คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพ โภชนาการมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปพอสมควร วันหนึ่งแนะนำให้กินอาหารไขมันต่ำ จำกัดปริมาณไขมันที่ให้กินได้ต่อวัน ต่อมาเปลี่ยนเป็นให้บริโภคไขมันได้ (ด้วยประเภทและปริมาณที่เหมาะสม) วันหนึ่งห้ามกินของที่คอเลสเตอรอลสูง อีกวันหนึ่งบอกว่า คอเลสเตอรอลที่ได้รับจากอาหารไม่สัมพันธ์กับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นต้น ซึ่งผมก็เคยเขียนบทความเรื่อง “ใช้ชีวิตอย่างไร ในวันที่ข้อมูลสุขภาพเปลี่ยนไปมา” เป็นไกด์ไลน์ให้แล้ว
โดยวันนี้จะมาคุยกันเรื่อง Low Carbohydrates Diet หรือสูตรการกินคาร์โบไฮเดรตน้อย ๆ เพื่อทำการลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นสูตรยอดนิยมเนื่องจากทำให้สามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาที่คนลดน้ำหนักอาจจะยังไม่ได้คำนึงถึงนั่นก็คือ ความยั่งยืน และความปลอดภัยนั่นเอง
ประการแรกคือเมื่อเรากินคาร์บต่ำ ร่างกายก็จะนำแป้งที่เก็บสะสมไว้มาใช้ และเนื่องจากแป้งเหล่านี้มีน้ำเป็นส่วนประกอบจึงทำให้น้ำหนักลดไปได้อย่างรวดเร็วจึงกลายเป็นที่นิยมเพราะเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อแป้งที่สะสมไว้หมดแล้วน้ำหนักก็จะเริ่มลดลงยาก และสาเหตุที่ 2020-2025 Dietary Guidelines for Americans Recommendations ไม่แนะนำให้กินอาหารแบบ low carb เนื่องจากคนอเมริกันส่วนมากมีปัญหาบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะคาร์โบไฮเดรตที่ได้มาจากผลไม้ ผัก ธัญพืช และถั่ว (โดยถ้ากินคาร์โบไฮเดรตส่วนมากก็จะได้มาจากอาหารแปรรูป แป้งและน้ำตาล) และเนื่องจากวัฒนธรรมการกิน ราคาอาหารที่ดีต่อสุขภาพนั้นมีราคาสูง โดยมีการศึกษาพบว่าคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและเบาหวานประเภทที่ 2 กว่า 52,547 ราย นั้นมีการบริโภคผักและผลไม้ในปริมาณที่ต่ำกว่าที่ควร
และเมื่อกินคาร์โบไฮเดรตต่ำแล้ว ส่วนมากก็จะมีการบริโภคโปรตีนและไขมันจากเนื้อสัตว์ในปริมาณสูง ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย
โดยมีการศึกษาหนึ่งพบว่าการกินคาร์โบไฮเดรตต่ำเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพิ่มขึ้นถึง 32 % เมื่อเทียบกับคนที่กินคาร์โบไฮเดรตในปริมาณปกติ แถมเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจถึง 51 % หลอดเลือดสมอง 50 % และมะเร็งถึง 35 % โดยงานวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน “Journal of the American Heart Association, The Lancet, and the Annals of Internal Medicine” ซึ่งการบริโภคคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยสูงในปริมาณที่พอเหมาะนั้นนอกจากจะช่วยทำให้สมองและกล้ามเนื้อของเราได้รับพลังงานได้เพียงพอ จะยังช่วยป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลายได้อีกด้วย
โดยสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำให้กินอาหารหมวดคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อยวันละ 8-12 ส่วน
โดยสำหรับคนไทย สำนักโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำให้กินอาหารหมวดคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อยวันละ 8-12 ส่วน (ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้พลังงานในแต่ละคน) โดย 1 ส่วน เท่ากับประมาณ ข้าวกล้อง บะหมี่ ข้าวโพด เผือก 1 ทัพพี เป็นต้น
ส่วนผลไม้ควรกินให้ได้วันละ 3-5 ส่วน โดย 1 ส่วนเท่ากับประมาณ ลำไยหรือองุ่น 6-8 ผล ฝรั่งครึ่งลูก กล้วยหรือส้ม 1 ลูก มะละกอหรือแตงโม 6 ชิ้น เป็นต้น และผักควรกินให้ได้วันละอย่างน้อยวันละ 4 ทัพพี ซึ่งการกินในรูปแบบนี้เราเองก็เรียนกันมาตั้งแต่ในวิชาสุขศึกษาระดับชั้นประถมแล้ว มีคนที่ทำแล้วสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงเป็นตัวอย่างให้เห็นมากมาย ไม่มีความจำเป็นต้องหาสูตร หาทางลัดอะไรให้ต้องเกิดความเสี่ยง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลสุขภาพนั่นก็คือความสม่ำเสมอ แม้อาจจะเห็นผลช้า แต่ถ้าเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างไรก็ต้องถึงเป้าหมายครับ
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
– www.pcrm.org/good-nutrition/nutrition-programs-policies/2020-2025-dietary-guidelines