เมื่อพูดถึงภาคอีสาน หลายคนอาจนึกถึงความร้อนแล้งเป็นลำดับแรก แต่จริงๆ แล้ว ความที่ภาคอีสานนั้นกินพื้นที่มากที่สุดในประเทศ อาหารการกินพื้นถิ่นแถบนี้จึงหลากหลายอย่างคิดไม่ถึง โดยเฉพาะบรรดาจังหวัดภาคอีสานฝั่งตะวันออกใกล้กับแม่น้ำโขง ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาคล้ายภาคเหนือ ทั้งยังมีแม่น้ำสายใหญ่ตัดผ่านหล่อเลี้ยงชาวอีสานมานานนับร้อยปี

หนึ่งในจังหวัดเหล่านั้นคือ ‘สกลนคร’ เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ด้วยมีเทือกเขาภูพานที่รวมไว้ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมีทะเลสาบน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 2 ของประเทศอย่าง ‘ทะเลสาบหนองหาน’ กว่านั้นยังอยู่ใกล้กับแม่น้ำโขงในระดับเดินทางไม่ถึงชั่วโมง

พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมตัวของวัตถุดิบคุณภาพดี ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และได้รับการพัฒนากระทั่งกลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว… เหมือนอย่างบรรดา ‘ของดำ แต่กินดี’ ต่อไปนี้ที่เรามีโอกาสพบในจังหวัดสกลนคร

ไก่ดี หมูดี กระต่ายก็ดี

เมืองสกลนครในหน้าฝนนั้นรายล้อมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม โดยเฉพาะภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ตั้งอยู่เชิงเทือกเขาภูพาน สถานที่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรชาวอีสาน ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงส่งเสริมอาชีพและอุตสาหกรรมในครัวเรือน กระทั่งมีวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงที่ได้รับความนิยมออกสู่ตลาดมาตลอดหลายสิบปี ทว่าวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความสนใจในระดับนานาชาตินั้นหนีไม่พ้นเหล่า ‘ของดำ’ อาทิ ไก่ดำภูพาน หมูดำภูพาน และล่าสุดกับ กระต่ายดำภูพาน ที่กำลังจะเปิดตัวเป็นทางเลือกให้คนรักสุขภาพภายในปลายปีนี้ 

โดยวัตถุดิบ 2 ชนิดแรกนั้นเกิดขึ้นจากพระราชดำริที่ต้องการพัฒนาไก่สายพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัติเลี้ยงง่าย ทนต่อโรค ให้มีสารอาหารและมีจุดขายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้น จึงเกิดการผสมสายพันธุ์ไก่กระดูกดำกับไก่พันธุ์พื้นเมืองและพัฒนามาเรื่อยๆ กระทั่งได้พันธุ์ไก่ดำภูพานที่โดดเด่นด้วยหนังและกระดูกสีดำ ซึ่งมีสารเมลานินสูงเป็นพิเศษ มีสรรพคุณช่วยชะลอวัยและต้านมะเร็ง เหมาะสำหรับผู้ต้องการบำรุงร่างกาย กว่านั้น ปัจจุบันไก่ดำภูพานยังกลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างงาม รวมถึงเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่ชาวอีสานสามารถเพาะเลี้ยงได้ในครัวเรือนอีกด้วย

ด้านอีกหนึ่งของดีนั้นคือ ‘หมูดำภูพาน’ ที่แม้เราจะคุ้นเคยกับหมูดำคุโรบุตะ หรือหมูหลุมอินทรีย์ แต่ขอบอกว่าหมูดำภูพานนั้นก็ดีไม่แพ้ใคร ด้วยได้รับการพัฒนาในระบบเกษตรอินทรีย์ ด้วยการนำหมูพันธุ์ดีจากประเทศจีนที่เลี้ยงง่าย เนื้อเยอะ มาผสมเข้ากับหมูสายพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะกับการเลี้ยงในสภาพอากาศร้อนชื้นเช่นไทย กระทั่งกลายเป็นหมูสีดำตัวอวบซึ่งมีเนื้อแดงมาก ไขมันน้อย โดยไม่ต้องอาศัยสารเร่งเนื้อแดง ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอย่างดี เนื่องจากทนโรคและสามารถเลี้ยงระบบเปิดได้

ส่วนของดำที่กินดีอย่างสุดท้ายนั้น แม้บางคนอาจขมวดคิ้วสงสัยว่า ‘กระต่าย’ เหมาะกับการเป็นอาหารจริงหรือ แต่หากย้อนมองในอดีตจะพบว่ากระต่ายเป็นสัตว์พื้นเมืองที่คนแถบเอเชียอาคเนย์นิยมกินกันมานานแล้ว ทว่าเดิมทีนั้นเป็นกระต่ายป่า ไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง กระทั่งบางสายพันธุ์น้อยลงจนเกือบสูญพันธุ์ สุดท้ายกระต่ายจึงกลายเป็นสัตว์สงวนห้ามล่าไปโดยปริยาย

ทว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไป การปศุสัตว์ในไทยเริ่มพัฒนา ประกอบกับสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำริในการเพิ่มแหล่งโปรตีนคุณภาพดีให้กับชาวอีสาน ที่นอกเหนือจากหมูหรือวัวซึ่งต้องอาศัยพื้นที่ในการเลี้ยงดู กว่านั้นยังต้องใช้อาหารสัตว์ปริมาณมาก สุดท้ายจึงเกิดการศึกษาและพบว่า ‘กระต่าย’ นั้นเหมาะสมทั้งในแง่คุณภาพของเนื้อที่ไขมันน้อย รสชาติดี และใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ 

ต่อมาจึงเกิดการนำกระต่ายสายพันธุ์ฝรั่งเศสซึ่งมีเนื้อมาก มาผสมเข้ากับกระต่ายสายพันธุ์พื้นเมืองที่ทนทานต่อโรคและเนื้อละเอียด ไขมันต่ำ และมีรสชาติอร่อยกว่ากระต่ายสายพันธุ์เนื้อเยอะทั่วไป กระทั่งได้เป็น ‘กระต่ายดำภูพาน’ ขนสีดำสนิทที่มีน้ำหนักโตเต็มที่ถึง 3.5-4 กิโลกรัม และมีราคาขายในท้องตลาดกว่ากิโลละนับร้อยบาท จึงถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งโปรตีนและแหล่งรายได้อย่างดีของชาวอีสานและคนไทยในอนาคต

ปัจจุบัน กระต่ายดำภูพานอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความเสถียร ทั้งแง่คุณภาพของเนื้อ และคุณภาพในการเลี้ยงแบบเกษตรอินทรีย์ และมีกำหนดการวางตลาดเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกชนิดใหม่ให้แก่คนรักสุขภาพภายในสิ้นปีนี้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของไก่ดำ หมูดำ และกระต่ายดำภูพานได้ที่: http://puparn.rid.go.th

ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี