ในศตวรรษที่ 21 นี้ ประชากรโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจากเดิม 11% ในปี 2006 เป็น 22% ภายในปี 2050 และในตอนนั้นโลกของเราจะมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าเด็กๆ อายุ 0–14 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

โดยประเทศที่กำลังพัฒนานั้น มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว และในเมืองจะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่มากขึ้นไปอีก ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว สัดส่วนของประชากรสูงวัยในเมืองมีจำนวนพอๆ กับสัดส่วนของประชากรที่เป็นเด็ก และประชากรทั้งสองกลุ่มนี้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นไปพร้อมๆ กัน

ถึงแม้ว่าประชากรทั้งสองกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ดูแลตัวเองไม่ได้ เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องพึ่งพาประชากรวัยทำงานของเมือง แต่ทั้งสองกลุ่มก็เป็นประชากรกลุ่มสำคัญในสังคมเช่นกัน

ปัญหาคือเมื่อก่อนเมืองต่างๆ ได้ออกแบบมาเพื่อคนหนุ่มสาววัยทำงานเป็นหลัก ซึ่งในวันนี้คนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นผู้สูงอายุไปเสียแล้ว แต่เมืองกลับยังมีระบบบริการสาธารณะมาสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันไม่มากพอ เพราะผู้สูงวัยเวลาออกไปข้างนอกก็ต้องการที่นั่งพัก ห้องน้ำที่สะอาดและกว้างพอ พื้นฟุตบาทที่ค่อยๆ เดินได้อย่างปลอดภัย หรือระบบขนส่งที่ช่วยพวกเขาในการเดินทางให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น และในเวลาเดียวกัน ประชากรวัยเด็กก็ต้องการพื้นที่ในการได้เติบโต เรียนรู้ และได้เล่นอย่างอิสระนอกบ้าน เราลองมาดูกันว่าจะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นสำหรับประชากรทั้งสองกลุ่มได้อย่างไรบ้าง และมันจะเป็นการพัฒนาเมืองสำหรับทุกฝ่ายอย่างไร

คิดละเอียดเพื่อประชากรทุกกลุ่ม

ในรายงานขององค์กร WHO ปี 2007 เรื่องแนวทางการพัฒนาเมือง บริการและฟังก์ชั่นการใช้งานในพื้นที่สาธารณะสำหรับประชากรสูงอายุ ระบุเอาไว้ว่า

เมืองจะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนได้หรือไม่นั้น สามารถดูได้จากการที่กลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุใช้ชีวิตในเมืองนั้น ว่าเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร

เพราะถ้าเมืองมีการออกแบบที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ก็จะทำให้การออกแบบบริการสาธารณะทุกอย่างดีขึ้นแบบครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ทุกกลุ่มไปด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่นการมีทางเดินเท้าอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะเวลาที่ฟุตบาทต่างระดับกับถนนมากๆ ผู้สูงวัยจะก้าวเท้าลงมาได้ลำบาก ส่งผลให้การเดินทางระยะสั้นๆ แต่มีความจำเป็นอย่างการไปซื้อของกินของใช้ใกล้บ้าน หรือการเดินออกกำลังกายเอง อาจเป็นไปได้ยาก แต่หากทางเมืองได้มีการคิดถึงจุดเล็กๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แบบนี้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนขอบฟุตบาทถนนจากที่สูงๆ ให้เตี้ยและโค้งลง มีทางราบลงสำหรับจุดข้ามถนน ใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ทำให้ลื่น ติดตั้งราวจับช่วยยืนทรงตัวระหว่างรอข้ามถนน สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้สูงอายุที่เดินเองได้ และผู้ที่ต้องใช้รถเข็นกลุ่มอื่นๆ อย่างผู้พิการ ครอบครัวที่มีรถเข็นเด็ก ผู้ที่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงเด็กเล็กๆ และผู้ที่เดินทางเท้าทั่วไปก็จะได้รับความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้นกว่าเดิม

พื้นที่กิจกรรมที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย

บทความจาก Institute for Livable Cities, Inc. ระบุว่า การมีสวนหย่อมระหว่างซอย และมีสวนเล็กๆ กระจายไปตามเขตเมือง จะเป็นการดีสำหรับผู้สูงอายุและเด็กๆ มากกว่าการมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ประจำเมือง เพราะจะทำให้ประชากรทั้งสองกลุ่มนี้ออกมาข้างนอกเองได้เมื่อต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องมีคนคอยพาไปทุกครั้ง

ด้วยการใช้งานที่ต่างกันของแต่ละช่วงวัย ผู้สูงอายุที่ต้องการเดินออกกำลังกายช้าๆ มีที่ให้ได้นั่งพักผ่อนในสวน และที่นั่งพักเป็นระยะๆ ระหว่างทางเดินเท้าจากบ้านไปสถานที่ต่างๆ แต่กับกลุ่มวัยรุ่นก็เหมาะกับสวนสาธารณะที่มีลานสเก็ตบอร์ดกว้างๆ ให้เล่นกีฬาแอ็คทีฟได้เต็มที่ หรือสำหรับเด็กๆ การมีสนามเด็กเล่นอย่างเดียวก็ไม่ใช่ทางออก เพราะเด็กๆ ไม่สามารถออกไปเล่นข้างนอกเองได้ ต้องมีผู้ปกครองพาไปด้วยทุกครั้ง ถึงสนามจะห่างจากบ้านไปแค่นิดเดียวและเดินไปได้ แต่บางทีผู้ออกแบบก็ลืมนึกถึงการต้องข้ามถนนที่ไม่ปลอดภัย แทนที่เด็กๆ ในบ้านละแวกใกล้กันจะได้ไปเล่นนอกบ้านด้วยกัน ถ้าผู้ปกครองไม่ว่างก็กลายเป็นไม่ได้ออกจากบ้านเลย เป็นการเสียโอกาสการได้ออกกำลังกายแล้วต้องนั่งดูทีวีอยู่บ้านแทน

ดังนั้นถ้าชุมชนในละแวกเดียวกันที่ครอบครัวส่วนใหญ่มีลูกเล็ก สามารถจัดสรรพื้นที่ให้มีความปลอดภัยเพียงพอและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับเด็ก เด็กๆ วัยซนจะสามารถออกมาเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ เองได้ตามสมควร เช่น ทำสนามเด็กเล่นไว้ระหว่างบล็อกของช่วงตึก ให้มีพื้นที่นั่งเล่นสำหรับผู้สูงวัยด้วย พื้นที่ชั้นล่างระหว่างตึกจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดและกว้างพอสำหรับรถเข็นเด็ก รถเข็นผู้สูงวัย มีอ่างล้างมือสำหรับเด็ก จุดเปลี่ยนผ้าอ้อม และจุดเติมน้ำใส่กระติก เด็กๆ ก็จะสามารถมาใช้งานเองได้ ส่วนผู้สูงวัยก็สามารถใช้งานได้คล่อง จุดที่เคยเป็นที่เปลี่ยวอันตรายระหว่างซอกตึก ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตรสำหรับครอบครัวไปด้วย

เมื่อออกแบบชุมชนเดิมที่ผู้สูงวัยอาศัยอยู่ให้ตอบสนองการใช้งานที่เปลี่ยนไปตามช่วงวัย ผลดีที่ได้เพิ่มอีกอย่างคือย่านนั้นจะมีความปลอดภัยขึ้น

เพราะเมื่อผู้สูงอายุได้ออกมานอกบ้านในเวลากลางวัน ทำให้มีคนอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา ช่วยเป็นหูเป็นตาให้คนภายในชุมชนได้ด้วย

เปลี่ยนย่านอันตราย เป็นย่านที่เป็นมิตร

ที่กรุงโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย หนึ่งในย่านที่ยากจนที่สุดของเมือง ได้หันมาพัฒนาพื้นที่ถนน-ทางเดินในชุมชนให้เหมาะสำหรับประชากรที่สูงน้อยกว่า 95 เซนติเมตร หรือหมายถึงเด็กๆ นั่นเอง ซึ่งผู้ว่าฯ ของเมืองบอกว่าความสุขในการอยู่อาศัยของเด็กๆ สามารถเป็นตัวชี้วัดอย่างดีในการพัฒนาเมืองได้เลย โปรเจ็กต์นี้จึงมีชื่อว่า Urban 95 ทำงานร่วมกับนักพัฒนาเมือง บริษัทสถาปนิก รัฐบาล โรงเรียนในชุมชน ชาวเมืองและเด็กๆ ในการเดินสำรวจแล้วเขียนแผนที่เส้นทางที่ไม่ปลอดภัยในเมือง อย่างจุดที่เกิดเหตุอาชญากรรมเยอะ จุดที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนน ไปจนถึงพื้นที่ที่ผู้คนเดินเท้าสัญจรไปมาลำบาก จนได้ออกมาเป็นแผนที่เส้นทางเชื่อมระหว่างโรงเรียนในย่านชุมชน

จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงเด็กๆ ซึ่งเป็นประชากรหลักของโปรเจ็กตนี้ได้ทำการเพนต์สีกำแพงและถนนตลอดทาง เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางไปมาในชุมชน ให้พี่ๆ ที่อยู่โรงเรียนมัธยมได้เดินไปรับน้องๆ กลับบ้านจากโรงเรียนประถม คุณปู่คุณย่าเดินไปส่งหลานตัวเล็กที่โรงเรียนอนุบาลได้สะดวก ปลอดภัย เพราะมีพื้นถนนทาสีสดใสเป็นทางเดินปลอดรถ และมีกำแพงวาดรูปตัวการ์ตูนสวยงามไว้ตลอดแนวถนนจนถึงโรงเรียน ทำให้เมื่อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซที่วัยโจ๋ขับผ่านเป็นต้องลดความเร็วลง และขับขี่แบบเป็นมิตรมากขึ้นไปโดยปริยาย มีการเพิ่มป้ายหยุดรถ ป้ายข้ามถนน ที่นั่งพักผ่อน พื้นที่ให้นมบุตร และศูนย์บริการสำหรับผู้สูงวัย

เป็นเรื่องดีคือโครงการ Urban 95 นี้ไม่ได้แค่ทำครั้งเดียวแล้วทิ้งไปเลย เขามีการทำความเข้าใจและสัญญากันกับชุมชนในการพัฒนาครั้งนี้ว่า ถ้าทุกฝ่ายอยากให้พื้นที่บริเวณนี้น่าอยู่ต่อไป ทั้งชุมชนจะต้องช่วยกันดูแลรักษาต่ออย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะชาวเมืองได้มาช่วยกันเลือกแล้วว่าอยากจะพัฒนาพื้นที่ตรงไหนเป็นพิเศษ เพราะอะไร และอยากทำอย่างไร ทุกวันนี้เมืองโบโกตาจึงได้กลายเป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่ที่สุดในแถบลาตินอเมริกาไปแล้ว

จากที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่า หัวใจสำคัญในการออกแบบเมืองให้เป็นมิตร ไม่ใช่อยู่ที่การออกแบบสถานที่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นการฟังเสียงของประชากรทุกกลุ่มอย่างเด็กๆ และผู้สูงวัยด้วย การทำความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันและจุดเล็กๆ ที่บางทีนักพัฒนาหรือรัฐบาลอาจมองข้ามไป อาจเป็นสิ่งสำคัญที่หมายถึงการยกระดับการอยู่อาศัยในสังคมให้กับประชากรสองกลุ่มนี้ และสามารถส่งผลดีไปถึงทั้งชุมชนได้เลย

ที่มาข้อมูล
www.bernardvanleer.org
www.livablecities.org
www.theguardian.com
www.who.int

เครดิตภาพ: ภูษนิศา กมลนรเทพ, Bernard van Leer Foundation, Shutter Stock