อาคารทรงเก๋สี่เหลี่ยมลูกบาศก์โชว์เสาไม้และกระจกใสกลางสวนเขียวที่ประกาศตัวว่าเป็น Organic cafe อย่าง Patom (ปฐม) คงทำให้เหล่าคาเฟ่ฮอปเปอร์เรียงหน้าเข้าคิวไปเช็คอินกันเป็นทิวแถว บางคนคงได้ชิมเมนูพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ ผักผลไม้ออร์แกนิก ชา กาแฟ และน้ำผลไม้ตามฤดูกาลคั้นสด รวมถึงซิกเนเจอร์อย่างขนมครกข้าวกล้องทำสดๆ ทุกสุดสัปดาห์กันไปแล้ว

แต่นอกจากร้านสวย อาหารอร่อย ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวอย่างครีมนวดผม สบู่ ครีมอาบน้ำ ลิปบาล์ม โลชั่นทาผิว ฯลฯ แปะป้ายออร์แกนิกถูกออกแบบอย่างสวยงาม เบื้องหลังที่น่าสนใจ (และหลายคนยังไม่รู้) ​ของคาเฟ่แห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นจากความพยายามในการแก้ไข ‘ปัญหา’ ของชาวสวนชาวไร่ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า ‘สามพรานโมเดล’

สามพรานโมเดลคืออะไร
สามพรานโมเดล คือโครงการส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนบนพื้นที่ 8 อำเภอในจังหวัดนครปฐม และ 3 จังหวัดใกล้เคียง มีเป้าหมายเป็นการยกระดับห่วงโซ่อาหารทั้งระบบให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่คนปลูกไปจนถึงคนกิน ดังนั้นคาเฟ่น่ารักที่เราได้เข้าไปสัมผัส จึงไม่ได้บรรจุไว้เพียงความทะเยอทะยานของเจ้าของธุรกิจเท่านั้น

“สิ่งที่เราทำไม่ได้มีแค่เราคนเดียว แต่เราทำโครงการวิจัยเกษตรอินทรีย์เชิงลึกที่มีทั้งเกษตรกร มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ มากมายร่วมกันทำให้เกิดขึ้นมา เป็นเหมือนการชวนทุกคนให้มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน” โอ-อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสามพราน ริเวอร์ไซด์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ สวนสามพราน อธิบายให้เราฟังในฐานะผู้ริเริ่มโครงการนี้

ทำไมต้องมีสามพรานโมเดล
ในฐานะคนทำธุรกิจการเกษตรและโรงแรม โอพบปัญหาว่าผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่โรงแรมรับซื้อมักปนเปื้อนสารเคมี ยาฆ่าแมลง เนื่องจากเป็นวิธีการผลิตที่ทำให้ได้ผลผลิตตามมาตรฐานของตลาด นั่นคือรอบการปลูกสั้น รูปลักษณ์สมบูรณ์สวยงาม แม้เกษตรกรหลายคนอยากลองทำเกษตรอินทรีย์แต่ก็ต้องล้มเลิกความคิดไปเพราะไม่มีตลาดรองรับ อีกทั้งกระบวนการปลูกก็มีต้นทุนสูง ผลผลิตก็ไม่แน่นอน

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตและสร้างความปลอดภัยทางอาหารได้อย่างยั่งยืน โอมองว่าต้องพัฒนาไปพร้อมกันทั้งระบบ เขาจึงอาสาเป็นสะพานเชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้บริโภคโดยตรงอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านยอมเปิดใจ แบ่งพื้นที่ในสวนสามพรานมาทำแปลงสาธิตปลูกผักและผลไม้ตามวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะรับซื้อผลผลิตมาใช้ในห้องอาหารของโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์เอง รวมทั้งยังกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดให้เกษตรกรในโครงการมาออกร้านขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้ฟรีๆ ใน ‘ตลาดนัดสุขใจ’ ทุกสุดสัปดาห์ในพื้นที่ของโรงแรมด้วย โดยจะมีการตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลเพื่อรักษาคุณภาพไว้อย่างสม่ำเสมอ

คาเฟ่ Patom เกี่ยวอะไรกับสามพรานโมเดล
หลังจากที่สามพรานริเวอร์ไซด์ได้ลงมาทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับเกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเข้มข้น และสร้างตลาดนัดสุขใจซึ่งทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยตัวเองจนกลายเป็นโมเดลที่ได้รับการยอมรับว่ายั่งยืนและเห็นผลจริง จนโรงแรมอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เริ่มสนใจรับซื้อผัก ผลไม้ และข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรในโครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้นเรื่อยๆ

เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเกื้อหนุนส่งเสริมกันและกันไปตลอดทั้งห่วงโซ่ โอจึงมีความคิดจะเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรด้วยการทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกภายใต้แบรนด์ชื่อ ‘ปฐม’ และสร้าง ‘ปฐมคาเฟ่’ คาเฟ่หน้าตาเก๋ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้สีเขียวในย่านทองหล่อใจกลางเมืองหลวง เพื่อให้เป็นพื้นที่รวมตัวสำหรับคนเมืองที่รักสุขภาพ นำเสนอวิถี organic living ผ่านผลิตภัณฑ์และอาหารที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

สามพรานโมเดล สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
แม้จะเป็นพื้นที่ทดลองเล็กๆ แต่สามพรานโมเดลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้กว่า 50 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้โครงการสามพรานโมเดลได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์มาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายในราคาที่เป็นธรรม ขยับขยายตลาดเข้ามาใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น

โอเชื่อว่าโมเดลของเขาไม่ควรเป็นเพียงโครงการเดียวที่เกิดขึ้น แต่อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่อื่นๆ ค้นหาโมเดลที่เหมาะสมกับตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง  “สิ่งที่สำคัญกว่าเงิน คือสุขภาพของเกษตรกรและคนกินที่ประเมินค่าไม่ได้ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เกิดสังคมคนรักสุขภาพที่จะเป็นแบบอย่างให้ที่อื่นๆ ได้” โอเล่าทิ้งท้าย

เมื่อได้รู้จักวิถีออร์แกนิกแบบครบวงจรที่อยู่เบื้องหลังร้านนี้แล้วก็ยิ่งทำให้ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่างในคาเฟ่ Patom มีคุณค่ามากกว่าการแค่ทำให้เราอิ่มท้องและอร่อยสายตา แต่ยังทำให้เรารับรู้ว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เพียงเลือกใช้วันหยุดคุณภาพในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้

Patom
เปิดทุกวัน (เว้นวันจันทร์) 09.30 – 19.00 น.
9/2 ซอยสุขุมวิท 49/6 (ซอยพร้อมพรรค) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โทร 098 259 7514
www.patom.com