เรื่องของการกินอาหารออร์แกนิกนั้นเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคอย่างเราๆ เริ่มสนใจความสัมพันธ์กันของสิ่งที่รับประทานกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคจึงเป็นตัวช่วยในการผลักดันให้การทำฟาร์มออร์แกนิกหรือเกษตรอินทรีย์กลับมาอีกครั้ง ซึ่งก็คือการใช้สารเคมีที่น้อยลงจนถึงไม่ใช้สารเคมีเลย การจัดการดูแลทรัพยากรดินและน้ำให้ดี ไปจนถึงการปลูกพืชหมุนเวียนและใช้วิธีการที่หลากหลายให้เหมาะกับระบบนิเวศในการทำการเกษตร

ซึ่งที่จริงแล้ววิธีการเหล่านี้ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะแนวคิดเรื่องเกษตรยั่งยืนนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงปี 1940 แล้วในหลายประเทศทั่วโลก เรื่องของอาหารออร์แกนิกก็เลยเหมือนเป็นเรื่องที่เวียนกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง หรือกลับมาสู่ในแบบที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว แต่เพิ่มเติมมาในเรื่องของวิธีการกับเทคโนโลยีที่ดีขึ้นตามสมัย มีระบบขนส่ง ระบบซื้อ-ขายที่มากขึ้น รวมทั้งผลพลอยได้จากการทำการตลาดต่างๆ และการมีร้านค้า มีแหล่งซื้อของมากมายให้เลือกมากขึ้นในสมัยนี้

มีข้อมูลจากองค์กร Organic Trade Association สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าผลผลิตออร์แกนิกจำพวกผักและผลไม้นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 17.4 พันล้านดอลล์ล่า ถือเป็น 15% จากผลผลิตทั้งหมดในอเมริกา

ลำดับที่สองคือผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ออร์แกนิกซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 6.5 พันล้านดอลล์ล่าในปี 2018 และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับรายงานจากบริษัท TechSci Research ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกจากทั่วโลกเติบโตขึ้นกว่า 14% ทุกปี ในระหว่างปี 2016-2021 ยังมีข่าวจากเว็บไซต์อุตสาหกรรมอาหารอย่าง Fooddive.com ที่ช่วยยืนยันอีกว่าเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคมองหาอาหารออร์แกนิกเพื่อเป็นทางเลือกกันมากขึ้น

จาก Conventional สู่ Organic

หันมาดูทางด้านการทำฟาร์ม เกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยก็ทยอยเปลี่ยนมาใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ในการเพาะปลูก หรือการหันมาปลูกผักกินเองในครัวเรือนของผู้บริโภคในเมืองมากขึ้น

ทางด้านผู้ค้าอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตและแบรนด์สินค้ารายใหญ่ต่างๆ ก็หันมาขยายไลน์สินค้าออร์แกนิกเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคเช่นกัน

โดยการจะออกสินค้าออร์แกนิกนั้น ขั้นแรกก็ต้องลงทุนในการเกษตรก่อน หลายแบรนด์ระดับโลกจึงได้ไปทำงานร่วมกับเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกจากฟาร์มทั่วไปมาเป็นฟาร์มออร์แกนิก เช่น ปลูกข้าวสาลีออร์แกนิก เพื่อนำไปทำเป็นเส้นพาสต้าออร์แกนิก ซีเรียลอาหารเช้าออร์แกนิก เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่จะมาแรงในอนาคตอันใกล้ก็คือผลิตภัณฑ์อาหารของเด็กๆ อาหารออร์แกนิกสำหรับเด็กทารก รวมไปถึงพวกขนม ของกินเล่นเพื่อสุขภาพที่เน้นขายผู้บริโภคชาวเจน Y อายุ 18-37 ปี

เมื่อบริโภคอายุน้อยหันมาใส่ใจสุขภาพ

ผู้บริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกสมัยนี้มีความต่างกับในสมัยแรกๆ พวกเขาถือเป็นผู้นำเทรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคยุคนี้ที่มีไลฟ์สไตล์แอ็คทีฟ ผู้บริโภครุ่นใหม่จะซื้อของที่มีคุณค่าเพิ่มอย่างที่ติดป้ายว่า ‘ออร์แกนิก’ เพราะพวกเขาอยากได้ประสบการณ์การบริโภคที่ดีและประโยชน์ต่อสุขภาพมาประกอบการใช้ชีวิต สิ่งนี้จึงเป็นส่วนช่วยผลักดันลักษณะนิสัยการกิน การบริโภค และเมื่อสื่อต่างๆ เข้ามาพูดเรื่องเทรนด์การอยู่อย่างมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น รวมทั้งบรรดาไลฟ์สไตล์ บล็อกเกอร์ ตามโซเชียล มีเดียต่างๆ ก็ยังมาช่วยโปรโมตเทรนด์การดูแลสุขภาพนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่กลุ่มคนเจน Y จะหันมาหาซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกกัน

แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ไม่ได้ซื้อเพราะตามเทรนด์อย่างเดียว พวกเขามีความรู้และช่างเลือกมากขึ้นด้วยว่าอาหารที่ดีต้องไม่มีสารเคมีตกค้าง ปราศจากสารเร่งฮอร์โมน จีเอ็มโอ และยาปฏิชีวนะ ควบคู่ไปกับความต้องการหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป และอาหารที่ใช้ส่วนผสมเทียม จากการสำรวจพบว่ากลุ่มคนอายุ 16-34 ปีในประเทศแถบยุโรป เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้ออาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกมากที่สุด และลูกค้ากลุ่มนี้ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่พวกเขาต้องการ

อาหารออร์แกนิกที่เจเนอเรชั่นนี้สนใจ

คนเจน Y จำนวนมากเลือกรับประทานอาหาร Plant-based หรืออาหารทางเลือกที่มาจากพืช เพราะต้องการลดโลกร้อนและลดการเบียดเบียนสัตว์ เพื่อตอบสนองการบริโภคแนวนี้ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมจึงได้ออกไลน์สินค้าอย่างนมออร์แกนิกเพิ่มขึ้นมา รวมถึงนมที่มีโปรตีนเพิ่มขึ้น นมที่มาจากวัวที่เลี้ยงด้วยหญ้า นมที่ปราศจากสารเร่งและฮอร์โมน เพราะยังไงมนุษย์ก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ผลิตภัณฑ์จากนมจึงเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่ทำให้อาหารออร์แกนิกเข้ามาอยู่ในกระแส

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ทำจากนมยังมีเรื่องราวเกี่ยวโยงไปถึงการทำฟาร์มปศุสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งเป็นสองประเด็นที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ให้ความสำคัญและอยากเป็นส่วนช่วยผลักดัน

คำว่า ‘ออร์แกนิก’ ยังไปลิงก์กับประเด็นด้านๆ อื่นที่ผู้บริโภคให้คุณค่า อย่างแฟร์เทรด (Fairtrade) สินค้าที่มีความเป็นธรรมต่อผู้ผลิต ไม่กดราคาแรงงาน มีความยั่งยืนตั้งแต่ต้นสายถึงปลายสาย คุณค่าจากธรรมชาติ (Natural Ingredients) ซึ่งผู้บริโภคเองก็มองว่าออร์แกนิกคือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และคิดว่าสิ่งที่มาจากธรรมชาติย่อมหมายถึงสุขภาพที่ดีกว่า ส่งผลมาถึงอาหารออร์แกนิกประเภทของหวาน ของกินเล่นเพื่อสุขภาพ ที่ใช้ความหวานจากผลไม้แทนน้ำตาลหรือแทนสารสังเคราะห์ที่ให้ความหวาน และด้วยการกินอาหารมังสวิรัติและวีแกนที่ก็บูมขึ้นมาเหมือนกัน

ทำให้อาหารออร์แกนิกอยู่ในกลุ่มทางเลือกนี้ไปด้วย เพราะไปตอบสนองคุณค่าเรื่องจริยธรรมในการบริโภคแบบลดโลกร้อน และดูแลทรัพยากรธรรมชาติ

ขนมอย่าง ‘ช็อกโกแลต’ เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่บอกเล่าคุณค่าเหล่านั้นได้ดีสำหรับตลาดออร์แกนิก แบรนด์ช็อกโกแลตหลายแบรนด์ดังระดับโลกได้ให้ความสำคัญกับเรื่องลดโลกร้อน แฟร์เทรด และออร์แกนิก จะเห็นได้จากที่ระบุส่วนผสมและที่มาชัดเจนบนแพ็กเกจจิ้งสินค้า ทั้งในการทำการตลาดและในแง่ปฏิบัติ อย่างในการผลิตก็สามารถใช้ความขมปนหวานที่มาจากรสชาติของโกโก้โดยตรง ไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือแบบลดความหวานลงของขนมที่เคลือบช็อกโกแลต ทั้งยังมีเครื่องหมายสินค้าการันตีออร์แกนิก เป็นโปรดักส์ที่สามารถแตกไลน์สินค้าออกมาได้มากมายและเป็นที่นิยม เช่น ผงโกโก้ออร์แกนิก ดาร์กช็อกโกแลตแท่ง 100% ไอศกรีมช็อกโกแลตแบบวีแกน เป็นต้น รวมถึงเบเกอรี่ที่ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มต่างๆ สแน็ก บาร์ ที่ให้โปรตีนสำหรับคนเล่นกีฬา อัดแน่นด้วยผลไม้แห้งและธัญพืช แบรนด์บิสกิตและซีเรียลอาหารเช้าต่างๆ ก็ได้รับการการันตีออร์แกนิกเพิ่มขึ้นมาหลายเจ้าในปี 2019-2020 ที่ผ่านมา ขนาดร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศยังทำน้ำผลไม้ออร์แกนิกสกัดเย็นสำหรับไลน์สินค้าทางเลือกใหม่มาวางขาย

ออร์แกนิกไปถึงรุ่นลูก

และยังไม่จบแค่นี้ เพราะอีกหน่อยอาหารเด็กอ่อนออร์แกนิกก็จะได้รับความนิยมขึ้นมาเช่นกัน เมื่อคนเจน Y กลายมาเป็นพ่อแม่ ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกใหม่ๆ อีกมาก ที่มาตอบสนองผู้บริโภคออร์แกนิกกลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ ทั้งพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียลและบรรดาลูกๆ มีคำพูดของนักการตลาดบอกว่า

“Today’s Millennial = Tomorrow’s organic parent” คือ “มิลเลนเนียลในวันนี้ คือพ่อแม่แบบออร์แกนิกในวันหน้า”

เพราะตอนนี้ 25% ของชาวมิลเลนเนียล หรือคนเจน Y ตอนปลาย กลายเป็นพ่อแม่แล้ว และในอนาคตจะขยายไปถึง 80% ซึ่งในกลุ่มพ่อแม่ชาวยุโรปมากกว่า 30% บอกว่าอาหารเด็กออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ได้รับการรับรองว่ามาจากธรรมชาติ 100% คือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ และเกินครึ่งของพ่อแม่มือใหม่เหล่านี้จะเลือกสรรแต่วัตถุดิบออร์แกนิกหรือพยายามเลือกวัตถุดิบที่ปลอดสารใดๆ มาทำอาหารให้ลูกๆ ด้านฝั่งอเมริกา ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาและข้อมูลเชิงลึกที่ Organic Trade Association ก็ยืนยันว่าผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกนั้นจะเป็น “สิ่งที่ดีกว่าสำหรับฉันและครอบครัวของฉัน”

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้ผลิต ผู้ค้า และนักการตลาด กำลังสรรหาสิ่งใหม่ๆ มาตอบสนองผู้บริโภคออร์แกนิกรุ่นนี้ อย่างที่บอกว่าการบริโภคออร์แกนิกสมัยนี้เปลี่ยนไปในความหมายและคุณค่าใหม่ มีนวัตกรรมใหม่ มีการรับรองเข้ามาช่วยการันตี ประเภทของสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อน ถือเป็นข้อดีและโอกาสในการที่ผู้บริโภคจะสามารถเข้าหาอาหารที่ปลอดภัย มีคุณภาพได้สะดวกและหลากหลายขึ้น ทั้งการเข้าถึงแหล่งความรู้เรื่องที่มาของอาหารและข้อมูลด้านสุขภาพด้วย

ซึ่งภาพรวมทั้งหมดนี้ จะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต ให้ดีขึ้นกับทุกฝ่ายได้อย่างทั่วถึงกัน

ที่มาข้อมูล
www.barry-callebaut.com
www.foodbusinessnews.net
www.fooddive.com
www.marketingoops.com

เครดิตภาพ: Shutter Stock