One man’s trash is another man’s treasure.

นี่คือประโยคที่ดังอยู่ในหัวเรา หลังจากได้ไปเยือน Treasure in the Trash Museum หรือพิพิธภัณฑ์ขุมทรัพย์จากกองขยะ!

Treasure in the Trash Museum ตั้งอยู่ในอาคาร MANEAST 11 ซึ่งเป็นโรงรถขนขยะของหน่วยงานดูแลสุขาภิบาลประจำนิวยอร์กที่มีชื่อว่า Department of Sanitation (DSNY) เดิมอาคารสองชั้นแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นโรงจอดรถขนขยะ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยข้อจำกัดทางโครงสร้างของอาคารที่ชั้นสองไม่สามารถรองรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้ พื้นที่ตรงนี้จึงได้กลายมาเป็นที่จัดแสดงของที่เก็บได้จากขยะ โดยอดีตพนักงานเก็บขยะ (Sanitaion collector) คนหนึ่งที่ชื่อ Nelson Monila

ขุมทรัพย์อะไรในกองขยะ

เนลสันเล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเก็บสิ่งเหล่านี้คือคุณแม่ของเขา

เขามีพี่น้อง 5 คน ตอนเด็กๆ คุณแม่ของเนลสันจะสอนลูกๆ เสมอว่า “ไม่มีสิ่งไหนเป็นขยะ มันจะมีประโยชน์ต่อใครสักคน ในสักวันนึงเสมอ” โดยคุณแม่ของเขาเองก็จะเก็บของทุกอย่างที่ไม่ใช้แล้วใส่ถุงไว้ในห้องนอน ทุกวันศุกร์ที่บ้านจะมีกิจกรรมบิงโกที่ชวนญาติๆ เเละเพื่อนบ้านมาเล่นด้วยกัน หลังจากบิงโกก็จะเป็นเวลาเปิดถุงของแม่ แล้วแบ่งปันของต่างๆ ให้เด็กๆ และเพื่อนบ้านได้เอาไปใช้ ตัวเขาเองก็เอาของเหล่านั้นมาทำเป็นของเล่นเช่นกัน สิ่งนี้จึงปลูกฝังให้เขาเป็นคนชอบเก็บของแต่นั้นมา

เมื่อได้เข้ามาทำงานที่นี่ ทำให้นิสัยส่วนตัวของเขาได้ฉายแสง เนลสันเล่าอย่างภูมิใจว่า เทคนิคในการ ‘เก็บ’ ของเขาคือใช้ความรู้สึก เขาจะสามารถสัมผัสด้วยความรู้สึกได้ว่าจะมีของมีค่าอยู่ในนั้น และสัมผัสได้ในเชิงทักษะที่สะสมจนสามารถประเมินจากขนาดถุง ปริมาณถุง และฟังเสียงว่าของข้างในคืออะไร

เนลสันเริ่มสร้างคอลเลกชั่นนี้ตั้งแต่ยุค 80’s ในตอนนั้น เขาทำงานเก็บขยะในโซนที่เรียกว่า 96th to 106th street East, between 1st and 5th Avenues แต่ด้วยกฎของ DSNY ที่ห้ามให้พนักงานนำของที่เก็บได้มาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว (ขยะทุกชิ้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของ DSNY นับเป็นสมบัติของเมือง) เขาจึงเริ่มจากเก็บสะสมไว้ในล็อกเกอร์ที่ทำงานของตัวเอง แล้วค่อยๆ ขยายมาเป็นมุมตกแต่งเล็กๆ ในห้องล็อกเกอร์ของพนักงาน จนเพื่อนร่วมงานนึกสนุกด้วย เริ่มนำของมาให้เขามากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นของจากทั่วเมืองนิวยอร์ก เมื่อสิ่งนี้ประจวบพอดีกับการเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานอาคารหลังนี้ บริเวณชั้นสองของอาคารจึงกลายมาเป็นพื้นที่จัดแสดงคอลเลกชั่นของเนลสัน ที่สะสมมานานกว่า 37 ปีแล้ว

ของสะสมที่นี่มีมากกว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งเยอะจนเจ้าตัวเองก็ถอดใจที่จะทำแคตตาล็อกไปแล้ว วิธีการของเขาคือเริ่มจากการเก็บของต่างๆ แล้วนำมาจัดกลุ่มง่ายๆ ตามชนิด ประเภท สี ขนาด ซ่อมแซม ต่อเติม และบางส่วนนำมาจัดรวมกันเป็นนิทรรศการเล็กๆ เช่น มุมเบสบอล มุมคริสต์มาส มุมเดอะบีทเทิลส์ ส่วนของที่นี่ก็มีตั้งแต่ ภาพวาด เฟอร์นิเจอร์ จาน ชาม เซรามิก ของเล่น ตุ๊กตา ทามาก็อตจิ เฟอร์บี้ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผ่นเสียง วิดีโอ เกม ถุงมือเบสบอล อุปกรณ์กีฬาเครื่องประดับ เหรียญรางวัล เงินต่างประเทศ ภาพวาดของโยโกะ โอโนะ ไปจนถึง ใบปริญญาโทจาก Harvard Business School!

หากพิพิธภัณฑ์ทั่วไปคือสถานที่ที่ใช้เก็บของที่เจ้าของเห็นว่ามีคุณค่า ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของที่เจ้าของอาจจะเห็นว่าไม่มีคุณค่ากับเขาอีกต่อไป

การเดินดูของในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากความสวยงามที่ไม่แพ้การได้ดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์อื่นๆ แล้ว สิ่งที่พิเศษกว่าที่อื่นคือเรารู้สึกเชื่อมโยงกับของที่จัดแสดง เพราะทั้งหมดคือของที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน เคยมี เคยใช้ เช่น เฟอร์บี้ ทามาก็อตจิ เหมือนได้ย้อนกลับไปวัยเด็ก

สำหรับเรา คุณค่าของคอลเลกชั่นของเนลสันนี้ จึงเหมือนเป็นไทม์ไลน์ของกระแสวัตถุนิยมของเมืองนิวยอร์ก และสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าของสิ่งของ จากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘ของมันต้องมี’ เมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็น ‘ของที่ไม่อยากมี’ กลายเป็นขยะ โดยอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการใช้งานเลย

เรานึกถึงคำพูดของนักประวัติศาสตร์สังคมท่านหนึ่ง

Beyond disposable packaging for shipping, washing, or refilling, our culture’s veneration for newness fills our dumpsters with ‘perfectly good stuff’ that is simply not new anymore, stuff the owner is tired of. – Susan Strasser, Social historian

ประโยคนี้แปลเป็นไทยได้คร่าวๆ ว่า ในถังขยะของเรา นอกจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง ห่อพัสดุ ขวดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือขวดเติม แต่กลับเต็มไปด้วย ‘ของที่ยังใช้ได้ดี’ เพียงเพราะค่านิยมในความใหม่ ทำให้ของเหล่านั้น ถูกทิ้งเป็นขยะที่เจ้าของไม่ต้องการ เพียงแค่เพราะมันไม่ทันสมัยอีกแล้ว

วันนี้ คุณเนลสันในวัยเกษียณ ไม่ได้เก็บของมาเพิ่มในคอลเลกชั่นอีกแล้ว แต่เขายังคงเป็นคนดูแลและจัดการที่แห่งนี้ โดยเปิดให้คนภายนอกเข้าชมแบบจำกัด เฉลี่ยปีละ 3 ครั้ง (แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ) เฉพาะกรุ๊ปทัวร์พิเศษและงาน Open House New York ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทั้งต่อผู้มาเข้าชม เพราะโครงสร้างอาคารค่อนข้างเก่า ไม่สามารถรองรับคนได้มาก และอาจเป็นอันตรายต่อของที่จัดแสดงด้วย

จริงอยู่ที่ Treasure in the Trash Museum ของ Nelson Monila เกิดจากการมองเห็นคุณค่าในสิ่งของจากคนเพียงหนึ่งคน แต่การเติบโตของคอลเลกชั่นนี้ก็ต้องมอบเครดิตให้กับเพื่อนร่วมงานทีม DSNY ที่เห็นคุณค่า มีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนเช่นกัน อนาคตของที่นี่ยังไม่มีทิศทางที่แน่ชัด ด้วยเหตุผลทางการเมืองและงบประมาณ ทีมงานจึงฝากความหวังไว้ที่การรับทุนสนับสนุนจาก private sector ที่จะเห็นคุณค่าของสถานที่แห่งนี้ สมแล้วที่ที่นี่เป็น Treasure in New York City!

ภาพถ่าย: Parppim Pim

ที่มาข้อมูล:
Susan Strasser, Waste and Want: The Other Sides of Consumption
www.ghi-dc.org
www.placematters.net
www.nytimes.com