‘เรียบง่าย เน้นการใช้งาน และเป็นมิตรต่อโลก’
หากพูดถึงคุณสมบัติเหล่านี้ มีภาพสินค้าแบรนด์ไหนผุดขึ้นมาในความคิดของคุณกันบ้าง สำหรับฉัน ชื่อแรกที่ไม่ต้องเสียเวลาคิดให้หนักใจ เห็นจะเป็นแบรนด์ที่ประกาศแนวคิด ‘ของดีไม่ (จำเป็นต้อง) มียี่ห้อ’ ผ่านชื่อภาษาญี่ปุ่นออกมาโต้งๆ อย่าง MUJI (ที่มาจากคำว่า Mujirushi (ไร้ยี่ห้อ) Ryōhin (สินค้าคุณภาพดี)) แบรนด์ยอดฮิตของชาวมินิมอลส่งตรงจากดินแดนอาทิตย์อุทัยนี้เอง
กว่า 37 ปีนับจากวันก่อตั้งเมื่อปี 1980 MUJI ยังคงเดินตามแนวคิดตั้งต้น คิดค้นและพัฒนาสินค้าคุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันออกมามากมายกว่า 7,500 รายการ ไม่ว่าจะเป็นหมวดเครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องนอน เสื้อผ้า ของใช้นักเดินทาง เครื่องสำอาง ไปจนถึงอาหารและเครื่องดื่มแบบบรรจุถุง เรียกว่าครบครันและครอบคลุมมากพอสำหรับการดำเนินชีวิตตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งเข้านอนเลยทีเดียว
แต่ดูเหมือนว่าในปีนี้ MUJI จะไม่ได้พอใจกับแค่บทบาทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าสำเร็จรูปแต่เพียงเท่านั้น เมื่อล่าสุด การกลับมาของร้านค้าสาขายูราคุโจ สาขาใหญ่ที่สุดใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้สร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่ให้กับลูกค้าของแบรนด์ด้วยการเปิดพื้นที่เซกชั่นใหม่สำหรับสินค้าประเภทผักและผลไม้ส่งตรงจากฟาร์มของเกษตรกรผู้ผลิตที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี หรือใช้แค่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
MUJI ได้ให้คำอธิบายสำหรับเป้าหมายของการเริ่มต้นวางจำหน่ายวัตถุดิบสดๆ จากธรรมชาติเป็นครั้งแรกนี้ว่า พวกเขาไม่เพียงมองเห็นว่าในบรรดาปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของคนเรา ‘อาหาร’ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดเท่านั้น หากแต่ยังคาดหวังว่านี่คือโอกาสที่จะทำให้ผู้ซื้อได้ตระหนักถึงบทบาทของผู้ผลิต ตลอดจนสถานที่ที่อาหารได้ถูกผลิตขึ้นมา รวมไปถึงยังเป็นการช่วยทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอาหารอีกด้วย
ซึ่งความพยายามนั้นได้สะท้อนออกมาผ่านการเลือกสรรผัก-ผลไม้ที่นำมาวางจำหน่ายอย่างตั้งใจ แทนที่จะวางขายผลผลิตให้หลากหลายที่สุดเพื่อแข่งขันกับตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ MUJI เลือกที่จะจำหน่ายแต่ผักผลไม้ตามฤดูกาลเท่านั้น เพื่อกระตุ้นให้คนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และในอนาคตพวกเขายังวางแผนอีกว่าจะเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับพืชผักพื้นบ้านหายากที่ในปัจจุบันอาจไม่ได้พบเห็นได้บ่อยในเมืองใหญ่ทั่วไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความน่าชื่นชมที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ ก็คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารแบรนด์ต่อปัญหา Food Waste อย่างที่รู้กันว่ากว่าจะมาเป็นผักผลไม้รูปร่างสวยงามที่อยู่บนเชลฟ์ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป มีผลผลิตรูปร่างไม่สมประกอบจำนวนไม่น้อยที่ถูกคัดทิ้งในระหว่างกระบวนการผลิต ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะได้เห็น มะเขือเทศรูปร่างบิดเบี้ยว ข้าวโพดเมล็ดเรียงแถวไม่สวย หรือแครอทเป็นตะปุ่มตะป่ำ (แต่รสชาติหวานฉ่ำจากธรรมชาติแท้ๆ) เรียงแถวกันหน้าสลอนบนกระบะไม้เต็มบริเวณชั้น 1 ของตัวร้าน รอให้คนมาจับจ่ายไปประกอบอาหาร
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น อย่างที่บอกไปว่าเป้าหมายแรกของการเปิดพื้นที่ใหม่ครั้งนี้ของ MUJI เป็นไปเพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อและเกษตรกรผู้ผลิตเข้าไว้ด้วยกัน ในอนาคตอันใกล้พวกเขาจึงวางแผนว่านอกจากป้ายบอกราคาแล้ว บริเวณชั้นวางผลผลิตยังจะมีป้ายข้อความสั้นๆ จากผู้ผลิตส่งตรงถึงผู้บริโภค และป้ายคำแนะนำที่เหมาะสมในการรับประทานสำหรับแต่ละฤดูกาลอีกด้วย (โอ้ย น่ารักจริงๆ)
สำหรับใครที่มีโอกาสได้แวะเวียนไปแถวๆ ย่านยูราคุโจตอนไปเที่ยวโตเกียว ก็อย่าพลาดที่จะแวะเข้าไปเยี่ยมชมร้าน MUJI สาขาใหญ่สาขานี้กันดูสักหน่อย แม้จะไม่สามารถหอบหิ้วเจ้าผักผลไม้เหล่านี้กลับบ้านมาได้ แต่ก็ยังมีสินค้าแปรรูปอื่นๆ อาทิ ขนมขบเคี้ยวที่มีผักเป็นส่วนผสม หรือเครื่องปรุงสำหรับปรุงอาหารจานผัก ให้ได้ช้อปปิ้งกันมากกว่า 300 รายการ หรือจะแวะเข้าไปนั่งจิบกาแฟหอมๆ ละเลียดขนมปังและซุปผักโฮมเมด (ซึ่งก็ทำมาจากผักที่วางขายบริเวณชั้น 1 นั่นแหละ) ที่ Café&Meal MUJI ชั้น 2 ก็ดูจะดีต่อใจไม่ใช่น้อย
พิกัดร้าน: Yurakucho ชั้น 1-3, 3-8-3 Marunouchi, Chiyoda-ku, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
เวลาเปิดทำการ: 10.00 – 21.00 น.
www.muji.com