ในเดือนเมษาร้อนๆ Greenery. ขอพาชมหลายโครงการปรับปรุงคลองสายเก่า สู่พื้นที่เล่นน้ำชิลล์ๆ ใจกลางเมืองร้อนแถบเอเชียของเรากันสักนิด

เมื่อเร็วๆ นี้ ‘คลองโอ่งอ่าง’ กรุงเทพมหานครบ้านเราเพิ่งได้รับรางวัลการปรับปรุงภูมิทัศน์ประจำปี 2020 (2020 Asian Townscape Awards) จากทางยูเอ็น-ฮาบิแทต ฟูกุโอกะ (UN-Habitat Fukuoka) ซึ่งโปรเจ็กต์คลองโอ่งอ่างนี้เป็นหนึ่งใน 12 โครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะจาก 6 ประเทศในทวีปเอเชียที่ได้รับรางวัล

เท้าความให้ฟังกันก่อนว่า คลองโอ่งอ่างเป็นคลองขุดสมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ใช้เชื่อมกับคลองบางลำพูตรงสะพานผ่านฟ้าไปจนถึงเชิงสะพานพระปกเกล้า ก่อนลำน้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สมัยก่อนเป็นแหล่งค้าขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวจีนและชาวมอญ จึงเป็นที่มาของชื่อคลองโอ่งอ่างจนถึงปัจจุบัน จนช่วงปีพ.ศ. 2526 (30 กว่าปีที่แล้ว) ทางกรุงเทพมหานครได้จัดสัมปทานให้พ่อค้าแม่ค้าที่ย้ายจากคลองถมมาเช่าพื้นที่ว่างเหนือคลอง หรือสะพานเหล็กที่เราเรียกกัน คลองโอ่งอ่างจึงถูกสิ่งก่อสร้างปิดคลุมพื้นที่ กลายมาเป็นย่านขายของเล่นกับอุปกรณ์เกมต่างๆ จนปลายปี 2558 ทางกรุงเทพมหานครได้เริ่มโครงการปรับปรุงพื้นที่แนวคลองประวัติศาสตร์นี้ เพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามสำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเมือง และต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ซึ่งเราก็ได้เห็นคลองโอ่งอ่างโฉมใหม่นี้กันแล้วตั้งแต่ช่วงลอยกระทงปี 2020 ที่ผ่านมา ที่ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาใช้อย่างเป็นทางการ โดยจัดให้มีถนนคนเดินในตอนเย็นช่วงสุดสัปดาห์และเทศกาลวันหยุดต่างๆ เคียงไปกับสตรีตอาร์ตบนกำแพงทางเดินเลียบลำคลอง มีร้านค้า ร้านขายอาหารต่างๆ และกิจกรรมทางน้ำเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของทั้งประชาชนในละแวกนี้และผู้มาเยือน ซึ่งตอนนี้ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ตอนเย็นๆ ก็จะมีเรือคายักมาให้ยืมพายเล่นในคลองด้วย หรือผู้ที่ชื่นชอบการพาย SUB Board ก็ได้มีการรวมกลุ่มกันมาพาย SUB ล่องไปตามลำคลองกันบ้างแล้ว ส่วนตอนกลางคืนก็สวยงามไปอีกแบบ ด้วยไฟประดับสว่างตลอดริมคลอง ให้ผู้คนได้มาเดินเล่นและพายเรือออกกำลังยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัย

กว่าจะมาเป็นพื้นที่เดินเล่นชิลล์ๆ ริมคลอง เมืองต่างๆ ในหลายๆ แห่ง รวมถึงกรุงเทพมหานคร เขาต้องมีแนวคิดและยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานปรับปรุงพื้นที่ลำน้ำกลางเมืองนั้น นอกเหนือไปจากความสวยงามด้านบนริมคลองแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือการบำบัดน้ำให้สะอาดและปลอดภัยพอ แบบที่ให้ผู้คนสามารถก้าวขาลงไปแตะน้ำเล่นได้ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของคนเมืองกับสายน้ำ แบบทั้งเชื่อมโยงทางกายภาพและความรู้สึกผ่อนคลาย เพราะแน่นอนว่าใครๆ ก็ชอบเล่นน้ำอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ หรือผู้ใหญ่

การที่ระบบนิเวศในน้ำและบนบกได้รับการดูแลให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ก็จะทำให้การปรับปรุงภูมิทัศน์นั้นมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นต่อสังคมและธรรมชาติรอบด้าน

อย่างคลองระบายน้ำเดิมย่าน ‘บิชาน-อัง มอ เคียว ปาร์ค’ (Bishan-Ang Mo Kio Park) ประเทศสิงคโปร์ ที่เดิมเป็นคลองปูด้วยซีเมนต์ ใช้เป็นคลองเพื่อการระบายน้ำอย่างเดียว และมีพื้นที่สีเขียวที่รกจนไม่สามารถใช้การได้ กั้นไว้ระหว่างย่านที่อยู่อาศัยด้านบนและลำคลอง หลังจากได้ผ่านการบำบัดน้ำจนสะอาด ปรับเปลี่ยนให้มีพื้นที่หญ้ากับต้นไม้เตี้ยๆ และโขดหินต่างๆ ไล่ระดับลงไป เพื่อให้ผู้คนละแวกนี้สามารถเดินลงไปถึงลำน้ำได้ คลองซีเมนต์แข็งๆ จึงได้เปลี่ยนจากลำคลองทื่อๆ เป็นลำธาร ต่อยอดเป็นพื้นที่สันทนาการเพื่อการพักผ่อนและการเรียนรู้ของเด็กๆ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ของคนรุ่นนี้กับสายน้ำได้อย่างกลมกลืน

โดยสิงคโปร์มีแนวคิดที่เรียกว่า ABC Waters ซึ่งย่อมาจาก Active, Beautiful และ Clean Waters ที่ใช้เป็นกรอบการพัฒนาแหล่งน้ำของทั้งประเทศ และในการปรับปรุงจะคำนึงถึงกลยุทธ์ 3Rs ดังนี้

1. Restore (ปรับปรุงคุณภาพน้ำ) บำบัดน้ำที่มีสารพิษตกค้าง หรือมีมลพิษ ขยะต่างๆ ให้สะอาด เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้คนและระบบนิเวศโดยรอบ

2. Redevelop (ปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำ) ปรับปรุงโครงสร้างแนวตลิ่งเพื่อป้องกันน้ำท่วม มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเข้าถึงริมน้ำ เช่น ทางเดินเท้า ทางจักรยาน สถานีรถประจำทาง สถานีรถไฟ ห้องน้ำสาธารณะ จัดสรรพื้นที่สันทนาการต่างๆ และพื้นที่เพื่อการสร้างงานสร้างรายได้ รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตและการพักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่

3. Reinterpret (ให้ความหมายและคุณค่าใหม่ของแหล่งน้ำ) สร้างการรับรู้ใหม่ให้ผู้คนได้เข้าใจ ชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงพื้นที่ลำน้ำนี้ใหม่ ดำเนินการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่อไป และให้ประชาชนเข้ามาร่วมกันดูแลเพื่อประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม สร้างวิถีชีวิตใหม่ที่ทุกคนจะมาช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ เริ่มจากการประหยัดน้ำในครัวเรือน จนถึงการไม่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง หรือการเผลอทิ้งขยะลงในลำคลอง หรือการทิ้งขยะไม่ลงถัง

หรือที่ ‘คลองชองกเยชอน’ (Cheonggyecheon) อันมีชื่อเสียงในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่เริ่มการพัฒนาคลองนี้มานานเกือบยี่สิบปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2002 ที่ทางกรุงโซลได้เสนอโครงการฟื้นฟูคลองชองกเยชอน และจากการประชุมเจราจาหาจุดร่วมกันกับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างประชาชนในพื้นที่ถึง 2,000 ครั้ง จึงได้ข้อยุติร่วมกันและเริ่มดำเนินการในปี 2003 โดยรื้อทางด่วนที่ถมทับคลองออก ปรับภูมิทัศน์ ฟื้นฟูธรรมชาติสองฝั่งคลอง ทำแนวตลิ่งใหม่ และใช้วิธีขุดท่อผันน้ำจากแม่น้ำฮานเข้ามาในคลองเพื่อดันน้ำเสียออก สร้างลานสันทนาการ มีน้ำพุสลับกันไป มีเขื่อนชะลอความเร็วน้ำและน้ำตกเป็นแนวกั้นน้ำกระเด็น จนตอนนี้คลองชองกเยชอนเป็นทั้งคลองบำบัดน้ำเสีย และเป็นลำน้ำใสสะอาดให้คนลงมาเดินเล่นได้ เพิ่มแหล่งพักผ่อนหย่อนใจกลางเมือง

เมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จในปี 2005 คลองชองกเยชอนก็ได้เป็นแหล่งแฮงค์เอาต์ยอดฮิตประจำเมือง แถมยังทำให้ทั้งย่านได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีพิพิธภัณฑ์เล่าถึงประวัติของคลอง มีที่อยู่อาศัยและตึกสำนักงาน ร้านค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นมารองรับผู้คนด้วย ถึงแม้เกาหลีจะไม่ใช่ภูมิประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเรา ก็ยังมีวันอากาศดีที่ผู้คนจะมานั่งเล่นเอาเท้าจุ่มน้ำพักผ่อนกัน การพัฒนาคลองชองกเยชอนจึงเป็นการคืนชีวิตใหม่ให้ทั้งกับลำคลองและกรุงโซลเลยทีเดียว

ซึ่งคลองสายนี้ของประเทศเกาหลีใต้ก็ได้มาเป็นโมเดลให้การพัฒนาคลองของหลายๆ ประเทศ เช่น เกาะและคลองญวนของจังหวัดนครสวรรค์บ้านเรา ที่ทางจังหวัดได้ทำการพัฒนาคลองและพื้นที่สาธารณะ โดยเริ่มจากปรับปรุงเกาะญวนที่เคยทิ้งร้างไว้ แล้วทำทางคมนาคมให้สองฝากเกาะกับถนนเชื่อมถึงกัน ทำการบำบัดน้ำหลายขั้นตอน จนน้ำที่เคยสกปรกกลับมาใสตามธรรมชาติ และสามารถเลี้ยงปลาคาร์พได้

ด้วยการบำบัดน้ำหมุนเวียนนี้ ทำให้จังหวัดนครสวรรค์สามารถผลิตน้ำประปาสะอาดใช้เอง และมีค่าน้ำประปาราคาถูกที่สุดในประเทศไทย

คนในพื้นที่ก็ได้เข้ามาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่พักผ่อนของครอบครัว และเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการดูแลน้ำในภาพใหญ่ โดย ‘คลองญวนชวนรักษ์’ นี้ก็ได้รับรางวัลระดับอาเซียนสาขาการปรับปรุงแหล่งน้ำและการเป็นเมืองยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2014 (3rd ASEAN Environmentally Sustainable Cities Awards 2014, Clean Water)

เรายังมีลำคลองที่ไหลผ่านกลางเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่รอคอยการกลับมามองเห็นและใส่ใจของผู้คน ซึ่งการปรับปรุงคลองสายเก่าให้กลายมาเป็นสายน้ำที่คนเมืองสามารถเข้าถึงและรู้สึกผูกพันเชื่อมโยงได้ ต้องใช้เวลาและกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงความสำเร็จในระยะยาว ที่มากไปกว่าการปรับปรุงทางกายภาพอย่างเดียว ทั้งยังเกี่ยวเนื่องไปถึงการสร้างความหมายและวิถีใหม่ให้คนเมืองกับสายน้ำด้วย คลองจะไม่ใช่จุดที่จะถูกละเลยอีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่ที่ชุ่มฉ่ำจิตใจของทุกๆ คนในการเข้ามาพักผ่อน ทำกิจกรรมยามว่าง เดินดูวิถีชีวิต ศึกษาธรรมชาติตามแนวลำคลอง และเรียนรู้ที่จะช่วยกันอนุรักษ์ดูแลแหล่งน้ำของเมืองให้สะอาดยิ่งขึ้น การปรับปรุงทั้งคุณภาพน้ำและทัศนียภาพโดยรอบ จึงจะเป็นไปเพื่อทำให้คุณภาพความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น มีความสุขและมีคอนเน็กชั่นกับสายน้ำในรูปแบบของคนเมืองสมัยใหม่อีกครั้ง

ที่มาข้อมูล
www.fukuoka.unhabitat.org
www.readthecloud.co
www.livebettermagazine.com
www.citycracker.co
www.publicpostonline.net
www.nsm.go.th

เครดิตภาพ: ภูษนิศา กมลนรเทพ, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครสวรรค์, 123rf