“Regenerative Food, Regenerative Future” เป็นแนวคิดของ “งานประชุม SB’23 Bangkok Chanthaburi” ที่กำลังจะเกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ความสงสัยแรกที่วาบขึ้นมาคือ ทำไมชื่องานต้องมีถึงสองจังหวัดคือกรุงเทพฯ และจันทบุรี และทำไมปีนี้ งาน SB ถึงได้ชูแนวคิดผ่านนัยของคำว่า “Regenerative”

แล้วคำตอบของทั้งหมด ก็เฉลยให้เรารู้ในงานแถลงข่าวการจัดงาน SB’23 Bangkok Chanthaburi: Regenerative Food, Regenerative Future เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมศิวาเทล ซึ่งงานนี้เป็นความร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง SB Thailand และ SB Spain ที่ตั้งใจจะพาเราทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวคิด Regenerative ผ่านสองหัวข้อใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจและศักยภาพของไทย คือ Food System และ Placemaking นั่นเอง

ที่พิเศษกว่าการจัดงาน SB ในทุก ๆ ปี คือครั้งนี้นอกจากจะจัดมีการประชุมผสานการเรียนรู้ที่กรุงเทพฯ คือที่โรงแรมศิวาเทลแล้ว ยังพากันไปเรียนรู้เชิงปฏิบัติการจริงกันถึงจันทบุรี ผ่านตำรับอาหารเมืองจันท์ที่กำลังจะหายไป และพริกไทย-กระวาน วัตถุดิบสำคัญที่กำลังได้รับการฟื้นคุณค่า โดยมีนักคิดระดับโลกอย่าง Marc Buckley และ Jenny Andersson มาร่วมแบ่งปันความรู้ พร้อมนำการทำ Workshop ด้วยตนเองอีกด้วย

เล่ามาถึงตรงนี้ สำหรับคนที่อาจจะเอ๊ะว่าคุ้นหูกับคำว่างาน SB มาบ้าง หรือบางคนที่ยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้เลย เราขออธิบายแบบฉับไวให้ทราบก่อนว่า SB คือคำเรียกของ Sustainable Brands ชุมชนของนักคิดนักสร้างสรรค์ผู้สร้างแบรนด์จากทั่วโลก ที่ยากเปลี่ยนแปลงและสร้างอนาคตในโลกธุรกิจไปด้วยกัน โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และกระจายตัวในหลายประเทศ รวมทั้งมีแพลตฟอร์มที่ให้ความรู้บนโลกออนไลน์ ร่วมกันพูดคุยในหัวข้อที่น่าสนใจและการจัดการแบรนด์ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อที่จะยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการขับเคลื่อนผ่านนวัตกรรมของแบรนด์

สำหรับในไทย Sustainable Brands Thailand เกิดขึ้นโดย ดร.ศิริกุล เลากัยกุล นักสร้างแบรนด์ที่นำประสบการณ์การสร้างหลายแบรนด์ดังระดับต้นๆ ของเมืองไทยมาร่วมมือกับ SB Global ทั่วโลก เพื่อหาคำตอบให้กับภาคธุรกิจและแบรนด์ในการสร้างคุณค่าและความยั่งยืนไปถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง ด้วยการเชื่อมโยงนักสร้างแบรนด์ ธุรกิจ องค์กรต่างๆ และผู้สนใจในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน มาร่วมกันกำหนดแนวทางตามแนวคิดและหัวข้อที่กำลังเป็นที่สนใจในกระแสโลกของทุกปี

ซึ่งในการประชุมปีนี้ก็มาพร้อมกับมุมมองของ “Regenerative Brands” แนวคิดที่พยายามจะฟื้นคืน และสร้างมูลค่าให้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้น ให้แบรนด์เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สามารถต้านทานและพลิกฟื้นสภาพที่เป็นอยู่ของโลก สังคม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดีขึ้น และที่สำคัญคือต้องการให้แบรนด์มองหาการปรับปรุงระบบวิถีการขับเคลื่อนในแนวทาง regenerative มากขึ้น เพื่อฟื้นคืนสมดุลโลก สร้างอนาคตที่ทุกชีวิตทั้งคนและธรรมชาติ มีความยั่งยืนร่วมกันได้อย่างแท้จริง

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการ SB ประเทศไทย เล่าว่า Regenerative คือแนวคิดใหม่ที่ต่อยอดขึ้นไปจากความยั่งยืน (Sustainability) ที่เน้นหลัก 3 Rs ได้แก่ Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ Reduce ลดการใช้สิ่งที่ย่อยสลายยากซึ่งอาจกลายเป็นภาระของโลกในระยะยาวนับพันปี และ Recycle การเปลี่ยนรูปแบบของที่เคยใช้แล้วผ่านกรรมวิธีให้กลับมาใช้งานได้อย่างมีประโยชน์

แต่สำหรับ Regenerative จะให้คุณค่า ใส่ใจทั้งระบบที่เกื้อกูลกันให้กลับมา (Restore) ไม่ใช่แค่ยืดเวลาจากสิ่งที่มีอยู่ให้นานที่สุด แต่มองอย่างสัมพันธ์ และมองไปไกลถึงโลกอนาคต เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์กลับมา ไม่ใช่แค่ลดการใช้ แต่สร้างสิ่งที่เสียไปหรือหายไปให้กลับมาขยายตัวเพิ่ม เป็นโอกาสและทางออกที่สังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังต้องการในตอนนี้

“ถ้าคุณไม่เห็นระบบที่เอื้อและเกื้อกูลต่อกัน คุณจะไม่สามารถฟื้นอะไรขึ้นมาได้จากฐานรากได้เลย การที่สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในระบบชีวิตของเรา ไม่ได้แปลว่ามันไม่สำคัญในระบบของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และโลกด้วย เพราะสุดท้ายแล้วแบรนด์ของคุณจะไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคนึกถึง แต่การค้นพบถึงคุณค่าของแบรนด์จากแก่นข้างในสามารถเปลี่ยนโลกของคนทำแบรนด์และผู้คนที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด รวมทั้งต่อให้เจออีกกี่วิกฤต เราก็จะกลับมาเข้มแข็ง (Resilience) และพร้อมจะฟื้นฟูคุณค่าของทุกสิ่งที่สำคัญ ที่สัมพันธ์กับทุกชีวิตและธรรมชาติให้เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างงดงามเสมอและตลอดไป”

ดร.ศิริกุล ยังได้ถึงการประชุมในครั้งนี้ว่า “กิจกรรมในงานจะช่วยนำพาให้ทุกคนรู้จักกับแนวคิด Regenerative ผ่านระบบการเกษตร ระบบอาหาร (Food System) การฟื้นฟูและสร้างพื้นที่ให้กลับมาสมบูรณ์ (Placemaking) เพื่อให้เป็นระบบเชื่อมต่อ ที่จะผสานการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา (Resilience) นำสิ่งที่หายไปกลับมา(Restore) และสร้างอนาคตที่ทุกชีวิตทั้งคนและธรรมชาติมีความยั่งยืนร่วมกันได้อย่างจริงแท้ (Regenerate) ทั้งในประเทศไทย และในโลกใบนี้

“ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวและคลังอาหารของโลก และจันทบุรีก็เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายทั้งในเรื่อง อาหาร วัตถุดิบการเกษตร และ สถานที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดกันอยู่ เราจึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยถึงความเป็นไปได้ และสิ่งที่ควรจะทำให้เกิดขึ้น ภายใต้วิถีแนวทางของ Regenerative ผ่านกิจกรรมที่คัดสรร เพื่อให้การค้นหาวิธีการดำเนินการสร้าง Regenerative เกิดขึ้นเป็นจริงได้ในการสร้างแบรนด์ สร้างธุรกิจ และการดำเนินชีวิต โอบอุ้มไปด้วยกันได้อย่างเป็นจริง

“ยิ่งไปกว่านั้นก็อยากจะชักชวนผู้เข้าร่วมงาน มาสนุกสนานกับการเห็นจากของจริง และจับจ่ายอย่างยั่งยืนกับตลาด Sustainable Market, พอแล้วดี Market รวมถึงการออกร้านจากแบรนด์ทรงคุณค่าของประเทศไทยและสเปน ที่จะมานำเสนอ Regenerative Products ให้ได้สนุกสนาน และมองเห็นว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ใกล้แบบทำได้จริง จนเราทุกคนสามารถเรียนรู้และสามารถปรับใช้กับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน องค์กร หรือประเทศชาติได้จริงอย่างไม่ยากเกินไป เพียงแค่คิดที่จะเริ่มทำก็มีแนวทางให้ทำทันที”

ส่วนมาร์ค บัคลีย์ นักคิดและนักปฏิบัติการด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจาก UNSDG กล่าวว่า “หากเราไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของเรา เราจะไม่สามารถย้ายข้ามผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ ย้อนกลับไปเจ็ดปีที่แล้ว มนุษย์ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน และเราพบว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงต่อชีววิทยามากเกินกว่าที่เราจะคิดได้ ดังนั้นเมื่อเราประสานการใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวิต และธรรมชาติอย่างเคารพในวิถีของทุกสิ่งภายใต้แนวคิด Regenerative ผลลัพธ์ที่เราได้รับจะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบที่สุดยอด”

มาถึงตรงนี้ ใครที่สนใจเข้าร่วมงานประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงเทพฯ และวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 ที่จันทบุรี สามารถซื้อบัตรเข้าร่วมงานได้ที่ www.sbthailand.com หรือติดต่อคุณดรุณี โทร. 081-817-0453 เวลา 09.00-18.00 น. ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2566 ราคาบัตรเข้าร่วมทุกกิจกรรม เริ่มต้นที่ 30,000 บาท (EARLY BIRD สำหรับทุกกิจกรรม เพียง 27,000 บาท)

แล้วมาออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ความหมายและคุณค่าของคำว่า “Regenerative” ไปด้วยกัน