เนื้อไก่นั้นเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ต้องมีติดตู้เย็นของหลายๆ บ้าน เพราะทั้งอร่อย นำมาทำเมนูได้หลากหลาย หาซื้อง่าย แถมยังราคาไม่แพง แต่หลายๆ ครั้งเราก็ได้ยินข่าวคราวน่ากังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยของเนื้อไก่ อย่างการใช้ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะระหว่างเลี้ยงที่อาจจะตกค้างอยู่ในเนื้อไก่ที่เรากิน  

นอกจากเรื่องสารตกค้างแล้ว อีกหนึ่งความกังวลใจเกี่ยวกับเนื้อไก่ก็คือปริมาณของพิวรีนหรือกรดยูริก ที่สูงกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ อย่างเนื้อหมูหรือเนื้อวัว ทำให้คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต โรคนิ่ว และโรคเกาต์ต้องหลีกเลี่ยง แต่ตอนนี้เรามีทางเลือกของไก่ปลอดภัยที่คนเป็นเกาต์หรือต้องควบคุมกรดยูริกก็สามารถกินได้ นั่นก็คือ ไก่โลว์ยูริก หรือ ไก่ KUU1 ไก่สายพันธุ์ใหม่ที่จะมาตอบโจทย์คนกินไก่ทุกๆ คน

รู้จักไก่โลว์ยูริก

ไก่โลว์ยูริก หรือ ไก่ KUU1 เกิดขึ้นจากการปรับปรุงสายพันธุ์โดยศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้นำไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ชีมาผสมกับไก่พันธุ์เนื้อปกติที่ในระบบอุตสาหกรรมเนื้อไก่ ใช้ระยะเวลาพัฒนาสายพันธ์ุอยู่ 7 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จได้เป็นไก่สายพันธุ์ KKU1 เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

คุณสุเมธ มั่งคั่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ผู้ดำเนินงานประสานกับเกษตรกรและจัดจำหน่ายไก่โลว์ยูริก เล่าถึงที่มาของไก่ให้เราฟังว่า “ตอนแรกทางศูนย์เครือข่ายฯ ต้องการคัดเลือกสายพันธ์ุไก่เพื่อพัฒนาให้เป็นไก่สวยงาม แต่พอวิจัยไปแล้วพบว่าไก่พันธ์ุที่ได้มามียูริกต่ำ สอดคล้องกับเทรนด์การกินของคนไทยที่หันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งไก่เองก็เป็นวัตถุดิบที่หลายๆ คนชอบเนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ แต่ด้วยปริมาณพิวรีนของไก่ปกติที่สูงถึงประมาณ 6 มิลลิกรัมต่อกรัม ทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องงดกินไก่ทั้งๆ ที่ชอบ นักวิจัยจึงมุ่งพัฒนาสายพันธ์ุมาเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ จนได้ไก่ที่มีกรดยูริกต่ำกว่าท้องตลาดประมาณ 3 เท่าคือมียูริกเพียง 2 มิลลิกรัมต่อกรัมเท่านั้น”

ที่ผ่านมาสัตว์ปีกอย่างไก่อยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่มีปริมาณสารพิวรีนสูง โดยเฉพาะบริเวณข้อ ปีก และเครื่องใน ซึ่งสารพิวรีนนี้เองที่จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด และหากเรามีระดับกรดยูริกในเลือดสะสมในปริมาณที่สูงผิดปกติ ก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ โรคนิ่ว รวมถึงโรคไตอักเสบได้ ไก่ KKU1 จึงไม่เพียงแค่มาช่วยคนเป็นเกาต์ แต่คนทั่วไปก็กินดีด้วย เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ของเราทุกคน

ไก่เลือดสายพันธ์ุไทย แข็งแรงไม่ต้องพึ่งยา

นอกจากนี้ ไก่ KKU1 ยังมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ เนื่องจากเป็นไก่พันธ์ุผสมจากไก่พื้นบ้าน “ไก่ KUU1 เป็นไก่ลูกเสี้ยวอีสาน คือมีเลือดไก่พันธ์ุพื้นบ้านอยู่ ในกระบวนการพัฒนาสายพันธ์ุจะมีการใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาทำเครื่องหมายพันธุกรรม โดยเจาะเลือดดูพันธุกรรมของไก่ก่อน ทำให้เราเห็นว่าไก่มีระดับเลือดพันธ์ุพื้นบ้านที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งระดับเลือดนี้จะทำให้เราได้ไก่ที่มีข้อดีของไก่บ้านคือเนื้อแน่น ไขมันต่ำ โปรตีนสูง ยูริกต่ำ และก็ยังได้ข้อดีของไก่พันธ์ุต่างประเทศอย่างเนื้อนุ่มและโตไวด้วย”

คุณสุเมธเล่าเพิ่มเติมว่า “โดยปกติแล้ว ไก่ที่ขายกันในท้องตลาดทั่วไปจะเป็นไก่ที่นำพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุมาจากต่างประเทศ ข้อดีของไก่นอกคือมันโตเร็ว แป๊บเดียวก็ขายได้ แต่ปัญหาคือการเลี้ยงไก่จากเมืองนอกต้องเลี้ยงในระบบปิด โรงเรือนต้องเย็น ต้องลงทุนเยอะ และเสี่ยงเป็นโรคง่ายจากพื้นที่แออัด และทำให้ไก่เกิดความเครียด บางฟาร์มจึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคจากไก่

“แต่ไก่ KUU1 มีเลือดของไก่พื้นเมือง ทำให้เขาเป็นไก่ที่แข็งแรงทนทานต่อภูมิอากาศบ้านเรา สามารถเลี้ยงปล่อยในฟาร์มระบบเปิดของเกษตรกรแต่ละคน ปัจจุบันเรามีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ 70 ราย เลี้ยงมาตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงตอนนี้ ยังไม่เจอปัญหาอะไรที่ร้ายแรง เพราะเขาแข็งแรงกันอยู่แล้วไม่ต้องใช้ยา”

สารพัดข้อดีของไก่บ้านทั้งเนื้อสัมผัสแน่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ แถมยังมีโปรตีนสูง ยูริกและไขมันต่ำ  และที่สำคัญยังเลี้ยงง่าย แข็งแรงทนต่อโรค เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจึงต้องปรับปรุงสายพันธุ์อีก

คุณสุเมธตอบข้อสงสัยของเราว่า “ที่ต้องปรับปรุงสายพันธ์ุ เพราะไก่บ้านใช้เวลาเลี้ยงค่อนข้างนาน ใช้เวลา 2 เดือนขึ้นไป ต่างจากไก่พันธ์ุต่างประเทศที่ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 1 เดือน ทำให้ไก่บ้านไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรก็ไม่อยากเลี้ยงเพราะได้เงินช้า แต่ไก่พันธุ์ผสมมีอายุการเลี้ยงสั้นลงเหลือ 5 สัปดาห์ก็โตเต็มวัย ช่วยแก้จุดด้อยเรื่องนี้ได้”

นอกจากความปลอดภัยแล้ว อีกวัตถุประสงค์สำคัญในการพัฒนาไก่ของนักวิจัยคือการให้ไก่ KUU1 สามารถทดแทนการนำเข้าไก่จากต่างประเทศ 

“นอกจากจะได้ไก่ที่ปลอดภัย เรายังต้องการช่วยให้เกษตรกรรายเล็กสามารถเลี้ยงไก่สร้างรายได้และถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชุมชนด้วย เพราะไก่พื้นเมืองยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละท้องถิ่น ที่เราควรอนุรักษ์พันธุกรรมเอาไว้เพื่อความยั่งยืนทางอาหารในอนาคต”

สามารถหาซื้อไก่โลว์ยูริกได้ที่ Foodland, Villamarket, Lemon Farm, TOPS market และ Agro Outlet คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาพถ่าย: Khon Kaen Chick ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธ์ุสัตว์-ไก่พื้นเมือง