ทายาทธุรกิจโรงแรมที่หันมาบุกเบิกโมเดลสุดเท่ เชื่อมโยงห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นจริงที่สามพราน

โอ-อรุษ นวราช คืออดีตมนุษย์เงินเดือนที่ลาออกจากชีวิตคนเมืองแล้วหันมาสานต่อกิจการโรงแรมของครอบครัวในฐานะกรรมการผู้จัดการแห่งสามพราน ริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) หลังริเริ่มนำผักอินทรีย์มาขายในโรงแรมและได้พบปัญหาจริงๆ ของเกษตรกร เขา ‘พลิกปัญหา’ นั้นให้กลายเป็นโครงการ ‘สามพรานโมเดล’ เชื่อมโยงห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โครงการของเขาช่วยเหลือทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และช่วยให้ตัวเขาเองเห็นมุมมองชีวิตแบบใหม่เป็นรูปวงกลม แทนที่จะเป็นกราฟเส้นตรงอย่างเคย

เชฟไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเชฟหญิงที่ดีที่สุดในเอเชีย เจ้าของร้านอาหารไทยพรีเมี่ยมที่เสิร์ฟอาหารจากภูมิปัญญาดั้งเดิม

โบ-ดวงพร ทรงวิศวะ คือหญิงสาวที่จบการศึกษาด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย สั่งสมความรักและความชอบเกี่ยวกับอาหาร รวมทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง ภูมิปัญญาท้องถิ่น การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ผสมรวมกันแล้วปรุงออกมาเป็นอาหารไทยสุดพรีเมียมในร้าน ‘โบ.ลาน’ 1 ใน 50 ร้านอาหารยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย เสิร์ฟอาหารไทยจากภูมิปัญญาดั้งเดิม คัดสรรแต่วัตถุดิบท้องถิ่นในประเทศ และใส่ใจเรื่องความยั่งยืนผ่านการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ในการจัดการร้านอาหาร

หนุ่มสุรินทร์ที่หอบปริญญาจากกรุงกลับบ้านไปเป็นชาวนา และสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือเกษตรกรตัวเล็กๆ

อนุกูล ทรายเพชร คือหนุ่มสุรินทร์ที่เติบโตและซึมซับความเจ็บปวดของการเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก ต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตมากมายเข้ามากรุงเทพฯ จนได้โอกาสศึกษา folklore เรื่องเล่า วิถีชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น หลังเรียนจบ ได้คลุกคลีและเป็นที่ปรึกษาให้เกษตรกรจนอิ่มตัว จึงตัดสินใจหอบปริญญากลับบ้านไปเป็นชาวนาและสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้าพื้นเมืองผ่านรูปแบบกิจการเพื่อสังคมในชื่อ ‘FolkRice’ ที่มุ่งสร้างกำไรให้เกษตรกรรายย่อยไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้ผู้บริโภคได้กิน

หญิงสาวที่สื่อสารเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร ผ่านกิจการขายอาหารทะเลที่อร่อย สด ปลอดภัย ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ตุ๊ก-เสาวลักษณ์ ประทุมทอง คือเจ้าของโปรเจกต์ที่ทำให้ทุกคนตั้งคำถามกับกุ้งหอยปูปลาที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เธอแอบถ่ายทอดความรู้เรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลแบบแนบเนียนผ่าน ‘คนจับปลา’ หรือ ‘Fisherfolk’ กิจการเพื่อสังคมที่จำหน่ายอาหารทะเล ส่งตรงจากชาวประมงพื้นบ้านถึงมือผู้บริโภคโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ผู้บริโภคผู้เห็นแก่กินอย่างเราๆ ได้เข้าใจว่า วิธีดูอาหารทะเลปลอดภัยคืออะไร ทำไมเราต้องรู้จักห่วงโซ่อาหารในทะเล และการ ‘เลือก’ กินกุ้งหอยปูปลาของเรา ส่งผลต่อโลกและตัวเรามากขนาดไหน

เจ้าชายผู้ขับเคลื่อนเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษมาเป็นสิบปี และยังไม่มีใครโค่นตำแหน่งของเขาลงได้เลย

ปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร คือนักลงทุนที่ไม่ได้ลงทุนด้วยเม็ดเงิน แต่ลงทุนด้วยการปลูกฝังเมล็ดแห่งวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองผ่านเกษตรยั่งยืน องค์ความรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อบริโภคที่เขาถ่ายทอดให้คนเมืองมากว่าสิบปีผ่าน ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง’ ทำให้เขาได้รับฉายา ‘เจ้าชายผัก’ ปัจจุบัน คอร์สอบรมของเจ้าชายผักมีเป้าหมายในการสร้างสังคมสีเขียวและความมั่นคงทางอาหารด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องวิถีชีวิตที่จะทำให้เรากลายเป็นคน ‘รวย’ ด้วยสกุลเงินที่มีค่าที่สุดก็คือ สุขภาพ

อดีตสาวโรงงานที่กลับบ้านไปเป็นชาวนา ลุกขึ้นสู้ปัญหาด้วยตัวเองผ่านการสร้างเครือข่ายตลาดสีเขียวที่ขอนแก่น

อ้อม-ปาณิศา อุปฮาด คือสาวนักสู้ที่หนีความกดดันและการแข่งขันในสังคมกรุงเทพฯ กลับไปเป็นชาวนา แล้วกลับพบปัญหาของชาวนาตัวจริงที่หนักหนากว่าเดิม แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ ปรับตัวมาทำเกษตรอินทรีย์ และตัดสินใจริเริ่ม ‘ตลาดสีเขียวขอนแก่น’ ให้เกิดขึ้นทุกวันศุกร์ที่ริมบึงแก่นนคร จากตอนแรกที่มีผู้เข้าร่วมแค่หลักสิบ จนกลายเป็นเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็ง สร้างพื้นที่สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น วิถีเกษตรอินทรีย์ และนำผู้ผลิตอาหารปลอดสารพิษให้มาเจอกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ขอนแก่นมาก่อนหน้านี้

หนุ่มเจ้าของโปรเจกต์กาแฟสุดเซอร์ ชวนชาวดอยมูเซอปลูกกาแฟออร์แกนิกรักษาป่า

หมีพูห์-ธนภณ เศรษฐบุตร คืออดีตหนุ่มออฟฟิศที่เคยผ่านงานด้านเทรดดิ้งและฝ่ายขาย แต่ยังรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ชีวิตต้องการ หลังค้นหาตัวเองจนเจอว่าคลิกกับการทำงานเพื่อสังคม เคยร่วมงานองค์กร Change Fusion และขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมอย่าง ‘นกฮูกกรุ๊ป’ ก่อนจะมาร่วมผลักดัน ‘กาแฟมูเซอ’ กาแฟออร์แกนิกที่ปลูกโดยชาวดอยมูเซอ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านผ่านผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารพิษในราคาที่เป็นธรรม และให้ความรู้ผู้บริโภคเรื่องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผ่านการจิบกาแฟแล้วตั้งคำถาม

สาวเอเจนซี่โฆษณาที่พลิกชีวิตหลังป่วย ช่วยคนเมืองให้ได้กินอาหารดีๆ ด้วยธุรกิจผูกปิ่นโตออร์แกนิกส่งถึงบ้าน

เอ-กฤตยา สัณฑมาศ คือสาวที่เคยใช้ชีวิตคนเมืองอย่างเต็มรูปแบบ ทำงานหนักหน่วงตามประสาคนเอเจนซี่โฆษณา จนกระทั่งรู้ว่าตัวเองป่วย จึงเริ่มลงลึกเรื่องอาหารการกินและได้ค้นพบความจริงที่น่ากลัวของอาหารที่คนทั่วไปกินอยู่ เธอตัดสินใจร่วมกับเพื่อนอีก 7 คนก่อตั้ง ‘Thank God It’s Organic’ บริการส่งอาหารปิ่นโตออร์แกนิกถึงบ้าน ออกแบบภาชนะให้สวย น่ากิน และสร้างสรรค์ มุ่งหวังให้กระแสออร์แกนิกกลายเป็นเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่และคนเมืองหันมาใส่ใจ เปลี่ยนวิถีการกินและเลือกกิน จากที่เคยเพิกเฉยเช่นเดียวกับตัวเธอเองก่อนหน้านี้

นักออกแบบสาวฟรีแลนซ์ที่เคยปั่นงานจนป่วย เลยเปลี่ยนวิถีชีวิตมาปั่นน้ำผักผลไม้ขาย และปั่นจักรยานส่งถึงมือคนดื่ม

จัง-ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ คืออดีตเด็กสาวไฮเปอร์อยู่ไม่สุข ชอบออกกำลังกาย แต่หันมาเอาดีด้วยการจับปากกาวาดรูป กลายเป็นนักออกแบบอิสระที่บ้างาน ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนลืมดูแลสมดุลของชีวิต จังหวะที่ป่วยหนักและต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองทำให้เธอได้เรียนรู้และเข้าใจร่างกาย เกิดไอเดียอยากส่งต่อแนวคิดนี้ผ่านกิจการน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ ‘ปลูกปั่น’ สูตรน้ำผัก 5 สีที่ส่งถึงมือคนดื่มด้วยการปั่นจักรยาน โมเดลธุรกิจที่สมดุลนี้ทำให้เธอได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม และทำให้เธอได้สมดุลของชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง

ชายหนุ่มผู้ถนัดตีความอาหารออกมาเป็นความรู้ ผ่านการจัดกิจกรรมที่ให้ประสบการณ์ใหม่ที่ลึกไปกว่าความอร่อย

กาย ไล มิตรวิจารณ์ คือหนุ่มไทยเชื้อสายเวียดนามเจ้าของร้านอาหาร ‘ตงกิง อันนัม’ ที่อุดมไปด้วยเรื่องเล่าและรากเหง้าจากบรรพบุรุษ ความสนใจและประสบการณ์ของกายที่มีต่ออาหารในแง่มุมที่ลึกซึ้งไปกว่าความอร่อย ไม่ว่าจะการเชื่อมโยงในเชิงวัฒนธรรม สังคม หรือแม้กระทั่งการเมือง! ทำให้เขาและเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง ‘FACT Collective’ บริษัทให้คำปรึกษาและวางแผนเกี่ยวกับอาหารผ่านรูปแบบจัดกิจกรรมที่มีรูปแบบแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และน่าสนใจ เพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจหลักการพื้นฐานของอาหารที่ต้องดี สะอาด และเป็นธรรม รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย

นี่แค่เรื่องราวเรียกน้ำย่อยเท่านั้น อยากชักชวนให้ออกมาฟังเรื่องเล่าและรับพลังงานแบบเต็มๆ จาก 10 คนจริงในวงการ ‘กินดี’ เหล่านี้ ขุดตัวเองขึ้นจากเตียงในเช้าวันอาทิตย์ แล้วมาเจอกันที่งาน Greenery Talk 2017: Eat Good. Live Green.

Greenery Talk 2017: Eat Good Live Green

วัน/เวลา: อาทิตย์ที่ 16 กรกฏาคม 2560 / 13.00-17:30 น.

สถานที่: ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

รายละเอียด/สำรองที่นั่ง:
www.greenery.org/talk

ข่าวความเคลื่อนไหว:
www.facebook.com/events/133166893935302

ค่าใช้จ่าย:
300 บาทต่อที่นั่ง ผู้ร่วมงานจะได้รับเสื้อยืด Greenery ของว่าง และคูปองมูลค่า 100 บาทสำหรับใช้จ่ายที่ Greenery Market

ติดต่อสอบถาม:
contact@greenery.org
089-949-6398 (เชษ)