“ทุกคน…เอาอาหารมากินด้วยกันนะ”

ข้อความไลน์จากฝ่ายบริหารกิจการออฟฟิศเด้งขึ้นมาในกรุ๊ปใหญ่เมื่อหลายเดือนที่แล้ว พร้อมโปสเตอร์งานสวยสด เพราะเกิดความคิดที่จะจัด Potluck หรือการให้ทุกคนนำอาหารมารวมกันที่โต๊ะกลาง และ ‘แลกกันกิน’ แบ่งปันของเธอ ของฉัน เป็นหม้อรวมความโชคดีคล้ายปาร์ตี้คริสมาสต์สมัยเรียนมัธยมอะไรทำนองนั้น  

ครั้งแรกที่ได้ยิน หลายคนร้องเฮเบาๆ เพราะเป็นช่วงใกล้สิ้นเดือนพอดี เราจะมีของอร่อยกิน เราจะไม่อดตาย เราจะได้ลองอะไรใหม่ๆ และไม่ต้องกินเมนูจำเจที่ร้านข้าวเจ้าประจำอีกต่อไป (ของตัวเองจะเอาอะไรมายังไม่รู้นะ แต่หวังในอาหารของคนอื่นมากทีเดียว) ที่สำคัญคือ ขอแค่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการกิน พวกเราก็ชอบทั้งนั้นแหละ!  

ถึงวันจริงขึ้นอยู่กับศรัทธาล้วนๆ ใครสะดวกทำก็ทำใส่กล่องใส่หม้อมา ใครขี้เกียจทำ ลืมหรือถนัดซื้อก็เดินไปซื้อแล้วเอามาแจมกับส่วนกลาง เราได้เห็นจานอาหารเรียงรายวางเป็นแถว หลายคนดูจะสนุกสนานกับการส่องและเล็งอาหารเพื่อน ต่อคิว จิ้มโน่นกินนี่ไปด้วยกัน คำถามว่ากินอะไรดี กินอันนี้สิอร่อย กลายเป็นหนึ่งในบรรยากาศที่สร้าง Team Building ได้อย่างน่ารัก ‘เชื่อมคนด้วยอาหาร’ วิธีนี้ได้ผล!

หลังจากวันนั้น บริษัทจัด Potluck อีกครั้งในช่วงตรุษจีนผสมกลิ่นอายวันวาเลนไทน์ คราวนี้ไม่ใช่แค่กินสร้างความสามัคคี แต่อาหารยังช่วยชวนให้คนอยู่ฟังประกาศกิจกรรมกีฬาสีที่กำลังจะมาถึงด้วย  

สองครั้งที่ผ่านมาทำให้เราเริ่มสนใจ Potluck มากขึ้นและลองค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม จนได้รู้ว่า Potluck ไม่ใช่แนวความคิดใหม่เลย แต่มีประวัติศาตร์นมนานมาตั้งแต่ปี 1952 โน่น เพราะเป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกในบทละครเวทีเรื่อง Summer’s Last Will and Testament ของนักเขียนแนวคอเมดี Thomas Nashe ในช่วง English Renaissance หรือช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาของอังกฤษ ยุคเดียวกับมหาเทพอย่าง Shakespeare นั่นแหละ

แม้ Potluck จะเป็นที่นิยมเพราะช่วยกระชับมิตรในชุมชน เปิดโอกาสการพูดคุย ได้แลกสูตรอาหารโฮมเมดของแต่ละบ้าน เปลี่ยนมื้อแสนธรรมดาเหงาๆ ให้กลายเป็นมื้อกินดี ถึงขั้นถูกประกาศให้ทุกวันที่ 20 มกราคมเป็น National Potluck Day แต่ก็ยังมีบางรัฐอย่างแอริโซนา ที่ประกาศลั่นว่าการจัด Potluck เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยและความอนามัยของอาหาร ใครฝ่าฝืนจัดหรือถึงจะแค่บ่นก็อาจถูกจับ เสียค่าปรับและลามไปถึงเข้าคุกได้เหมือนกัน

เมื่อหันกลับมามอง Potluck ของพนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ นอกจากความสนุก อร่อย และหลากหลาย (และดีมากเมื่อมันถูกใช้ในเชิงการผูกใจคนเข้าด้วยกัน) เราเริ่มตั้งคำถามกันว่า Potluck จะให้อะไรได้มากกว่านี้ไหม

แน่นอน…เราเริ่มโลภและอยากจะ ‘กินดี’ ยิ่งขึ้นไปอีก!

แต่การกินดีครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่การกินอาหารหายากจากย่านดัง ปรุงจากวัตถุดิบเลิศล้ำหรือเชฟที่โด่งดังที่สุดเท่านั้น แต่เพราะที่ผ่านมา เรามองเห็นพุงของเพื่อนพนักงานที่นั่งข้างกัน เห็นน้องในทีมกดน้ำร้อนลงในถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกพักกลางวัน หรือแม้กระทั่งถุงข้าวเหนียวหมูปิ้งมันหยดติ๋งบนโต๊ะของเราเอง

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเสนอโจทย์ใหม่, อยากทดลองจัด ‘Potluck อาหารเพื่อสุขภาพ’ ขึ้น

แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเหมือน Potluck ทั่วไปเอาเสียเลย ถึงจะสนใจแต่หลายคนก็กังวลว่าจะต้องหาซื้อที่ไหน แบบไหนที่เพื่อนจะชอบกิน ถ้าทำต้องทำมากแค่ไหน ยาวไปจนถึงจะอิ่มท้องไหมเพราะคงเน้นแต่ผัก อกไก่และปลาเท่านั้นหรือ ? เป็นเรื่องน่าสนใจว่าแม้จะมีรูปแบบเหมือนกัน แต่ภาพของ ‘อาหารสุขภาพ’ ดูจะเป็นภาระกดดันในใจเบาๆ ต่างกับการเอาอาหาร ‘อะไรก็ได้’ มาอย่างครั้งแรกๆ และเพื่อไม่ให้ล่ม เราจึงพยายามมีกติกาต่อกันดังนี้

ไม่กดดัน ทำเท่าที่ไหว
ต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่คุ้นเคยกับอาหารสุขภาพ แถมเป็นการทดลองครั้งแรก คงจะไม่ดีแน่ถ้าต้องตั้งกฎเข้มงวดหรือคาดหวังความเป๊ะ เน้นแต่อาหารคลีนจัดหรือเน้นสุขภาพแบบห้ามแตกแถวเลย อย่าลืมว่าการให้กำลังใจและยืดหยุ่นต่อกัน จะทำให้ทีมไม่อึดอัดและพร้อมจะทดลองไปด้วยกัน

ไม่ต้องเยอะ เพราะรวมกันมันเยอะ
ใครว่ากินผักแล้วไม่อิ่ม หลายครั้งที่อาหารใน Potluck เหลือทิ้งเพราะเยอะเกินขนาด บอกเพื่อนไปว่าแกไม่ต้องขนมาครบจำนวนคน เพราะอย่าลืมว่า ถ้าทุกคนเอามาหมด ก็จะพอดีสัดส่วน (Portion) ต่อการกิน ทุกคนจะได้ไม่รู้สึกสิ้นเปลืองกว่าปกติ และเป็นเรื่องที่เริ่มต้นทำได้ง่าย

อาหารสุขภาพไม่ใช่อาหารแปลกหน้า
ถึงผัก ปลา อกไก่ อาหารต้มและนึ่งจะเป็นหัวใจหลัก แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะน่าเบื่อเสมอไป เราพบว่าวันที่ลองทำ Potluck ครั้งนี้ หลายคนเอาอาหารง่ายๆ ที่ทีมคุ้นเคยและชื่นชอบมาร่วมวง อย่างน้ำพริกปลาทูและผักต้ม (หมดเร็วมาก) แกงจืดสาหร่ายไข่น้ำเสิร์ฟร้อนๆ สปาเก็ตตี้ที่คลุกเคล้าแครอท มะเขือเทศและ หอมหัวใหญ่ในซอสอย่างเต็มเครื่อง ฯลฯ อย่าเพิ่งกลัวไปก่อน แต่ลองเริ่มจากเมนูที่คุ้นเคย เพราะอาหารที่ดีต่อร่างกายอาจเป็นเมนูเดียวกับที่เรารักมาตลอดอยู่แล้ว (แต่ไม่รู้ตัว)

คุยไปกินไป คือหัวใจของ Potluck
Potluck จะไม่สนุกเลยถ้ามีเราตัวคนเดียวบนโลก (เพราะจะไปแลกอาหารกับใครล่ะ!) แต่การตั้งหน้าตั้งตากินลูกเดียว ต่อให้อร่อยแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้มื้อนั้นกลายเป็นการ ‘กินดี’ ไปได้ เมื่อเราตั้งใจจัด Potluck อาหารสุขภาพ เราพบว่าพี่ๆ เพื่อนๆ หลายคนที่กินมังสวิรัติ งดหมูและเนื้อ ขยับเข้ามาใกล้ชิดกลุ่มมากขึ้น ได้คุยกันมากขึ้น เพราะบทสนทนาก็มีรสชาติไม่แพ้อาหารบนโต๊ะเหมือนกัน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ การทำงานประจำมักทำให้เกิดแพทเทิร์นชีวิตซ้ำๆ ‘เป็นประจำ’ ตามมาติดๆ ทั้งเนื้องาน คนที่พบเจอ ร้านข้าวที่แวะทุกวัน แต่เชื่อเถอะว่า ของง่ายๆ อย่างอาหารก็สามารถทำให้แต่ละวันสนุกและดีขึ้นได้ ลองเริ่มจากมื้อเล็กๆ ที่ออฟฟิศ ฉวยพักเที่ยงให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เปิดกว้าง พูดคุย และลุ้นไปด้วยกัน

เมื่อสุขภาพดีรวมเข้ากับความสุข ตัวคุณก็คือแหล่งรวมความโชคดี
ไม่ต่างจาก Potluck ใบนี้แหละ!

ภาพถ่าย: พิมพ์รัก ชัยกุล