คำว่า ‘การประมงเกินขนาด’ หรือ ‘Overfishing’ ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวเราอยู่ไม่น้อย แม้ว่าเราจะรักอาหารทะเล หรือชอบไปเที่ยวทะเลก็เถอะ!

แต่อย่างที่ย้ำกันอยู่บ่อย ๆ ว่าระบบอาหารทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับเราทั้งสิ้น การจับสัตว์ทะเลมากเกินไปล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และย่อมกระเทือนมาถึงเราคล้ายคลื่นกระทบฝั่งไม่ในวันใดก็วันหนึ่ง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนกินอย่างเราควรเข้าใจประเด็นใหญ่เท่ามหาสมุทรนี้ และคงจะดี หากเรา ‘เลือกกิน’ สิ่งที่ดีกับโลกใบนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนคำตอบว่า ทำไมเรือ (ประมง) เล็ก ควรออกจากฝั่ง ออกทะเลไปหากันด้านล่างนี้

ปรากฏว่าปลาเริ่มไม่ปรากฏ
ความจริงที่เราท่องจำกันได้คือ มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 ของโลก เราจึงเชื่อกันว่า ทรัพยากรทางทะเลมีมากมายให้เรากินและใช้ไม่หมดไม่สิ้น

การประมงเกินขนาด (Overfishing) หรือการจับสัตว์ทะเลตามธรรมชาติในอัตราที่เกินความสามารถที่ธรรมชาติจะขยายพันธุ์ได้ทัน ทำให้ประชากรสัตว์ทะเลลดลงและเริ่มสูญพันธุ์

แต่ความจริงและความเชื่อที่ว่า ถูกสั่นคลอนด้วยการตักตวงจากท้องทะเลมายาวนาน เมื่อมนุษย์เริ่มขยับขยายจากประมงท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ ทำให้สัตว์ทะเลที่เคยมีอย่างชุกชุมค่อย ๆ ลดหาย การประมงเกินขนาด (Overfishing) หรือการจับสัตว์ทะเลตามธรรมชาติในอัตราที่เกินความสามารถที่ธรรมชาติจะขยายพันธุ์ได้ทัน ทำให้ประชากรสัตว์ทะเลลดลงและเริ่มสูญพันธุ์ ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่แค่การสูญเสียสัตว์ทะเลสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไป แต่คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเมื่อมีช่องว่างในสายใยอาหาร (Food Web) เช่น ปลาที่มนุษย์ชอบกินถูกจับมาจนเหลือน้อย สัตว์ทะเลที่ต้องกินปลาชนิดนั้น ๆ หรือพึ่งพาปลาชนิดนั้น ๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย และสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบนิเวศทางทะเลในที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาเตือนว่า หากยังทำการประมงโดยไม่สนความยั่งยืนต่อไป อุตสาหกรรมประมงจะล่มสลายลง (เพราะไม่เหลือปลาให้จับ) ภายใน ค.ศ. 2048 นี้!

จากสถิติบอกว่า จุดสูงสุดที่อุตสาหกรรมประมงทั่วโลกเคยทำได้ คือการจับปลา (ที่หมายรวมถึงสัตว์ทะเลทั้งหมด) ได้สูงสุด 90 ล้านตัน ใน ค.ศ. 1989 และจากนั้น ตัวเลขก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เพราะจำนวนประชากรสัตว์ทะเลเริ่มลดลง จนบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาเตือนว่า หากยังทำการประมงโดยไม่สนความยั่งยืนต่อไป อุตสาหกรรมประมงจะล่มสลายลง (เพราะไม่เหลือปลาให้จับ) ภายใน ค.ศ. 2048 นี้!

ปฏิวัติทะเลด้วยประมงยั่งยืน

SDG 14 การจัดการประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Management of Fisheries) คือการทำประมงในระดับที่สามารถควบคุมและรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเล ให้มีจับได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลเสียและเกิดภาวะที่ไม่สมดุลของระบบนิเวศในทะเล

โลกตื่นตัวประเด็นนี้มาพักใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ สหภาพยุโรป (EU) แจกใบเหลือง ใบแดง ให้ประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไปจนถึงวาระของโลกอย่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่สมาชิกองค์การสหประชาชาติลงนามว่าทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกัน หนึ่งในเป้าหมายคือ SDG 14 การจัดการประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Management of Fisheries) ซึ่งมีนิยามของ Marine Stewardship Council: MSC ว่าคือการทำประมงในระดับที่สามารถควบคุมและรักษาปริมาณสัตว์น้ำในท้องทะเล ให้มีจับได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ส่งผลเสียและเกิดภาวะที่ไม่สมดุลของระบบนิเวศในทะเล

การปฏิวัติทะเลให้ยั่งยืนมีรายละเอียดมากมาย แต่ถ้าแยกย่อยให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การประมงแบบยั้งมือ แคร์จำนวนประชากรสัตว์ทะเล หรือ Sustainable Fish Stocks ที่ต้องแน่ใจว่ายังมีประชากรสัตว์ทะเลเหลืออยู่ในทะเลและมหาสมุทรเพียงพอ สัตว์ทะเลเหล่านั้นมีสุขภาพดี และขยายพันธุ์ต่อได้ ขณะเดียวกันก็ต้อง จับแบบไม่ทำร้ายทะเล คือไม่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเล อีกส่วนสำคัญคือการออกกฎหมาย สร้างมาตรฐานการทำประมงใหม่ รวมทั้งควบคุมให้การประมงสอดคล้องกับกฎและมาตรฐานนั้น ๆ

ในบ้านเรา นอกจากกฎหมายจากภาครัฐและการขับเคลื่อนขององค์กรหลากหลาย ยังมีการผลักดันให้เกิดการปรับปรุงการทำประมง รวมทั้งการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืนขึ้น โดย 8 สมาคมประมงในนาม Thai Sustainable Fisheries Roundtable (TSFR) ภายใต้มาตรฐานการทำประมงของสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (MSC-Marine Stewardship Council) และสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ASC-Aquaculture Stewardship Council) เพื่อให้ทุกคนในอุตสาหกรรมประมงปฏิบัติตามแนวทางนี้ ทุกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ได้ ต้องมาจากวิธีที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม มีความโปร่งใส ตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับได้ (Traceable) และเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยการปฏิบัติต่อแรงงานในระบบอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่บ้านเรายังคงมีปัญหา

สนับสนุนประมงพื้นบ้านที่ใจดีกับทะเล

หากเราใส่ใจมากขึ้นกับการเลือกอาหารทะเลที่ยั่งยืนและเป็นธรรม แบนผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมการประมงที่ไม่โปร่งใส แบรนด์เหล่านั้นก็ต้องปรับตัวและสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในที่สุด

เรื่องออกกฎหมายบังคับใช้ ใบเหลือง ใบแดง ความโปร่งใส ฯลฯ ดูช่างไกลตัวคนกินอาหารทะเลอย่างเราก็จริง แต่ใช่ว่าคนกินจะไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการขับเคลื่อนประเด็นนี้ เพราะในทางปฏิบัติ หากเราใส่ใจมากขึ้นกับการเลือกอาหารทะเลที่ยั่งยืนและเป็นธรรม แบนผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมการประมงที่ไม่โปร่งใส แบรนด์เหล่านั้นก็ต้องปรับตัวและสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจในที่สุด

การสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ต้องมั่นใจด้วยว่าเป็นกลุ่มประมงที่ให้ความสำคัญกับการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เช่น เลือกซื้อปูม้าจากกลุ่มประมงที่ทำธนาคารปูม้า หรืออุดหนุนปลาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ไม่ใช้แหหรืออวนตาถี่ คัดแต่สัตว์ทะเลโตเต็มวัย ออกเรือไปจับปลาใกล้ ๆ แล้วเอามาขายเลย ไม่ฉีดฟอร์มาลินเพื่อให้ปลาสดเสมอ

อีกวิธีที่จับต้องง่าย เห็นหน้าค่าตาคนจับปลาให้เรากิน คือการสนับสนุนประมงพื้นบ้าน ที่ต้องมั่นใจด้วยนะว่าเป็นกลุ่มประมงที่ให้ความสำคัญกับการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เช่น เลือกซื้อปูม้าจากกลุ่มประมงที่ทำธนาคารปูม้า ที่มีการอนุบาลไข่จากแม่ปูไข่นอกกระดอง เพิ่มโอกาสเติบโตให้ปูจำนวนมาก หรืออุดหนุนปลาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ไม่ใช้แหหรืออวนตาถี่ คัดแต่สัตว์ทะเลโตเต็มวัย ออกเรือไปจับปลาใกล้ ๆ แล้วเอามาขายเลย ไม่ฉีดฟอร์มาลินเพื่อให้ปลาสดเสมอ นอกจากได้อาหารทะเลที่สดใหม่มั่นใจ ก็ลดความเสี่ยงจากเคมีที่อันตรายกับร่างกายได้อีกทางหนึ่งด้วย

แน่นอน หากไม่ได้แวะไปซื้อกับชาวประมงถึงแหล่ง ราคาในการขนส่งและจัดจำหน่ายจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เรามั่นใจ ก็ออกจะสูงกว่าอาหารทะเลจากประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่แล้ว แต่การที่เรา ‘ยอมจ่าย’ เพิ่มขึ้น นอกจากจะได้ของดี มีคุณภาพ เรายังจ่ายเพื่อสุขภาพของท้องทะเลและโลกใบนี้ด้วย

นั่นอาจจะเป็นการจ่ายที่คุ้มค่า มากกว่าการจ่ายให้สินค้าราคาถูกที่โฆษณาว่า ‘คุ้ม’ แต่เอาเปรียบแรงงานประมง และเอาเปรียบท้องทะเลที่เรารัก ว่าไหม?

ที่มาข้อมูล:
www.nationalgeographic.com/environment/article/critical-issues-overfishing
www4.fisheries.go.th/local/file_document/20190708091833_1_file.pdf
www.sdgmove.com/2021/08/14/sdg-vocab-47-sustainable-management-of-fisheries
wwf.panda.org/wwf_news/?302090/seafood_crisis