ถึงกิจกรรม Greenery Journey ชวนลุยสวน ล้อมวง ลงฟาร์มกับ ‘ลุงรีย์ & กำนันหนุ่ม’ จะเพิ่งจบลงไป แต่การส่งต่อแรงบันดาลใจดี ๆ ยังไม่จบลงง่าย ๆ เพราะเรานำภาพบรรยากาศสนุก ๆ และวิถีการบริโภคที่ยั่งยืนในวันงาน มาฝากกันให้ทุกคนที่ไม่ได้ไป ได้กรีนไปด้วยกัน!
ครั้งนี้ Greenery. จัดทริปพิเศษชวนเพื่อน ๆ หัวใจกรีนมาลงฟาร์มไส้เดือน ตะลุยฟาร์มเห็ด ลัดเลาะไปเปิดโลกสวนดอกไม้กินได้ ทำเวิร์กช็อปพาสต้าดอกไม้ ก่อนปิดท้ายด้วยมื้อพิเศษ OmakaHed ท่ามกลางความร่มรื่นจากฝนที่เพิ่งตก กลิ่นไอดิน ต้นหูกวางที่แผ่กิ่งก้านคลุมทั่วบริเวณฟาร์มลุงรีย์ พร้อมกับเสียงขับขานจากไก่และเสียงจากวงสนทนาของผู้รักการเรียนรู้วิถีกินดี กรีนดี ล้วนให้ความรู้สึกถึงพลังงานดี ๆ ที่กำลังหมุนเวียนอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้
ก่อนจะไปทำภารกิจสนุก ๆ เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery. ได้เล่าถึงที่มาของกิจกรรมว่าตั้งใจชวนให้ผู้คนได้ขยับเข้ามาใกล้ชิดชีวิตรักษ์โลกและรักตัวเองด้วยการบริโภคที่ยั่งยืน คือ กินอย่างไรดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อชุมชน รวมถึงเที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องเป้าหมายของ Greenery. ที่นำเสนอเรื่องราว Eat Good Live Green ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ตามแนวคิด Sustainable Lifestyle โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF – Thailand) ภายใต้โครงการเสริมสร้างการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (ระยะที่ 2) (SCP)
Greenery Journey ครั้งนี้เริ่มด้วยการที่พวกเราได้นั่งล้อมวงฟังแรงบันดาลใจดี ๆ จากลุงรีย์ ผู้สร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองย่านเพชรเกษม 46 ที่ยืนระยะมานับ 10 ปี เล่าว่า “ตั้งแต่เริ่มทำฟาร์มจนมาถึงวันนี้ได้เรียนรู้เยอะมาก สิ่งที่ผมอยากสื่อสารคือ ผมเองก็ไม่ได้เก่ง ไม่ได้จบสูง ไม่ได้ต้นทุนชีวิตหนาแน่นมาก เป็นเป็ดตัวหนึ่ง แต่มีความพยายามที่จะทำเสมอ”
“จริง ๆ กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ก็เหนื่อยระดับหนึ่ง แต่ระหว่างทางกลับพบว่าความเหนื่อยของเราทำให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่ไม่ได้มีประโยชน์กับคนในชุมชนเลย พอปีที่ 9 ขึ้นปีที่ 10 เพิ่งคิดได้ คือการมีคนอื่นในใจเรา พอคิดได้ก็เริ่มรู้สึกว่าแรงที่จะขับเคลื่อนมีมากขึ้นอีกหลายสิบเท่า เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ว่าเราจะทำต่อเนื่องได้อย่างไร คือการเอาตัวเองออกไปหาคนอื่นและตอบได้ว่าเราทำเพื่ออะไร ตรงนี้พอชัดแล้วก็จะไปต่อได้อย่างยั่งยืน”
“วันนี้ผมคิดว่าตัวเองเป็นเป็ดที่ได้ไปรู้หลายอย่างมาก จนสุดท้ายกลายเป็นองค์ประกอบในสิ่งที่เราอยากทำทุกวันนี้ คือเราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเดียว แต่เรารู้หลายเรื่องและเอามาใช้ชีวิตของเราได้…สิ่งที่อยากให้กำลังใจทุกคนคือ การเอาตัวเองออกไปได้เรียนรู้สิ่งที่คนอื่นทำ ผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่เป็นทางลัดที่ทำให้เราไปเจอสิ่งที่เราอยากทำ และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากสื่อสาร คือเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งผมว่าตรงนี้เป็นจุดแข็งสำหรับคนที่สนใจกระโดดเข้ามาทำตรงนี้”
ต่อด้วยกำนันหนุ่ม เจ้าของแบรนด์น้ำตาลสดดอกมะพร้าว ธุรกิจสีเขียวที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีวางจำหน่ายตามร้านอาหารชั้นนำ แชร์ถึงจุดเริ่มต้นให้พวกเราฟังว่า ตัวเองเป็นอดีตมนุษย์เงินเดือนในยุคฟองสบู่ ทำให้ต้องออกจากงานมา และโชคดีที่มีโอกาสได้รู้จักศาสตร์ของพระราชา ที่ไม่ได้มองเพียงแค่ผลกำไรจากการทำธุรกิจ แต่มองถึงความยั่งยืน คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและโลก จนได้มาปรับใช้วิถีชีวิตของตัวเอง
“ผมก็ค่อย ๆ เดิน เดินมาแบบมั่ว ๆ เป็นเป็ดเหมือนลุงรีย์ และก็ว่ายน้ำไม่เก่ง บินก็ไม่ได้ แต่เอาทุกสิ่งมาประกอบกันเป็นกำนันหนุ่ม จนวันนี้ผมก็ทำน้ำตาลสด ได้มาเจอ Greenery. ได้มารู้จักลุงรีย์ ได้มาขายของกับเครือข่าย ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน จุดนี้ผมก็มองเป็นความยั่งยืนนะ และก็ชื่นใจ ผมก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่สนใจในแนวทางนี้ บางคนบอกกับผมว่าปลูกผักไม่ขึ้น ผมอยากบอกว่าไม่มีหรอกมือร้อนมือเย็น มีแต่ใจร้อนใจเย็น”
หลังจากได้ฟังพลังใจดี ๆ ลุงรีย์ก็ได้เสิร์ฟเครื่องดื่มสูตรพิเศษให้กับผู้ร่วมขบวนการกินดีทั้ง 30 คน ได้ลิ้มลอง โดยใช้วัตถุดิบเป็นน้ำตาลสดจากดอกมะพร้าวแท้ 100% ไร้สารกันเสีย ไม่เจือสีสังเคราะห์ใด ๆ ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองว่าเป็นอาหารปลอดภัย ที่กำนันหนุ่มได้ผนวกองค์ความรู้ในวิถีดั้งเดิมภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการสวนมะพร้าวและช่วยในการถนอมอาหาร รวมถึงมีการจัดการโดยใช้วิธีธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ เพื่อรักษา Ecosystem ด้วยแตนเบียนจากศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนของป้าสุกัญญา เพื่อป้องกันหนอนหัวดำที่จะเข้ามาจู่โจมสวน
และก็มาถึงช่วงเวลาเปิดประสบการณ์ตัดเห็ดสด ๆ จากฟาร์ม ที่พาเราย้อนไปเรียนรู้ ตั้งแต่การกำจัดเศษขยะอาหารผักผลไม้ในครัวเรือน ไปเป็นอาหารให้ไส้เดือน ด้วยการทดลองฉีกผักเหล่านั้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงไปในดินแล้วกลบเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาตอม เพราะแมลงอาจเป็นอันตรายกับไส้เดือน โดยหลักการใส่อาหารไม่ควรเกิน 1 เท่าตัวของปริมาณไส้เดือน และไม่ใช้เศษอาหารที่มีฤทธิ์เผ็ดหรือเป็นกรด
พอไส้เดือนได้กินอาหาร ก็จะผลิตเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งเรายังต่อยอดไปทำน้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือนได้อีก ด้วยการเก็บมูลไส้เดือนที่เลี้ยงมาไม่ต่ำกว่า 1 อาทิตย์ ปริมาณ 1 กิโลกรัม ใส่ถุงและนำไปจุ่มน้ำคล้ายชงชาหรือจะสลับกับบีบคั้นเล็กน้อยก็ได้ และทิ้งไว้คืนหนึ่ง ก่อนจะกรองน้ำหมักเอนไซม์เมือกไส้เดือน แล้วนำไปใช้รดต้นพืชได้ตามต้องการ
แต่คลาสนี้ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเรายังได้เปิดประสบการณ์ต่อด้วยการอาบน้ำไส้เดือน เพื่อให้เหล่าน้องไส้เดือนตัวนุ่มหนึบกินได้เยอะขึ้นและผลิตเมือกใหม่ขึ้นนั่นเอง ทั้งยังได้รู้จักเหล่าน้อง ๆ ถึง 3 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ Af, พันธุ์ Tiger และพันธุ์ Blue worm ที่เมือกจะมีกลิ่นหอมเหมือนดอกโมก
จากนั้นฟาร์มลุงรีย์ยังชวนเรียนรู้ไปถึงการนำมูลไส้เดือนร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไปเลี้ยงเห็ด พาเราไปเพาะเห็ด ตัดเห็ด จนเห็นภาพขั้นตอนสุดท้ายที่เส้นใยเห็ดย่อยเป็นดิน และดินที่เหลือจากเห็ดกลับไปปลูกต้นไม้ต่อได้อีก เกิดวงจรเกื้อหนุนอย่างยั่งยืน
จบจากคลาสเห็ด เราลัดเลาะไปเปิดโลกสวนดอกไม้กินได้ ดูระบบนิเวศในเมืองกันต่อที่ ‘บ้านสวนคุณตาคุณยาย’ ซอยเพชรเกษม 42 แยก 1 สวนเกษตรแบบผสมผสาน ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้สีสวยน่าลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น ดาวกระจาย บางชื่น พวงชมพู กล้วยไม้ ไฟเดือนห้า ช้อนทอง เล็บมือนาง แวววิเชียร หางนกยูงไทย มากาเร็ตบอเนียว เป็นต้น ทั้งยังได้ทริกเล็ก ๆ ในการเก็บดอกไม้กินได้จากคุณกุ้งเจ้าของสวน แนะนำว่าดอกไหนมียางไม่สามารถกินได้ ส่วนรสของดอกไม้มี 9 รส สรรพคุณเหมือนสมุนไพรไทย และทุกดอกที่นี่กินได้อย่างปลอดภัยเพราะไร้สารเคมี นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นที่เพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลาแบบอินทรีย์ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยและย่อยสลายเศษอาหาร ฯลฯ โดยร่วมกับชุมชนใกล้เคียงและภาคีเครือข่าย
ได้ทักษะการเก็บดอกไม้มาแล้ว ก็กลับมาเก็บเกี่ยวทักษะการทำพาสต้าดอกไม้กันต่อกับคุณลิล ที่มาร่วมสาธิตขั้นตอนทำพาสต้าเส้นสด ตั้งแต่ แนะนำสัดส่วนวัตถุดิบ การแหวกแป้ง นวดแป้ง ตีไข่ ใส่น้ำมันมะกอก พักแป้ง ก่อนจะแบ่งกลุ่มกันไปรีดแป้งของตัวเอง แซมดอกไม้กินได้ที่เก็บมาจากสวนลงในแผ่นแป้งตามใจต้องการ ก่อนจะกรีดแป้งเป็นเส้น ๆ แล้วม้วนเส้นสดกลับบ้านเป็นที่ระลึก แถมยังได้เคล็ดลับดี ๆ กลับไปทำต่อเองที่บ้านได้อีกด้วย
ปิดท้าย Greenery Journey ด้วยมื้อพิเศษ OmakaHed อีกธุรกิจรักษ์โลกของฟาร์มลุงรีย์ ที่คนกินสามารถรู้ที่มาที่ไปของอาหาร กับเซ็ตเมนูเห็ด ๆ ตั้งแต่ เมนูดอกเห็ดหิมะย่างโชยุเสิร์ฟกับเต้าหู้, เห็ดหูหนูน้ำมันงา, เห็ดเข็มทองทอด ก้านเห็ดไซส์บิ๊กที่แปลงร่างเป็นหอยเชลล์ ใบไชยาทอด สาหร่าย เสิร์ฟกับแจ่วเห็ดเผา, ก้านเห็ดผัดโคชูจังแกล้มกับไชเท้าดอง, เห็ดโคนน้อยย่าง, ขาเห็ดดองน้ำมันสลัด และซุปมิโซะเห็ด
ทุกเมนูใน OmakaHed เราจะได้ลิ้มรสชาติอันหลากหลายและเคี้ยวสนุกปากมาก ๆ อีกทั้งยังสัมผัสได้ว่าทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ตั้งแต่การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเป็นปุ๋ย การปลูกผัก การเพาะเห็ด การดองผัก การดองเห็ด และการใช้ทุกส่วนของเห็ดอย่างคุ้มค่า เพื่อให้คนกินได้สัมผัสความอร่อยทุกส่วนของเห็ด และเป็นการลดขยะให้น้อยที่สุดนั่นเอง
Greenery Journey ครั้งนี้จึงเป็นทริปที่ทำให้เรามองเห็นวิถีการบริโภคที่ยั่งยืนและมิติทางสังคมอันหลากหลาย รวมถึงได้องค์ความรู้เทคนิคการเกษตรจากผู้ที่ลงมือทำจริง แถมยังได้ความอิ่มเอมใจกับการได้เจอเพื่อนร่วมลุยที่ได้มาสนุกกับวิถีกินดี กรีนดี อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน!