สมัยเป็นวัยรุ่นจำได้ว่าไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่อยู่ติดกับแม่น้ำชีช่วงปิดเทอมฤดูร้อน นอกจากเล่นน้ำแล้ว อีกกิจกรรมที่พวกเราทำกันก็คือ ลงไปงมหอยแม่น้ำที่ซ่อนตัวตามดินริมตลิ่งเพื่อใช้ปรุงอาหารอร่อยๆ กินกัน โดยเฉพาะหอยขวานที่นำมาผัดใส่เต้าเจี้ยวและใบโหระพาแล้วอร่อยถูกใจเหลือหลาย 

ปีนี้ฝนต้นปีตกบ่อย น้ำในลำน้ำชีไม่ลดระดับ หอยขวานเลยหายากและไม่ค่อยมีไปขายที่ตลาดเหมือนปีก่อนๆแต่ก็นั่นแหละ เมื่อความอยากกินหอยเข้าครอบงำ ฉันจึงตัดสินใจจะลงแม่น้ำชีงมหอยเองซะเลย แต่งานนี้ก็ต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญให้พาไปงม โชคดีที่ฉันได้รู้จักกับคุณยายมี เซียนหาหอยแม่น้ำชีวัย 65 ปี แห่งหมู่บ้านชีกกค้อ ผู้พาฉันพายเรือลัดเลาะตามลำน้ำไปงมหอย

พอถึงจุดที่เจ้าหอยขวานชุกชุม เราก็ต้องกระโดดลงจากเรือ แล้วค่อยๆ เอามือควานตามดินใกล้ตลิ่งที่หอยขวานฝังตัวอยู่ เจ้าหอยขวานมันจะอยู่กระจายไป บางทีก็อยู่เป็นกระจุก 5-6 ตัว บางทีก็อยู่เดี่ยวๆ ยายมีบอกว่าถ้าน้ำลดลงมากกว่านี้ จะได้หอยที่ตัวใหญ่ขึ้น เพราะพวกหอยตัวใหญ่จะอยู่น้ำลึก วันนี้ฉันก็เลยได้หอยขวานตัวเล็กๆ เท่าปลายก้อย แต่คุณยายมีการันตีว่า ถึงจะเป็นหอยตัวน้อย แต่เนื้อในอวบดีแน่นอน

หอยนี้มีหลายชื่อ

ฉันจั่วหัวเรียกมันว่าหอยขวานก็จริง แต่จากประสบการณ์ตรง ฉันรู้จักชื่อมันครั้งแรกจากพ่อว่าหอยเล็บม้าพอโตขึ้น บางคนก็เรียกหอยทราย’ (ค้นเจอข้อมูลว่า คนริมโขงและแถบทะเลสาบสงขลา ก็เรียกว่า หอยทราย เหมือนกัน) ส่วนจังหวัดอุทัยธานี เขาเรียกว่าหอยเฮ้ยทว่ายายมีที่พาไปหาหอย เรียกหอยแครงเพื่อนฉันบางคนเรียกหอยกีบกี้

สุดท้ายฉันได้พบข้อมูลในบัญชีทรัพยากรธรรมชาติมอลลัสก้าในประเทศไทย หอยสองฝาน้ำจืดจึงได้ทราบว่า ชื่อกลางของเจ้าหอยชนิดนี้ เรียกว่าหอยขวานซึ่งมีหลายชนิด (แต่หน้าตาแทบจะเหมือนกันทั้งหมด แตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ ถ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูหอยก็คงแยกไม่ถูกหรอก) พบได้ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ตั้งแต่ไทย อินเดีย กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งในไทยพบได้ตามแหล่งแม่น้ำจืดแทบทุกภาคเลย ที่สำคัญไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ในตำราดังกล่าวระบุการนำไปใช้ประโยชน์ของหอยชนิดนี้เหมือนกันก็คือนำไปใช้เป็นอาหาร

หอยขวานบ้านเรา คนญี่ปุ่นเขาเรียกหอยชิมิจิใช้กินบำรุงตับ

เจ้าหอยขวานที่ว่านี้ คนญี่ปุ่นเขาก็มีกินเช่นกัน เรียกชื่อว่าหอยชิจิมิคนอาทิตย์อุทัยเขาว่ากันว่าเป็นหอยน้ำจืดและน้ำกร่อย มีสรรพคุณดีในการช่วยบำรุงตับ นิยมทำเป็นซุปมิโสะ หรือจะผัดใส่เส้นพาสต้าก็ได้ เรื่องนี้ไม่ได้พูดเองนะ แต่สามีของเพื่อนซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อคุณ Tsuyoshi Shida เป็นคนให้ข้อมูลมา

อีกท่านที่กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าหอยชนิดนี้ คือพี่หวานคุณสุยาดา ด่านสุวรรณ์ เจ้าของหนังสืออาหารญี่ปุ่นรสมือแม่พี่หวานบอกว่า

หอยชนิดนี้เป็นอาหารของชาวบ้านญี่ปุ่น มีราคาไม่แพง นิยมนำมาทำซุปมิโสะ กินกันในช่วงฤดูหนาว

ส่วนชาวจีนที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น จะนำไปผัดกับผักเขียว จำพวกผักกวางตุ้ง ผักปวยเล้ง

ทำอย่างไรให้หอยขวานคายดิน

พอแล้งจัดๆ ที่ตลาดสดแถบอีสานจะมีเจ้าหอยขวานนี้ออกมาวางขายกันให้เห็นจนชินตา แต่ต้องเตือนก่อนว่าเวลาซื้อหอยขวานมาอย่าเพิ่งใจร้อนนำไปปรุงอาหารเลยเด็ดขาด เพราะหอยชนิดนี้มีดินอยู่ในตัวเยอะมาก

คุณยายมีที่พาฉันไปงมหอย ท่านสอนวิธีทำให้หอยขวานคายดินออกมา โดยให้นำหอยขวานแช่น้ำไว้ข้ามคืน แล้วจึงล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร ฉันลองทำตาม และพบว่าหอยคายดินออกไปเยอะ แต่ยังมีหลงเหลืออยู่นิดๆ

ถ้าจะให้ดินหมด ต้องแช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมงเลย ก็คือ 1วัน โดยในระหว่างวันต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำทุกๆ 4 ชั่วโมง เพื่อล้างดินที่หอยคายออกมาออกเสีย หอยจะได้ไม่กินดินกลับเข้าไป แต่ก็อย่าแช่นานเกินสองวันเพราะเดี๋ยวหอยจะตายเสียก่อน

หรือถ้าจะทำวิธีลัดก็คือ แช่น้ำให้หอยคายดินสักคืนหนึ่ง จากนั้นล้างหอยให้สะอาด แล้วนำไปลวกแค่พอเปิดฝา ก่อนจะนำหอยที่เปิดฝาแล้วมาล้างน้ำอีกที วิธีนี้ทรายในหอยอาจถูกกำจัดได้เร็ว แต่มีข้อเสียก็คือกำจัดได้ไม่ไม่หมดจดนัก และรสชาติความหวานจากน้ำหอย จะละลายหายไปกับน้ำที่ลวกด้วยนั่นเอง เอาเป็นว่าจะเลือกวิธีไหนก็เอาตามที่คุณสะดวก

มาทำพาสต้าผัดหอยขวานใส่เต้าเจี้ยวและใบโหระพากันเถอะ

เมนูหอยขวานที่ฉันชอบที่สุด ก็คือผัดเต้าเจี้ยวใส่ใบโหระพา แต่ครั้งนี้จะขอทวิสต์กับอาหารอิตาลี ด้วยการใส่เส้นพาสต้าต้มสุกลงผัดด้วย และเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ผัดเป็นน้ำมันมะกอกเพื่อให้กลิ่นหอม พอตักใส่จานก็โรยพาร์มีซานชีสขูดละเอียดหอมๆ สักหน่อย ได้พาสต้า all Vongole  แบบผสมผสานรสไทยๆ ลงไป รับรองว่าแซ่บถูกใจแน่นอน

ผัดพาสต้าหอยขวานใส่เต้าเจี้ยวและใบโหระพา

ส่วนผสม

หอยขวานแช่น้ำให้คายดินแล้ว 100 กรัม

เส้นพาสต้าทำจากข้าวกล้องอินทรีย์ 100 กรัม

เต้าเจี้ยวอย่างดี หรือมิโสะโฮมเดม 2 ช้อนโต๊ะ

พริกกะเหรี่ยงสดสีแดง 7 เม็ด

กระเทียมไทยอินทรีย์ 1 หัว

น้ำสต็อกผัก 2 ช้อนโต๊ะ

ใบโหระพาไทยล้างสะอาด 1 ถ้วยตวง

เกลือบ่อกฐินสำหรับต้มเส้น 1 ช้อนชา

เกลือบ่อกฐินสำหรับปรุงรส 1 หยิบมือ (ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบ)

พริกไทยดำอินทรีย์ป่นหยาบ ½ -1 ช้อนชา

พาร์มีซานชีสขูดละเอียด 1-2 ช้อนชา

น้ำมันมะกอกชนิดเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น สำหรับคลุกเส้นหลังต้ม 1 ช้อนโต๊ะ

น้ำมันมะกอกธรรมดา สำหรับใช้ผัด 3 ช้อนโต๊ะ

น้ำสะอาดสำหรับต้มเส้นพาสต้า 4 ถ้วยตวง

น้ำเย็น สำหรับลดอุณหภูมิเส้นพาสต้า 3 ถ้วยตวง

ช่อใบโหระพาสำหรับตกแต่ง

วิธีทำ

1. ต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือลงไป ใส่เส้นพาสต้าข้าวนาน 7 นาที ตักขึ้นแช่น้ำเย็น แล้วสะเด็ดน้ำ ก่อนคลุกน้ำมันมะกอกชนิดเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น เพื่อป้องกันเส้นติดกันเตรียมไว้

2. ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันมะกอก โขลกพริกและกระเทียมรวมกัน ตักใส่ลงกระทะผัดให้หอม ใส่หอยขวานที่ล้างสะอาดแล้วลงผัดพร้อมกับใส่เต้าเจี้ยว เร่งไฟแรงขึ้น ใส่น้ำสต็อกผัก ผัดหอยจนสุก (หอยเปิดฝาทั้งหมด) จึงใส่เส้นพาสต้าที่พักไว้ ปรุงรสด้วยเกลือ ใส่ใบโหระพา ผัดพอผักสลด ปิดไฟ ตักใส่จาน โรยพาร์มีซานชีส และตกแต่งด้วยช่อใบโหระพาให้สวยงาม

เท่านั้นก็พร้อมเสิร์ฟแล้วครับ 🙂

ขอบคุณ
คุณยายมี แห่งบ้านชีกกค้อ ที่พาไปงมหอย และเอื้อเฟื้อความรู้เรื่องการจัดการให้หอยขวานคายดิน
คุณสุยาดา ด่านสุวรรณ์ เอื้อเฟื้อข้อมูลการปรุงหอยขวานแบบญี่ปุ่น
คุณ Tsuyoshi Shida เอื้อเฟื้อข้อมูลเรื่องการปรุงหอยขวานแบบญี่ปุ่น และข้อมูลเชิงสุขภาพของหอยขวาน

เอกสารอ้างอิง
ข้อมูลเรื่องชื่อหอยขวาน จากบัญชีทรัพยากรธรรมชาติมอลลัสก้าในประเทศไทย หอยสองฝาน้ำจืด  สพภ.BEDO สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน)

ภาพถ่าย: สิทธิโชค ศรีโช