ท่ามกลางร้านกาแฟมากมาย เรามีร้านกาแฟยอดนิยมแบรนด์ดัง เรามีร้านกาแฟ specialty คัดสรรเมล็ดกาแฟชั้นเลิศ เรามีร้านตกแต่งเก๋น่าเซลฟี่ไปทุกมุม เรามีร้านที่เอื้อให้นั่งทำงานหรือประชุมได้ยาวๆ ร้านกาแฟสำหรับนักปั่น ร้านกาแฟสำหรับคนชอบแมว ร้านกาแฟสำหรับนักอ่านหนังสือ หรือกระทั่งร้านง่ายๆ แค่สำหรับคนที่ต้องการคาเฟอีน
นึกไม่ออกว่าเรายังต้องการร้านกาแฟแบบไหนอีก จนกระทั่ง URBIE Social Space เปิดตัว
เออบี้ โซเชียลสเปซ แนะนำตัวเองในฐานะร้านกาแฟและพื้นที่จัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนกับเยาวชนและนักศึกษามหาวิทยาลัย และอยากใช้พื้นที่นี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจและความยั่งยืนสามารถก้าวเดินไปพร้อมกันได้
เพื่อความกระจ่าง เราได้คุยกับ หมีภู-ธนภณ เศรษฐบุตร โต้โผใหญ่ของ นกฮูก กรุ๊ป ที่ลุกขึ้นมาริเริ่มร้านกาแฟร้านนี้ และเราก็ได้พบว่า สิ่งที่น่าสนใจคือการจัดการวัตถุดิบในร้าน ด้วยการรับซื้อตรงจากผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และการพยายามลดขยะพลาสติกรวมทั้งสร้างระบบการแยกขยะอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็ใส่ใจทั้งคุณภาพและรายละเอียดอย่างที่ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ควรจะเป็น
และเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น เขาอยากให้ที่นี่ เป็นตัวจุดประกายความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ยั่งยืนด้วยวัตถุดิบยั่งยืน
หากยังจำ Greenery Talk 2017 ที่หมีภูขึ้นมาเล่าเรื่องกาแฟรักษาป่าที่ช่วยปกป้องพื้นที่ป่าในจังหวัดตากได้กว่า 20,000 ไร่ได้ เขาคือคนคนเดียวกับผู้ปลุกปั้นนกฮูกกรุ๊ป กิจการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนในเมืองไทย ด้วยการเป็นสะพานสร้างช่องทางการขาย และการพัฒนาคุณภาพของเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน
“เราอยู่ในวงการอาหารยั่งยืนมาสักพัก หลักๆ ผมทำงานอยู่กับเกษตรกร 2 กลุ่ม คือกลุ่มเผ่ามูเซอที่ปลูกกาแฟที่จังหวัดตาก แล้วก็กลุ่มชาวนาที่จังหวัดบุรีรัมย์ เราส่งกาแฟมูเซอขายให้กับ airasia และร้านกาแฟอื่นๆ บ้าง ส่วนข้าวเราก็ส่งตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ก็รู้สึกว่าทำแบบนั้นแล้วโอกาสที่จะได้สื่อสารเรื่องราวของเราออกไปมันยังน้อย และมีข้อจำกัดอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ เช่นเกษตรกรมีข้าวตัวใหม่อยากจะลองทำ หรือการปลูกข้าวอย่างเดียวก็มีความเสี่ยง ฝนแล้งทีเกษตรกรอาจจะไม่มีข้าวขายเลยก็ได้ เราก็มองหาอาชีพเสริมอย่างการทำปศุสัตว์ไข่อินทรีย์ หรือปลูกมะนาวในวงซีเมนต์เพราะใช้น้ำน้อย แต่ถ้าต้องส่งเข้าห้างสรรพสินค้าที่ต้องผ่านขั้นตอนการจัดซื้อ ความยืดหยุ่นมันต่ำ ถ้าเรามีร้านของเราเอง อยากลองกาแฟตัวใหม่ ลองข้าวตัวใหม่ อยากใช้มะนาว เราก็ทำได้เลย” หมีภูเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายให้ริและเริ่มพัฒนาร้านกาแฟด้วยการมองกว้างและลึกไปถึงวัตถุดิบ ทั้งจากการต่อยอดจากสิ่งที่เคยทำ ไปจนถึงการคัดสรรจากโจทย์เดิม ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวอินทรีย์จากกลุ่มเพียรหยดตาล ผักสลัดจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์วังน้ำเขียว และวัตถุดิบอินทรีย์หรือปลอดสารพิษจากเครือข่ายรอบตัว
ถามถึงเรื่องราวที่อยากสื่อสาร หมีภูบอกว่าการได้มาซึ่งวัตถุดิบยั่งยืนล้วนมีเรื่องที่ต้องเล่า กาแฟที่บอดี้ไม่หนักมาก มีกลิ่นหอมของดอกไม้แห้ง และมีความเป็นกรดที่ค่อนข้างโดดเด่นของกาแฟมูเซอคงเป็นส่ิงที่คอกาแฟอยากรู้ แต่สิ่งที่เขาอยากเล่า คือกาแฟของเผ่ามูเซอที่มีส่วนสำคัญในการรักษาป่า เพราะพวกเขาปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ โดยไม่มีการถางป่า ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าหญ้า และช่วยหยุดการถางป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด
“เรื่องที่มาของอาหารมันไม่ใช่สิ่งที่จะทุกคนจะใส่ใจ แต่เราก็ต้องเริ่มสร้างกันไป พอมาเริ่มทำร้าน ผมก็พยายามพูดกับลูกค้ามากขึ้น กาแฟมาจากไหน ข้าวมาจากไหน มะนาวมาจากไหน แต่มันไม่ใช่ทางหลักที่จะดึงลูกค้ามาแต่แรกหรอกครับ สิ่งสำคัญคือคุณภาพของสินค้า ถึงเราจะเป็นสินค้าออร์แกนิก แต่ถ้ามันไม่อร่อย เขาก็ไม่สน เพราะฉะนั้น เราให้ความสำคัญกับรายละเอียด ทุกเช้า เราจะเทสต์กาแฟเพื่อตั้งค่าให้ได้รสชาติมาตรฐานเสมอ”
ยั่งยืนด้วยข้อตกลงยั่งยืน
การได้มาซึ่งวัตถุดิบที่ช่วยดูแลป่า ไม่เพิ่มมลพิษให้สิ่งแวดล้อมล้วนสร้างความยั่งยืนให้ธรรมชาติ แต่ในแง่ธุรกิจ อีกความยั่งยืนที่นกฮูกกรุ๊ปไม่มองข้ามคือการทำธุรกิจกันอย่างเป็นธรรม “ผมไม่ได้ดีลกับเกษตรกรด้วยการผูกกับเจ้าใดเจ้าหนึ่ง การที่เขาทำตลาดกับเรามันทำให้เขาได้รู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้นเป็นยังไง เขาสามารถนำไปปรับและพัฒนาสินค้าเองได้ และถ้าเขาจะไปขายคนอื่นด้วยก็เป็นเรื่องดี ถ้าเขาปลูกให้ผมเจ้าเดียว ผมว่ามันก็ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ถึงผมจะช่วยเรื่องเครื่องจักร แต่ไม่ได้เคยปิดเลยว่าเครื่องจักรนี้ต้องใช้กับสินค้าผมเท่านั้น เขาขายให้คนอื่นได้เหมือนกัน เพราะไม่อย่างนั้น ผมจะต่างอะไรกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ผูกขาดล่ะ
“โลกมันเปลี่ยนไปตลอด ถ้าเขาผูกกับผมคนเดียว วันนึงผมเจ๊งขึ้นมาเขาทำยังไงต่อล่ะ หรือวันนึงกลุ่มเกษตรกรอยากขยาย แต่ผมขยายตามไม่ทันล่ะ การที่เกษตรกรลุกขึ้นมาทำตลาดเอง ขายเองด้วย นั่นเป็นเรื่องดี”
เพราะเขาคือพาร์ทเนอร์ของเกษตรกร ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง
ยั่งยืนด้วยการจัดการขยะ
อีกหนึ่งความจริงจังที่เราจะเห็นได้ผ่านการสื่อสารต่างๆ ในร้าน คือความพยายามในการลดขยะพลาสติกและการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ทางร้านจะเสิร์ฟแก้วใช้ซ้ำสำหรับคนที่นั่งในร้าน แต่หากเลือกซื้อแบบกลับบ้าน ทางร้านเลือกใช้แก้วพลาสติก PLA ที่ผลิตจากข้าวโพด รวมทั้งเลือกใช้หลอดกระดาษแทนหลอดพลาสติก
“มีบ้างที่ลูกค้าหรือแม้แต่พนักงานเองสงสัยว่าทำไมเราต้องลดการใช้พลาสติก แต่เราว่ามันดีกว่าการมีพลาสติกชิ้นหนึ่งหลงเหลืออยู่ในโลกอีกไม่รู้กี่ร้อยปี คนชอบถามว่าทำไมเราไม่รับแซนด์วิชมาขาย บอกตามตรงคือเรายังหาวิธีจัดการแซนด์วิชที่ไม่ต้องใส่กล่องพลาสติกไม่ได้
“เราไม่อยากให้ความสบายเป็นข้ออ้างในการทำลายสิ่งแวดล้อม เราเลือกใช้ภาชนะใช้ซ้ำที่มันเสียเวลา แต่เรามองว่ามันคือความรับผิดชอบของตัวร้านเอง”
แต่ท่ามกลางความยุ่งยาก ก็ยังมีเรื่องน่าชื่นใจสำหรับคนตั้งใจทำ “สิ่งผมเห็นแล้วทึ่งคือการแยกขยะ ผมรู้สึกว่าทุกคนจริงจังกว่าที่คิด จริงๆ คนอาจจะสนใจเรื่องการแยกขยะนะ แต่ยังไม่มีข้อมูลที่ดีพอและไม่มีการแยกแบบจริงจังหรือเปล่า ที่นี่ลูกค้าพยายามและให้ความร่วมมือมากๆ ครับ”
ยั่งยืนด้วยการสร้างพื้นที่เรียนรู้
“ร้านนี้มันไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะมาเปิดได้เลย มันเริ่มจากการพูดคุยกับหลายคน รวมถึงท่านคณบดีของคณะศึกษาศาสตร์ที่เป็นเจ้าของตึกนี้ พอความเห็นตรงกันที่อยากให้มีที่อย่างนี้อยู่ในมหา ’ลัย ทางคณะสอนเรื่องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ แต่ก็สนใจเกี่ยวกับเรื่อง social innovation เราจึงอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนที่เรียนรู้ของนักศึกษาด้วย ว่าธุรกิจกับความยั่งยืนมันไปด้วยกันยังไงได้บ้าง”
ความตั้งใจของคาเฟ่แห่งนี้จึงไม่ใช้ให้คนมานั่งกินกาแฟหรือทำงานของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ทำกิจกรรม มีโซนที่สามารถจัดแบ่งเป็นเซ็คชั่นสำหรับจัดเวิร์กช็อป วางแผนเชิญเหล่า social entrepreneur มาแชร์แรงบันดาลใจให้กันและกัน
“เราอยากให้น้องๆ นักศึกษาได้มาครีเอทโครงการให้สังคมต่อๆ ไปด้วย เด็กๆ หลายคนสนใจเรื่องแบบนี้อยู่บ้าง พอเรียนในห้องแล้วมาเจอของจริง มีโอกาสทำกิจกรรมจริง ได้เจอคนทำงานจริง ก็ยิ่งต่อยอดได้ จริงๆ ผมมองว่านอกจากการช่วยเปิดโลกแล้ว อาจจะเป็นการสร้างคอนเน็กชั่นให้นักศึกษาเองด้วย เจอคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน อย่างน้องๆ จากวิศวะสนใจ สถาปัตย์สนใจ บริหารสนใจ มาเห็นในสิ่งเดียวกัน อาจจะมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ได้ เช่นเดียวกัน คนที่ทำงานแล้ว คุยกัน อาจจะไปต่อยอดอะไรก็ได้”
เพราะจุดประสงค์ที่ลึกไปกว่านั้น คือสร้างพื้นที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ
“เรามองว่า คือถ้าเราเป็นร้านกาแฟที่มีส่วนในการช่วยสังคม มันคงมีส่วนดีของมัน แต่ถ้าเรามองว่าเราเป็นร้านกาแฟที่สามารถอินสปายคนอื่นๆ ให้ไปทำอะไรต่อในอนาคตได้อีก มันก็น่าจะดีกว่าเดิม ซึ่งเรามองว่านักศึกษามหา ‘ลัยนี่แหลคือคนที่ยังไม่ได้เลือกทางเดินชีวิตตัวเองขนาดนั้น
“ถ้าเรามาจุดประกาย ณ วันนี้ ต่อไปจากนี้ เขาอาจไปเป็น change maker ที่ยิ่งใหญ่ก็ได้”
แปลว่ามองโมเดลของร้านกาแฟนี้ไว้ว่าต้องขยาย? “ต้องขยายครับ เพื่อจะเป็นช่องทางที่เพิ่มมากขึ้นให้กับเกษตรกรด้วย และผมมองว่าถ้าตรงนี้มันสำเร็จสามารถเป็นแหล่งจุดประกายให้นักศึกษาได้ ผมก็อยากไปที่มหา ’ลัยอื่นเหมือนกัน”
ยั่งยืนจากศักยภาพของตัวเอง
“ผมรู้สึกว่าเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ โลกนี้มีปัญหามากมายก่ายกอง ปัญหาการเมือง ปัญหาความไม่เท่าเทียม ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วตัวเราเองทำอะไรได้บ้าง เราเป็นคนชนชั้นกลางที่เป็นฝั่งที่ได้รับประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมด้วยซ้ำ ที่บ้านซัพพอร์ต ได้รับการศึกษามา เราน่าจะมีศักยภาพที่สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น” อดีตมนุษย์เงินเดือนในภาคธุรกิจเล่าถึงสิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ทำกิจการเพื่อสังคม
“กับประเทศไทย เรื่องการเกษตรแก้ปัญหาได้หลายจุดมาก อย่างทำเกษตรอินทรีย์ แน่นอนสิ่งแวดล้อมดีขึ้น สุขภาพคนดีขึ้น เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนไปได้ ผมเลยมองว่ามันเป็นการแก้ปัญหาได้ในหลายมิติ เลยสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ”
แต่การสร้างเกษตรกรให้พึ่งพาตัวเองได้กับการสร้างผู้บริโภคให้พึ่งพาตัวเองได้เป็นคนละมิติกันอย่างสิ้นเชิง เขาเห็นด้วยว่าการที่ทุกคนจะลุกขึ้นมาปลูกผักกินเองทั้งหมดโดยไม่ซื้อเลยเป็นเรื่องที่ยากเกินไป
“ผมว่าสิ่งสำคัญ ผู้บริโภคควรจะมองว่าสิ่งที่เราพึ่งพาอยู่มันมาจากไหน ผมว่ามันสำคัญกว่าอีกนะ เพราะระบบที่เราอยู่ เราต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่นะ พึ่งพาเกษตรกร พึ่งพาชาวนา และเราควรมาใส่ใจให้มากขึ้นว่าสิ่งที่เราพึ่งพาอยู่มันมีเส้นทางมายังไงบ้าง ข้าวจากบริษัทใหญ่ ข้าวจากเกษตกรรายย่อย ไข่จากบริษัทใหญ่ ไข่จากเกษตรกรรายย่อย มันแตกต่างกันยังไง แต่ละเส้นทางสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน ในทางผู้บริโภค ถ้าเราสนใจมากขึ้น มันก็เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ในระดับหนึ่ง”
เพราะถึงเราจะไม่สามารถพึ่งพาตัวเองครบวงจร แต่เราเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมมันครบวงจรได้ในทางใดทางหนึ่ง
ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง