Greenery. และ WWF Thailand พาเพื่อนร่วมกรีนทั้ง 30 คน ข้ามไปติดเกาะอินทรีย์ริมแม่น้ำเพชรบุรี บุกแปลงผักสด ๆ เพื่อเก็บวัตถุดิบมาขึ้นสำรับมื้อเที่ยง แล้วเรียนรู้วิถีการ “ปลูก ปรุง ปรับ เปลี่ยน” สู่การกินอยู่อย่างยั่งยืน กันถึงสวนเพชรเกาะอินทรีย์วิถีไทย จังหวัดเพชรบุรี

Greenery Journey ทริปนี้ต้อนรับด้วยเสบียงมื้อเช้า ข้าวเหนียวไก่ทอดห่อใบตองไซส์เบิ้ม ก่อนออกเดินทางกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดีจากกลุ่มเมฆฝนครึ้มดำในเดือนกุมภาพันธ์…ตัดภาพมาอีกที พวกเราก็ได้มาอยู่ในดินแดนสีเขียวบนสวนเพชรเกาะอินทรีย์วิถีไทย ที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งของแม่น้ำเพชรบุรี บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่น และบรรยากาศอันอบอวลด้วยมวลความอบอุ่นจากเจ้าบ้านและชาวเกษตรกรเครือข่าย ที่คอยต้อนรับแก๊งกรีนอย่างไมตรี

เซ็กชั่นแรก เริ่มด้วย Greenery. ชวนเพื่อนร่วมกรีน แชร์ถึงความตั้งใจที่อยากมาทริปนี้เพราะอะไร ซึ่งบางคนก็เล่าว่าอยากเรียนรู้การทำเกษตรกรอินทรีย์ อยากปลูกผักเป็น ไปจนถึงอยากรู้จักหนอนแมลงวันลาย (BSF-Black Soldier Fly) เจ้าแมลงสารพัดประโยชน์ของเกาะเพชร และอีกหลาย ๆ เป้าหมายที่อยากใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน นับว่าเป็นอีกกิจกรรมสานสัมพันธ์ที่ชวนให้ได้เห็นว่า แม้ทุกคนจะมาจากหลากหลายอาชีพ แต่ล้วนสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีหัวใจกรีนเหมือนกัน

พอทุกคนได้ทำความรู้จักกันและกัน ก็ถึงเวลาที่เมย์ สุภิสาข์ มัยขุนทด ผู้พลิกโฉมสวนเพชร ริเวอร์วิว รีสอร์ท ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ได้เริ่มเล่าว่า “เรามีพื้นที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำ ที่แบ่งเป็นรีสอร์ท ร้านอาหาร แต่พอข้ามแม่น้ำมาก็จะเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ 20 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีทีมที่คือครอบครัวช่วยกันทำ จริง ๆ ก่อนเป็นอินทรีย์ทั้งหมด มันแลกมากับหลาย ๆ อย่าง คือเดิมทีคุณพ่อเป็นเกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีมาก่อน จนวันหนึ่งเกิดวิกฤตธุรกิจและสุขภาพ สุดท้ายก็มาคุยกันว่า ถ้าเราจะทำเกษตร โดยพลิกฟื้นพื้นดินตรงนี้ ต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น”

หลังจากตกผลึกร่วมกัน เมย์ได้ออกเดินทางหาความรู้จากปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญ ผนวกกับความรู้และประสบการณ์ของพ่อ โดยเริ่มจากสำรวจในครัวรีสอร์ทก่อนว่าจะสามารถปลูกผักที่กินเป็นประจำอะไรได้บ้าง ซึ่งพอลงมือปลูก ผลที่ได้คือ ช่วยลดรายจ่าย ลดปริมาณขยะอาหาร ไปจนถึงต่อยอดเป็นธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเป็นศูนย์การเรียนรู้ Earth Safe ถึงทุกวันนี้

ส่วนคุณพ่อ สมศักดิ์ สิทธิโชคธรรม ได้ร่วมแชร์เพิ่มเติมว่า “พ่อทำเกษตรมาค่อนชีวิต สิ่งที่ได้เห็นและจากประสบการณ์ที่ได้มี พ่อไม่ได้บอกว่าเกษตรที่ทำแบบเคมีไม่ดี เพราะตัวพ่อเองก็ได้อะไรหลายอย่างจากการทำเกษตรแบบแข่งขัน แต่ก็ได้เรียนรู้ว่าการแข่งขันเกษตรเคมีไม่มีที่สิ้นสุด”

“พ่อเคยใช้เคมีเข้มข้นมากกับสวนมะนาว คือทุกอย่างต้องตามใจลูกค้า ผลสวย น้ำดี ซึ่งการจะได้ผลแบบนั้นต้องไปเชื่อคนที่ขายผลิตภัณฑ์เคมีว่ามันดี ซึ่งเราก็ไม่มีความรู้พอว่าดีจริงไหม คือใช้อย่างเดียว เท่าไหร่ก็ใช้ แล้วการใช้เคมีเพื่อทำเกษตรแบบแข่งขัน ต้นทุนก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ บางทีดินรับปุ๋ยจนเสียสมดุล ก็ยิ่งต้องเพิ่มปุ๋ยอีก เพิ่มจนขาดทุน ซึ่งพ่อเคยยืมเงินลูกไปใช้หนี้ร้านเคมี 6.5 แสน และนอกจากขาดทุน พ่อยังได้เป็นธาลัสซีเมียมาด้วย ถามว่าได้บ้าน ได้รถไหม จริง ๆ มันก็ได้ แต่พ่อก็พบว่าถ้าไม่หยุดเคมี ก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ก็ทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว กลับมาเชื่อของที่เรามี ที่ไม่ใช้เคมี”

ถัดจากการได้ฟังเรื่องราวที่อินสไปร์ ทุกคนก็พร้อมออกไปตะลุยกันถึงแปลงเกษตรอินทรีย์ของจริง เพื่อเก็บผักสด ๆ จากสวน มาขึ้นสำรับมื้อเที่ยง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กับชื่อน่ารัก ๆ ที่แต่ละกลุ่มคิดขึ้นมาเอง ได้แก่ กลุ่มผักชี กลุ่มส้อง และกลุ่มกระเจี๊ยบ

ก่อนที่ทุกกลุ่มจะแยกย้ายกันไปลงแปลง พวกเราทั้งหมดได้เดินทัวร์สวนไปพร้อมกัน เพื่อเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรอินทรีย์วิถีเพชร เข้าใจห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัย พร้อมได้เรียนรู้การจัดสรรพื้นที่ที่ยึดหลัก โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเมย์เล่าว่า ที่นี่ปลูกพืชแบบผสมผสาน อย่างตอนนี้อยู่ในช่วงพักนา ก็จะปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่ว แตงโม ข้าวโพด เพื่อพักดินและทำให้ดินไม่เสื่อม และบนหัวคันนาจะปลูกพืชหลากหลาย เพื่อจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น พริก ชะอม กล้วยเล็บมือนาง เป็นต้น

และแม้พื้นที่นี้จะติดแม่น้ำ แต่ก็ต้องมีการขุดบึงน้ำ เพื่อใช้ทำเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะหลักของเกษตรอินทรีย์ เราไม่สามารถใช้แหล่งน้ำธรรมชาติปะปนกับคนอื่น เนื่องจากอาจเกิดสารเคมีที่รั่วไหลลงน้ำ ซึ่งในฐานนี้นอกจากได้เรียนรู้จัดการทรัพยากรน้ำ พวกเรายังได้จับน้องหนอนแมลงวันลาย หว่านลงบ่อให้เป็นอาหารของสัตว์น้ำกันด้วย (หนอนแมลงวันลาย 5-6 กก./วัน กับการเลี้ยงปลานิล 3,500 ตัว ช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร 3,200 บาท/เดือน)

ต่อด้วยการแวะมาเลี้ยงไก่ด้วยเศษพืชผักในสวน และหนอนแมลงวันลาย ซึ่งที่นี่เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว ด้วยหนอนแมลงวันลาย 3 กก./วัน สามารถช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร 1,520 บาท/เดือน ทั้งนี้การเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ของสวนแห่งนี้ ยังหมุนเวียนทรัพยากรไปเป็นปุ๋ยได้ด้วย เช่น ฮอร์โมนไข่ช่วยในการเติบโตของพืช น้ำหมักชีวภาพจากปลามีแคลเซียมสูงทำให้ผักกรอบ อีกทั้งที่นี่ยังมีกระบวนการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์หน่อกล้วย เพื่อให้ระบบการผลิตเป็น Zero Waste ยั่งยืนและได้ผลผลิตที่ปลอดภัย

แล้วก็มาถึงฐานแมลงโปรตีน หนอนแมลงวันลายที่สวนนี้เลี้ยงแบบครบวงจร ตามแนวคิด Zero Waste ตั้งแต่ยังเป็นไข่ เป็นหนอนในถังน้ำหมัก นำมาเลี้ยงในกระบะด้วยขยะเศษอาหาร พอเริ่มเป็นดักแด้ก็นำไปไว้ในโรงบิน รอวันฝังตัวเป็นแมลงวันลาย จับคู่ผสมพันธ์ตามธรรมชาติ จากนั้นตัวเมียก็จะออกไข่ วนลูปเป็นวัฏจักร

ส่วนประโยชน์ของหนอนแมลงวันลายมีมากมาย ตั้งแต่ มีโปรตีนที่สูง โดยหนอนแมลงวันลายหนัก 100 กรัม จะได้โปรตีนที่ 9-65 กรัม มูลของหนอนแมลงวันลายมีอินทรียวัตถุสูงนำมาปลูกผักอินทรีย์ได้ ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ จำนวน 120-150 กก./เดือน และยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศได้อีกด้วย

ทัวร์สวนกันจนอิ่มความรู้ ทั้ง 3 กลุ่ม ก็แยกย้ายไปลองวิชากันหน่อย เริ่มจากเข้าเล้าไปเก็บไข่ไก่ ต่อด้วยเข้าร่องสวนเก็บมะนาวแป้นอินทรีย์ ที่เกษตรกรตัวจริงคอยบอกทริคเล็ก ๆ ว่า ให้เลือกเด็ดลูกที่ผิวตึง บีบแล้วนิ่มเล็กน้อย ก่อนจะเดินไปอีกนิดก็ถึงร่องผักกูด ที่ทุกกลุ่มตั้งใจเก็บกันอย่างขะมักเขม้นแบบไม่กลัวแดด และจบด้วยแปลงเล็บครุฑ ที่เด็ดกันมาคนละสองใบ เพื่อเป็นจานสำหรับเมนูยำผักกูดในมื้อกลางวันของทริปนี้

มากกว่าเมนูที่ทุกกลุ่มปรุงด้วยตัวเอง ยังมีเครื่องดื่มคอมบูชารสชาติสนุก ๆ และไซรัปกระเจี๊ยบขิงให้ทุกคนได้ชงเป็นสปาร์กลิงกันอีกด้วย พร้อมด้วยสำรับอาหารสุขภาพชุดใหญ่ ที่ทางสวนเพชรเกาะอินทรีย์วิถีไทยจัดเตรียมไว้ให้ ทั้ง ต้มจืดใบตำลึง น้ำพริกไข่เค็มไม่ใส่หมูสับ แกล้มผักนานาชนิด เช่น ผักกูด กวางตุ้ง คะน้า เรดโอ๊ก ผักติ้ว มะเขือ ชะมวง มะตูมแขก ไปจนถึงไข่ลูกเขยเมืองเพชร (ที่มีลูกตาลอยู่ด้วย จริง ๆ อร่อยใจฟูมาก) ส่วนของหวานเป็นลูกตาลลอยแก้วและขนุนสุกจากสวน

เมนูทั้งหมดว่าเซอร์ไพรส์แล้ว แต่ยังสนุกได้อีก ด้วยการเคี้ยวใบโปร่งฟ้าที่ถูกซ่อนไว้ใต้จาน ปิดท้ายมื้อหลังอาหารได้แบบซู่ซ่าคอ แถมระหว่างมื้ออาหาร ยังจอยเพิ่มขึ้นไปอีก กับ 5 เครือข่ายเกษตรกรเมืองเพชร ที่เมย์ชวนมาให้พวกเราได้รู้จักกัน เริ่มด้วย Black Queen ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งป่าของจันทร์อรุณฟาร์มผึ้ง ฟาร์มเล็ก ๆ ผู้ผลิตน้ำผึ้งดิบและผลิตภัณฑ์จากผึ้ง โดยไม่ทำร้ายตัวผึ้งและธรรมชาติ สวนป่าเกษตรเพชรวรา ผลิตภัณฑ์ก้านตาลหนึ่งเดียวเพชรบุรี โดยใช้ทางตาลที่ล่วงหล่นมาจากต้น ที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนำมาเผาทำลายทิ้ง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ เปลี่ยนมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทำมือจากฝีมือของชุมชน

เครือข่าย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า ที่ใช้หลักการช่วยกันปลูกกันในชุมชนและไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด ต่อด้วย บ้านสวนเพาะธรรม แหล่งผลิต ผัก ผลไม้ ข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และ บ้านหมอชอน สมุนไพรเพชรบุรี ด้วยการนำภูมิปัญญาไทยพัฒนาสู่ธุรกิจสุขภาพ ที่ตั้งใจวางรากฐานเรื่องการจัดการวัตถุดิบสมุนไพร ด้วยการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ผู้ร่วมทริปยังชวนล้อมวงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันต่อ ถึงแหล่งจับจ่ายสินค้าปลอดภัยที่อยู่ทั่วทิศของประเทศ ให้กับเพื่อน ๆ ร่วมกรีนบางคนได้รู้จักเพิ่มเพื่อตัดสินใจไปเลือกช็อปกัน ไปจนถึงประเด็นการเลือกสินค้าปลอดภัย ที่สามารถสังเกตได้จากเครื่องหมายต่าง ๆ ที่แสดงถึงความมีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือเลือกหาฟาร์มที่เรามั่นใจได้ แล้วออกไปเจอเกษตรกรถึงแหล่งที่มา ก็จะยิ่งช่วยให้ได้สินค้าที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก วิทยากรจาก Greenery Journey ทริปจิบกาแฟไทย ที่วันนี้มาในฐานะผู้ร่วมทริป ยังได้ร่วมแชร์ส่งท้ายกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ส่วนตัวประทับใจพื้นที่นี้มาก และอยากบอกว่าอาชีพเกษตรกร นอกจากรายได้จากสินค้าที่พวกเราซื้อ ยังมีอีกสิ่งที่สำคัญ คือกำลังใจ การได้มาเยี่ยม มาส่งผ่านความรู้สึกดี ได้มาเจอกลุ่มเกษตรกรที่เขาปลูกอาหารให้เรากิน เขาก็ได้เจอคนที่กินอาหารที่เขาปลูก ผมรู้สึกว่าเป็นพลังที่ดี”

Greenery Journey ตอน…ตะลุยเกาะอินทรีย์ กินดีวิถีคนเพชร เรียกว่าได้แรงบันดาลกรีนกันแบบสุด ๆ ทั้งได้ซึมซับวิถีการกินอยู่อย่างยั่งยืน และได้เห็นถึงความใส่ใจของผู้ผลิตที่มีต่อผู้บริโภคเหมือนคนในครอบครัว แถมก่อนกลับกรุงเทพฯ ทุกคนยังได้ช็อปสินค้าเกษตรอินทรีย์จากสวนเพชร และพี่ ๆ น้อง ๆ ในชุมชน กันอย่างสนุกมือ ที่สำคัญยังได้ฟังเรื่องราวของแหล่งที่มาสินค้า จากเกษตรกรโดยตรง ก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าได้ของดีต่อสุขภาพกลับบ้านอย่างแน่นอน

ภาพบรรยากาศGreenery Journey ตอน ตะลุยเกาะอินทรีย์ กินดีวิถีคนเพชร”

ข้อมูลกลุ่มเครือข่าย

  1. สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย
    www.facebook.com/bysuanpech
    – Line@ : @suanpech
  2. วิสาหกิจชุมชนแก้วกล้า
    www.facebook.com/profile.php?id=61550086973327
  3. บ้านหมอชอน สมุนไพรเพชรบุรี
    www.facebook.com/healtheory
    https://shop.line.me/@baanmorchon
  4. บ้านสวนเพาะธรรม
    www.facebook.com/PorthamOrganicFarm
  5. สวนป่าเกษตร เพชรวรา (ก้านตาลวินเทจ)
    www.facebook.com/profile.php?id=100088270001680
  6. จันทร์อรุณฟาร์มผึ้ง
    www.facebook.com/Blackqueenhoney
    www.instagram.com/blackqueen.honey
    – Line official : https://lin.ee/bjysQN3