จากตอนก่อน ๆ ที่เราเล่าถึงวิถีชีวิตคนสุโขทัยที่อยู่คู่กับแม่น้ำยม ตั้งแต่เรื่องของครอบครัวชาวประมง ที่อยู่กินกับน้ำ มาเรื่องกระบวนวิธีหาปลา การแปรรูป จนมาถึงตอนสุดท้ายของซีรีย์ ที่ว่าด้วยปลายทางแห่งรสชาติ สู่อาหารบนจาน ที่ถูกปรุงด้วยแม่ครัวยอดฝีมืออย่าง “ป้าแอ๊ด” กับความช่ำชองเชี่ยวรสชาติ กว่า 40 ปีในครัวที่เป็นเสมือนเขตพื้นที่พิเศษ ซึ่งไม่กี่คนจะสามารถย่างกรายเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามนั้นได้ นี่คืออรัมภบท ก่อนจะไปชิมรสมือป้าแอ๊ด ผ่านตัวอักษรของเรา ลิ้มรสให้รู้ราก… เชิญรับชิมกันตามอัธยาศัย …
ตะวันเคลื่อนตัวตั้งตรงทำองศา ดิ่งตระหง่านเหนือศรีษะบอกเวลาใกล้เที่ยง เสียงรถมอเตอร์ไซค์คันเก่ง เร่งเครื่องขับฉิวในแบบที่ว่า เสียงมาถึงก่อนคน… ที่คร่อมอยู่บนมอเตอร์ไซค์สีแดงแป๊ด คือป้าแอ๊ด เจ้าของร้านลับขึ้นชื่อสำหรับรับรองแขกบ้านแขกเมือง ที่เฉพาะเจ้าถิ่น “รู้งาน” เท่านั้น จึงจะพามากินได้ถูกแหล่งถูกรอย “ร้านป้าแอ๊ดปลาแม่น้ำ”
“คนในตลาดปลาเขารู้กัน คุณนายแอ๊ดขี่รถเร็ว อย่างช้า ๆ ก็ 70 (กิโลเมตร/ชั่วโมง) ออกไปได้แป๊บเดียว คนเช็ดจานยังเช็ดไม่เสร็จเลย ป้าแอ๊ดก็ขี่รถถึงร้านแล้ว (ร้านกับตลาดปลาที่แกว่า ห่างกัน 8 กิโลเมตรโดยประมาณ) ” ป้าแอ๊ดสาธยายให้ฟังด้วยความภูมิใจในความเร็วของแก พลางทยอยขนปลาแม่น้ำสด ๆ ออกจากตระกร้าหน้ารถที่แสนจะพะรุงพะรัง เพราะเต็มไปด้วยปลาหลากชนิด ทั้งปลาแดง ปลาคล้าว ปลากด ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อนสด ๆ ที่พร้อมเสิร์ฟแบบวันต่อวันเท่านั้น
นอกจากจะเป็นเลขไมล์บนหน้าปัดรถมอเตอร์ไซค์กันเก่งของป้า ตัวเลข 70 ยังเป็นช่วงวัยของสองศรีพี่น้องที่กำลังง่วนทำกับข้าวอยู่ในครัว บางจังหวะได้ยินเสียงตะหลิวดังเคร้งคร้างครึกโครมหน่อย ก็แสดงว่าไม่ใครก็ใคร อาจไปยียวนกวนอารมณ์ หรือทำอะไรไม่ถูกใจ (วัยรุ่น…ดึก) กันไปบ้าง
ป้าแอ๊ดในวัย 71 รับหน้าที่เป็นแม่ครัวหลักรับผิดชอบทุก ๆ จานอาหาร ผัด ทอด แกง ต้ม ส่วนป้าอ๊อดพี่สาววัย 75 เป็นคนเตรียมวัตถุดิบและพริกแกง มีลูกสาวป้าแอ๊ดในชื่อตระกูล “อ” อย่างพี่เอ๋ เป็นลูกมือรับเมนู เป็นเด็กเดินจานที่บางทีก็ต้องควบหน้าที่กรรมการระงับศึกสองป้าในสงครามก้นครัวหลาย ๆ จังหวะ
“ป้าแอ๊ดไม่มีเมนู เพราะคนที่นี่มาจ้องจะกินปลากัน เลยไม่ค่อยมีกับข้าวอื่น เขารู้เลยว่า เราใช้ปลาธรรมชาติ เขาก็รอกัน บางคนมาสั่ง เจ็ดวันก็ไม่ได้กิน เพราะของแบบนี้มันสั่งกันไม่ได้ ใครมาสั่งไว้นี่รู้เลย เดี๋ยวไม่ได้ปลา” เป็นความเชื่อของคนที่ใช้ชีวิตแบบลูกแม่น้ำ เกี่ยวกับการหาปลา ที่ห้ามออกปากสั่งกันล่วงหน้า เพราะถ้าวันไหนได้มีคนสั่งแล้ว ทั้งวันคนหาปลา นั้น ก็ไม่มีทางได้ปลาอย่างที่ต้องการ
คนสุโขทัยกล่าวขานกันว่า “ปลาที่ดีที่สุด จะถึงมือป้าแอ๊ดก่อนเสมอ” เราก็คิดเชื่อว่าจริง เพราะแกทำร้านมา 40 ปี คงไม่มีพ่อค้าปลาคนไหนไม่รู้จักกิตติศัพท์ป้าแอ๊ด นอกเหนือไปจากนั้น ตั้งแต่วันแรกจนถึงทุกวันนี้ ป้าแอ๊ดยังคงออกไปซื้อปลา เลือกปลาเองเหมือนเดิม ทุกวันไม่มีหยุด ถ้าจะมีปิดร้านบ้างก็เพราะเหตุจำเป็นอย่างงานขาวดำเท่านั้น ที่ป้าจะทิ้งลูกค้า
“ปลานี่เราดูตาแล้วรู้เลย” ป้าแอ๊ดเล่า “ปลาธรรมชาติอย่างแรกต้องยังเป็น เพราะมันมีปลาจากต่างประเทศแช่กันส่งมา เราไม่เอา จะต้องดูแม่ค้าเป็นเจ้า ๆ ไปว่าไว้ใจได้หรือเปล่า” ป้าแอ๊ดเสริม
ร้านป้าแอ๊ดเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2525 จวบจบครบรอบ ปีนี้ก็ 41 ปีพอดี แกเล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่บ้านแกเป็นคน “เยอะ” เรื่องกับข้าว เลยทำให้มีฝีมือครัวมาแต่ไหนแต่ไร ป้ายังบอกอีกว่า สมัยก่อนบ้านแกพอจะมีกิน ในสำรับกับข้าวจะต้องมี น้ำพริกจิ้มปลาทอด แกล้มกับข้าว โดยมีเมนูปลาผัดพริกสดเป็นอาหารประจำในสำรับ
“เมื่อก่อนริมน้ำนี่เขียวไปหมด อยากกินปลาปิ้ง ก็แค่เอาเบ็ดมาเสียบ เกี่ยวลูกปลาเดี๋ยวเดียวก็ได้กิน ปลาว่ายขึ้นเหนือ เรือสนั่นวิ่งมาจากบางระกำ (พิษณุโลก) จับปลากันทีเป็นปี๊บ ๆ ทำกินกันไม่ไหว ปลาที่นี่เยอะมาก อย่างปลาคล้าวเนี่ย ลงข่ายได้ทีครึ่งลำเรือ” ป้าแอ๊ดบรรยายสรรพคุณความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำยม ที่ทุกวันนี้หน้าร้านป้าแอ๊ด แทบจะกลายเป็นเพียงเขื่อนปูนให้น้ำไหลผ่าน เปลี่ยนไปมากจากที่ป้าแอ๊ดเล่าย้อนความให้เราฟัง
“เราอยากให้คนกินได้กินของดี ถ้าไม่ดีไม่ได้ พริกสดบ้านนี้ตำใหม่ทุกจาน แต่ที่อื่นหั่น ๆ ปั่นซอย ๆ จะบอกว่าโบราณแท้ ๆ จริง ๆ ไม่เคยไปเอาสูตรมาจากไหน ไม่เคยไปกินร้านอื่นแล้วเอาสูตรมาเป็นของเราเลย คนที่ไหนมากินก็บอกปลาที่นี่อร่อยเพราะปลาแม่น้ำยมสุโขทัยเป็นปลาดินเหนียว ไม่มีโคลน กินสบาย ไม่มีกลิ่น เพราะน้ำไหล คนก็ติดมาจนป่านนี้ ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จีบกัน จนตอนนี้รุ่นหลานโต ก็ยังทำเองหมด ไม่ให้ใครทำ เพราะเรารู้สึกว่าที่ทำให้กินไม่ใช่ลูกค้า แต่เป็นเหมือนญาติมาบ้าน” ป้าแอ๊ดเล่าอย่างภูมิใจ
“เมื่อก่อนรุ่นยายจะมีไหกะปิ ไหปลาร้า ไหน้ำปลา ขึ้นบันไดบ้านก็เห็นเลย เขาไม่มีโทรทัศน์ ตกเย็นขึ้นบ้าน มีกินทั้ง ปลาร้า ปลาจ่อม คนเมื่อก่อนเลยไม่ค่อยต้องหาเงิน เช้าขึ้นมาก็มานั่งคุยกัน รวมตัวกันทีก็ย่างปลา ไม่เหมือนทุกวันนี้ลำบาก นี่ก็ไม่รู้จะทำกันได้อีกนานแค่ไหน…”
เป็นเวลาเกือบสองปีที่เราเข้าไปติดตามดูเรื่องราวของวิถีลูกแม่น้ำ ของคนสุโขทัย จนปะติดปะต่อร้อยเรียงความออกมาในแบบฉบับของเรื่องเล่าผ่านผู้คนท้องถิ่น
ในขณะที่คนรุ่นก่อน ๆ ยังคงถือองค์ความรู้ไว้ในช่วงวัยแห่งบั้นปลายชองชีวิต เราได้เห็นคนรุ่นต่อ ๆ มาที่ยังคงสืบทอดและส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป
บางเรื่องบางตอนก็เป็นธรรมดาเกินกว่าที่จะเรียกร้อง และยอมรับด้วยเวลาที่ค่อย ๆ แผ่วจางเบาหายไป แต่สิ่งหนึ่งอย่างน้อยตลอดการเก็บข้อมูลของเราได้พบเจอ คือคนสุโขทัย ยังคงใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำ จะปรับเปลี่ยน ปรุงแก้ไปบ้าง ก็เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อเหลือเกินว่า “วิถีลูกแม่น้ำ” ของคนที่นี่ จะยังอยู่สืบไป ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในชีวิต อยู่ในอาหารการกิน อยู่ในลมหายใจและสายเลือดจากรุ่นสู่รุ่น