ถ้าจะขอฟังเรื่องราวที่ช่วยเปิดโลกทางความคิด เรื่องชุมชนอาหารปลอดภัยกับใครสักคนหนึ่ง คนคนแรกที่จะผุดขึ้นในความคิดเราจะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากพี่ห่วน-วัลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด แห่งเครือข่ายนวัตกรรมสากล ที่ขับเคลื่อนเรื่องอาหารปลอดภัยโดยเฉพาะ

พี่ห่วนคือสุภาพสตรีวัยกำลังงาม ที่หัวใจและร่างกายยังกระฉับกระเฉงนักเมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน หลายปีที่ผ่านมานี้ เธอเดินทางขึ้นเหนือ ลงใต้ ไปอีสาน เรียกว่าขอไปทุกๆ ที่ที่มีเรื่องราวของอาหารปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่จริงเหล่านั้น มาแปลงเป็นนวัตกรรมในการขยับขยายชุมชนอาหารปลอดภัย ให้เติบใหญ่และเข้าถึงง่าย ที่ต้องมีการประสานมือประสานใจกัน ทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีปลายทางอยู่ในเรื่องเดียว คือการได้บริโภคอาหารที่ดี เพื่อพื้นฐานของสุขภาพที่ดี ซึ่งการที่มีสุขภาพที่ดีเป็นรากเป็นฐานก่อนนั้น จะทำให้เราไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายไปกับการซ่อมสุขภาพในภายหลัง ที่ต่อให้ซ่อมแล้ว ก็ยังยากนักที่เราจะได้ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์กลับมาเต็มร้อย หรือพูดให้ง่ายขึ้นอีกก็คือ ไม่มีอะไรที่ผ่านการซ่อมแซมแล้วจะดีได้เหมือนเดิมทั้งหมด

และการทำงานของพี่ห่วนนี้เอง ที่ได้ต่อภาพให้เราได้เห็นนวัตกรรมทางความคิด ที่ผู้คนเปลี่ยนมายด์เซ็ต และตั้งต้นใหม่กับการเป็นพลังที่มีคุณภาพของเมือง ด้วยเรื่องราวของอาหารการกิน กับแนวคิดที่ฟังเข้าใจง่ายว่า

Food Citizen สร้าง Food Community และ Food Community เอง ก็สร้าง Food Citizen

คือต่างก็เกื้อกูลและส่งเสริมกันอย่างสอดรับจนสังคมของอาหารปลอดภัยเข้มแข็งขึ้น และกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคทั้งในเมืองและชนบท

ในหนังสือ ‘การเมืองแห่งชีวิตประจำวัน’ ของ ศ.ดร.เอซิโอ มานซินี่ ซึ่งแปลมาจาก ‘Politics of the Everyday’ โดยอนุสรณ์ ติปยานนท์ ได้ชี้ภาพรวมของสังคมในวันนี้และอนาคตเอาไว้ว่า พลังของผู้คนที่รวมกันให้เกิดมวล จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งจากทุกการเลือกและทุกการกระทำในทุกวันของชีวิต

การที่พี่ห่วนยกเอาหนังสือเล่มนี้มาเล่าให้ฟังนั้นน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่หนังสือเล่มนี้กำลังพูดถึงนี้ สะท้อนภาพความเป็นจริงของการเป็นพลเมืองอาหาร หนึ่งคนในฐานะปัจเจกก็มีพลังที่จะเปลี่ยนระบบอาหารได้จากการใส่ใจคุณภาพของอาหารที่เขากิน การที่ใครคนหนึ่งรู้ว่าผักเคมีไม่ดีต่อตัวทั้งตัวเขาเองและไม่ดีต่อโลก และตื่นรู้ในการเปลี่ยนวิถีชีวิต มันเข้าไปเปลี่ยนทั้งตัวเขา และเปลี่ยนโลกได้เหมือนกัน เมื่อพลังจากคนหนึ่งคน พวกกับอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่ง ไปจนเป็นหลายๆ คน จนเป็นชุมชนขึ้นมา


ตัวอย่างของเหตุการณ์จริงที่พี่ห่วนยกมาประกอบแนวคิดนี้ คือเรื่องราวของคุณตุ๊ก แห่งไลอ้อน คอร์ปอเรชั่น ที่สร้างพลเมืองอาหารขึ้นในชุมชนสำนักงาน ซึ่งมีอาคารสำนักงานอยู่ใกล้ๆ กัน โดยแต่ละอาคารก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของคนกินอาหารปลอดภัยขึ้นมา จากการชักชวนกันทำกิจกรรม 21 วันเปลี่ยนชีวิต ตามทฤษฎี ‘21 Day Habit Theory’ ของดร.แม็กซ์เวลล์ มอลตซ์ ที่บอกว่า ถ้าอยากให้พฤติกรรมบางอย่างฝังอยู่ในตัวเราจนเป็นนิสัย เราจะต้องทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง 21 วัน

ทฤษฎี 21 วันนี้ ได้ถูกนำไปใช้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงพฤติกรรมการกินของ Food Actor กลุ่มนี้ด้วย

ในจำนวนนี้มีคนคนหนึ่งที่ร่างกายได้รับผลกระทบจากการกินอาหารที่ไม่ดี และแสดงออกมาด้วยอาการเสียงหาย เมื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ก็พบว่าเสียงเขากลับมาได้ แต่เจ้าตัวก็ยังไม่แน่ใจว่าที่กลับมาดีนั้นเป็นเพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินหรือเปล่า จึงลองกลับไปกินอาหารแบบเดิมอีก แล้วเสียงก็หายอีก จึงค่อนข้างแน่ใจว่าการกินมีผลกับสุขภาพ และเปลี่ยนมาเป็นการกินแบบ 2:1:1 คือผัก 2 ส่วน เนื้อ 1 ส่วน และข้าว 1 ส่วน หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นมาเป็นโต้โผใหญ่ รวบรวมคนซื้อผักผลไม้ปลอดภัยในตึกนั้น แล้วให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักปลอดสารนำมาส่ง จนเกิดเป็นชุมชนอาหารในสำนักงานขึ้นมา

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่พี่ห่วนยกมาเล่าให้ฟังก็น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่องของชุมชนอาหารปลอดภัยในอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่เริ่มจากโรงเรียน ซึ่งการรวมตัวนี้เกิดขึ้นจากการที่มีการตรวจเลือดและปัสสาวะของเด็กในโรงเรียน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดอยู่มาถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขที่น่าตกใจนี้เองก็ทำให้เกิดครัวสีเขียวในโรงเรียนขึ้น ด้วยการรวมตัวกันของชุมชน

กระบวนการที่ว่านี้คือ การสร้างความร่วมมือเพื่อการเกิดพื้นที่อาหารปลอดภัย โดยเมนูอาหารกลางวันของเด็กในโรงเรียน ที่ผ่านโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อคำนวณโภชนาการ จะถูกส่งต่อไปยังผู้เกษตรกรที่ปลูกผักอินทรีย์สำหรับวางแผนการปลูก และผักเหล่านั้นจะถูกส่งเข้ามายังโรงเรียนเพื่อประกอบเมนูอาหารกลางวัน เมื่อโมเดลนี้ถูกนำไปใช้ในหลายๆ โรงเรียนของอำเภอจอมพระ กลุ่มเกษตรกรก็เพิ่มจำนวนขึ้นเพื่อผลิตผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงเรียน ส่วนที่เกินความต้องการก็ถูกจำหน่ายต่อให้กับคนในชุมชน ทำให้ชุมชนได้มีผักปลอดสารบริโภคไปด้วย และเกิดวิสาหกิจชุมชนของเกษตรกรที่ลงขันร่วมกัน

พี่ห่วนให้ข้อสังเกตว่า ชุมชนอาหารสะท้อนถึงคุณภาพความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ที่อยากจะเห็นดวงใจของพวกเขาคือเด็กๆ ได้มีอาหารที่ดี จึงเกิดการรวมตัวของชุมชนขึ้นมา ความรู้ชุดใหม่จากโปรแกรม Thai School Lunch ไปจนถึงทักษะการทำวิสาหกิจชุมชน ได้เข้าไปผสมกับต้นทุนความรู้เดิมของชุมชน รวมกันเป็นสิ่งใหม่ที่เสริมแรงให้ชุมชนแบบเดิมที่กำลังไร้พลัง กลับมีพลังขึ้น ซึ่งเมื่อชุมชนอาหารนี้ ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นได้ การกลับไปเป็นเกษตรกรอินทรีย์ก็อาจเป็นหนึ่งทางออกของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้มีลู่ทางในบ้านเกิด ซึ่งความรู้จากคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ก็จะเข้าไปช่วยหนุนภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้เกิดพลังของชุมชนแบบใหม่ขึ้นมา และเกิดการบูรณาการทางสุขภาพขึ้นได้

และหากวันใดวันหนึ่ง เกษตรกรในอำเภอจอมพระ เกิดมาเชื่อมโยงกับพลเมืองอาหารอย่างคุณตุ๊กขึ้นมา ก็จะเกิดความสัมพันธ์ในห่วงโซ่อาหารที่เกื้อกูลกันและกัน ในรูปแบบที่เมืองกับชนบทดูแลกัน คนเมืองที่ผลิตอาหารเองไม่ได้ ก็ดูแลความเป็นธรรมเรื่องราคาให้เกษตรกรในชนบท เกษตรกรในชนบทก็มีรายได้จากคนเมืองที่ซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม และด้วยกลไกของความสัมพันธ์รูปแบบนี้ก็จะทำให้ชุมชนอาหารแข็งแรงยิ่งขึ้น

ด้วยความสัมพันธ์ของพลเมืองอาหาร และชุมชนอาหาร ทำให้เรามองเห็นภาพของต่างฝ่ายที่ต่างเป็นฐานให้กันและกัน

พลเมืองอาหารเป็นฐานให้ชุมชนอาหาร แต่ในทางกลับกัน ชุมชนอาหารก็ช่วยสร้างพลเมืองอาหารให้มีมากขึ้น และทุกคนต่างก็สามารถเป็นหนึ่งในพลังของการขับเคลื่อนนี้ได้ ด้วยการเปลี่ยนตัวเอง

เรื่องเล่าโดย: วัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด เป็นที่รู้จักอยู่ในแวดวงผู้ประกอบการสังคมมานานกว่า 20 ปี เธอเป็นผู้ก่อตั้งและบริหารสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ที่พิมพ์หนังสือเพื่อจุดประกายความคิดและสร้างการเรียนรู้ให้ผู้คน ปัจจุบันได้ก่อตั้ง อินี่ เฮาส์ (INI หรือ Inovation Network International) เน้นการทำงานขับเคลื่อนเรื่องอาหาร เกษตรกรรม และชุมชน ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ

ภาพประกอบ: Paperis