เป็นอีกห้องเรียนที่ผู้ประกอบการสายยั่งยืนต่างยกมือขอเข้าร่วมงาน เพราะองค์ความรู้แน่น ๆ ที่เกิดขึ้นในงานประชุม Sustainable Brands ที่จัดขึ้นทุกปีนั้น คือแนวคิดและมุมมองที่สำคัญในการขับเคลื่อนแบรนด์อย่างยั่งยืน ที่ได้เรียนรู้จากนักคิดและนักปฏิบัติตัวจริงเสียงจริงระดับโลกอย่างใกล้ชิด

โดยในปีนี้ แนวคิดที่เป็นหัวใจสำคัญของการประชุมก็คือ “Regenerative” หรือ “การฟื้นคืน” เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงให้กับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ ที่ต้องดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล และแนวคิดนี้ก็เป็นวิวัฒนาการที่จำเป็นของแบรนด์ ในการฟื้นคืนและสร้างมูลค่าให้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อส่งมอบคุณค่าที่มากขึ้น

เพราะถ้าระบบอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความแข็งแรงแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้

งานประชุม “SB’23 BANGKOK CHANTHABURI: Regenerating Local Food & Future” จึงเกิดขึ้นโดยมุ่งเป้าไปยังธุรกิจอาหารซึ่งเป็นหัวใจหลักของประเทศ เพราะถ้าระบบอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีความแข็งแรงแล้ว เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้

เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิด นักปฏิบัติการ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดและการสร้าง Regenerative ระดับโลก Sustainable Brands (SB) ประเทศไทย ผู้จัดงานนี้จึงได้เชิญหัวแถวด้านความยั่งยืนระดับโลกมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ตั้งแต่ มาร์ค บัคลีย์ นักคิดและนักปฏิบัติการด้านอาหารและตัวแทนความยั่งยืนจาก UNSDG เจนนี่ แอนเดิร์สสัน ซีอีโอจาก We Activate The Future และผู้ร่วมก่อตั้ง The Really Regenerative Centre ซานดร้า พิน่า ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศสเปน และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการจาก SB ประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีเวิร์กช็อปกันที่กรุงเทพฯ หนึ่งวันเต็ม ๆ แล้ว เรายังได้เดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการตัวจริง ที่นำแนวคิด Regenerative ไปใช้ในระบบเกษตร ระบบอาหาร และระบบการฟื้นฟูเมือง ถึงจังหวัดจันทบุรี

Greenery. ไม่ลังเลที่จะขอยกมือ sit-in เกาะติดกิจกรรมของงานประชุมทั้ง 3 วัน มาฝาก เป็นอาหารสมองที่ย่อยง่ายสำหรับใครที่พลาดไปในปีนี้

3 พฤศจิกายน ’23, โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ
เนื้อหาในภาคทฤษฎีและประสบการณ์จริงของผู้ประกอบการยั่งยืนแบรนด์ไทย ถูกนำเสนอแบบจัดเต็มตลอดทั้งวัน ในพื้นที่ของโรงแรมศิวาเทล โรงแรมที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนมาตลอดหลายปี
มาร์ค บัคลีย์ ที่นอกจากจะเป็นนักคิด นักปฏิบัติการด้านอาหาร และตัวแทนความยั่งยืนจาก UNSDG เขายังเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดเป้าหมาย SDG Goals ทั้ง 17 ข้อของ UN ได้ชวนพูดคุยในหัวข้อ “Regenerating Local Food & Future” ว่า สิ่งสำคัญอันดับต้นของระบบอาหาร คือภาคเกษตรกรรม และ Regenerative Agriculture เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนเข้าใจต้อง จึงจะสามารถลงมือแก้ปัญหาทั้งระบบ

การเกษตรเพื่อฟื้นฟู เพื่อสร้างคุณค่า เป็นวิธีการที่ไม่ใช่แค่การรักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้หมดไป แต่ยังนำสิ่งที่หายไปให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ผ่านกระบวนการต่าง ๆ

“การเกษตรเพื่อฟื้นฟู เพื่อสร้างคุณค่า เป็นวิธีการที่ไม่ใช่แค่การรักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้หมดไป แต่ยังนำสิ่งที่หายไปให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การพลิกฟื้นคุณภาพดินที่ถูกทำลายไป การเพิ่มความหลากหลายในผืนดิน การลดภาวะโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอน รวมทั้งพัฒนาวงจรการใช้น้ำในการทำการเกษตร และ Regenerative Agriculture มีส่วนสำคัญมากในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ การกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินจะช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยทำให้สภาพอากาศมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ และยังจะสามารถสร้างงาน สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย และส่งเสริมความสามารถที่จะฟื้นตัว (Resilient) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ยั่งยืนอีกด้วย”

การพัฒนาศักยภาพของเมือง คือการพัฒนาที่ผ่านการฟื้นฟู หาหัวใจของเมืองที่โดนทำลายไปให้ฟื้นคืนชีวิตใหม่

“The Regenerative Future : Real Business Cases” ถูกนำเสนอผ่านการชวนคุยและชวนคิดของเจนนี่ แอนเดิร์สสัน เธอชี้ให้เราเห็นว่าทุกวันนี้เราต่างลงมือทำลายเมืองของเราโดยไม่รู้ตัว ผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณเพื่อตัวเลขที่สวยงามของรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะพัฒนาศักยภาพของเมือง ของสถานที่ คือการพัฒนาที่ผ่านการฟื้นฟู หาหัวใจของสถานที่หรือเมืองที่โดนทำลายไปให้ฟื้นคืนชีวิตใหม่

“Regenerative Placemaking เป็นแนวทางที่มีพลวัต และช่วยกำหนดรูปแบบให้เมือง สถานที่ ให้ประเทศไทยหรือชุมชนท้องถิ่นดีขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน หลักการพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่จะต้องไม่คำนึงถึงแค่เพียงการดำรงชีวิตของตนเองเท่านั้น แต่เพื่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิตอย่างเกื้อกูล และแนวคิดนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการฟื้นคืนของเมือง และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”

หลักสำคัญของ Regenerative Placemaking คือ Regenerative Design ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกสรรพสิ่ง เจนนี่หยิบยกเอาตัวอย่างของผู้ประกอบการท้องถิ่นในหลายประเทศ ที่ประกอบธุรกิจอย่างยึดโยงกับชุมชน ผู้คน และสิ่งแวดล้อม เช่น Playa Viva โรงแรมในเม็กซิโกที่สนับสนุนพลังของท้องถิ่นและสร้างเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม หรือการฟื้นฟูระบบอาหารในเมือง Fife ของสกอตแลนด์

ในหัวข้อ “Role of The Regenerative Brands” ซานดร้า พิน่า และดร.ศิริกุล เลากัยกุล ได้ร่วมกันกล่าวสรุปว่า  ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักขององค์กรในการกำหนดกลยุทธ์ การผลิตสินค้า การทำการตลาด และการสื่อสาร แต่การที่องค์กรจะรู้ได้ว่าเส้นทางที่กำลังดำเนินนั้น ‘ถูกทาง’ อยู่แล้ว หรือกำลัง ‘หลงทาง’ ก็ต้องมีเครื่องมือในการประเมิน

โดยทาง SB Worldwide ได้ออกแบบเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยธุรกิจและแบรนด์ในการวัดระดับความยั่งยืนภายในของแบรนด์ ของธุรกิจ ขององค์กร ของตนเองอย่างเจาะลึก ภายใต้ชื่อ “SB Brand Transformation RoadmapTM (SB BTR)” โดยเครื่องมือนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้นำ ในการสร้างแบรนด์ระดับโลกพัฒนา เพื่อให้องค์กรสามารถประเมินตนเอง ผ่านชุดคำถามออนไลน์ครอบคลุม 5 แกนหลักของแบรนด์ที่ยั่งยืนคือ Purpose, Brand Influence, Operations & Supply Chain, Products & Services และ Governance ซึ่งตอนนี้  SB Thailand ได้ทำการทดลองกับ 5 แบรนด์ใหญ่ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้กับทุกแบรนด์ที่สนใจในต้นปี 2567

นอกจากนี้ยังเปิดเวทีให้ 3 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่อความยั่งยืน ได้ร่วมกันตั้งคำถามกับมาร์คและเจนนี่ ซึ่งทั้งสองก็ได้แชร์ประสบการณ์และกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ก่อนจะจัดมินิเวิร์กช็อปในช่วงบ่าย และฟังเรื่องราวของแบรนด์ไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน รวมถึงได้พูดคุยกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่นำผลิตภัณฑ์มานำเสนอในตลาด “พอแล้วดี Market” อย่างจุใจ

4 พฤศจิกายน ’23, สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี
ปูพื้นฐานเชิงทฤษฎีกันแน่น ๆ แล้ว เราออกเดินทางสู่จังหวัดจันทบุรีในวันถัดมา กิจกรรมแรกเป็นความร่วมมือกันของ SB ประเทศไทย และหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ที่พาเราไปเรียนรู้ผ่านมื้ออาหารค่ำของรสจันท์ที่จางหาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจต่อความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังจะหายไปจากระบบอาหาร ใน  The Regenerative Dinner – The Lost Recipe “Herb – Heritage – Hope”

ก่อนดินเนอร์เริ่ม นิทรรศการซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในห้องรับรองของสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งเป็นห้องเลี้ยงรับรองในคืนนั้น ได้นำพาให้เราได้รู้จักสิ่งที่กำลังจะจางหายไปของเมืองจันท์ ทั้งเรื่องอาหารที่วัตถุดิบอันเป็นอัตลักษณ์อย่างกระวานจันท์และพริกไทยท้องถิ่นสายพันธุ์ปรางถี่ที่กำลังได้รับการฟื้นคืน ศิลปวัฒนธรรมด้านการแสดงที่ชื่อว่า ‘เท่ง-ตุ๊ก’ ซึ่งเป็นการผสานระหว่างมโนราห์และการละเล่นท้องถิ่น ที่พบเห็นในพิธีแก้บน ปัจจุบันกำลังได้รับการฟื้นคืนโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ และงานหัตถกรรมขึ้นชื่ออย่างเสื่อจันทบูร ที่ได้รับการพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจากผืนเสื่อเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

เมื่อการแสดงเท่ง-ตุ๊ก ที่มีชื่อเรียกตามจังหวะของดนตรีจบลง ก็เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้สัมผัสกับรสจันท์ขนานแท้ คราฟต์โซดาแบรนด์ท้องถิ่นที่ทำจาก  “เร่วหอม” พืชท้องถิ่นรสชาติชื่นใจถูกเสิร์ฟมาเป็นอย่างแรก ตามด้วยเมนูเรียกน้ำย่อยอย่าง “ปลาพล่าถั่วตำ” ก่อนถึงสำรับเมนูชุดใหญ่ที่ครบเครื่องครบรส ทั้ง “ลุกกะทิ” ที่เสิร์ฟมากับผักพื้นบ้านที่บางชนิดเป็นของแปลกใหม่ อย่างหน่อเต่าร้าง ดอกลูกไก่เตี้ย “หมูหอง” หอมเครื่องพะโล้เคี่ยวกับหน่อไม้จีนฝอย “แกงเขียว” ที่ไม่ใช่แกงเขียวหวาน แต่เป็นแกงป่าปลากับสมุนไพรพื้นบ้านซึ่งมีตัวเด่นเป็นยี่หร่า “ไก่ต้มกระวาน” กินคู่กับน้ำพริกเกลือ “ปลาราดซอสพริกไทยจันท์” รสเผ็ดร้อน และ “ผัดผักหวานป่า” เสิร์ฟกับ “ข้าวสีดอกมะขาม” ก่อนจะปิดท้ายด้วยเมนูของหวานอย่าง “สำรองขนมจ้างในน้ำตาลอ้อย”

รสจันท์ที่จางหาย เป็นการรื้อฟื้นตำรับอาหารพื้นเมืองจันทบูรที่กำลังจางหายให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้าจันทบุรี เล่าว่า รสจันท์ที่จางหาย เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อรื้อฟื้นตำรับอาหารพื้นเมืองจันทบูรที่กำลังจางหายให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง วัตถุดิบสำคัญที่เราเห็นผ่านภาพในนิทรรศการอย่างพริกไทยปรางถี่และกระวานจันท์ ได้รับการเชิดชูให้มาอยู่ในตำรับอาหารมื้อพิเศษนี้

“เรามุ่งหวังกันว่า ดินเนอร์มื้อพิเศษนี้จะทำให้ทุกคนได้สัมผัส รู้สึก และมองเห็นพลังของจันทบุรี ซึ่งมีสถานะเป็น “ห้องนั่งเล่นของภาคตะวันออก” และช่วยกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจะนำไปสู่การฟื้นฟูของคนกับธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างที่เคยเป็น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน”

และแน่นอนว่า ดินเนอร์ในมื้อนั้นได้ทำให้ “รสจันท์ไม่จางหาย” เพราะเป็นการเรียกคืนรสชาติของอาหารพื้นเมืองจันทบูร ให้กลับมาเฉิดฉายบนสำรับที่พิเศษยิ่งกว่ามื้อไหน ๆ

5 พฤศจิกายน ’23, สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม จันทบุรี 
เช้าสุดท้ายของงานประชุม SB’23 พวกเรามีนัดหมายกันที่สุธีร์ ออร์แกนิก ฟาร์ม สวนผลไม้ออร์แกนิกของ สุธีร์ ปรีชาวุฒิ ตลอดระยะเวลา 12 ปีของเขา คือการใช้ที่ดินผืนนี้เป็นการเรียนรู้และลงมือจริง โดยแนวคิด Regenerative คือแนวทางหนึ่งที่เขาใช้ในการสร้างสวนเกษตรผสมผสานจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ต้นกระวานที่เราได้ลิ้มรสในอาหารเมื่อค่ำวานนี้ มีปลูกแทรกอยู่ในสวนที่หลากหลายไปด้วยพืชพันธุ์ต่างชนิด นอกจากผลไม้ที่สร้างรายได้หลักอย่างทุเรียน มังคุด ยังมีพืชพื้นถิ่นอีกจำนวนมาก อาทิ ส้มมะปิ๊ด เร่ว ตะลิงปลิง ฯลฯ และพริกไทยปรางถี่ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์ต่อ

“ดิน” คือหัวใจสำคัญของการทำเกษตร การพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ปราศจากสารเคมี นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อผลผลิตในฟาร์ม มาร์คและสุธีร์เดินนำพวกเราเข้าสู่สวน เพื่อสัมผัสและเข้าใจต่อความสำคัญของดิน และฟังเรื่องราวการฟื้นฟูที่การฟื้นฟูระบบเกษตรย่อมส่งผลดีต่อระบบอาหารไปด้วย ก่อนที่จะปิดท้ายการงานประชุม ด้วยการเรียนรู้ในสองหัวข้อสำคัญ คือ “การกู้คืนระบบอาหารของพริกไทยจันท์และลูกกระวานจันท์” โดยมาร์ก และ “การฟื้นคืนอนาคตของจันทบุรีผ่านการท่องเที่ยว หรือ Regenerative Placemaking” โดยเจนนี่

จันทบุรีจะเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด Regenerative

“เหมือนทุกครั้งที่เราจัดงาน SB ในประเทศไทย จะเน้นการสร้างผลงานที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่การมาประชุมแลกเปลี่ยนความรู้แต่ไม่มีผลงานที่ยั่งยืน เราจึงได้เลือกจันทบุรีเป็นหนึ่งในที่จัดงานของเรา เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของจันทบุรีในการที่จะทำเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแนวคิด Regenerative ความพร้อมของคนจันทบุรีและศักยภาพของแผ่นดิน ผสานกับพลังของแบรนด์ จะทำให้งานประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้จุดประกายสิ่งที่มีอยู่แล้วและกำลังจะจางหาย ให้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อย่างน่าสนใจอีกครั้ง” ดร.ศิริกุลกล่าวปิดท้ายการประชุมในครั้งนี้

ขอบคุณภาพ: Sustainable Brands (SB) ประเทศไทย