เราเคยสงสัยกันมั้ยว่าทำไมบางทีเราถึงมีความรู้สึกไม่ค่อยสดชื่น ไม่ค่อยมีแรงกายแรงใจทำอะไรเท่าไหร่ เหนื่อยง่าย หรือง่วงนอนในระหว่างวันเป็นพิเศษ หรือบางทีก็รู้สึกไม่ค่อยมีความสุขสนุกเอาซะเลย ผิดกับบางช่วงที่เรารู้สึกเฮลตี้ สุขภาพดี สดชื่นขึ้นมาแบบอารมณ์ดีทั้งวัน นี่ไม่ใช่สัญลักษณ์ของโรคทางกายหรือทางใจใดๆ แต่ว่าเป็นสัญญานว่าเราอาจจะกินอาหารบางชนิดมากเกินไปหรือน้อยเกินไปเท่านั้นเอง

แล้วอาหารที่เรากินเข้าไปนั้น มีผลต่ออารมณ์ในชีวิตประจำวันของเราจริงๆ หรือ?

เดี๋ยวนี้การกินอาหารที่ดีและปลอดภัย เพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีนั้น ง่ายและสนุกขึ้นมาก คนหนุ่มสาววัยเรียนวัยทำงานจึงหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มีโรคระบาดอย่างเจ้าโควิด-19 ทำให้แต่ละคนหันมาระมัดระวังและทำอาหารดีๆ กินกันเองมากขึ้น มีเวลาหันจากความสนใจภายนอกกลับมาให้ความใส่ใจภายในเรื่องของการดูแลสุขภาพกายใจให้ดี เมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้านหรือต้อง work from home มีการตามเทรนด์เมนูอาหารเฮลตี้ที่ทำกินเองได้ง่ายจากโซเชียลมีเดีย บางคนก็ผันตัวไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ผู้ขับเคลื่อนเทรนด์การกินดีอารมณ์ดีไปเลย ซึ่งในปี 2021 นี้ เทรนด์แฮชแท็กบนอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์นั้น #GoodFoodGoodMood ก็ติดหนึ่งในท็อปแฮชแท็กของปีด้วย

กินดีก็อารมณ์ดีจริงหรือ?

เริ่มกันที่ข้อมูลจากหนังสือที่ฝั่งประเทศตะวันตกเขาฮิตๆ กันตอนนี้ ชื่อว่า ‘The Food Mood Connection’ เขียนโดยดร.ยูมา นายดู (Dr.Uma Naidoo) จิตแพทย์ด้านโภชนาการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งให้คำตอบว่า

การเลือกอาหารรับประทานส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ เพราะอาหารที่กินเข้าไปมีความสัมพันธ์กับสารเคมีในสมอง หรือ ‘สารสื่อประสาท’ ที่ผลิตออกมา

มีหน้าที่สั่งการกระบวนการทำงานของสมองและระบบประสาทอื่นๆ ของเรา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘ฮอร์โมนสมอง’ ฮอร์โมนเหล่านี้ส่วนมากประกอบด้วยกรดอะมิโน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน ดังนั้นถ้าเรากินอาหารที่ให้โปรตีนบางอย่างน้อยเกินไปหรือกินเยอะเกินไป ความสมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกายเราก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งมันก็จะส่งผลประทบไปทั้งหมดเลย ทั้งอารมณ์ ความอยากอาหาร ความต้องการ พลังขับเคลื่อนทางเพศ พลังงานในร่างกาย ไปจนถึงการนอนหลับและชีวิตประจำวัน

ปัญหาของการกินไม่ดี

ยกตัวอย่างอาหารที่อยู่ตามห้างร้านในเมืองที่เราอาจจะเผลอกินมากเกินไป เช่น ของหวานอย่างพวกเค้ก เบเกอรี่ โดนัท หรืออาหารที่มีโปรตีนคาร์โบไฮเดรตเข้มข้นจากวัตถุดิบจำพวกแป้งมากเกินไป เช่น ซาลาเปา เกี๊ยวซ่า พาสต้า พิซซ่า เนื้อสัตว์ชุบแป้งทอด นั้น เรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ของการกินไม่ดี แม้ว่าจะดีกับใจของหลายๆ คนก็ตาม  แต่การกินไม่ดีก็ไม่ได้หมายถึงการกินอะไรบางอย่างมากเกินไปเท่านั้น เพราะภาวะบกพร่องของสารสื่อประสาทยังเกิดขึ้นจากการอดอาหารอีกด้วย อย่างการที่เราพยายามลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี พอมารู้ตัวอีกทีก็น้ำหนักขึ้นไปเยอะแล้ว ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้วงจรฮอร์โมนในสมองผิดปกติเช่นกัน

สารสื่อประสาทจริงๆ แล้วมีหลายตัว แต่ตัวที่รู้จักและพูดถึงกันทั่วไปมีชื่อว่า ‘สารเซโรโทนิน’ ซึ่งถ้ามีระดับลดลงไปมากเนื่องจากขาดอาหารบางอย่างก็จะส่งผลต่อความเหนื่อยล้า สมาธิสั้น อารมณ์ไม่ดี มีความอยากนู้นอยากนี่ไปหมด และพลังกายพลังใจในการทำงานต่างๆ ประจำวันก็จะลดลง อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พวกเราก็คงไม่อยากเป็นแบบนี้กันใช่มั้ย

มาดูกันว่า สารเซโรโทนินประกอบด้วยอะไรบ้าง

สารเซโรโทนินนั้นประกอบด้วยกรดอะมิโน ทริปโตเฟน พร้อมกับสารอาหารอื่นๆ อย่างเช่นวิตามินบี 6 บี 12 และกรดโฟลิก สารทริปโตเฟนจะพบได้ในอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งในการให้สมองเข้าถึงสารและนำไปใช้งานได้นั้น จำเป็นต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรตและแร่ธาตุ เช่น สังกะสี แมกนีเซียม และแคลเซียม มาประกอบด้วย ดังนั้นการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตจึงมีส่วนช่วยทำให้การผลิตสารสื่อประสาทอย่างสารเซโรโทนินนั้นเพิ่มขึ้น และนี่คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงอยากของหวานประเภทที่ไม่เฮลตี้

เวลาระดับเซโรโทนินลดลง ร่างกายของเราจะสั่งการให้เรามีความอยากกินของหวานเพื่อที่จะทำให้ระดับสารกลับมาสู่ความสมดุลอีกครั้ง

และที่ต้องเป็นเหล่าของว่าง ของหวานต่างๆ ก็เพราะว่าเป็นอาหารที่แปรรูปมาแล้ว ทำให้ร่างกายของเราใช้เวลาย่อยเพื่อให้สารเซโรโทนินเข้าสู่ร่างกายอย่างง่ายดายและรวดเร็วที่สุด ปัญหาจึงมาอยู่ที่หลังจากที่เรากินของหวานเข้าไปแล้วรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นแล้วนั้น แป้งจากของหวานก็จะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นด้วย เมื่อระดับน้ำตาลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมันก็จะลดลงอย่างรวดเร็วตาม และวงจรอย่างนี้จะไม่หายไปไหนเลยถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการกินอาหารของเรา ดังนั้นการรับประทานอาหารที่ดี เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีนั้นคือสิ่งที่เราควรปฏิบัติ

เลือกยังไงให้ได้อาหารอารมณ์ดี

มาดูตัวอย่างของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ร่างกายต้องการและมีประสิทธิภาพมากกว่าของหวานแนวเบเกอรี่กัน ได้แก่ เมล็ดพืช ธัญพืชต่างๆ ผักและผลไม้สดเกษตรอินทรีย์ หรือจะเป็นผัก ผลไม้แช่แข็งแบบไม่มีน้ำตาลที่ล้างหั่นมาแล้วเพื่อความสะดวกก็ได้ พร้อมทั้งถั่วต่างๆ หรือสลัดควินัว ข้าวกล้องพันธุ์พื้นบ้าน ซุปข้าวโอ๊ต โจ๊กรำข้าว ซีเรียลธัญพืชแบบไม่มีน้ำตาล เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีโปรตีนที่จะช่วยเพิ่มปริมาณสารเซโรโทนินก็เช่น เนื้อไก่อินทรีย์ปลอดฮอร์โมนและสารเร่ง ปลาทะเลที่มีไขมันดีอย่างปลาอินทรีย์ ปลาแซลมอน เนื้อวัวและเนื้อหมูไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง และนมธัญพืชต่างๆ ซึ่งอาหารเหล่านี้ควรมีรวมอยู่ในมื้ออาหารและของว่างระหว่างวันของเราด้วย

นอกจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนแล้ว ดร.นายดูยังบอกอีกว่าแบคทีเรียในลำไส้ก็มีผลต่อสุขภาพจิตของเราเช่นกัน เพราะว่าแบคทีเรียเหล่านั้นมีหน้าที่สร้างสารเคมีในสมองหลายชนิด พูดง่ายๆ ก็คือ

ถ้าลำไส้ของเราอารมณ์ดี เราก็จะมีความสุขไปด้วย

ดังนั้นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นมิตรกับแบคทีเรียในลำไส้ที่เราควรกินบ่อยๆ ก็คืออาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) อย่างโยเกิร์ตออร์แกนิกไขมันต่ำ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ กล้วย กระเทียม มิโซะ กิมจิ และอาหารทะเลไขมันดีอย่างจำพวกปลา

อาหารที่ดีต้องปลอดภัยด้วย

เมื่อปลอดภัยจากอารมณ์ไม่ดีแล้ว อาหารที่ดีก็ต้องปลอดภัยจากสารพิษด้วย ซึ่งดูจากลิสต์แล้วเราก็จะพบว่าอาหารอารมณ์ดีหลักๆ ก็คือพวกผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ นมธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และอาหารทะเล ซึ่งวัตถุดิบควรมาจากเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี มีตราเครื่องหมายออร์แกนิกรับรองว่ามีที่มาจากชุมชนเกษตรกรใด เพราะจะการันตีได้ว่า Good Food Good Mood ของเรานั้น เป็น Good Food อย่างแท้จริงตั้งแต่แหล่งปลูกหรือแหล่งเลี้ยง จนมาถึงท้องและสมองของเรา

และถึงอาหารอาจจะไม่ใช่คำตอบของการดูแลสุขภาพทั้งหมด เพราะปัญหาทางสุขภาพบางอย่างมันก็ซับซ้อนกว่านั้น แต่การเปลี่ยนมากินอาหารที่ดีขึ้นนั้นแน่นอนว่าไม่มีผลเสีย และจะส่งผลดีต่อทั้งร่ายกายและอารมณ์ของเราแน่นอน

ที่มาข้อมูล:
www.eatsimply.co.uk
www.hormone.org
www.inews.co.uk
www.pebblemag.com
www.rootfunctionalmedicine.com
www.top-hashtags.com

เครดิตภาพ: 123rf