พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกประสบความสำเร็จมีอาชีพที่รายได้ดีมั่นคง การที่ลูกได้เรียนในโรงเรียนดังๆ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ดังนั้น การเคี่ยวเข็ญให้ลูกเก่งในเรื่องวิชาการจึงกลายเป็นหน้าที่อีกอย่างของพ่อแม่สมัยนี้ ภาพชินตาของคนในปัจจุบันคือเด็กต้องเรียนพิเศษติวเข้มกัน แม้จะผ่านการเรียนมาทั้งวันแล้วก็ยังไม่ได้พักสักที เสาร์อาทิตย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะยังต้องตื่นแต่เช้าติวกันจนมืด

อันที่จริง ถ้าจะพูดเรื่องนโยบายการศึกษาคงต้องคุยกันยาว และไม่ใช่หน้าที่นักวิทยาศาสตร์การกีฬาอย่างผม แต่ที่ผมอดไม่ได้จนต้องเขียนถึงเป็นเพราะการเคี่ยวเข็ญให้เรียนพิเศษนั้นเกิดขึ้นกับเด็กในระดับ ‘อนุบาล’

พ่อแม่หลายคนเชื่อว่า ถ้าลูกวัยอนุบาลอ่านออกเขียนได้เร็วคือเด็กฉลาด มาตรฐานของการศึกษาไทยก็เร่งสอนวิชาการ เน้นให้เด็กเล็กเรียนเขียนอ่าน ทั้งๆ ที่มีการศึกษาวิจัยมากมายพบว่าเด็กต้องการการฝึกทักษะ การคิด ฟัง สังเกต โดยผ่านกิจกรรมการ ‘เล่น’ เนื่องจากการพัฒนาของสมองจะเริ่มจากส่วนล่างไปสู่ส่วนบนเหมือนพีระมิด คือ พัฒนาจากสิ่งพื้นฐานไปสู่สิ่งที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตั้งแต่การวิ่งเล่น ปีนป่าย เต้น เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่าง แขน ขา สะโพก ไหล่ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อน เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้พัฒนาดีแล้วเด็กก็จะสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก อย่างการใช้มือ หยิบ เขียน วาดได้ต่อไป แต่การให้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ มือถือ แท็บเล็ต หรือการบังคับให้เด็กที่ควรต้องเคลื่อนไหวทั้งวัน มานั่งเขียน นั่งท่อง นั่งจิ้มจอ ก็จะทำให้เด็กเหล่านี้ เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่ค่อยดี ไม่คล่องแคล่ว ซุ่มซ่าม ทำให้ไม่ชอบออกกำลังกาย และกลายเป็นสาเหตุให้มีสุขภาพที่แย่ ป่วยง่ายยามโตขึ้น

ที่สำคัญ พ่อแม่หลายคนเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ตนเองอยากเชื่อ คิดว่าเด็กต้องเรียนมากๆ ถึงจะดี การเล่นและการออกกำลังกายเป็นเรื่องไร้สาระ แม้ว่าจะมีการศึกษามากมายพบว่าการออกกำลังกายทำให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น รวมถึงสามารถป้องกันและบรรเทาอาการสมองเสื่อมยามแก่ชรา เพราะว่าขณะออกกำลังกายเซลล์สมองจะเกิดการแตกแขนงและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ดังนั้น สำหรับเด็กเล็ก การที่ไปเน้นการเรียนเร็วและมากเกินไปก็จะเป็นการขัดขวางกระบวนการเหล่านี้ ทั้งๆ ที่พ่อแม่เองก็มักจะบ่นระบบการศึกษาไทยว่าเน้นแต่การท่องจำ แต่ก็กลับรีบส่งลูกเข้าสู่กระบวนการนี้ตั้งแต่เล็ก

ตามหลักของพัฒนาการเด็ก การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงจะเริ่มพัฒนาเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 ขวบขึ้นไป ดังนั้น การเรียนแบบสมัยก่อนที่พ่อแม่ให้ลูกเริ่มเรียน ป.1 ตอนอายุ 6 ขวบ ก็น่าจะเป็นการเหมาะสมแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของฟินแลนด์ (ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาที่มีคุณภาพที่สุดในโลก) ที่ให้เด็กเริ่มเรียนเมื่ออายุ 6-7 ขวบ ถ้าอายุต่ำกว่านี้จะเน้นการเล่น เต้น และสอนสิ่งต่างๆ ที่เน้นให้สามารถดูแลตนเองได้ เคารพกติกา มีวินัย ผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก จินตนาการ ผ่านการปั้นดิน เล่นทราย ระบายสี

การให้เด็ก 2 ขวบหัดเขียนหนังสือและเรียนเหมือนผู้ใหญ่ ตามแบบที่โรงเรียนต่างๆ ออกหลักสูตรเร่งเด็กเพื่อจะเอาใจพ่อแม่โดยไม่สนทฤษฎีด้านพัฒนาการของเด็ก จะทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ เด็กหลายคนยังไม่พร้อม เพราะธรรมชาตินั้นให้เด็กต้องเล่น เคลื่อนไหวเรียนรู้ ไม่ใช่มานั่งนิ่งๆ เด็กคนไหนเขียนและอ่านไม่ได้อาจจะถูกตีตราว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้เป็นก็ได้ แต่ต้องรักษาและกินยากันตั้งแต่เด็ก เรื่องนี้ผมคิดว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรกลับมาพิจารณาว่าในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้เด็กยิ่งเริ่มเรียนช้ายิ่งดี ทำไมเราถึงเลือกบังคับลูกให้เร่งเรียนตั้งแต่เล็ก

ลองมาดูกันว่า หน่วยงานด้านสุขภาพแนะนำกิจกรรมในแต่ละวันของเด็กไว้ยังไงบ้าง

วัยทารก ควรส่งเสริมให้มีการขยับร่างกายทั้งวันในช่วงที่ตื่นอยู่

วัยเตาะแตะ ควรกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหว หัดเดิน คลาน ปีน เล่น ฯลฯ นับรวมให้ได้อย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละวันควรมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่วมกับผู้ปกครอง (ช่วยงานบ้าน เดินเล่น) อย่างน้อย 30-60 นาที บวกกับมีเวลาเล่นอย่างเต็มที่ อิสระอย่างน้อย 60 นาที (สามารถแบ่งเป็นช่วงๆ ได้) โดยการเล่นในช่วงนี้ ต้องแยกจากการนั่งเล่นของเล่นที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่ต้องให้เด็กได้ขยับร่างกาย วิ่งเล่น ปีนป่าย อย่างน้อยให้เหนื่อยในระดับปานกลางขึ้นไป โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสนุก

เด็กทุกวัย ไม่ควรต้องอยู่นิ่งๆ (เช่น นั่งดูทีวี นั่งเรียน นั่งรถ) ต่อเนื่องนานเกิน 1 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอน

การที่เด็กสาววัยรุ่นมีประจำเดือนก่อนเพื่อนไม่ใช่เรื่องน่าอวดหรือน่าภูมิใจ เด็กวัยรุ่นผู้ชายมีหนวดขึ้นก่อนเพื่อนไม่ได้การันตีว่าจะเข้มแข็งกล้าหาญ การอ่านออกเขียนได้แต่เด็กก็ไม่ได้รับประกันการเรียนเก่งเช่นกัน แต่เป็นเรื่องของระดับพัฒนาการตามวัย ซึ่งหลายครั้ง เราจะเห็นได้ว่าบางอย่างถ้ามาก่อนวัยอันควรผลเสียก็มากกว่าผลดี

ถ้าเปรียบกับการวิ่งแข่งระยะไกล ออกตัวแรงวิ่งนำห่างแค่ไหน แต่ระหว่างทางหมดแรงไปไม่ถึงเส้นชัย ก็คงไม่นับว่าประสบความสำเร็จ สุดท้ายทุกคนควรรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองให้ดี ถ้าหน้าที่ของผู้ใหญ่คือการทำงาน หน้าที่ของเด็กและวัยรุ่นคือการเรียน ต้องอย่าลืมนะครับว่า หน้าที่ของเด็กก่อนวัยเรียนก็คือการเล่น

ภาพประกอบ: นวพรรณ อัศวสันตกุล