ในช่วง Bangkok Design Week 2023 ต้นเดือนกุมภาฯ กรุงเทพฯ มีกิจกรรมน่าสนใจเต็มไปหมด และมีอยู่อีกหนึ่งทริปที่ชวนให้เรายกมือขอลงชื่อเดินทอดน่องไปกับผู้รู้ เพราะอยากฟังเรื่องเล่าในย่านเก่า นั่นก็คือทริป “ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ – เยาวราช : จากตลาดน้ำสู่ตลาดบกแห่งพระนคร” ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ช่วงแดดร่มลมตก เป็นใจให้เหล่าคนรักประวัติศาสตร์ได้เดินท่องชุมชน ย้อนวันวานให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพระนครจากอดีตสู่ปัจจุบัน
พวกเรานัดพบกันที่ MRT สามยอด บริเวณถนนเจริญกรุง หากเทียบกับอดีต เรากำลังยืนอยู่ในกำแพงพระนคร ด้านขวามือคือประตูเมืองออกไปยังท้องทุ่งที่ยังไม่มีใครให้ความสนใจนัก ขณะที่ตอนนี้ แทบทุกตารางนิ้วคือทำเลทองราคาสูง
วทัญญู เทพหัตถี ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรม บริษัท กุฎาคาร จำกัด ผู้รับหน้าที่วิทยากรในวันนี้เล่าว่า ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 แบ่งเป็นตอนใน (พระนคร) และตอนนอก (พระนคร) ลักษณะไม่เป็นเส้นตรง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า หากตัดเป็นเส้นตรงอาจถูกข้าศึกยิงปืนใหญ่ทะลุถึงวังหลวง
สำหรับที่มาคำว่า “สามยอด” ในอดีตประตูเมืองทำจากไม้ แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏว่าไม้ผุจึงเปลี่ยนเป็นอิฐ และเพิ่มเป็น 3 ประตู ประตูหนึ่งให้คนและรถยนต์ใช้ ประตูที่สองให้รถรางผ่านอย่างเดียว ส่วนประตูที่สามเป็นทางอเนกประสงค์
คนสมัยก่อนตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องสร้างถนนเจริญกรุงให้ใหญ่นักหนา เพราะใช้จริงไม่ครบทุกเลน บางส่วนมีหญ้าขึ้นรกต้องจ้างคนมาถาง แต่ตัดภาพมาที่ พ.ศ. 2566 หรือเกือบ 160 ปีให้หลังนับจากวันที่เปิดใช้งาน ถนนเจริญกรุงทำไมถึงได้แคบอย่างนี้!
เราเดินต่อไปทางศาลาเฉลิมกรุง สองฝั่งเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องทั้งเก่าและใหม่ผสมปนเป แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นเมืองเก่าเอาไว้ได้อย่างน่าฉงน ตึกแถวดั้งเดิมสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดเกล้าฯ ให้นำแบบมาจากประเทศสิงคโปร์ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันอาคารดั้งเดิมในบริเวณนี้ไม่มีเหลือแล้ว ต่อมาในยุครัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้นใหม่ แต่ก็หลงเหลือมาให้ลูกหลานชมไม่เกิน 20 ห้อง เช่น ร้านออน ล๊อก หยุ่น และสถาบันสอนขับรถยนต์ ส.สะพานมอญ ขณะที่ต้นหูกวางซึ่งเคยปลูกไว้สองข้างทางก็หายไป เหลือเพียงแดดร้อนและเสาไฟฟ้า
เราหลบอยู่ใต้อาคารสีครีมเขียวสดใส สายตาจับจ้องไปทางสะพานดำรงสถิต ซึ่งตั้งจากชื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากวังของพระองค์เคยตั้งอยู่บริเวณตึกมินเซนแมชีนเนอรี่มาก่อน เมื่อทรงย้ายไปแล้วจึงตั้งชื่อโดยคงความหมายถึงสถานที่ที่กรมพระยาดำรงฯ เคยสถิต
อีกสะพานที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเรามีความทรงจำร่วมตั้งแต่เด็กคือ สะพานเหล็ก แหล่งขายเกม การ์ด แผ่นซีดี ฟิกเกอร์ และสารพัดของเล่นที่เด็กชื่นชอบ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยนำเข้าเหล็กแท้จากอังกฤษมาประกอบเป็นสะพานโค้ง แต่ด้วยความที่พื้นด้านล่างเป็นไม้ทำให้รับน้ำหนักจากรถไม่ไหว สุดท้ายจึงเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีตแทน บริเวณนี้เรียกว่า สะพานเหล็กบน ส่วนสะพานพิทยเสถียร คือสะพานเหล็กล่าง
เมื่อมีแหล่งชุมชนก็ต้องมีตลาด สาเหตุในการเกิดตลาดมีเพียงไม่กี่ประการ หนึ่งคือมีการตัดกันของถนนหรือคลอง ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น จุดตัด หรือปลายทางก็เกิดตลาดได้ ยกตัวอย่าง ปากคลองตลาด แหล่งซื้อขายดอกไม้สำคัญของเมืองพระนครคือการตัดกันระหว่างคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนตลาดสามยอดคือการเจอกันระหว่างถนนและคลอง
สันติ โอภาสปกรณ์กิจ มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดบางแห่งที่เคยรุ่งเรือง แต่บัดนี้กลับหายไป คำตอบคือความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด เช่นเดียวกับตลาดที่ต้องเปลี่ยนสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคและยุคสมัย ตลาดสามยอดที่เคยค้าขายอาหารทั่วไปกลายเป็นตลาดตึกแถวสำหรับให้ชาวจีนเช่าซื้อ ต่อมาจึงกลายเป็นตลาดขายรถตัดหญ้าและเครื่องจักร ส่วนตอนนี้ ตลาดสามยอดเหลือเพียงชื่อในความทรงจำเท่านั้น
บ้านของผู้เขียนตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่า แต่แทนที่จะรู้สึกชินตากับสถาปัตยกรรมโบราณ ทุกครั้งที่ได้เห็นร่องรอยและเรื่องราวชีวิตผู้คนบนอาคารกลับรู้สึกเพลิดเพลิน ตึกแถวฝั่งตรงข้ามของเราสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 หลังคาในอดีตปูด้วยกระเบื้องดินเผา ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระเบื้องว่าว และกระเบื้องลอนตามลำดับ สังเกตเพิ่มเติมคือมีผนังแบ่งเป็นช่วงบนสันหลังคา เรียกว่า ผนังกันไฟ
“สมัยก่อนไฟชอบไหม้ ฝาที่กั้นระหว่างผนังกันไฟเป็นไม้ทั้งหมด เมื่อไฟไหม้เป็นชุดเลยมีการออกกฎหมายให้สร้างผนังกันไฟตลอด 2 ห้องบ้าง 3 ห้องบ้าง หากแบ่งไม่ลงตัว ห้องเดียวก็มี พอไฟไหม้ พนักงานดับเพลิงจะปีนขึ้นไปบนหลังคาแล้วใช้เหล็กทิ่มให้หลังคามันยุบ ไฟก็จะมอดลงแค่ชุดนั้น” วทัญญูอธิบายก่อนพาเดินมายังศาลาเฉลิมกรุง อีกแลนด์มาร์กที่บ่งบอกถึงความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมโรงมหรสพในยุคหนึ่ง
ศาลาเฉลิมกรุงคือโรงภาพยนตร์แห่งแรกในเอเชียที่มีเครื่องปรับอากาศ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 7 ออกแบบโดยสถาปนิกไทยที่จบจากต่างประเทศคือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นสถานที่โก้หรูของเมืองกรุง เอาไว้เปิดตัวภาพยนตร์ และแสดงละครเวที
เรามองแผ่นโลหะฉลุที่ติดอยู่ภายนอกอาคารเทียบกับภาพในอดีตที่วทัญญูนำมาให้ชม แผ่นโลหะเหล่านั้นคือแผ่นเดียวกับเมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว แต่ยังคงมนต์ขลังและความคลาสสิกเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม
บริเวณใกล้กันคือ ดิ โอลด์ สยาม ซึ่งเคยมีอีกหนึ่งตลาดสำคัญ คือตลาดมิ่งเมือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าของชาวพระนคร ขึ้นชื่อเรื่องความงดงามตามแบบบาซาร์ (Bazaar) เมื่อเดินเข้าไปแล้วจะพบกับโถงขนาดใหญ่ เมื่อถูกรื้อและสร้างเป็นศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม จึงยังมีการตั้งชื่อบริเวณหนึ่งในห้างว่าลานมิ่งเมือง เปิดขายขนมไทยให้คนได้มาชิมรสหวานในอดีตกัน
ก่อนลัดเลาะเข้าพาหุรัด เราเดินผ่านห้างในตำนานอีกแห่งคือห้างไนติงเกล ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 เรียกว่าเป็นคลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาเครื่องดนตรี ราชินีเครื่องสำอางของแท้ที่ใครในยุคนั้นไม่รู้จักไม่ได้ สถาปัตยกรรมเองก็ยังงดงาม สะอาดตา บ่งบอกถึงการดูแลเอาใจใส่ที่ไม่ปล่อยให้อาคารเก่าแก่ตามกาลเวลา
เดินกันมาราวชั่วโมงครึ่ง จากชุมชนคนลาวบริเวณเจริญกรุง เราไปถึงพาหุรัด ย่านชุมชนชาวญวนในอดีต ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญวนคือ วัดทิพยวารีวิหาร ต่อมาเราลัดเลาะเข้าไปในในตรอกเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยร้านค้าสองข้างทาง และแผงลอยตรงกลาง พาหุรัดถือเป็นแหล่งรวมพลชาวจีนและอินเดียที่มีสินค้าตั้งแต่เสื้อผ้าในชีวิตประจำวันของทุกเพศทุกวัย จนถึงชุดไทย ชุดละครลิเก ผ้า มุ้ง หมอน เสื่อ อุปกรณ์ตัดเย็บหลากหลายแบบเกินจินตนาการ
จากพาหุรัดเข้าชุมชนอินเดีย ชิมขนมหวาน และชาอินเดียหอมกลิ่นขิง เราเดินออกไปยังสะพานหัน มองตึกแถวบริเวณริมคลองที่ทำให้พื้นที่คลองหดแคบลงเรื่อย ๆ จากการสร้างหน้าบ้านให้หันเข้าหาลำน้ำซึ่งเป็นทางสัญจรหลักในอดีต บัดนี้ถนนคือทางเข้าสำคัญชนิดที่คนในอดีตคงไม่เคยคิดฝัน
ในตรอกขนาดเล็กที่คนเดินสวนรถเข็นแทบไม่ได้ กลิ่นที่เคยตลบอบอวลในวันวานจางลงจนแทบไม่เหลือชื่อตรอกยาฉุน คณะของเราได้รับโอกาสพิเศษในการเข้าไปชมมูลนิธิประทานพรเยาวชน ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมบ้านของคุณหญิงพรพรรณ ธารานุมาศ ซึ่งถือเป็นหลักฐานทางสถาปัตยกรรมจีนที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของชุมชนจีนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมลายฉลุสไตล์วิกตอเรียนทำด้วยมือ
ออกจากบ้านเดินไปถึง Ama Hostel โรงแรมในตึกเก่าอายุกว่าร้อยปี ผ่านตรอกตกแต่งสไตล์จีน ชมภาพวาดทิวทัศน์ในอดีตของพระนครที่ติดอยู่บนผนังสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสะพานหัน คลองโอ่งอ่าง คลองผดุงกรุงเกษม หรือตลาดคลองมหานาค
ตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา เราเรียนรู้อดีตผ่านปัจจุบัน แต่ ณ วินาทีที่เราเดินเข้าสู่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ภายใต้การดูแลของบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เราเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเรียนรู้ปัจจุบันและวางแผนสู่อนาคต เพื่อไม่ให้ทั้งสถาปัตยกรรม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตบางอย่างตกหล่นไประหว่างทาง
บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูอาคารโบราณสถานโดยมีคนในชุมชนเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้น ภายในมีกิจการหลากหลายมาจับจองพื้นที่ขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจ่าวซัน, SILK ROOT, White Dragon Café & Bistro, ร้านอนุรักษ์พานิช หรือร้านกาแฟป๋องแป๋ง
ส่วนกิจกรรมในช่วง Bangkok Design Week 2023 มีทั้งนิทรรศการที่ชวนมาทำความรู้จักชุมชนให้ลึกซึ้งกว่าเก่าผ่านการออกแบบโคมไฟหลากหลายสไตล์ 107 ดวง (107 Creative Lanterns) แฟชั่นโชว์ (Luean Rit Catwalk) จากผลงานของนักศึกษา ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เวิร์กช็อปการทำเครื่องประดับแบบ DIY (Jewelry Workshop) และเวิร์กช็อปปั้นถ้วยชา (Tea cup, Tea Ka)
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการบอกเล่าความเป็นชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ผ่านผลงานหัตถการและสิ่งทอ โดยสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิทรรศการ You Do Me, I Do You จัดโดย D&O Association (สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์) ที่ชวนนักออกแบบมาลองใช้วัสดุที่ไม่คุ้นเคย เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ในรูปแบบเฉพาะตัว
ก่อนกลับบ้าน เราไม่ลืมแวะชมไฟและผลงานม้านั่ง Wu Xian หลากหลายรูปแบบ ออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์ที่อำนวยความสะดวกให้กับแขกเหรื่อผู้มาเยือน เหนื่อยก็มีที่ให้นั่งพัก หิวก็มีที่ให้นั่งทาน เปลี่ยนสถานที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง
เรื่องราวในอดีตมากมายกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าและความทรงจำ อาคารบ้านเรือนและผู้คนบางกลุ่มข้ามผ่านกาลเวลาถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะอยู่ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ กิจกรรมทั้งหมดจึงถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ในการทำให้ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้หันมองและทำความรู้จักสิ่งที่มี เพื่อพัฒนาย่านเก่าผ่านสิ่งใหม่ให้เรื่องราวที่ผูกพันยังมีหนทางไปต่อในอนาคต
ภาพ : ศวิตา แสงน้ำเพชร