โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว

น่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เราตัดสินใจโทรศัพท์สัมภาษณ์กับ พลอย-นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์ Natural Chef นักศึกษาปริญญาโทด้านธุรกิจเพื่อสังคม และ เจ้าของเพจ Deliconscious สื่อกลางที่ต้องการถ่ายทอดประสบการณ์การลงไปศึกษาและเก็บเกี่ยวความรู้ด้านอาหารยั่งยืนกับองค์กรชั้นนำด้านการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์

ย้อนกลับไปสมัยยังเรียนปริญญาตรีด้านการตลาดอยู่ที่เมืองไทย พลอยเล่าว่าความสนใจในการเลือกกินอาหารดีๆ เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพที่มาจากไลฟ์สไตล์แบบนักกิจกรรมของตนเอง วันที่เธอล้มป่วยและตรวจพบว่าตนเองมีช็อคโกแลตซีสต์ แม้จะไม่ร้ายแรงแต่อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้ ด้วยความไม่อยากผ่าตัดเอาซีสต์ออกไป เธอจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจนเนื้องอกขนาดเล็กลง นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอรู้ว่าอาหารส่งผลโดยตรงต่อร่างกาย

จากการเลือกกินเพื่อรักษาสุขภาพ พลอยเริ่มจริงจังกับการกินมากขึ้น เมื่อเธอได้ไปทำงานกับสตาร์ทอัพของหวานที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่าง Whapow Thailand ทำให้เธอเริ่มเห็นว่าจักรวาลของอาหารปลอดภัยไม่ได้มีแค่เรื่องของคนกินหรือคนปลูก แต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคม สิ่งแวดล้อม และอนาคตของโลก

พลอยเชื่อว่าพฤติกรรมการกินของคนสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้ เธอจริงได้พยายามสื่อสารแนวคิดนี้ออกไปให้คนนอกเข้าใจ ผ่านโครงการเกี่ยวกับอาหารในไทยไม่ว่าจะเป็น ‘ผูกพันปิ่นโต The Bonding Box’ และ ‘Meatless Monday Thailand’ รวมถึงเดินทางไปเรียนรู้และทำงานด้านอาหารยั่งยืนถึงต่างแดน พลอยบอกเราว่าการได้คลุกคลีกับวงการอาหารยั่งยืนของต่างประเทศทำให้เธอเชื่อมั่นยิ่งกว่าเดิมว่าการกินของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ 

การพูดคุยกับเธอในครั้งนี้ก็ทำให้เราเชื่อว่าการกินสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ไม่ต่างกัน

ทำไมถึงต้องเรียนด้านความยั่งยืนที่ต่างประเทศ?

เราชอบทำงานอาสามาตั้งแต่แรก จึงสนใจเรื่องปัญหาในสังคมอยู่แล้ว ตอนเรียนจบเราได้ไปทำงาน Whapow Thailand สตาร์ทอัพของคนเยอรมัน เป็นบริษัทของหวานที่ใช้วัตถุดิบจากสาหร่ายสไปรูลิน่า เขาจะพูดเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร การปล่อยคาร์บอนจากการผลิตอาหารตลอดเวลา เราจึงเริ่มสนใจเรื่องผลกระทบของอาหารกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย จนอินมากๆ แล้วก็เริ่มมาเป็นมังสวิรัติ ความสนใจก็ไปต่อเรื่อยๆ

แต่เราเองก็เรียนการตลาดมา รู้สึกว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่เราทำงานตอนนั้นมันดีนะ เขามีนวัตกรรมที่ดีมาก มีคอนเซ็ปต์ที่ดีมาก แต่ยังไม่เห็นผลว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าหรือคนในสังคมหรือเปล่า

ระหว่างนั้นเราเองก็ทำงานอาสาสมัคร พยายามทำโครงการเพื่อสังคมที่หวังจะแก้ระบบการบริโภคอาหารของมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ แต่ยังไม่เห็นผลกระทบเท่าไหร่ ประจวบเหมาะกับมีแรงกดดันจากที่บ้านให้เราเรียนต่อ ซึ่งเราคิดว่ายังไงก็จะทำงานอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับความยั่งยืนทางอาหารในไทยแน่ๆ จึงตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทสาขา Social Entrepreneurship ที่อังกฤษ 

อีกเหตุผลคือที่อังกฤษมีหลักสูตรเกี่ยว Natural Chef ด้วย ซึ่งตอนแรกที่คิดจะไปเรียนโท เราอยากจะเรียนอะไรที่เกี่ยวกับอาหารเน้นๆ เลย แต่เราไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือการเรียนทำอาหารมา เลยไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่เปิดสอนทำอาหาร เราเลยหาวิชาเรียนที่เอาไปใช้ได้จริง แล้วเรียนเชฟเป็นประกาศนียบัตรเสริม

หลักสูตร Natural Chef คืออะไร

ชื่อเต็มๆ ของหลักสูตรคือ Naturopathic chef แต่ถ้าพูดให้ง่ายขึ้นคือ Holistic Healing ค่ะ การทำอาหารที่ช่วยบำบัดโรค เป็นคนที่ทำงานร่วมกับนักโภชนาการ คือเราต้องเรียนรู้ประโยชน์ของอาหาร แต่ก็ต้องทำให้อร่อยหน้าตาน่ากินด้วย

จากคนที่ไม่มีพื้นฐานเรียนทำอาหารมาเลย การไปเรียน Natural Chef ยากไหม

ถือว่าท้าทายอยู่ค่ะ เพราะไม่เคยเรียนด้านโภชนาการมาเลย มันต้องจำค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เปิดคลาสมาเขาให้เรียนอนาโตมีให้รู้ระบบย่อยอาหาร ว่าอาหารอันไหนเข้าปากแล้วน้ำลายเป็นตัวย่อยก่อน ลำไส้ตรงไหนย่อยอะไร ลำไส้เล็กมีความสำคัญยังไง ดูดซึมวิตามินยังไง หลังจากนั้นจะแยกเป็นคลาสไป เช่น คนเป็นหวัด เป็นเบาหวาน ไปจนถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับสารอาหารอะไร ต้องทำอาหารอย่างไรถึงจะได้สารอาหารที่ดี แล้วทางเลือกของวัตถุดิบจากธรรมชาติมีอะไรบ้าง อันนี้ก็น่าสนใจเพราะมันธรรมชาติจริงๆ เราพยายามปรุงน้อยที่สุด คือใช้เกลือได้แต่ต้องใช้เกลือที่มาจากเกลือทะเลหรือเกลือหิมาลายัน ใช้วัตถุดิบทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติไร้สารเคมีทั้งหมด จริงๆ ในการเรียนจะท้าทายในเรื่องของสารอาหารมากกว่า การทำอาหารก็พอไปได้

ระหว่างที่ไปหาประสบการณ์พลอยก็ทำเพจ Deliconscious ไปด้วยใช่ไหม

ใช่ค่ะ เราเปิดเพจมาเพื่อแชร์ประสบการณ์และกรณีศึกษาน่าสนใจ ที่พลอยได้เจอหรือได้ลองทำมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังตั้งแต่สมัยตอนที่เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนถึงปัจจุบันที่กำลังทำงานหาประสบการณ์ด้านความยั่งยืน เน้นไปที่เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะอาหาร (food waste) เป็นหลัก

พลอยมาสนใจเรื่อง food waste ได้อย่างไร

ช่วงที่เรียนเชฟ เขาให้เราไปฝึกงานที่ร้านอาหาร เราก็ฝึกงานที่ร้านอาหารวีแกน 3 เดือน ซึ่งร้านที่ไปฝึกด้วยเขาน่ารักมาก ๆ เขาพยายามเก็บทุกอย่าง เช่น หัวกับท้ายมันฝรั่งหรือว่าส่วนที่เขาไม่ใช้ เก็บใส่กล่องแล้วก็ไปทำอาหารพนักงานต่อ เราก็เริ่มสนใจหาข้อมูลเรื่องนั้นมากขึ้น

หาข้อมูลไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าปัญหา food waste ใหญ่หลวงมาก แล้วมันเป็นปัญหาที่เราเห็นตัวเลขจริงๆ ว่าอาหารที่ผลิตมาทั้งโลก 1 ใน 3 คือทิ้งอยู่ใน landfill เหมือนเราเอาเงิน เอาพลังงาน เอาแรงงานคนไปทิ้ง มันน่าเสียดายมาก

ยิ่งเราเรียน Natural Chef เราก็จะรู้สึกว่าอาหารที่ทิ้งไปมันคือสารอาหารดีๆ ทั้งนั้นเลย จึงสนใจเรื่อง food waste ขึ้นมาว่าจะทำยังไงที่เราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพราะถ้าเราแก้ได้มันจะย้อนมาช่วยเหลือปัญหาอื่นๆ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านสังคมด้วย

เรื่อง food waste จะแก้ไขปัญหาสังคมอย่างไร

อย่างในยุโรปเขาจะนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเยอะโดยเฉพาะจากประเทศฝั่งร้อน ก่อนจะส่งมาเขาก็คัดผลผลิตว่ารูปร่างตรงมาตรฐานไหม มันสวยงามหรือเปล่า ถ้ามันเกิดสุกกลางทางก็ต้องทิ้งทั้งกระบะเลยขายไม่ได้แล้ว ซึ่งก็แปลว่าเขาจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย ถ้าเราสนับสนุนให้เกิดการกินผักผลไม้หน้าตาไม่ดีก็จะช่วยเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยปัญหาความยากจนได้ อย่างมูลนิธิที่อังกฤษก็มีการช่วยเหลือคนไร้บ้าน คนยากจน ด้วยการไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตไปขอรับอาหารที่เหลือ ที่ยังไม่ได้ปรุง เช่น กล้วย รับผักสดที่ต้องเอาออกจากเชลฟ์แล้ว ก็มาทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้คนไร้บ้านกิน 

พลอยเลยมองว่าเราสามารถเปลี่ยนจากคำว่า waste ให้เป็น resource เปลี่ยนจากสิ่งที่จะกลายเป็นขยะให้กลายเป็นวัตถุดิบใหม่ให้คนที่เขาต้องการ

ถ้าเรามองดีๆ เรื่อง food waste ก็ยังเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพด้วย เพราะเมื่อเราสามารถเอาวัตถุดิบที่ยังดีอยู่มาทำอาหารได้ เราก็ช่วยให้คนที่ไม่มีเงินเข้าถึงอาหารที่ดีได้ด้วยเช่นกัน

นี่เป็นเหตุผลไปทำงานในร้านอาหารที่จริงจังกับการจัดอาหารเหลือทิ้งอย่าง Instock ใช่ไหม

ใช่ค่ะ พอเราเริ่มเห็นว่าปัญหานี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเรา ชาวสวน หรือซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว จึงอยากมองให้มันเป็นระบบมากขึ้น เรารู้จักร้าน Instock มาตั้งแต่เรียนปริญญาโท เขาเป็นร้านอาหารแรกๆ ของโลกที่เอาอาหารที่เหลือจากซูเปอร์มาร์เก็ตและซัพพลายเออร์ทั่วเมืองใหญ่ของเนเธอร์แลนด์มาปรุงใหม่ให้เป็น fine dining ตอนนั้นเราก็เลยมาเที่ยวเนเธอร์แลนด์มากินอาหารที่ร้านเขา ซึ่งอินมาก ก็เลยขอคุยกับหัวหน้าเชฟ เข้าไปถามในครัวเลย แล้วเราทิ้งท้ายกับเขาไว้ว่าสนใจรับเด็กฝึกงานไหม แต่ตอนนั้นเขาทำวีซ่าให้เราไม่ได้ พลอยก็กลับไทยมาทำวีซ่าเอง เพื่อไปทำงานประจำที่ร้าน Instock เลย (หัวเราะ)

การทำงานที่ร้าน Instock ต่างจากทำงานร้านอาหารปกติอย่างไร

พลอยไปทำงานเป็นเชฟ แต่เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็น professional chef นะคะ เราอยากเห็นว่าเขาทำงานกันอย่างไร ซึ่งร้าน Instock เขาอยากจะสื่อสารกับคนทั่วไปว่าในโลกนี้มีอาหารดีๆ ที่ต้องถูกทิ้งไปเท่าไหร่ เขาจึงจะใช้วัตถุดิบที่เป็นของเหลือทิ้งจริงๆ เราจะไม่รู้เลยว่ามีวัตถุดิบอะไรเข้ามาที่ร้านบ้าง ทำให้เชฟก็ต้องคิดใหม่ให้ลูกค้าได้กินแทบจะทุกวัน ซึ่งเราพยายามทำให้มาตรฐานในร้านเป็นเหมือนไฟน์ไดนิ่งก็ต้องมีการจัดจานให้สวยด้วย

ความท้าทายอีกอย่างคือเราเป็นร้านอาหารที่ต้องการลด food waste แต่ถ้าเราเตรียมอาหารเสร็จยังมี waste เราจะจัดการยังไง หรือบางทีเราเตรียมอาหารแล้วมันเยอะเกินไป ตามกฎหมายเขาไม่ให้เก็บอาหารเกินสามวันถ้าเป็นอาหารที่เตรียมแล้วเราจะแก้ไขปัญหาตรงนั้นยังไง อย่างเช่นเอาเศษขนมปังที่เหลือมาทำเบียร์ มันฝรั่งเหลือมาทำเบียร์ เกรนข้าวบาร์เล่ย์ที่เหลือจากการทำเบียร์ก็เอามาทำกราโนล่าหรือซีเรียลต่อ ก็สนุกดีมันก็เป็นความท้าทายของร้านที่เราเจอ

นอกจากนี้เขายังมีเรื่องการเชื่อมต่อกับคนในแต่ละขั้นของห่วงโซ่อาหาร การสื่อสารกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าสนใจ รู้สึกรัก Instock อยากกลับมากิน รู้สึกว่าอยากช่วยลดปัญหา food waste ด้วยการมากินอาหารที่นี่

นอกจากนี้เขายังมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกค้าให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อย่างเช่นเวิร์กชอปที่สอนดองอาหาร เพื่อเก็บผักที่เหลือ รวมถึง Instock Market คือธุรกิจอีกโมเดลหนึ่งที่ Instock ทำขึ้นเพื่อให้มีโอกาสและพื้นที่รองรับ surplus food หรืออาหารที่เหลือจากการขายได้มากขึ้น ส่งให้ร้านอาหารของ Instock เอง บวกกับขายต่อให้กับร้านอาหารอื่นที่สนใจเข้าร่วม zero food waste movement ด้วยกัน ซึ่งมีร้านอาหารเข้าร่วมเป็นลูกค้าประจำและสั่งวัตถุดิบจากที่นี่เป็นประจำจริงๆ

ที่ Instock เขาทำงานเป็นระบบมากจริงๆ ทุกส่วนมีส่วนร่วมหมดเลย Instock เปิดมาปีที่ 6 แล้วมันก็พัฒนามาเรื่อยๆ สเกลของธุรกิจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราเรียนธุรกิจเพื่อสังคมเรามองเห็นว่า นี่แหละธุรกิจที่เขาเห็นปัญหาแล้วเขาพยายามตอบโจทย์ลูกค้าแล้วไปได้ดี 

คิดว่าอะไรที่ทำให้ต่างประเทศเขาตื่นตัวกับเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อมขนาดนี้

เพราะว่าเขาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เหมือนมีทุกอย่างครบแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตหรือสวัสดิการทางสังคมเขามีทุกอย่างเพียบพร้อม แต่ก่อนหน้านี้ที่เขากำลังพัฒนาตัวเองขึ้นมา เขาก็ทำลายสิ่งแวดล้อมไปเยอะมาก ถ้าย้อนกลับไปดูข่าวสมัยก่อนเขาก็เคยมี PM2.5 ร้ายแรงมาก 

อย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งประสิทธิภาพในการผลิตอาหารมาก ก็ต้องแลกมาด้วยการทำลายระบบนิเวศ เปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นประเทศที่พื้นดินราบเรียบ จนดินพัง ความหลากหลายทางชีวภาพของที่นี่เหลือเพียง 15% เท่านั้นเอง

พอมีคนเห็นปัญหา เขาก็เลยตื่นตัวกันมากขึ้น มีการทำแคมเปญต่างๆ มีคนรุ่นใหม่มารณรงค์ แบรนด์ต่างๆ ก็หันมาสนใจด้านนี้ก็เป็นจุดใหญ่ที่เปลี่ยนความคิดของลูกค้า

ความเคลื่อนไหวด้านอาหารยั่งยืนในฝั่งยุโรปเขาคุยกันถึงไหนแล้ว

movement เรื่องอาหารยั่งยืนที่นี่มีหลายภาคส่วนมาก อย่างส่วนของร้านอาหารเขาจะเน้นเรื่องอาหารตามฤดูกาล อาหารวีแกนกันเยอะ ตอนนี้ร้านอาหารวีแกนผุดทั่วเมืองเลยเป็น movement ที่ใหญ่มาก

การลด food waste ก็เช่นกัน ในอังกฤษจะมีร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งที่ใช้วัตถุดิบอย่างดีจาก local และ seasonal แต่สุดท้ายแล้วยังมีเมนูที่ทำอาหารจากสิ่งที่เขาตัดออกไปเช่น ยอดผักที่ไม่ใช้ เอามาทำเป็นเมนูใหม่ก็จะมีคอนเซ็ปต์แบบนี้หรือร้านอาหารที่พูดว่าเป็น zero waste เลยคือตั้งแต่การรับวัตถุดิบมาจากชาวสวน ชาวไร่คือไม่ใช้พลาสติกเลย เขาจะเอารถของเขาไปรับพอไปรับของมาก็จะใช้ทุกส่วนโดยที่ไม่ทิ้งเลย 

มีการทำแคมเปญเยอะมากเช่นกัน ทั้งการสนับสนุนให้ซื้อสินค้ากับเกษตรกร สนับสนุนให้คนในเมืองลดการสร้างขยะที่บ้าน ทุกๆ เขตเขาจะมีแคมเปญของตัวเองช่วยให้คนที่อยู่ในละแวกนั้นดูแลเรื่องความยั่งยืนทางอาหารหรือเรื่องขยะ เช่น สร้าง community kitchen garden สมมติเราอยู่บ้านในละแวกเดียวกันเขาก็จะมีแปลงผักใหญ่ๆ หนึ่งอัน แล้วก็บอกว่าทุกคนเรามาปลูกผักด้วยกันเถอะแล้วมาช่วยกันดูแลสวนแปลงนี้นะ จะกินอะไรก็เอาไปได้เลยแล้วถ้ามันเหลือเราก็สามารถเอาไปเปิดเป็นร้านค้าเล็กๆ ตามฟาร์มเมอร์สมาร์เก็ตก็ไปเปิดเป็นเชลฟ์นึงแล้วก็ขายของก็ได้ 

ตอนนี้พลอยก็กำลังเข้าโครงการ Flevo Campus Think Tank 2020 ซึ่งเขาจะคัดเลือก Young Professional หลากหลายสัญชาติจำนวน 20 คนที่สนใจเรื่องการพัฒนาระบบการผลิตการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืน มาเรียนรู้และช่วยกันคิดวิธีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับแหล่งผลิตอาหารในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

โดยการใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและนวัตกรรมมาเชื่อมโยงคนเมืองและเกษตรกรเข้าด้วยกัน เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทุกคนจะได้มาเรียนรู้เรื่องระบบอาหารที่ยั่งยืน รวมตัวกันในฐานะที่เราเป็นคนเมืองและเป็นผู้บริโภคหลัก ที่อยากมีส่วนร่วมช่วยกันเปลี่ยนแปลงระบบอาหารให้ดีขึ้น

ทุกฝ่ายต่างก็อยากมีส่วนร่วมใช่ไหม

ใช่ค่ะ เหมือนเรายิ่งลงลึกไปเรื่อยๆ ยิ่งเห็นว่าปัญหาเรื่องอาหารมันซับซ้อนมาก ซึ่งปัญหามันใหญ่มากถ้าเราต้องการแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่าง เราอาจจะมองตัวเราอยู่ในจุดนึงของ supply chain แล้วแก้ไขปัญหาตรงนั้นแล้วก็ดึงคนที่อยู่รอบๆ มาช่วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนนึงที่แก้ไขปัญหาทั้งระบบ เพราะเราคงทำไม่ได้ อย่างเรามีพื้นฐานด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้า จึงคิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงคนที่เป็นกลุ่มลูกค้าได้ โดยที่เราไม่ต้องไปช่วยถึงกลุ่มชาวสวนชาวไร่ เพราะเราไม่มีความรู้มากพอที่จะไปถึงตรงนั้น 

ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าเราคนเดียวสามารถแก้ทั้งระบบได้ไหม

เคยคิด แบบเด็กจบใหม่ไฟแรงเนอะ พอเห็นปัญหาที่อยากแก้ก็ทำด้วยตัวเองทันที แต่ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วเราควรจะเริ่มแก้ปัญหาที่ตรงไหน แต่พอเราอยู่ไปเรื่อยๆ เราได้ลงไปทำงานในกลุ่มของคนที่เขาทำงานจริงๆ เราก็มองว่ามันทำคนเดียวไม่ได้หรอก อย่าง Instock เขาก็ประสบความสำเร็จเพราะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ 

พอเราได้มาหาประสบการณ์ที่นี่ จะเห็นเลยว่าคนทำงานเขาก็จะไปร่วมมือกับธุรกิจ องค์กรอื่น ที่มีเป้าหมายเหมือนกัน และสามารถต่อยอดงานเขาได้มากกว่าจะทำคนเดียวทั้งหมด คือมันไม่ได้เป็นการแข่งขันกันเลย มันเป็นการร่วมมือกันด้วยซ้ำ

ตอนนี้พลอยจึงเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือการหาจุดยืนให้ตัวเองในการแก้ปัญหา เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ของเรา แล้วพยายามเชื่อมต่อคนที่มีแนวคิด มีเป้าหมายคล้ายๆ กัน

การเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ ของตนเองจะสามารถเปลี่ยนได้จริงๆ ใช่ไหม

เปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ค่ะ ถ้าเราเลือกกินแล้วเห็นว่าอาหารสร้างความเปลี่ยนแปลงในร่างกายได้ ก็ต้องคิดว่าอาหารสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมได้

ก็จะเริ่มมองไปรอบตัวมากขึ้น ถ้ามองเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังอาหาร ก็ต้องอยากช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ได้มากขึ้น อย่างกระแสการกินมังสวิรัติที่ได้รับความนิยมมาในยุโรปก็มาจากคนเห็นปัญหาว่าปศุสัตว์สร้างก๊าซเรือนกระจกเยอะมากแล้วอยากแก้ไข แล่วมันสามารถสร้างอิมแพคได้จริงๆ

เราเชื่อในพลังของผู้บริโภค เชื่อว่าการเลือกซื้อเลือกกินสามารถเปลี่ยนระบบการผลิตได้ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรป พอคนเป็นมังสวิรัติมากขึ้น กลุ่มคนที่เคยทำพวกปศุสัตว์ก็ต้องลดลงและเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เช่น คนที่เลี้ยงวัวเขาก็เริ่มปลูกถั่วเหลืองมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่าถึงเราเป็นลูกค้าตัวเล็กๆ แต่เรามีพลังมากในการเลือกซื้อมากนะ อย่างอาหารออร์แกนิกหรือวัตถุดิบท้องถิ่น คนอาจจะมองว่าแพง แต่ถ้าอุดหนุนมากขึ้นอาจจะมีคนกลับไปทำงานเหล่านั้นมากขึ้นแล้วทำให้สเกลมันใหญ่ขึ้นก็ได้ สามารถช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยโลกได้

เรารู้สึกว่าทุกคนเป็น activist ได้จากการกินอาหารของตัวเอง

เราทุกคนจะเริ่มเป็น activist ได้ในการกินอาหารของตัวเองได้อย่างไร

ถ้าคนเราไม่เห็นว่าอาหารมันดีต่อตัวเองยังไง เราก็จะไม่เห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเขาใช่ไหมคะ ฉะนั้นมันต้องเริ่มจากเขาเห็นว่าสิ่งที่เขากินมีผลกระทบต่ออะไรบ้าง เช่น ถ้าเขากินเนื้อก็จะพอรู้บ้างว่าเนื้อกินไปแล้วมีผลอะไรกับร่างกาย มองหาเบื้องหลัง ที่มาของเนื้อว่าเลี้ยงมาแบบไหน เขาก็จะเริ่มเห็นผลกระทบที่นอกเหนือจากตัวเอง

พลอยไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องมาเป็นวีแกนหรือเปลี่ยนวิธีกินไปเลย แต่อยากให้ทุกคนมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และรู้ว่าการกินของเรานั้นมีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว และอยากชวนให้ทุกคนมาปกป้องโลกผ่านการกินไปด้วยกัน

ภาพถ่าย: พลอย นันทพร ตีระพงศ์ไพบูลย์