เราเกือบทุกคนล้วนต้องเคยผ่านชีวิตวัยรุ่นที่ ‘สยาม’ และเด็กรุ่นใหม่อีกหลายคนก็กำลังใช้ชีวิตของพวกเขาอยู่ใน ‘สวนหลวง-สามย่าน’

พื้นที่ขนาด 385 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สยามสแควร์ สวนหลวง สามย่าน และจัตุรัสจามจุรี ถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดยักษ์ใจกลางกรุงกว่า 1,153 ไร่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเขตพื้นที่พาณิชย์ภายใต้การบริหารงานของ PMCU ที่หวังจะจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการเรียนรู้ การอยู่อาศัย และไลฟ์สไตล์ของผู้คนหลากหลาย

อาจเพราะที่แห่งนี้เป็นแหล่งประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่มาหลายยุคหลายสมัย มันจึงมักดูมีพลัง สดใส และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวทันโลกอยู่เสมอ

ในโอกาสที่ greenery. ได้แวะเวียนมาใช้พื้นที่ Park@Siam ในการจัดตลาดสีเขียวอยู่บ่อยครั้ง เราจึงขอชวน วรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU (Property Management of Chulalongkorn University) มาพูดคุยเรื่องการจัดการพื้นที่ตามแนวคิดขององค์กร ที่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างตึกขนาดใหญ่ดูทันสมัย แต่นี่คือการสร้างเมืองที่มีองค์ประกอบครบครันภายใต้แนวคิด  Smart City เมืองขนาดย่อมที่พร้อมจะก้าวทันโลกไปกับสิ่งแวดล้อมดีๆ และสร้างโอกาสอันหลากหลายให้ผู้เข้ามาใช้บริการ

ทำไมเมืองถึงต้องการสวน

ในวันที่สังคมเมืองเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นกลุ่มคนซึ่งหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองสีเขียวคู่ไปกับพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พื้นที่โดยรอบของจุฬาฯ กลับขยายตัวไปพร้อมกับโปรเจกต์พื้นที่สีเขียวขนาดย่อมและขนาดใหญ่ถึง 2 แห่ง ทั้ง Park@Siam บริเวณสยามสแควร์ และอุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี สามย่าน ที่กลายเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญสำหรับคนเมือง

สังคมต้องมีเรื่องของธรรมชาติ สีเขียวมันบอกถึงชีวิต มันเป็นส่วนประกอบที่ทำให้สังคมไม่หนักไปในด้านวัตถุ หรือสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งคำว่าสีเขียวของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านพื้นที่นะ แต่หมายถึงสิ่งแวดล้อมทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ มีตัวชี้วัด มีการแก้ไขหากมีปัญหา เพราะจุฬาฯ เป็นหน่วยงานที่เกือบจะรวมคนที่มีความรู้ทุกแขนงของประเทศไว้เลยก็ว่าได้”  

วรพงศ์เกริ่นให้เราฟังถึงความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางโครงการ Chula Smart City ที่นอกจากจะมีแนวคิดรองรับเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในชุมชนแล้ว การให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวก็เป็นหนึ่งในธงที่องค์กรตั้งไว้แต่แรกเช่นกัน 

“การพัฒนาเมืองในเขตพาณิชย์ของเรายึด Master Plan มาจากภาพใหญ่ของที่ดินเดิมทั้งหมด โดยมีการกำหนดพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่สำคัญ คืออุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งกินพื้นที่ 30 ไร่ วางตำแหน่งเป็นแนวตรงกับสระน้ำของจุฬาฯ และ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนเมืองในรูปแบบใหม่ต่อๆ ไปนับจากนี้

“Park@Siam ที่สยามสแควร์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สำคัญเหมือนกัน เราไม่ได้ต้องการเอาพื้นที่ทุกอณูมาทำการค้า เพราะเมืองต้องมีส่วนที่สร้างความร่มรื่น เป็นจุดพักผ่อนของคนที่มาใช้บริการได้ด้วย อีกอย่างคือเราไม่ได้เน้นการสร้างกำไรเป็นหลัก แต่สิ่งที่เราอยากทำคือการสร้างคุณค่าให้กับสังคม” 

Chula Smart City โมเดลพัฒนาเมืองเพื่อทุกคน 

สามล้อไฟฟ้าที่เรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันในมือถือ แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในอาคาร หรือแม้กระทั่งระบบการจัดการขยะรอบพื้นที่อย่างจริงจัง

ทั้งหมดนี้คือสารพัดการทดลองที่เกิดขึ้นในพื้นที่สยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่านตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว คู่ไปกับการช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนในชุมชน รวมไปถึงผู้คนภายนอกที่ผ่านเข้าออกพื้นที่แห่งนี้ในแต่ละวัน ภายใต้ร่มใหญ่ของโครงการ Chula Smart City ที่เน้นการพัฒนาชุมชน ครอบคลุมหลัก Smart ถึง 4 ด้าน 

ในด้านแรก Smart Mobility เป็นความตั้งใจในการพัฒนาระบบขนส่งสัญจรอัจฉริยะที่หลากหลาย สะดวกสบาย เชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาด ทั้ง CU POP BUS รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการตลอดทั้งวันรอบมหาวิทยาลัยและสยามสแควร์ coBIKE ระบบเช่าจักรยานสาธารณะ CU Toyota Ha:Mo รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในพื้นที่จุฬาฯ MuvMi แอปพลิเคชันเรียกรถสามล้อไฟฟ้าแบบ car pool และ EScooter ระบบสกูตเตอร์ไฟฟ้าแชร์ริ่ง

ส่วนในมุมของสิ่งแวดล้อมก็มีการจัดการพลังงานที่เรียกว่า Smart Energy ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบริหารจัดการการผลิต การจัดเก็บ และการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าในอาคารรอบพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นไปที่การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งลดการใช้พลังงานไปแล้วถึง 40% และลดก๊าซเรือนกระจกไปได้มากถึง 30% รวมไปถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Smart Environment ด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น คุณภาพอากาศ อุณหภูมิ เสียง รวมถึงการพยากรณ์อากาศเบื้องต้น เพื่อแจ้งเตือนความเสี่ยงต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันให้ผู้คนในชุมชนได้รับรู้ และยังทำให้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

สุดท้ายคือเรื่องของการรักษาความปลอดภัย Smart Living ที่จะช่วยตรวจสอบและรักษาความปลอดภัย ผ่านการใช้ระบบออนไลน์รวบรวมข้อมูลไปสู่ศูนย์กลาง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติเจ้าหน้าที่จะเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้อาศัยและผู้เข้ามาใช้งานในพื้นที่อีกด้วย

“เราเปิดโอกาสให้พื้นที่ของจุฬาฯ เป็นพื้นที่แห่งการทดลองและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เปรียบเสมือน Living Lab คือใครมีอะไรน่าสนใจ ก็สามารถเข้ามาทดลองเปิดให้บริการในชุมชนผ่านเราได้เลย 

“เราอยากให้ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพดีๆ ทั้งหลาย อย่างสามล้อไฟฟ้า MuvMe เขาก็ทดลองกับเราเกือบปีนะ แต่ก่อนเรียกรถมาบ้างไม่มาบ้าง จอดไม่ตรงจุดบ้าง แต่พอเกิดการพัฒนาไปจนมันเวิร์ก เขาก็สามารถไปเติบโตที่อื่นต่อได้ และเราไม่เคยหวง ถ้ามันจะเป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ อีก” วรพงศ์กล่าว

เช่นเดียวกับที่ทุกวันนี้ เจ้ารถสามล้อไฟฟ้า MuvMe กำลังวิ่งฉิวอยู่ในย่านอารีย์ หลังจากการทดลองในระยะแรกสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมกับที่บริการทั้งหลายทั่วพื้นที่สยามและสวนหลวง-สามย่าน ต่างก็ยินดีให้ทั้งคนในชุมชนและขาจร เข้าไปโหลดแอปพลิเคชันพร้อมร่วมทดลองใช้บริการได้ในทุกวันทำการ

เติบโตและเป็นเจ้าของชุมชนไปด้วยกัน

“เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่แห่งโอกาสของผู้มีศักยภาพ เขาจะได้ต่อยอด เติบโตเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป” วรพงศ์ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติม

ดังนั้น นอกจาก PMCU จะเปิดพื้นที่ให้ผู้มีไอเดียเจ๋งๆ เข้ามาทดสอบนวัตกรรมของตัวเองแล้ว โปรเจกต์ล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่สวนหลวงอย่าง Block 28 Village ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะนี่คือชุมชนที่ PMCU ตั้งใจจะสร้างให้เป็นจุดแบ่งปันความรู้ และเป็นศูนย์รวมของเหล่าสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย 

“เราอยากให้ Block 28 เป็นเหมือนหมู่บ้านที่คนเก่งๆ มารวมตัวกัน เพื่อจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ จริงๆ พื้นที่ลักษณะนี้ในจุฬาฯ มีอีกเยอะนะ เช่น ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เขาจะทำงานกันตามตึกคณะ เราเลยอยากทำพื้นที่รองรับให้เขาออกมาอยู่นอกส่วนมหาวิทยาลัย ที่มีความสะดวกและคล่องตัวในการเข้าออกอาคารมากกว่า”

ในด้านอื่นๆ PMCU ยังยินดีสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรม เพื่อเป็นการเปิดเวทีให้กับองค์กรที่ทำเรื่องดีๆ ทั้งหลาย หรือแม้แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อยากมีพื้นที่ต่อยอดทางธุรกิจ โดยรายได้ทั้งหมดจากการจัดการพื้นที่จะวนกลับสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนและพัฒนาด้านการศึกษาตามปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานที่ดินผืนนี้แก่จุฬาฯ

“เราพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง แต่เราก็ดูตามความเหมาะสม อย่างตลาด Greenery Market เราก็ยินดีเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรได้เข้ามาใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าของเขามากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย พอได้ยินว่าคนที่มาออกบูทแฮปปี้กับพื้นที่ตรงนี้ เราก็ยินดีไปด้วยนะ

“ที่สำคัญ เราอยากให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเขาได้โตมากับพื้นที่ตรงนี้จริงๆ เพราะที่นี่เป็นความผูกพันในช่วงชีวิตหนึ่ง เป็นทางผ่านของเด็กๆ ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยเริ่มต้นทำงานเลย เราเลยอยากจะเป็นพื้นที่ที่ให้โอกาสเขาได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เป็นเวทีที่จะส่งเสริมให้เขาได้เติบใหญ่” ผอ. สรุป

เพราะมากไปกว่าการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ พวกเขายังถือเป็นผู้ใช้บริการกลุ่มใหญ่ ที่ PMCU อยากจะพัฒนาความต้องการของพวกเขาให้ออกมาเป็นพื้นที่และการบริการดีๆ ที่จะช่วยพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน ไปพร้อมกับการสร้างความเข้าใจเรื่องเมืองสีเขียว ซึ่งเป็นแบบอย่างให้พวกเขาซึมซับและนำติดตัวไป ไม่ว่าหลังจากนี้จะไปอยู่ที่ไหน 

ฟังอย่างนี้ เราเชื่อว่าในอนาคต โมเดลเมืองสีเขียวแห่งที่สองหรือสามก็คงจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่ไกล

ภาพภ่าย: มณีนุช บุญเรือง