เมื่อวันอาทิตย์สุดท้ายของทุกเดือนวนมาถึงอีกครั้ง นัดหมายสำคัญกับตัวเองในเช้านี้คือไป ตลาดปันอยู่ปันกิน เดินทางไปถึงเมื่อยามสาย แดดอ่อน ๆ รถรายังไม่วิ่งขวักไขว่ และหลายคนยังไม่ดีดตัวลุกจากที่นอน สมาชิกบางส่วนของตลาดปันอยู่ปันกินกำลังจัดเรียงสินค้า และเคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้จัดวางตำแหน่งร้านของตนกันอย่างขะมักขเม้น เพื่อรอเวลาต้อนรับลูกค้าคนแรกที่จะมาเลือกซื้อหาสินค้า นี้คือความปรกติธรรมดาของตลาดปันอยู่ปันกินที่ลงหลักเปิดตลาดในพื้นที่ร่มรื่นของร้านปลาออร์แกนิก ซอยวิภาวดี 22 หนึ่งในตลาดสีเขียวที่หลายคนคุ้นเคยและเคยคุ้นเป็นลูกค้ามาอุดหนุน

แม้จะออกตัวว่าเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่สเกลความกะทัดรัดของตลาด ไม่มีผลใด ๆ ต่อกำลังซื้อและกำลังขาย เพราะด้วยระบบการจัดการที่เข้มแข็ง มือหลาย ๆ คู่ที่ช่วยหยิบจับส่งสินค้าจากร้านนั้นไปร้านนี้ จากร้านนี้ไปถึงมือถึงรถลูกค้า ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของความแข็งแรงที่สร้างมาด้วยกัน กระบวนการผูก แพ็ก ห่อ หุ้ม สินค้าที่สั่งจองไว้ล่วงหน้ากันมือเป็นระวิงคือกล่าวไม่เกินจริง นี่จึงเป็นวิถีของชาวปันอยู่ปันกินที่ดำเนินมาตลอด 7 ขวบปี

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณแจ๊ส จริยา เอชเวิท หนึ่งในทีมงานหลักของตลาดและในฐานะผู้ค้าสินค้าปลอดภัยจากธรรมชาติ ย้อนเล่าถึงที่มาของตลาดปันอยู่ปันกินว่า ที่มาของชื่อชื่อ ปันอยู่ปันกิน เริ่มมาจากกลุ่มเพื่อน ๆ ที่นำสิ่งของมาปันกันอยู่ มาปันกันกิน ที่ปันกันอยู่คือเรื่องของใช้ในบ้าน สบู่ แชมพู น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ที่ปันกันกินก็คือวัตถุดิบอาหารที่ต้องกินในชีวิตประจำวัน แลกเปลี่ยนวัตถุดิบธรรมชาติที่ตัวเองมีจากฟาร์มคนนี้ จากบ้านคนนั้น แต่เพราะความต้องการแบ่งปันสู่กันเริ่มขยายวงกว้างออกไป จนนำไปสู่การชักชวนผู้ผลิตและเกษตรกรมาร่วมเป็นสมาชิกและมีสถานที่จัดไว้ให้ทางร้านได้จำหน่ายสินค้าโดยตรงอีกทาง ตลาดจึงเริ่มต้นมาจากจุดเล็ก ๆ จุดนั้น

จากแปลงปลูกสู่ปากท้อง ความปลอดภัยจากธรรมชาติคือมาตรฐานขั้นแรก
การคัดเลือกสมาชิกในตลาด ทางทีมงานของตลาดจะเริ่มจากการพุดคุยกับผู้ผลิต ถึงแนวทางความคิดว่าเป็นความตั้งใจทำสินค้าจากธรรมชาติจริง ๆ หรือเป็นการทำตามกระแสเพราะผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกนั้นขายได้ราคาดีกว่า ถ้าแนวทางชัดเจนและตรงกันในทุก ๆ ด้านก็จะส่งใบสมัครให้กับผู้ที่อยากจะมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในตลาด ซึ่งในใบสมัครนั้นก็จะมีตัวมาตรฐานว่าตลาดเราแบ่งสินค้าออกเป็นกี่ประเภท เช่น อาหารพร้อมทาน อาหารจากฟาร์ม สินค้า fairtrade อย่างของใช้ เครื่องนุ่งห่ม จะแยกประเภทกันไป

ทันทีที่ทุกร้านเตรียมความพร้อมเปิดการขายและส่งต่อเสร็จสรรพ ช่วงเวลาของการเดินสำรวจสินค้าแต่ละร้านก็มาถึง ความสนุกประการหนึ่งของการไปตลาดและได้เห็นสินค้าหน้าตาใหม่ ๆ คือการได้หยิบจับ พลิกหน้าพลิกหลังพิจารณาและสอบถามผู้ค้าแสดงความสนใจใฝ่รู้ และร้านแรกที่ได้แวะคือร้าน มัมโบ (Mumbo) ของคุณแจ๊สนั่นเอง

เพราะเชื่อว่าอาหารที่แท้จริงต้องเป็นยา และหัวใจของการสร้างสรรค์ทุกผลิตภัณฑ์อาหารของมัมโบ เป็นสินค้าออร์แกนิก จึงเริ่มต้นตั้งแต่การใส่ใจเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบทุกตัว ที่ต้องปราศจากสารเคมีเจือปน และกระบวนการผลิตที่คงคุณค่าและรสชาติของวัตถุดิบโดยไม่แต่งเติมสารใด ๆ ใส่ใจและใกล้ชิดกับเกษตรกรผู้ปลูกทั้งหมดนี้ก็เพื่อส่งต่อการบริโภคอย่างยั่งยืนและปลอดภัยให้กับลูกค้าทุก ๆ คน

สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพของคุณแจ๊ส เริ่มต้นมาจากการเจ็บป่วยด้วยปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เลยอยากที่จะดูแลตัวเอง บรรเทาโรคที่คุณหมอบอกว่าไม่มีทางหาย และสามารถพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งได้ ด้วยเพราะยังอยู่ในจุดที่ยังจัดการโรคได้ คุณแจ๊สจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ ปรับเปลี่ยนอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารทั้งหมดในบ้านทั้งหมด เริ่มตามหาตลาดที่จำหน่ายวัตถุดิบในการปรุงอาหาร

เมื่อเริ่มรับประทานอาหารปลอดภัยจากธรรมชาติล้วน ๆ อาการป่วยก็ค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับภายใน 2-3 สัปดาห์ ก็เลยยิ่งสนใจและมีแรงขับเคลื่อนต่อไปถึงการทำผลิตภัณฑ์อาหารจากธรรมชาติรับประทานเองและส่งต่อสู่เพื่อน ๆ และลูกค้า

สินค้าของมัมโบ ที่นำมาจำหน่ายในวันนี้มีทั้งเครื่องปรุงรสที่ต้องมีติดครัวอย่างพริกไทยดำป่น พริกไทยดำเม็ด เกลือป่น ข้าวคั่ว น้ำมะขามเปียกออร์แกนิกที่แค่จับขวดขึ้นมาเขย่าเบา ๆ น้ำและเนื้อของมะขามที่นอนก้นอยู่ก็ผสมเข้ากันดี เห็นแล้วต่อมน้ำลายก็เริ่มทำงานแบบอัตโนมัติ เมนูที่มีน้ำมะขามเปียกเป็นส่วนประกอบเด้งขึ้นมาในความคิดอย่างฉับพลัน ที่วางอยู่ข้าง ๆ กันเป็นเครื่องเคียงในมื้ออาหารคือผักตามฤดูกาลดองสูตรพิเศษนานาชนิด ที่ล้วนน่ากินและถูกใจสายผักดอง เห็นความขาวอวบของหน่อไม้ดองออร์แกนิกแล้วอยากจะจับคู่เมนูกับน้ำมะขามเปียกขวดนั้นขึ้นมาเลยเชียว ส่วนไฮไลต์ที่ขอแนะนำในวันนี้คือน้ำปลาร้ามัมโบ ที่การันตีความหอม นัว แบบไม่ต้องกลัวว่าจะมีผงชูรส (ติดตามและสนับสนุนสินค้าเพื่อสุขภาพจากมัมโบ ออร์แกนิกได้ที่ Instagram : mumbo_official หรือ สั่งสินค้าผ่านไลน์ได้ที่ @mumbo)

ขณะที่เดินชมสินค้าอย่างเพลิดเพลิน สักพักก็ได้ยินเสียงครกกับสากกระทบกันโป๊ก ๆ หันไปตามเสียงก็พบว่ามีร้านส้มตำเฉพาะกิจมาเปิดอยู่ข้าง ๆ ร้านฟาร์มบ้านสวนสุขใจ ตอนนี้เปิดครกแรกแล้ว มีลูกค้ารายแรกแล้ว ระหว่างรอจองครกถัดไป ก็เลยแวะชมผักสด ๆ เขียว ๆ เจ้าของเดียวกันกับร้านส้มตำสักหน่อยแล้วกัน

พี่สมบัติ อภิสิทธิวาณิช จากฟาร์มบ้านสวนสุขใจ มาไกลจากจอมบึง ราชบุรี บรรทุกผักสดและผลไม้มาเต็มโต๊ะ พร้อมผักพื้นบ้านที่หน้าตาไม่ค่อยคุ้นเคย ส้มสูกลูกไม้ในตะกร้าเรียงกันแน่นขนัด เป็นความหลากหลายทางชีวภาพที่จินตนาการถึงความสนุกตอนเก็บผลิตผลทั้งหมดเหล่านี้เตรียมมาขายได้เลย

ฟาร์มบ้านสวนสุขใจของพี่สมบัติ เป็นฟาร์มเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักหลายชนิดในกระบวนการของเกษตรอินทรีย์​เกษตรชีวภาพ เกษตรทฤษฎีใหม่ แนวโคกหนองนา ส่วนผสมที่ลงตัวเหล่านี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความตั้งใจเดียวคือผลลิตที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี และยั่งยืน สินค้าที่เป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของฟาร์มฯ​ จะเป็นผักสด ผักสลัด และผักพื้นบ้าน เพราะเป็นผักต้น เป็นผักพื้นถิ่นที่เติบโตและแข็งแรงด้วยตัวเองในสภาพภูมิอากาศ ลม น้ำ แดดและดินของท้องถิ่น และยังมีข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องออร์แกนิกที่ปลูกเองในพื้นที่ขนาด 29 ไร่ของฟาร์ม

วันนี้พี่สมบัติขยายกิจการเปิดร้านส้มตำอินทรีย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ของตลาด ส้มตำอินทรีย์เป็นเซตรับประทานคู่กับไก่บ้านอินทรีย์ย่างเกลือ คอหมูเลี้ยงปล่อยทุ่งย่างหอม ๆ แกล้มผักพื้นบ้านอินทรีย์นานาชนิด และน้ำมะพร้าวน้ำหอมอินทรีย์ก็มีพร้อมเสิร์ฟในเซต อาหารในเซตเมนูนี้ ทุกอย่างล้วนคัดสรรมาจากร้านค้าในตลาด (อุดหนุนผักสดจากไร่ สินค้าจากฟาร์มเกษตรที่สดสะอาด ปลอดภัยจากฟาร์มบ้านสวนสุขใจ จังหวัดราชบุรี ได้ที่ Facebook : ฟาร์มบ้านสวนสุขใจ เกษตรทฤษฎีใหม่ หัวใจพอเพียง และไลน์ : sookjaifarm)

แวะซื้อผักแล้ว เป้าหมายต่อไปคือผลไม้และของหวาน เมื่อมองปราดไปสะดุดเข้ากับกระปุกแยมที่เรียงรายอยู่ข้างหน้า จึงปรี่เข้าไปที่ร้านอย่างรวดเร็ว พร้อมสอบถามถึงเรื่องราวของเจ้าผลไม้สุดโปรดแดงฉ่ำพวกนี้จากพี่ไหม หรือพี่พิสมัย รอดสวาสดิ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกจาก ไร่ฮานาดะ (Hanada Village) อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ วัตถุดิบทุกชนิดจากฮานาดะ ถูกปลูก ดูแลและเก็บเกี่ยวด้วยวิถีทางแบบเกษตรอินทรีย์​ เน้นพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล สินค้ายอดนิยมของร้านคือสตรอเบอร์รีแปรรูปเป็นแยม อบแห้ง และน้ำสตรอ์เบอร์รีหวานฉ่ำชื่นใจ

เพราะไม่มีอะไรทำให้หัวใจเต้นแรงได้เท่ากับความสดแดงของลูกสตรอร์เบอร์รี พี่ไหมเล่าว่าสตรอเบอร์รีเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดเพื่อความแข็งแรงและเปลี่ยนสี และอุณหภูมิที่น้องชื่นชอบที่สุดคือประมาณ​ 21 องศาเซลเซียส และสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของสะเมิงให้ช่วงแสงที่ยาวที่สุดในฤดูกาลปลูกของสตรอเบอร์รี พร้อมอุณหภูมิที่เย็นเกือบทั้งปี น้องสตรอร์เบอร์รีจึงให้ผลผลิตดี ลูกโต สีแดงสด รสฉ่ำที่สุด

สายพันธุ์ที่ไร่ฮานาดะเลือกปลูกคือพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นพันธุ์หวาน เคล็ดลับการกักเก็บความแดงสดหวานละมุนของสตรอ์เบอร์รีเมื่อน้ำมาแปรรูปเป็นแยมคือ ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะใช้ผลสดมากวนเป็นแยมที่ปราศจากสี สารกันบูด หรือเจลาติน ใช้น้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณน้อยมาก ๆ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากพอ ก็จะแบ่งบางส่วนแช่งแข็งไว้แล้วนำมาใช้กวนเป็นแยมตามรอบ ๆ การผลิตได้ตลอดทั้งปี (สนใจสั่งจองรับน้องแยมสตอร์เบอร์รี่และพืชผักผลไม้อินทรีย์แปร์รูปจากไร่ฮานาดะ สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : Hanada Village หรือโทร. 081-987-0302)

จบหมวดของกิน ก็ไปต่อกันที่หมวดของใช้ ซึ่งร้านที่หมายตาไว้ตั้งแต่แรกเก้าเข้ามาในตลาดคือ HomeNet Thailand Brand โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ซึ่งความสะดุดตาสะดุดใจไม่ได้อยู่แค่เพียงสินค้าที่จัดวางพร้อมต้อนรับลูกค้าอยู่เท่านั้น แต่จากเนื้อหาบนป้ายประชาสัมพันธ์องค์กรที่ตั้งอยู่ พี่เปรมกมล ตัวแทนจาก HomeNet Thailand Brand ก็ยินดีสละเวลามาบอกเล่าให้ฟัง

สินค้าทุกชิ้นเกิดจากความร่วมมือกันของมูลนิธิกับสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย ที่สนับสนุนให้ผู้หญิงที่เป็นแรงงานนอกระบบและคุณย่าคุณยายที่อยู่บ้าน ไม่มีรายได้ สามารถมีรายรับจากการทำงานหัตถกรรมเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ เป็นระบบการผลิตที่บ้าน รับงานไปทำที่บ้าน และผลิตขายเอง รวมทั้งหมด 25 กลุ่มแรงงาน โดยกระบวนการประชาสัมพันธ์ การจัดหาตลาดนั้นทาง HomeNet Thailand Brand เป็นผู้ดูแลช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลสมานฉันท์​และสร้างการค้าที่เป็นธรรม

สินค้าหัตถรรมที่นำมาจำหน่ายในตลาดวันนี้ มีตั้งแต่เสื้อผ้าที่ตัดจากผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ช้อนสำริดแกะสลักด้ามเป็นลวดลาย ที่ได้รับการรับรองว่าทุกขั้นตอนการผลิตปลอดภัยไม่มีสารตะกั่วเจือปน หรือจะเลือกซื้อกำไลสำริดวงน้อย ๆ ไปเป็นเครื่องประดับประจำตัว ที่คอยเตือนใจตลอดเวลาที่สวมใส่ว่าผลกำไรจากกำไลวงนี้จะกลับคืนไปสู่มือของผู้ผลิตทุกบาททุกสตางค์อย่างแน่นอน (ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนแรงงานผู้หญิงนอกระบบกับ HomeNet Thailand Brand ได้ที่ Facebook : HomeNet Thailand และ www.homenetthailand.org)

วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนนี้ ชวนเชิญเดินหิ้วถุงผ้าประจำตัว มาเลือกซื้อหาสินค้า พร้อมพูดคุยแบบเห็นหน้าค่าตากัน หรือหากไม่สะดวกเดินทางมาด้วยตัวเอง ก็มีบริการสั่งจองสินค้าจากร้านต่าง ๆ แบบล่วงหน้าและการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่าง ๆ ของตลาดที่ Facebook : ปันอยู่ ปันกิน พร้อมบริการส่งผ่านไรเดอร์ค่ายต่าง ๆ ไปถึงประตูบ้าน เพิ่มความสะดวกและประหยัดเวลาให้กับการซื้อหาสินค้าโดยไม่ต้องกังวลเรื่องระยะทาง พบกันที่ร้านปลาออร์แกนิก ซอยวิภาวดี 22

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร