ในวันที่โลกของเรากำลังอยู่กับปัญหาอยู่มากมาย ทั้งเรื่องที่เป็นภาพใหญ่อย่างภาวะโลกร้อน ไปจนมลภาวะทางอากาศ ปัญหาขยะซึ่งสะสมมานานปี ฯลฯ และแม้พยายามจะหาทางออกเพื่อช่วยโลกสักเท่าไร ก็เหมือนยังไม่เจอทางออกที่เป็นจริงเสียที

แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่นิ่งนอนใจ หันกลับมาใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับโลก ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ซึ่งในจำนวนที่ว่า ก็ยังมีศิลปินที่ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนเป็นต้นทุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านงานศิลปะ งานของพวกเขาไม่ใช่แค่สร้างชิ้นงานที่สวยงาม แต่แฝงเอาไว้ด้วยวิธีคิดและวิธีทำที่จะอุ้มชูให้โลกน่าอยู่ขึ้น ทั้งมิติของผู้คน สังคม สิ่งแวดล้อม และกลายเป็นแรงบันดาลใจไม่รู้จบให้กับคนที่ได้สัมผัสเรื่องราวบนเส้นทางการสร้างสรรคนั้น

แรงบันดาลใจดี ๆ ที่เรากำลังพูดถึง คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเวทีทอล์ก “Reimagining Waste: The Artistic Path to a Greener Future” จากเทศกาล Mango Art Festival 2023 ที่ เอซ-ธนบูรณ์ สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Greenery. สำหรับชุมชน Sustainable Lifestyle ซึ่งสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตแห่งความยั่งยืน และบุกเบิก Greenery Water ผลิตภัณฑ์น้ำดื่มในกระป๋องอะลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก ชวน 3 ศิลปินผู้แน่วแน่เรื่องการดูแลโลก มาแชร์เรื่องราวการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ผ่านการผสมผสานระหว่างศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อโลกที่ดีขึ้น

งานศิลปะที่ยั่งยืนควรตอบโจทย์ 3P ได้แก่ Planet Profit และ People

ในฐานะตัวแทนผู้เสพงานศิลปะ ประกอบกับทำงานเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนมายาวนาน ธนบูรณ์​มองว่างานศิลปะที่ยั่งยืนควรตอบโจทย์ 3P ได้แก่ Planet-ดีต่อโลก คือใช้วัสดุหรือสร้างคุณค่าให้กับสิ่งแวดล้อม Profit-ผลกำไร ควรสร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้งานศิลปะ และ People-คน คืองานศิลปะชิ้นนั้น สร้างคุณค่าให้ชุมชน สังคม หรือเข้าไปช่วยส่งเสริมคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโจทย์นี้ก็นำมาสู่การแชร์มุมมองของทั้ง 3 ศิลปิน ที่บอกกับเราว่า ศิลปะกับความยั่งยืน เดินบนเส้นทางเดียวกันได้ และเดินได้ดีเสียด้วย

แปลงร่างขยะเป็นงานศิลป์ของ WISHULADA
เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินสื่อผสมและเจ้าของแบรนด์ WISHULADA ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น Social Activist Artist เอ๋สร้างผลงานศิลปะเพื่อเคลื่อนไหวและสร้างความตระหนักให้กับสังคมมานานกว่า  8 ปี ทั้งร่วมกับองค์กรที่ต้องการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และมีงานแสดงเดี่ยวของตัวเอง จากวัสดุเหลือใช้กว่า 32 ประเภท หมุนเวียนวัสดุไปแล้วประมาณ 10,000 กว่ากิโลกรัม และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ไปประมาณ 50,838 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

เอ๋เล่าว่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์ WISHULADA มาจากความชอบทางด้านศิลปะ ที่ได้เล่าเรียนมาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บวกกับความสนใจในเรื่อง Social Enterprise เอ๋จึงนำสองสิ่งนี้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นการบาลานซ์ระหว่างโลกศิลปินกับโลกของธุรกิจ

ทำอย่างไรให้สื่อสารความเป็นอาร์ต แต่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ด้วย ? คือคำถามที่เอ๋ใช้ถามตัวเอง จากนั้นแนวคิดการเปลี่ยนขยะสู่งานศิลปะชิ้นล้ำค่า ใช้ขยะเป็นวัตถุดิบในการทำงาน ก็เป็นแกนหลักในการทำงานศิลปะของเธอ

นอกเหนือจากคำว่าสุนทรียศาสตร์ ความสวยงาม ความจรรโลงใจ ศิลปะยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อม

“ที่เอาศิลปะมาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เพราะเรามองว่านอกเหนือจากคำว่าสุนทรียศาสตร์ ความสวยงาม ความจรรโลงใจ ศิลปะยังเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดูยากเหลือเกิน ให้เป็นเรื่องเข้าใจง่าย แล้วยิ่งเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหา ถ้าเราใช้งานศิลปะเข้ามาช่วย ก็สามารถทำให้เกิดอิมแพคได้

“ยกตัวอย่าง เราเคยทำงานชิ้นหนึ่งไปเปลี่ยนงานรีพอร์ตในองค์กรหนึ่ง เป็นข้อความที่บอกว่า คุณสร้างขยะขึ้นมากี่ปี กี่ตัน แต่บางทีคนก็นึกไม่ออกว่า 500 กิโลกรัม เยอะขนาดไหน เราก็เลยเปลี่ยนตัวเลขยาก ๆ ให้เป็นต้นคริสต์มาสจากขยะที่เก็บจากในองค์กร คนเห็นก็เข้าใจเลยว่า นี่คือขยะที่ฉันสร้างขึ้นมาตลอดทั้งปี ได้ต้นคริสต์มาสสูงเกือบ 10 เมตร และให้เขาได้ไปคิดต่อว่าจะทำหรือจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง”

WISHULADA ทำงานออกมาหลากหลาย ตั้งแต่งาน Installation Art, Product Design และ Workshop  อาทิ งานนิทรรศการ Incarnate ในงาน Mango Art Festival ประติมากรรมนกฟีนิกซ์จากขยะอุตสาหกรรมการบินของการบินไทย ทำ landmark & podium จากขยะในสำนักงาน SCG และชุมชนรอบข้าง ไปจนถึงการทำเวิร์กช็อปกับชุมชนด้วยการนำเศษผ้าที่เหลือจากอุตสาหกรรมแฟชั่นมาทำชิ้นงานศิลป์รูปแบบต่าง ๆ หรือสร้างงานโปรดักต์ดีไซน์ ที่ทำร่วมกับ UOB  เปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มตัวเก่าเป็นกระเป๋าใบใหม่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทุกชิ้นงานสามารถเป็นตัวชี้วัดจำนวนขยะในอุตสาหกรรมนั้น ๆ หรือย่านนั้น ๆ ได้ด้วย

งานศิลปะได้ประโยชน์ในแง่ของการสร้างความตระหนักให้เห็นว่า เขาต้องหยุดการบริโภคเกินจำเป็นได้แล้ว

“มีคนบอกว่า สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นขยะต่ออีกหรือเปล่า สู้เอาไปรีไซเคิลง่ายกว่าไหม แต่เรามองว่างานศิลปะช่วยเพิ่มมูลค่าของที่ดูไร้ค่าให้มีค่าได้ คือถ้าหลอมพลาสติกแล้วขึ้นรูปใหม่ คนก็คงนึกภาพไม่ออกว่านี่คือขยะกี่ร้อยกิโลกรัม แต่งานศิลปะได้ประโยชน์ในแง่ของการสร้างความตระหนักให้เห็นว่า เขาต้องหยุดการบริโภคเกินจำเป็นได้แล้วนะ หรือได้ในแง่ของแรงบันดาลใจถึงสิ่งของรอบ ๆ ตัว ว่าสามารถใช้เป็นงานศิลปะ ช่วยลดขยะ เพิ่มมูลค่า

“และอีกอย่างเรามองว่า ก่อนที่ขยะจะถูกเอาไปรีไซเคิล ขั้นตอนของเราคืออัพไซเคิลก่อน เป็นการช่วยในเรื่องลดการใช้พลังงาน คือนำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำจนจบกระบวนการ แล้วค่อยนำเอาไปรีไซเคิลต่อ”

ส่วนวิธีการทำงานให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน เอ๋เล่าให้ฟังว่า เริ่มจากการคัดเลือกวัสดุประเภทต่าง ๆ ที่สะสมไว้ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะไปตั้งงานศิลปะ เพื่อช่วยลดไมโครพลาสติกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และใช้กาวให้น้อยที่สุดในการผลิตงาน โดยเลือกใช้วิธีเจาะรูแล้วเอาลวดมาผูกร้อยรวมกันแทน หรือหากมีการตัดซึ่งทำให้เหลือขยะขึ้นมาอีก ขยะนั้นจะถูกนำไปใช้ในงานส่วนอื่น ๆ ต่อ และสิ่งสำคัญก็คือจะไม่มีการพ่นสี เพราะถ้าพ่นแล้วจะไม่สามารถรีไซเคิลได้

“เป้าหมายต่อไป เราอยากจะต่อยอดกับชุมชนให้มากขึ้น โดยทำเป็นโปรดักต์อะไรก็ตามที่มาจากขยะในชุมชนนั้น ๆ เรามองว่าการทำงานเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อม ถ้าทำคนเดียวก็เกิดอิมแพคแค่นิดเดียว แต่ถ้าทำงานร่วมกับชุมชน จะเกิด Brand Awareness คนได้เข้าใจเรื่องของงานศิลปะ ได้รู้สึกว่าภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ แล้วก็เอาสิ่งที่เขาถนัดมาช่วยกัน หรือได้ช่วยกันคัดแยกวัสดุเหลือใช้

“ทุกชิ้นงานของเราเกิดจากคนในทีม ในชุมชนหลาย ๆ คนร่วมกันสร้างขึ้นมา ได้สร้างรายได้ สร้างอาชีพอีกทาง เฉพาะปีนี้เรากระจายรายได้ประมาณ 4 ล้านกว่าบาทให้กับชุมชน แต่มากกว่าความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกัน คือทำให้ผู้คนมองเห็นว่าปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ทุกคนสามารถมีส่วนในการลดหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้”

เมื่อตั้งคำถามถึงศิลปะกับความยั่งยืน เอ๋มองว่า การที่ทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง ไม่ใช่คิดแค่ตัวเอง แต่ต้องมองถึงคนอื่น มองถึงโลก มองถึงสังคมด้วยว่าได้อะไรไปบ้าง และทำอย่างจริงจังถึงจะเกิดความยั่งยืนขึ้นทั้งต่อตัวเราเองและต่อสังคมโลกด้วย

“ในการสร้างผลงานหนึ่งชิ้น สิ่งสำคัญคือต้องตอบปัญหาให้ได้ว่า ปลายทางของงานชิ้นนี้จะไปอยู่ที่ตรงไหน งานต้องใช้ได้จริง หรือสร้างความตระหนักเรื่องขยะกับคนได้ นอกเหนือจากนั้น ทำให้มีการวัดผลว่าช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้แค่ไหน เพื่อคนจะได้เห็นตัวเลขจริง

งานศิลปะจะเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปินในการสื่อสาร

“เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า งานศิลปะทุกชิ้น สามารถสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงสังคมสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ อาชีพอื่น ๆ ไม่ว่าวิศวกร แพทย์ เขาสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ศิลปินเองก็มีหน้าที่ในการสร้างนวัตกรรมความคิด งานศิลปะจะเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปินในการสื่อสาร ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำอาชีพใดก็ตาม เมื่อเห็นงานศิลปะของศิลปินมันต้องเกิดอารมณ์ฉุกคิดอะไรขึ้นมาบางอย่าง และเมื่อทัศนคติเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน เมื่อนั้นอิมแพคที่จะเกิดขึ้นก็มหาศาล”

The Rubber PARAdoxii ดีเอ็นเอจากวัฒนธรรมท้องถิ่น เพิ่มคุณค่างานศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ
นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล Director of The Rubber PARAdoxii  ศิลปินที่ดึงเอาดีเอ็นเอวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ยางพารา วัตถุดิบหลักจากบ้านเกิดในนครศรีธรรมราช มาสื่อสารถึงความเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมทางภาคใต้ของไทย เพื่อยกระดับศักยภาพของยางพารา มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ยางพารากลับมามีมูลค่ามากขึ้นและก้าวไปสู่สากล ทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่าคนทำอาชีพนี้สามารถเติบโตจากรากเหง้าของตัวเองได้

เราหยิบมันขึ้นมาสร้างมูลค่า สร้างแรงบันดาลใจ ได้เห็นโอกาสว่ายางพารายังมีคุณค่าอยู่

“การที่เราหยิบเอาวัสดุธรรมชาติมาทำเป็นงานศิลปะ เพราะศิลปะของเราไม่จำเป็นต้องอยู่ไปตลอด หรืออยู่ไป 100-200 ปี แต่สามารถสูญหายได้ตามธรรมชาติ  และที่เลือกยางพาราก็เพราะพอได้กลับไปอยู่บ้าน ไปอยู่ในวัฒนธรรมของเราเอง ความเป็นนครศรีธรรมราช ความเป็นภาคใต้ ทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งนี้คือรากเหง้าของตัวเอง ยางพารามีความเป็นดีเอ็นเอของนครศรีธรรมราชอยู่พอสมควร เคยเป็นสินค้ายุคทอง จนตอนนี้หลายคนอาจไม่ค่อยเห็นค่าเพราะราคาตกต่ำ เราเลยอยากหยิบมันขึ้นมาสร้างมูลค่า สร้างแรงบันดาลใจ ให้คนเห็นถึงสิ่งที่คุณเป็น ได้เห็นโอกาสว่ายางพารายังมีคุณค่าอยู่”

นั่นเป็นเหตุผลให้นิ่มเลือกชุบชีวิตวัสดุจากเปลือกโลกอย่างยางพารา สู่งานสร้างสรรค์ตามแบบฉบับของตัวเอง ที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและโลกไปพร้อมกัน เนื่องจากการสร้างชิ้นงานนั้นจะไม่สร้างขยะไว้เป็นภาระโลก เพราะด้วยความที่ยางพาราเป็นวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้เองตามกาลเวลา และมีน้ำยาที่เป็นเสมือนกาวชั้นดี ใช้เชื่อมกับงานชิ้นอื่นได้ โดยไม่ก่อเกิดขยะเพิ่มขึ้น ก็นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด

งานออกแบบภายใต้แบรนด์ The Rubber PARAdoxii หรือการพาศิลปะกลับมาบ้านเกิดของนิ่ม สามารถเป็นทั้งประติมากรรม ภาพพิมพ์ ชุดเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ หรือมองไปไกลกว่านั้นคือ สามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ ต่อยอดเมือง ต่อยอดวิถีชีวิต

“งานของเราจะหยิบเอาอัตลักษณ์ของนครศรีธรรมราชมาใช้ พร้อมกับสะท้อนแนวคิดบางอย่างออกมาด้วย อย่างงานแสดงแฟชั่นในเทศกาล Mango Art ผลงานชุด Raining on The Moon ก็ได้หยิบยกเอาเรื่องราวของเกษตรกร คนที่ให้ผลผลิตเรามาใช้ทำงานศิลปะ มาพูดผ่านงานออกแบบเสื้อผ้า มาต่อยอดในเรื่องการเพิ่มมูลค่าของยางพารา พิมพ์ลายดอกมังคุด คือคนส่วนใหญ่ก็จะเคยเห็นแต่ผล ส่วนดอกมังคุดก็มีเพียงเกษตรกรนี่แหละที่เป็นผู้เฝ้ามองผลผลิตของตัวเอง เราอยากจะสื่อให้เห็นว่า เกษตรกรเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ามาก ๆ เหมือนกัน”

มากกว่าการนำยางพารามาเนรมิตงานศิลปะ สิ่งที่ The Rubber PARAdoxii ต้องการสื่อสาร คือยางพาราสามารถมีตัวตน มีคุณค่าในตัวเอง และสามารถไปสู่สากลได้ ทั้งยังเป็นการพัฒนาชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อีกด้วย

“ถ้าถามว่างานศิลปะสามารถเปลี่ยนโลก และสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นได้จริงไหม ส่วนตัวคิดว่าสามารถช่วยเปลี่ยนได้นะ เพราะจริง ๆ แล้วศิลปินมีหน้าที่สื่อสาร เหมือนที่เราเองก็ขุดเอาวัสดุจากเปลือกโลกอย่างยางพารามาสื่อสารบางอย่าง ที่ต้องการบอกว่า ถ้าลดไม่ได้ ก็ควรใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด”

ชุบชีวิตเศษเหล็กจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยแนวคิด The Reincarnation of Waste
ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ ศิลปินเจ้าของแบรนด์ PiN Metal Art ธุรกิจออกแบบและผลิตงานศิลปะประดับตกแต่ง จากเศษเหล็กเหลือใช้ของโรงงานอุตสาหกรรมในครอบครัว หรือที่หลายคนมองเป็นขยะ ให้กลับมามีคุณค่า มีความงาม มีชีวิตใหม่

แรงบันดาลใจนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งที่ปิ่นยังเรียนอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คำพูดของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า “พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน… แล้วจึงเรียนศิลปะ” นำมาสู่ศิลปะนิพนธ์ส่งอาจารย์ ด้วยการศึกษาและนำชีวิตของคนงานในโรงงานของครอบครัว มาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะแบบซิลก์สกรีนลงบนแผ่นเหล็ก ผลงานชิ้นนั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ศรุตาได้ปลดปล่อยความรู้สึกที่มีต่อโรงงานเหล็ก และรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่เคย

“สิ่งที่เรามองเห็นในปัจจุบัน คือการที่มนุษย์เราบริโภคกันมามาก จนทำให้เกิดขยะล้นขนาดนี้ ก็เลยทำให้เรามองเห็นว่าโลกใบนี้ควรมี  Sustainable Development Goals ที่คิดว่าจะทำกิจการใดก็ตาม เราจะต้องมีความยั่งยืนเข้ามา เพื่อที่จะทำให้โลกเราดีขึ้น แต่การจะไปถึงขั้นเปลี่ยนโลก เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่าทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ นั่นคือรู้ตัวแล้ว ประมาณตนแล้ว แล้วอะไรคือเงื่อนไขของชีวิต ซึ่งเงื่อนไขของคนเราไม่เหมือนกัน จึงทำให้งานของเราแต่ละคนแตกต่างกัน

“อย่างปิ่นเคยเกลียดเสียงเครื่องจักรที่บ้าน รู้สึกว่าสั่นสะเทือนมาก เพียงแต่ว่าวันหนึ่งความรู้สึกนี้มันเปลี่ยนไป เรามองเห็นความสุขจากเสียงนี้มากขึ้น เพราะถ้าวันหนึ่งเสียงนี้เงียบไป มันอาจหมายความว่าโรงงานนี้ปิดไปแล้ว”

จากศิลปะนิพนธ์ชุดนั้น นำมาสู่มิสชั่นใหม่ของปิ่น คือ “New Life of Waste, New Life of Welder” ซึ่งเธอคิดต่อไปถึงคนที่ช่วยทำงานว่าเขามีชีวิตที่ดีด้วยหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจและเป็นศิลปิน เธอจึงมองหาความสมดุลในการทำงานที่ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ที่คิดถึงคนรอบข้างและโลกรอบตัวด้วย

“จะทำงานอย่างไรให้มีความสุขในทางของตัวเอง ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยงานพ่อ และทำงานศิลปะของเราที่ดีต่อโลก และก่อให้เกิดรายได้ได้ด้วย”

ด้วยมุมมองใหม่นี้ ปิ่นเริ่มค้นหาความงามทางศิลปะจากสิ่งรอบตัว เพื่อให้ผลงานศิลปะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรวบรวมเศษเหล็กเหลือทิ้งจากการปั๊มชิ้นส่วนโลหะรูปทรงซ้ำ ๆ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา ที่สำคัญต้องใช้ประโยชน์ได้จริง จนทุกวันนี้งาน PiN Metal Art ถูกนำไปตั้งโชว์อยู่ในห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรู สถานปฏิบัติธรรม เทศกาลดนตรี ไปจนถึงบ้านของผู้คนมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“งานออกแบบของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นงานชิ้นเดียว เนื่องจากเงื่อนไขของการมีเศษเหล็กไม่เยอะ และค่อนข้างใช้เวลามากในการสะสมเศษเหล็ก ไปจนถึงเลือกพิจารณาว่าชิ้นส่วนโลหะรูปทรงต่าง ๆ ที่จะนำมาจากโรงงานนั้น จะสร้างอะไรที่สื่อถึงอารมณ์ให้ออกมาชัดเจนมากที่สุด และนำเศษเหล็กที่มีอยู่มาเรียงร้อยใหม่ให้เป็นแพทเทิร์นที่ต้องการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด

“อย่างงาน Installation ที่ตั้งในเทศกาล Wonderfruit 2016 พอจบงานเราก็เอาไปตั้งที่ช่างชุ่ยได้ต่อ หรืองานชิ้นใหม่ในเทศกาล Wonderfruit 2020 เราก็ได้นำกลับมาใช้ต่อใน 2022 เมื่อจบงานเจ้าของงานก็เอาไปตั้งในพื้นที่ของเขาอีกจังหวัดหนึ่ง ก็เป็นการที่เราได้ใช้งานประติมากรรมอย่างคุ้มค่า ซึ่งศิลปะลวดลายอันสวยงามนั้น เกิดจากความมหัศจรรย์ของเศษขยะอย่างเหล็กกิโลละไม่กี่บาท ไปสู่มูลค่าที่สูงขึ้นได้”

ปิ่นได้กลับมามองเห็นคนที่อยู่ในเครือข่ายชีวิตเรามากขึ้น เราได้ทำงานศิลปะ มีรายได้ ได้ยกระดับจิตใจของคนที่ทำงานร่วมกัน

นอกจากชุบชีวิตเศษเหล็กให้เกิดใหม่ PiN Metal Art ยังให้คุณค่าและปฏิบัติกับคนทำงานเหมือนกับพวกเขาเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วยกัน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอ “ปิ่นได้กลับมามองเห็นคนที่อยู่ในเครือข่ายชีวิตเรามากขึ้น มีความสุขในการทำงาน และไม่ได้เปลี่ยนสิ่งที่ครอบครัวเราเป็น People ของเราก็ได้ทำงานศิลปะ มีรายได้ ได้ยกระดับจิตใจของคนที่ทำงานร่วมกัน พวกเขามีความภาคภูมิใจ และ Planet คือใช้วัสดุที่เหลือใช้แล้วสามารถรีไซเคิลได้ อย่างเหล็ก 1 แผ่น ที่ถูกตัดออกมา สามารถคลี่คลายฟอร์มออกมาได้มากมาย ส่วนที่ถูกตัดเหลือก็ถูกนำกลับมาเป็นต้นทุนการผลิตใหม่ในงานถัดไปได้

“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เราทำ ทำอะไร เพื่อใคร มากแค่ไหน และในเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ ในขณะที่ศิลปินมีความสุขกับการที่ได้เห็นงานมีความงาม แต่เบื้องหลังของงานชิ้นนั้นมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า มีชีวิตคนอื่นอยู่ไหม มีผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบต่อใครหรือเปล่า ซึ่งปิ่นเชื่อว่าทุกวันนี้ เราควรจะนึกถึงผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะกิจกรรมหรือกิจการอะไรก็ตาม เราคงจะไม่เปิดงานที่จะปล่อยลูกโป่งสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกแล้ว”

ส่วนคำถามที่ว่า งานศิลปะจะเปลี่ยนโลกได้อย่างไรนั้น “ปิ่นมองว่าถ้าเป็นการเปลี่ยนโลกใบกว้างเลย อาจจะเป็นเรื่องใหญ่เกินไป เพียงแต่อาจเริ่มจากเปลี่ยนโลกของเราให้ได้ก่อน  รู้ตัวเองก่อน เริ่มที่เรา ถ้าเราเปลี่ยน คนข้าง ๆ เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนเอง”

ภาพ: Mango Art, Wishulada, The Rubber PARAdoxii, Pin.Metal.Art