หากพูดถึงคำว่า ‘พลังงานลม’ ภาพที่หลายต่อหลายคนนึกขึ้นเป็นอันดับแรก ก็น่าจะเป็นกังหันลมอันผอมเพรียว สูงชะลูดสีขาวๆ พร้อมใบพัดยาวๆ 3ใบ หมุนเอื่อยๆ ดูสโลว์ไลฟ์ทันสมัยสวยงาม แต่รู้หรือไม่ว่ากังหันลมต้นใหญ่ยักษ์ต้นนั้น แค่เพียงต้นเดียวก็มีราคาหลักร้อยล้านเลยทีเดียว จะถูกจะแพงก็ตามขนาดของกังหันรวมถึงการติดตั้งเคลื่อนย้ายว่าอยู่จุดที่พิสดารแค่ไหน แน่นอนว่าแรงลมที่สามารถทำให้ใบพัดขนาดตั้งแต่ 40-90 เมตร หมุนถึง 3 ใบย่อมต้องไม่ธรรมดา แรงลมอันมหาศาลเช่นนี้ในประเทศไทยนั้นมีเพียงไม่กี่จุดตามยอดดอยหรือริมฝั่งทะเลเท่านั้น ซึ่งขนย้ายไปยากแน่นอน แพงขึ้นไปอีก

หรือว่าพลังงานลมนั้น จะเป็นพลังงานที่คนสามัญธรรมดาทั่วไปจะไม่สามารถเอื้อมถึง?

พลังงานลมนั้น ในเบื้องต้นก็เป็นเพียงพลังงานง่ายๆ ที่เปลี่ยนจากแรงลมเป็นแรงหมุนของแกนกลางใบพัด สุดแล้วแต่ว่ามนุษย์นั้นจะเอาแกนหมุนๆ มาทำอะไร บ้างก็เอามาสูบน้ำ บ้างก็เอามาโม่แป้ง บ้างก็เอามาตัดไม้ จวบจนปัจจุบันนั้นเอามาปั่นไฟและบำบัดน้ำเสีย หากเราไม่ยึดติดกับคำว่าพลังงานไฟฟ้า เราก็ไม่จำเป็นต้องเอาพลังงานลมมาปั่นไฟฟ้า เราสามารถเอาพลังแกนหมุนๆ ไปต่อตรงกับเครื่องจักรกลได้เลย นั่นทำให้พลังงานลมที่มีอยู่ทุกที่นั้นย่อมมีความเหมาะสมกับพื้นที่อันห่างไกล อาทิเช่น เรือกสวนไร่นาต่างๆ ที่สายไฟฟ้ายังลากเข้าไปไม่ถึง

ชาวต่างจังหวัดต่างนำเอาพลังงานลมมาปั๊มน้ำบาดาล สูบน้ำบ่อกันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งราคาก็เพียงแค่ 1 แสนบาทต้นๆ เท่านั้นเอง

และยังไม่ได้ต้องการพลังลมที่พัดแรงอะไร เพียงแค่กระแสลมที่สามารถทำธงให้สะบัดได้ก็เพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบแล้ว ลมพัดเมื่อไรปั๊มน้ำก็ทำงาน ลมสงบเมื่อไรปั๊มน้ำก็หยุดทำงานเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ถ้าหากต้องให้ระบบทำงานอย่างสม่ำเสมอ พลังงานไฟฟ้าพระเอกตลอดกาลของเราจึงได้เวลาออกโรง การทำงานร่วมประสานกันระหว่างกังหันลม โซล่าร์เซลล์ และแบตเตอรี่จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสุดๆ แม้แต่ตอนกลางคืนที่ลมหยุดพัด แบตเตอรี่ที่เก็บกักพลังงานไว้ทั้งวันก็ยังคงทำงานได้เป็นอย่างดี สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 2-3แสนบาทกับอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี

จากยอดดอย และชายฝั่งอันห่างไกล ค่อยๆ เขยิบเข้ามาสู่เรือกสวนไร่นาใกล้สังคมเมืองมากขึ้น แต่ก่อนจะเขยิบเข้าไปสู่ใจกลางความศิวิไลซ์ เรามาทำความรู้จักกับประเภทต่างๆ ของกังหันลมกันหน่อยดีกว่า

กังหันลมนั้นหลักๆแล้วมี เพียงแค่ 2 ประเภทเท่านั้นเอง นั่นคือกันหันลมแกนนอน (Horizontal Axis Wind Turbine หรือ HAWT) และกังหันลมแกนตั้ง (Vertical Axis Wind Turbine  หรือ VAWT) บรรยายให้เห็นภาพก็คือพัดลมตั้งโต๊ะ (แกนนอน) และพัดลมติดเพดาน (แกนตั้ง) และหากถามว่ามันต่างกันอย่างไร ถ้าไม่นับเรื่องแกนตั้งแกนนอน ก็ขอตอบอย่างคร่าวๆ เป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

1. กันหันลมแกนนอน มีจุดเคลื่อนไหว 2 จุด เพื่อให้ใบพัดหมุนและหันหน้ารับลมได้อย่างถูกต้อง ส่วนกังหันลมแบบแกนตั้งนั้นสามารถรับลมได้ทุกทิศทาง ส่งผลให้มีจุดเคลื่อนไหวเพียงจุดเดียวตรงส่วนฐาน นั่นทำให้การดูแลรักษาง่ายกว่า

2. กังหันลมแกนนอนนั้นจะหมุนช้าออกแนวสโลว์ไลฟ์ มักพบเห็นได้ตามต่างจังหวัด บนยอดดอย ที่ราบกว้างๆ หรือชายฝั่งทะเล ส่วนกังหันลมแกนตั้งนั้นจะหมุนค่อนข้างไวตามสไตล์สังคมเมือง พบเจอได้ตามหลังคาบ้าน บนเสาไฟฟ้า ริมถนน ริมทางเดินก็เคยเจอ

3. กังหันลมแกนนอน ต้องการแรงลมที่ค่อนข้างแรงจึงมักถูกติดตั้งไว้สูงมากๆ ส่วนกังหันลมแกนตั้งนั้นสามารถใช้กับลมที่อ่อนกำลังกว่าได้ จึงเหมาะสมกับพื้นที่ในเมืองมากกว่า แค่ติดตั้งไว้บนหลังคาหรือดาดฟ้าก็เพียงพอแล้ว

4. กังหันลมแกนนอนนั้นมีลักษณะเดียว อาจจะแตกต่างกันที่จำนวนใบพัด แต่กังหันลมแกนตั้งนั้นมีรูปแบบลักษณะที่หลากหลายสวยงามและแปลกตา

5. เนื่องจากใบพัดของกังหันลมแกนตั้งนั้นยังมีบางส่วนที่สวนทางกับกระแสลม นั่นทำให้ กังหันลมแกนนอนนั้นให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า โรงไฟฟ้าพลังงานลมส่วนมากจึงเลือกใช้กังหันลมแกนนอนเป็นหลักในการปั่นกระแสไฟฟ้านั่นเอง แต่ก็ยังคงมีดีไซน์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ

การพัฒนาการของพลังงานลมยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ปัจจุบันมีผลงานออกแบบกังหันลมแนวตั้งแบบไร้ใบพัดออกมาแล้ว

แต่จะเรียกว่ากังหันลมก็ไม่ถูกเพราะมันไม่หัน ใบก็ไม่หมุน เพราะไม่มีใบพัดอย่างที่เคยมี

กังหันลมนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตามบันทึกที่อ้างอิงได้ กังหันลมเกิดขึ้นตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตศักราชเลยทีเดียว มันจึงเป็นระบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป สามารถผลิตได้เองที่บ้านด้วยวัสดุรอบตัว สามารถค้นหาข้อมูล วิธีการผลิตได้ตามอินเทอร์เน็ตทั่วไป และนั่นทำให้มีบริษัทของไทยหลายบริษัทผลิตกังหันลมขึ้นมาจัดจำหน่ายเอง  แตกต่างจากพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาความรู้และเทคโนโลยีที่ค่อนข้างสูง

อ้างอิงจาก ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1)’ จากกระทรวงพลังงาน พบว่า เป้าหมายในปี 2580 ประเทศไทยจะต้องผลิตพลังงานจากกระแสลมให้ได้ 2,989 เมกะวัตต์ ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เพียง 1488 เมกะวัตต์ (พ.ศ. 2563) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว นั่นทำให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดอันเป็นนิรันดร์มากแค่ไหน แม้ว่าทางสภาพภูมิประเทศของประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับพลังงานลมเท่าไรนัก

ในตอนนี้ พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานลมนั้นยังคงเป็นพลังงานที่มีราคาค่อนข้างแพงในช่วงแรกๆ

ด้วยทิศทางพลังงานของโลกกำลังหมุนไปยังพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น นั่นจะทำให้ราคาต้นทุนลดลง ไม่กระจุกอยู่ที่ฟาร์มพลังงานอันห่างไกลอีกต่อไป

แต่จะค่อยๆ เขยิบเข้าใกล้สังคมเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดและราคาก็จะค่อยๆ ปรับลดลง มีความหลากหลายมากขึ้น ตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการอันหลากหลายได้มากขึ้น จากที่เคยอยู่ไกลเกินเอื้อมมันก็จะค่อยๆ โน้มลงมา

และในอนาคต ใครๆ ก็สามารถครอบครองสายลมได้ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ภาพประกอบ: missingkk