ในยุคนี้ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นในการเลือกซื้อสินค้า หรือเลือกทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เราจึงมักจะได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอนบ่อยครั้งขึ้น และเริ่มเข้าใจว่า เจ้ารอยเท้าที่บอกปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของพวกเรานี้ คือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ หากอยากช่วยลดผลกระทบที่มีต่อโลกให้น้อยลง

โฟกัสมาที่ระบบอาหาร อุตสาหกรรมอาหารขึ้นชื่อเรื่องการสร้างก๊าซเรือนกระจกมากถึง 34% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และมีคำเรียกรอยเท้าที่เราฝากไว้กับการเลือกซื้อและเลือกกินของเราด้วยเช่นกัน โดยเป็นคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า Footprint แต่เล่นคำเป็น ‘Foodprint’ เพื่อให้เฉพาะเจาะจงไปถึงการกินมากขึ้น

นิยามของคำว่า Foodprint กว้างกว่าการวัดปริมาณคาร์บอนจากต้นจนจบกระบวนการ แบบที่เราคุ้นเคยกันเวลาพูดถึงรอยเท้าคาร์บอน เพราะยังรวมไปถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างเราฝากไว้ตลอดกระบวนการด้วย เช่น กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ หรือเมื่อเราตัดสินใจทิ้งอาหารเหลือ ปลายทางของมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะกองโตอยู่ที่ไหนหรือเปล่า ดังนั้น การคำนึงถึง Foodprint จึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการกินอาหารของตัวเองตั้งแต่ต้นสายไปถึงปลายทางได้ในหนึ่งคำ

เดินตาม 4 รอยเท้าใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร
เพื่อให้เข้าใจง่าย เราขอแบ่งต้นกำเนิดของรอยเท้าในอุตสาหกรรมอาหารไว้ 4 จุด เริ่มต้นที่รอยเท้าแรก เกิดจากกระบวนการปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อโลก เช่น อุตสาหกรรมปศุสัตว์เนื้อวัว ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.3 กิกะตันต่อปี หรือการปลูกอะโวคาโดและช็อกโกแลต ที่ต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาล ติดอันดับอาหารที่สร้างรอยเท้าทางคาร์บอนเป็นอันดับต้น ๆ

มากไปกว่านั้น เรายังคำนึงไปถึงผลกระทบต่อหน้าดิน น่านน้ำ และสิ่งแวดล้อมโดยรวมของแหล่งอาหารเหล่านั้นได้ด้วย เช่น การปลูกผักบางชนิดอาจต้องใช้สารเคมีจนทำให้ดินเสีย หรือสารเคมีเหล่านั้น ไหลลงสู่แหล่งน้ำไปทำลายพื้นที่ทำกินของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ไปจนถึงการจับปลาทะเลในอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรม

รอยเท้าที่สอง เกิดจากการกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นอาหารพร้อมรับประทาน มองเผิน ๆ อาจดูไม่มีอะไรมาก แต่ในขั้นตอนนี้แฝงด้วยการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากในการผลิต แปรรูป แช่แข็ง หรือคงสภาพอาหารก่อนส่งมาถึงมือเรา

รอยเท้าที่สาม เกิดจากบรรจุภัณฑ์ หีบห่อต่างรูปแบบล้วนสร้างรอยเท้าทางมลพิษที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าเราต้องการอาหารที่สะอาด ปลอดภัย อยู่ในหีบห่อแน่นหนา แต่บรรจุภัณฑ์บางชนิด หากไม่ได้ถูกจัดการให้มีปลายทางที่ถูกต้อง ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย

รอยเท้าสุดท้าย เกิดจากการขนส่งอาหาร นั่นหมายความว่า ยิ่งขนส่งไกลและใช้กรรมวิธีซับซ้อนมากเท่าไหร่ วัตถุดิบเหล่านั้นก็อาจฝากรอยเท้าไว้บนโลกมากขึ้น เช่น วัตถุดิบนำเข้าบางชนิดอาจต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลกว่าจะมาถึงมือเรา จึงสะสมทั้งคาร์บอนฟุตพรินต์จากเครื่องบิน และจากพลังงานไฟฟ้าที่ใช้คงสภาพอาหาร ในขณะที่อาหารบางอย่างใช้แค่รถขนส่งในระยะใกล้ หรือพบได้ในท้องถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องเสียพลังงานมากมายในการขนส่ง

ลด Foodprint ด้วยการเปลี่ยนวิถีการกินให้ง่ายและใกล้ตัวมากขึ้น
เมื่อมองเป็นภาพใหญ่ หลายคนคงคิดว่าเราตัวนิดเดียวจะไปมีพลังอะไรในการลบรอยเท้าเหล่านี้ แต่เชื่อเถอะว่าทุกการตัดสินใจเลือกกินอาหารของเรา ล้วนส่งผลกระทบกลับไปยังกระบวนการผลิตต้นน้ำอย่างแน่นอน

การลดเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว แกะ หมู อย่างที่เราย้ำอยู่บ่อย ๆ คือการเลือกเพื่อลด Foodprint ฉบับ 101 เพราะการบริโภคที่น้อยลง ย่อมหมายถึงการเลี้ยงและการผลิตที่น้อยลงตามความต้องการด้วย (ขอกระซิบเพิ่มเติมว่า การที่ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจเรื่องการเลือกซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตปรับตัวในการผลิตสินค้ามากขึ้นจริง ๆ นะ)

แต่ถ้าการลดบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายเกินไปสำหรับสายกิน ลองเริ่มจากการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นใกล้บ้านเพื่อลดระยะทางการขนส่ง หรือหากใครที่มีแรงมากหน่อย จะลองปลูกพืชผักกินเองง่าย ๆ เพื่อตัดเส้นทางของวัตถุดิบบางชนิด ให้มาถึงมือเราเร็วกว่าเดิมก็ได้

แถมอีกหนึ่งวิธีลด Foodprint ที่ง่ายที่สุดและแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรสนิยมการกิน คือการลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง อย่างการกินหมดจานไม่กินเหลือ เพราะปริมาณขยะอาหารในไทยในปี 2565 คิดเป็นปริมาณมากถึง 17 ล้านตันแล้ว (และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ) แม้เราอาจจะเข้าใจว่า ขยะอาหารย่อยสลายได้ แต่ในความเป็นจริง ขยะเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปย่อยสลายอย่างสมบูรณ์แบบตามปลายทางที่ควรจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายจึงตามมา ดังนั้น ทางที่ดีและง่ายที่สุดจึงเป็นการไม่สร้างขยะอาหารตั้งแต่ต้น หรือถ้ามีขยะอาหารเกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามกำจัดพวกมันให้ไปอยู่ในปลายทางที่เหมาะสม

สำหรับผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าแล้วเราควรเริ่มลด ละ หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากตรงไหน มีแบบทดสอบออนไลน์จาก Foodprint องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่สื่อสารเรื่องความตระหนักรู้ในเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม มาให้ลองเล่นเพื่อสำรวจแนวทางเริ่มต้นในการปรับวิธีการกินของเรา ที่นี่

อย่าลืมว่า ทุกวัตถุดิบที่เราเลือกซื้อ ทุกอาหารที่เราเลือกกิน ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งในมุมที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น และอย่างน้อย ๆ การตั้งเป้าลดรอยเท้าอาหารให้แคบลงจากเลเวลง่าย ๆ ที่ทำได้เลยในวันนี้ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมแล้ว

ที่มาข้อมูล:
www.foodprint.org
blog.arcadia.com/five-tips-for-lowering-your-foodprint
www.yourwellbeinginfocus.com/allblogs/foodprint
www.planetbox.com
www.onep.go.th