​“F*ck all the serious coffee method”​
คือนิยามของการชงกาแฟในรูปแบบต่อไปนี้ที่เรากำลังจะเล่าให้ฟัง

​การชงกาแฟชนิดพิเศษ (Specialty Coffee) หรือเมล็ดกาแฟที่ผ่านการผลิตและควบคุมอย่างมีมาตรฐาน มีกลิ่นและรสซับซ้อนกว่าแค่ความขมปร่าที่ทำให้ตาสว่างนั้นแบ่งออกเป็นหลายแบบ ไม่ว่าจะชงด้วยเครื่องเอสเพรสโซ่ หรือการชงด้วยมือ (Hand Brew) อย่างวิธี Drip, Pour Over และ Chemex ซึ่งว่ากันตามจริง การชงกาแฟแบบสายแข็งข้างต้นก็คล้ายกำแพงบางๆ กางกั้นมือใหม่ผู้อยากลิ้มลองรสชาติกาแฟแบบใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย

​ด้วยกรรมวิธีละเอียดยิบนับตั้งแต่คัดเลือกเมล็ดกาแฟ ปริมาณเมล็ดกาแฟที่ใช้ การคั่ว การบด อุณหภูมิของน้ำที่ชง ฯลฯ นั้นซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ารสชาติของกาแฟที่ได้ ไหนจะอุปกรณ์มากมายที่บางครั้งก็สร้างความหนักใจหากอยากโยกย้ายไปชงกาแฟกินกันนอกสถานที่

แล้วทำไมไม่ทำให้มันง่าย?

​คือคำถามตั้งต้นที่ทำให้ Alan Adler นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเจ้าของผลงานจานร่อน Aerobie Pro flying ring set ซึ่งทำลายสถิติวัตถุโยนไกลที่สุดในโลกไปเมื่อหลายปีก่อน คิดค้นอุปกรณ์ชงกาแฟที่ชื่อ Aeropress ขึ้นมา ความพิเศษของอุปกรณ์ชงกาแฟชนิดนี้อยู่ตรงมันเข้ามาแก้ปัญหาหยุมหยิมทุกอย่างที่คอกาแฟเคยบ่น ด้วยรูปทรงกระบอกขนาดพกพาสะดวก ถอดล้างง่าย ประกอบไม่ลำบาก แถมยังให้ผลลัพธ์เป็นรสชาติกาแฟมีเอกลักษณ์น่าสนใจ ยิ่งกว่านั้นมันยังนับเป็น ‘ของเล่น’ ของนักชงกาแฟสายสนุก เพราะสามารถพลิกแพลงการชงได้นานารูปแบบ จนเกิดการแข่งขันขึ้นในหลายประเทศว่านักชงคนไหนจะชงกาแฟออกมาได้รสชาติสุดสนุกกว่ากัน

​แต่ก่อนจะลงรายละเอียดถึงความสนุกของรสกาแฟ เราคงต้องเกริ่นถึงกระบวนการชงกาแฟด้วย Aeropress ให้ฟังก่อน โดยเจ้าเครื่องนี้ใช้หลักการทำงานของ ‘แรงดัน’ เพื่อคั้นน้ำกาแฟจากผงกาแฟคั่วบด เริ่มจากใส่ผงกาแฟลงในกระบอก เติมน้ำร้อน รอเวลา เสียบด้ามกดลงในกระบอกแล้วออกแรงกดให้น้ำกาแฟรอดผ่านแผ่นฟิลเตอร์ลงในถ้วยกาแฟที่รอรับอยู่ด้านล่าง กระบวนการทั้งหมดสิริรวมเวลาไม่เกิน 5 นาทีสำหรับการได้กาแฟดีๆ ดื่มหนึ่งแก้ว แถมพอชงเสร็จสามารถถอดชิ้นส่วนกระบอกพลาสติกล้างน้ำได้ทันที ส่วนแผ่นฟิลเตอร์นั้นย่อยสลายตามธรรมชาติ จึงสามารถโดนลงโคนต้นไม้ได้เลย และด้วยความง่ายระดับนี้เอง Aeropress จึงกลายเป็นขวัญใจของนักเดินทางผู้หลงรักในรสชาติกาแฟไปแล้วเรียบร้อย

ความสนุกของ Aeropress อยู่ตรงไหน?

​เรื่องนี้คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าหนึ่งในเจ้าของร้านกาแฟ School Coffee และหนึ่งในผู้จัดการแข่งขัน Thailand Aeropress Championship 2016 รวมถึงครั้งล่าสุดที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดเชียงใหม่ อย่าง บิ๊ก-บริรักษ์ อภิขันติกุล ​

ความสนุกของ Aeropress คือความไม่ซีเรียสของมัน เพราะไอเดียตั้งต้นของเครื่องนี้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากในการชงกาแฟอยู่แล้ว คนเลยกล้าที่จะพลิกแพลง ดัดแปลง หรือคิดค้นเทคนิควิธีชงใหม่ๆ ให้หลุดจากกรอบการชงกาแฟแบบ Hand Brew กันมากกว่าการชงแบบอื่นๆ

​ความไม่ซีเรียสที่ว่าสะท้อนชัดเจนผ่านการแข่งขัน Aeropress ที่มีสีสันไม่ต่างจากงานปาร์ตี้ยามค่ำคืน มีแสงสี มีแอลกอฮอล์ มีดนตรี และมีกาแฟ! โดยผู้เข้าแข่งขันทุกคนสามารถออกแบบการชงของตัวเองได้อย่างอิสระ จะบดเมล็ดกาแฟละเอียดแค่ไหน จะแช่ผงกาแฟในน้ำร้อนนานเท่าไหร่ จะคนให้เข้ากันก่อนหรือไม่ จะใช้กระดาษกรองรองกี่ชั้น หรือจะใช้น้ำแบบไหนในการชงก็ตามใจชอบ เพราะผลแพ้ชนะขึ้นอยู่กับ ‘ความพอใจ’ ของกรรมการล้วนๆ ไม่มีมาตรวัดเป็นตัวเลขหรือสเกลสุดเป๊ะเหมือนการแข่งขันชงกาแฟแบบอื่นแต่อย่างใด

​แต่ความง่ายและสนุก กลับให้ผลลัพธ์ศิวิไลซ์ไม่แพ้วิธีการชงแบบสายแข็ง เพราะจุดเด่นของน้ำกาแฟที่ได้จากเครื่อง Aeropress คืออโรม่าของกาแฟที่กรุ่นกว่าการชงแบบอื่น ทั้งการแช่ผงกาแฟคั่วบดในน้ำร้อนไว้ภายในกระบอกแบบปิด ยังไม่รวมความชัดเจนของ Body กาแฟที่สามารถออกแบบได้หลากหลายตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ชง

​“พอมีกระแส Aeropress เกิดขึ้นในบ้านเรา ข้อดีอย่างหนึ่งคือมันทำให้คนกินกาแฟมีทางเลือก ยิ่งพอการชงกาแฟไม่ใช่เรื่องยาก คนวงนอกก็อาจเข้ามาเรียนรู้เรื่องกาแฟกันมากกว่าเดิม”

บิ๊กทิ้งท้ายไว้แบบนั้น พร้อมเล่าความฝันในฐานะหนึ่งคนที่ร่วมพัฒนาวงการกาแฟไทยให้เราฟังว่า นอกจากการพัฒนาเรื่องคุณภาพของกาแฟ การนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคก็จำเป็นต่อการขยับขยายตลาดและการก่อร่างสร้างฝันในงานพัฒนาของพวกเขาไม่แพ้กัน

เครดิตภาพถ่าย: สมาคมกาแฟชนิดพิเศษแห่งประเทศไทย (SCATH), Jason Henry