง ‘เตหน่า’ เครื่องดนตรีชนเผ่าที่แว่วหวานจับใจ

ในวันที่ฉันไป มีความพิเศษอีกอย่างบนเวทีคือการเปิดตัวหนังสือ ‘ต่า ออ เลอ คึ : อาหารในไร่หมุนเวียน’ นี่คือตำราอาหารที่ผู้จัดทำอยากสื่อสารภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนและวิถีอยู่ร่วมกับธรรมชาติของปกาเกอะญอในรูปแบบน่าสนใจและเข้าถึงง่าย พวกเขาจึงชวนกลุ่มเชฟรุ่นใหม่ลงพื้นที่เพื่อเสาะหาวัตถุดิบจากไร่และผืนป่ามาทำอาหาร จนกลายเป็นสูตรอาหารนานาชนิดที่แปลกตาและน่ากินมากในตำราเล่มโต

ที่สำคัญ เหล่าเชฟยังสาธิตการปรุงอาหารจากไร่หมุนเวียนให้ผู้มาชมงานได้ชิมด้วย เช่น เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ จากร้าน Blackitch Artisan Kitchen แห่งเชียงใหม่ที่ทำเมนู ‘ยำหมูย่างงาขี้ม่อน’ แสนอร่อย ไม่ต้องบอกคุณก็คงเดาได้ว่าฉันรื่นรมย์กับการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนี้แค่ไหน

ถัดจากลานถ่ายทอดวัฒนธรรม ก็มาถึงส่วนสุดท้ายของเทศกาล นั่นคือโซนนิทรรศการภายในอาคารด้านหลังลานที่เปรียบเหมือน ‘บทสรุป’ ที่ชวนมองขุมทรัพย์ของปกาเกอะญอนี้ในมิติกว้างไกลยิ่งขึ้น เนื้อหาส่วนแรกเล่าถึงสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก แล้วย้อนกลับมาชวนมองไร่หมุนเวียนในฐานะเครื่องมือช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน เพราะนอกจากมีวิถีสอดคล้องและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ไร่หมุนเวียนยังไม่ได้ปลูกแค่ข้าวไร่แต่ผสมผสานด้วยพืชพรรณหลากชนิด เรียกว่าชนิดใดล้มตาย ทรัพยากรอาหารของพวกเขาก็ยังอุดม

ขณะที่เนื้อหาส่วนสุดท้ายพูดถึงการขับเคลื่อนของรัฐในการพยายามรักษาภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอเอาไว้และผลดีของการขับเคลื่อนนั้นต่อชุมชนแต่ละแห่ง เป็นบทสรุปที่บอกเราว่า ‘ไร่หมุนเวียน’ ไม่ใช่แค่พื้นที่เกษตรเล็กๆ กลางผืนป่า แต่คือขุมทรัพย์สำคัญระดับประเทศซึ่งควรค่าแก่การเดินหน้าต่อเพื่อรักษามันไว้ไม่ให้สูญหาย

บทสรุปของเทศกาล ‘หมุนเวียนอย่างยั่งยืน’ จึงไม่ใช่หน้าสุดท้ายของหนังสือ

แต่เป็นหน้าแรกสู่บทต่อไป เพื่อให้ภูมิปัญญาที่สร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนนี้ยังงอกงาม